- คำนำ
- ปรับท่าทีและทำความเข้าใจกันก่อน
- วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ความสดใสที่แฝงความสับสน
- เมื่อวิทยาศาสตร์แปลกหน้ากับธรรมชาติ
- วิทยาศาสตร์กับเทคโนโลยี เพื่อนเก่าที่จะต้องเข้าใจกันให้ดี
- ก้าวถึงสุดแดน แต่ก็รู้ไม่จบ
- คุณค่าและความคิดที่ผลักดัน เบื้องหลังกำเนิดและพัฒนาการของวิทยาศาสตร์
- เบื้องหลังความเจริญ คือเบื้องหลังความติดตัน
- ศาสนากับวิทยาศาสตร์ เริ่มร่วมแล้วร้างเริด
- ศาสนากับวิทยาศาสตร์ ความแตกต่างที่ไม่ห่างจากความแม้นเหมือน
- ความสดใสที่ไม่พ้นความสับสน
- วิทยาศาสตร์เดียว ศาสนาเดียวหรือศาสนากับวิทยาศาสตร์ที่เป็นหนึ่งเดียว
- เมื่อความมั่นใจในวิทยาศาสตร์สั่นคลอน แม้แต่ศาสนาแห่งการอ้อนวอนก็เฟื่องฟูได้
- มนุษย์จะประสบคุณค่าสูงสุดได้ ต้องให้วิทยาศาสตร์กับศาสนาบรรลุจุดบรรจบ
- วิทยาศาสตร์กับพุทธศาสนา จุดแยกหรือจุดบรรจบ
- ศาสนาแห่งธรรมชาติ และการรู้ธรรมชาติด้วยปัญญา
- ศาสนาแห่งการเพียรแก้ปัญหา ด้วยการพัฒนาปัญญาของมนุษย์
- แยกแล้วทิ้ง กับแยกไปเอาความจริง
- พุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์ ความต่างในความเหมือน
- ศรัทธา: จุดร่วมที่แตกต่าง ระหว่างพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์
- ศรัทธาที่ครบชุด ต้องทั้งมนุษย์ ธรรมชาติ และสังคม
- ทำท่าจะเหมือน แต่ก็ไม่เหมือน
- แดนแห่งความรู้: ขอบเขตและเป้าหมายที่ไม่เหมือนกัน
- วิธีเข้าถึงความรู้: แนวทางที่ตรงกัน แต่เน้นต่างกัน
- วิธีเข้าถึงความจริง: จุดเน้นและการใช้ต่าง ที่ทำให้ห่างไกลกัน
- สุดแดนวิทย์ เข้ามาจ่อแดนจิต
- โลกวัตถุ: แดนตัวเองที่วิทยาศาสตร์ยังไปไม่จบ
- จริยธรรม: ด่านหน้าที่รอประลองของแดนนามธรรมแห่งจิต
- วิทยาศาสตร์: ต้นวงจรที่เฉออกไปจากมนุษย์
- ศาสนาที่แท้เป็นฐานกำเนิดของวิทยาศาสตร์
- สู่การยอมรับคุณค่าและประสบการณ์ทางอินทรีย์ที่ ๖
- ข้อเสนอเบ็ดเตล็ด เพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์
- การยอมรับความ “ไม่เพียงพอ” ของวิทยาศาสตร์
- ความ “รอไม่ได้” ก็เป็นภาวะที่ต้องยอมรับด้วย
- จัดปรับเรื่องคุณค่าให้ถูก เข้าใจสุข-ทุกข์ให้ตรงปัญหาการพัฒนาจึงจะแก้ได้
- ส่งเสริมเทคโนโลยีที่สร้างสรรค์และไม่สร้างปัญหา
- การแก้ปัญหาที่ถ่วงการพัฒนาวิทยาศาสตร์ในสังคมไทย
เมื่อวิทยาศาสตร์แปลกหน้ากับธรรมชาติ
วิทยาศาสตร์นั้นโดยพื้นฐานของมัน จะต้องเป็นพวกเดียวกับธรรมชาติ แต่ปัจจุบันนี้คนได้มีความรู้สึกว่า สิ่งที่เป็นวิทยาศาสตร์คือสิ่งที่มิใช่ธรรมชาติ เราเคยเรียกสิ่งที่ทำขึ้นมาด้วยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ที่เอามาประยุกต์ใช้โดยผ่านทางเทคโนโลยี ว่าเป็นของวิทยาศาสตร์ เราเรียกชื่อโดยเอาคำว่าวิทยาศาสตร์ต่อท้ายคำนั้นๆ เช่น ไตที่ทำด้วยเทคโนโลยี ก็เป็นไตวิทยาศาสตร์ ปอดที่ทำด้วยความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก็เป็นปอดวิทยาศาสตร์
แล้วต่อมาบางทีก็เปลี่ยนเรียกปอดวิทยาศาสตร์ เป็นปอดเทียมไป ไตวิทยาศาสตร์ก็เป็นไตเทียม เอ๊ะ! ไปๆ มาๆ ของวิทยาศาสตร์นี่กลายเป็นของเทียมไปแล้ว เอาละซี นี่แหละความหมายในหมู่ประชาชนนี้มันแปรเปลี่ยนไปได้เรื่อยๆ เราจะต้องติดตามดูเหมือนกัน
ถ้ามองอย่างนี้ก็กลายเป็นว่า เวลานี้ วิทยาศาสตร์ได้เข้าไปแปลกปนอยู่ในธรรมชาติมากมาย เป็นการที่วิทยาศาสตร์ได้กระทำต่อธรรมชาติ
เวลาเราพูดในวงสังคมศาสตร์ เราบอกว่ามนุษย์กระทำต่อธรรมชาติ แต่ตอนนี้เรามาพูดกับฝ่ายวิทยาศาสตร์ เราบอกว่าวิทยาศาสตร์กระทำต่อธรรมชาติ แต่ความหมายก็อันเดียวกัน เพราะการที่วิทยาศาสตร์จะไปกระทำต่อธรรมชาติอย่างนั้นได้ ก็เพราะมนุษย์นี่แหละ เป็นผู้ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในการไปกระทำ แต่มูลเหตุเดิมมันมาจากความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เพราะฉะนั้นก็เลยบอกว่า นี่แหละ ความเสื่อมความพินาศอะไรต่างๆ ที่กำลังจะมีมานี่นะ ล้วนแต่เกิดจากฝีมือของวิทยาศาสตร์ทั้งนั้น มันก่อให้เกิดอันตรายแก่มนุษย์ปัจจุบันเป็นอันมาก เนื่องจากการที่ได้ทำให้ธรรมชาติผันผวนปรวนแปรเปลี่ยนรูปใหม่
เมื่อพูดด้วยภาษาอย่างที่ว่ามาแล้วนั้น ธรรมชาติแปรรูปใหม่ ก็หมายความว่า โลกแห่งธรรมชาตินี้ต่อไปมันอาจจะไม่เป็นโลกแห่งธรรมชาติ แต่มันอาจจะกลายเป็นโลกแห่งวิทยาศาสตร์ คือว่าในเมื่อวิทยาศาสตร์ได้เข้ามาทำอะไรต่อมิอะไรต่อธรรมชาติมากมายแล้ว เอาอะไรต่างๆ เข้าไปแปลกปนในธรรมชาติมากแล้ว เราก็จะไม่มีโลกแห่งธรรมชาติ เพราะโลกแห่งธรรมชาติจะกลายเป็นโลกแห่งวิทยาศาสตร์ในความหมายเฉพาะที่กล่าวมาแล้ว พอเป็นโลกแห่งวิทยาศาสตร์ ต่อไปมันก็เป็นโลกเทียมอย่างที่ว่าเมื่อกี้ เช่นเดียวกับที่ไตวิทยาศาสตร์ เป็นไตเทียม นั่นคือไม่ใช่โลกแท้
ทีนี้มนุษย์ล่ะ มนุษย์ที่อยู่ในโลกนี้ เดิมก็อยู่ในโลกแห่งธรรมชาติ และมนุษย์ก็เป็นส่วนหนึ่งในธรรมชาติด้วย คือตัวเราและชีวิตของเราเป็นมนุษย์ที่เป็นธรรมชาติ แล้วก็อยู่ในโลกที่เป็นธรรมชาติ แต่ต่อไปนี้ เราจะเป็นมนุษย์ที่เป็นธรรมชาติแล้วก็มาอยู่ในโลกที่กลายเป็นวิทยาศาสตร์ พอถึงตอนนี้มันชักจะกลับกัน ชักจะไม่สอดคล้องกันแล้ว หมายความว่า มนุษย์ที่เป็นธรรมชาติ กล่าวคือมนุษย์อย่างเราๆ นี้ ยังคงเป็นธรรมชาติอยู่อย่างเดิม เพราะว่าร่างกาย หรือส่วนประกอบอะไรต่างๆ ของเรานี้ โดยสภาพทางชีววิทยา มันไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป วิทยาศาสตร์ยังไม่ได้มาดัดแปลงชีวิตในทางชีววิทยาของเราให้มันแปลกรูปไป ให้มันสอดคล้องกับโลกวิทยาศาสตร์ที่กำลังจะเกิดขึ้น
อันที่จริงนั้น ถ้าจะให้มนุษย์นี้อยู่ได้ด้วยดีในโลกที่กำลังเปลี่ยนไปเป็นโลกวิทยาศาสตร์ ที่มีสารอะไรต่างๆ แปลกใหม่นี้ เราจะต้องปรับร่างกายปรับชีวิตมนุษย์ให้มันสอดคล้องกันด้วย แล้วเราก็จะได้เป็นมนุษย์วิทยาศาสตร์ที่อยู่ในโลกวิทยาศาสตร์ แต่ตอนนี้มันไม่เป็นอย่างนั้น มันไม่สอดคล้อง ก็กลายเป็นว่า มนุษย์ธรรมชาติจะไปอยู่ในโลกวิทยาศาสตร์ ถ้ามีความไม่สอดคล้องอย่างนี้ มันจะต้องเกิดปัญหา อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ยุ่งอย่างหนึ่ง
ทีนี้ ถ้ามนุษย์ธรรมชาตินี้อยู่ในโลกวิทยาศาสตร์ไม่ได้ มันก็จะต้องมีมนุษย์วิทยาศาสตร์ขึ้นมาอยู่ในโลกวิทยาศาสตร์ ซึ่งอาจจะเป็นขึ้นมาก็ได้ มนุษย์วิทยาศาสตร์นั้น อาจจะได้แก่หุ่นยนต์ เพราะฉะนั้นต่อไปก็เลยกลายเป็นว่า โลกวิทยาศาสตร์นี้ จะเป็นโลกของมนุษย์วิทยาศาสตร์ หรือมนุษย์เทียม คือหุ่นยนต์ ถ้าเป็นอย่างนี้ ก็หมายความว่ามนุษย์ธรรมชาตินี้อาจจะหายไปก็ได้
เพราะฉะนั้น มองในแง่หนึ่งก็เหมือนกับว่า ความเจริญทางวิทยาศาสตร์นี้ ไม่สอดคล้องกัน เหมือนกับว่า วิทยาศาสตร์นี้ ได้ปรับแปรรูปโลกภายนอกที่เป็นสภาพแวดล้อมของมนุษย์เสียใหม่ให้เป็นโลกวิทยาศาสตร์ มีอะไรต่างๆ ที่เป็นของแปลกปลอมเกิดขึ้นเยอะแยะ แต่ไม่ได้ปรับชีวิตของมนุษย์ให้สอดคล้องอย่างนั้นด้วย เพราะฉะนั้นมันจึงเกิดความขัดกัน
ทีนี้ถ้ามองลึกลงไปอีกชั้นหนึ่ง มันไม่ใช่แค่นั้นหรอก มนุษย์นี้ประกอบด้วยกายกับใจ ในสองส่วนนี้เรื่องมันกลับกันเสีย คือ วิทยาศาสตร์ที่เจริญขึ้นมานี้ได้แปรเปลี่ยน ทำให้โลกภายนอกเป็นโลกวิทยาศาสตร์อย่างที่กล่าวเมื่อกี้ โลกวิทยาศาสตร์นั้น เป็นโลกฝ่ายวัตถุ ซึ่งควรจะเข้าคู่กันกับฝ่ายกายในชีวิตของมนุษย์ หมายความว่า มนุษย์ที่ว่าเป็นสองส่วน คือกายกับใจนี้น่ะ ส่วนที่เป็นคู่กับโลกวัตถุภายนอกก็คือ ส่วนร่างกาย แต่พอเรามาพิจารณาในแง่นี้ กลับปรากฏว่า ส่วนร่างกายนี้ยังไม่เปลี่ยน แต่ส่วนที่เปลี่ยนกลับเป็นส่วนจิตใจ
หมายความว่า วิทยาศาสตร์ได้มีอิทธิพลต่อจิตใจของมนุษย์ ทำให้มนุษย์มีจิตใจแบบจิตใจเทียม คือเป็นจิตใจที่ชื่นชอบของวิทยาศาสตร์ ร่วมหอลงโรงกับของวิทยาศาสตร์ หันไปหาของเทียม เป็นจิตใจที่แปลกแยกจากธรรมชาติ
เป็นอันว่าแทนที่จะเปลี่ยนกาย กลับไปเปลี่ยนจิตใจเสียนี่ ส่วนที่สอดคล้องกันคือส่วนกายของมนุษย์นี่ มันจะต้องเข้ากับโลกวัตถุภายนอก แต่ส่วนกายนี้เราไม่ปรับเปลี่ยน กลับไปเปลี่ยนส่วนจิตใจ มันก็ขัดแย้งกัน ทั้งภายในตัวและภายนอกตัว เพราะภายในตัวจิตใจกับร่างกายก็ขัดกัน และภายนอกตัว ร่างกายหรือชีวิตทางชีววิทยาที่เป็นธรรมชาติ ก็ต้องอยู่ในโลกวัตถุที่เป็นวิทยาศาสตร์ พร้อมกันนั้น จิตใจที่อยู่ในร่างกายนี้ก็ไปนิยมที่จะอยู่ในโลกวิทยาศาสตร์ โดยที่กายของตัวนี้ไม่เป็นไปด้วย ปัญหาก็ย่อมเกิดขึ้นแน่นอน นี่แหละเป็นปัญหาของโลกปัจจุบัน ที่จะต้องมาคิดกันว่าเราจะแก้ไขอย่างไร
ร่างกายของเราซึ่งเป็นพื้นฐานของชีวิต ที่ควรจะต้องอยู่อย่างสอดคล้องกับโลกภายนอกนั่นน่ะ ขณะนี้มันยังเป็นธรรมชาติแท้ๆ มันยังต้องการอากาศที่บริสุทธิ์ ยังต้องการน้ำที่บริสุทธิ์ แล้วก็ต้องการอาหารที่บริสุทธิ์ แต่เสร็จแล้วตอนนี้มันก็กำลังมาเป็นปัญหากับสิ่งเหล่านี้ เนื่องจากอากาศก็เป็นอากาศที่ไม่บริสุทธิ์ เพราะเป็นอากาศที่ถูกวิทยาศาสตร์ทำให้ผันแปรไป น้ำก็เป็นน้ำที่ไม่บริสุทธิ์ คือเป็นน้ำที่ถูกวิทยาศาสตร์ทำให้แปลกปน แล้วอาหารก็เป็นอาหารที่ไม่บริสุทธิ์ เพราะเป็นอาหารที่วิทยาศาสตร์ทำให้เปลี่ยนสภาพไปแล้ว อันนี้มันเกิดเป็นปัญหาขึ้นมา เพราะเราไม่ได้เปลี่ยนเนื้อหาชีวิตด้านร่างกายเสียใหม่ ให้มันสอดคล้องกับโลกภายนอกที่เป็นวัตถุวิทยาศาสตร์อย่างว่านั้น
เอาละ นี้เป็นการพูดในเชิงอุปมา เพื่อให้เห็นภาพ ก็เป็นอันว่า ต่อไปนี้มนุษย์อาจต้องเลือกเอา ต้องมีการตัดสินใจว่าจะเอาอย่างไร ระหว่างมนุษย์ธรรมชาติในโลกของธรรมชาติ กับการพยายามทำให้เป็นมนุษย์วิทยาศาสตร์ ที่จะอยู่ในโลกวิทยาศาสตร์ เพื่อให้มันเกิดความสอดคล้องกัน มนุษย์จะเลือกเอาอย่างไหน หรือจะมีทางประนีประนอมอย่างไร
ถ้าเป็นไปในสภาพปัจจุบัน ก็คือว่า ตัวมนุษย์โดยเฉพาะด้านร่างกายยังเป็นธรรมชาติ แต่เรากำลังจะอยู่ในโลกวิทยาศาสตร์ ซึ่งไม่สอดคล้องกัน ถ้าเดินต่อไปในทิศทางนี้จะต้องไปสู่ความพินาศอย่างแน่นอน ถ้าแก้ไขไม่ได้ หันเปลี่ยนเข็มหรือเบนทิศทางของความเจริญของมนุษยชาติไม่ได้ ความหายนะก็รออยู่ข้างหน้า
No Comments
Comments are closed.