- คำนำ
- ปรับท่าทีและทำความเข้าใจกันก่อน
- วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ความสดใสที่แฝงความสับสน
- เมื่อวิทยาศาสตร์แปลกหน้ากับธรรมชาติ
- วิทยาศาสตร์กับเทคโนโลยี เพื่อนเก่าที่จะต้องเข้าใจกันให้ดี
- ก้าวถึงสุดแดน แต่ก็รู้ไม่จบ
- คุณค่าและความคิดที่ผลักดัน เบื้องหลังกำเนิดและพัฒนาการของวิทยาศาสตร์
- เบื้องหลังความเจริญ คือเบื้องหลังความติดตัน
- ศาสนากับวิทยาศาสตร์ เริ่มร่วมแล้วร้างเริด
- ศาสนากับวิทยาศาสตร์ ความแตกต่างที่ไม่ห่างจากความแม้นเหมือน
- ความสดใสที่ไม่พ้นความสับสน
- วิทยาศาสตร์เดียว ศาสนาเดียวหรือศาสนากับวิทยาศาสตร์ที่เป็นหนึ่งเดียว
- เมื่อความมั่นใจในวิทยาศาสตร์สั่นคลอน แม้แต่ศาสนาแห่งการอ้อนวอนก็เฟื่องฟูได้
- มนุษย์จะประสบคุณค่าสูงสุดได้ ต้องให้วิทยาศาสตร์กับศาสนาบรรลุจุดบรรจบ
- วิทยาศาสตร์กับพุทธศาสนา จุดแยกหรือจุดบรรจบ
- ศาสนาแห่งธรรมชาติ และการรู้ธรรมชาติด้วยปัญญา
- ศาสนาแห่งการเพียรแก้ปัญหา ด้วยการพัฒนาปัญญาของมนุษย์
- แยกแล้วทิ้ง กับแยกไปเอาความจริง
- พุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์ ความต่างในความเหมือน
- ศรัทธา: จุดร่วมที่แตกต่าง ระหว่างพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์
- ศรัทธาที่ครบชุด ต้องทั้งมนุษย์ ธรรมชาติ และสังคม
- ทำท่าจะเหมือน แต่ก็ไม่เหมือน
- แดนแห่งความรู้: ขอบเขตและเป้าหมายที่ไม่เหมือนกัน
- วิธีเข้าถึงความรู้: แนวทางที่ตรงกัน แต่เน้นต่างกัน
- วิธีเข้าถึงความจริง: จุดเน้นและการใช้ต่าง ที่ทำให้ห่างไกลกัน
- สุดแดนวิทย์ เข้ามาจ่อแดนจิต
- โลกวัตถุ: แดนตัวเองที่วิทยาศาสตร์ยังไปไม่จบ
- จริยธรรม: ด่านหน้าที่รอประลองของแดนนามธรรมแห่งจิต
- วิทยาศาสตร์: ต้นวงจรที่เฉออกไปจากมนุษย์
- ศาสนาที่แท้เป็นฐานกำเนิดของวิทยาศาสตร์
- สู่การยอมรับคุณค่าและประสบการณ์ทางอินทรีย์ที่ ๖
- ข้อเสนอเบ็ดเตล็ด เพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์
- การยอมรับความ “ไม่เพียงพอ” ของวิทยาศาสตร์
- ความ “รอไม่ได้” ก็เป็นภาวะที่ต้องยอมรับด้วย
- จัดปรับเรื่องคุณค่าให้ถูก เข้าใจสุข-ทุกข์ให้ตรงปัญหาการพัฒนาจึงจะแก้ได้
- ส่งเสริมเทคโนโลยีที่สร้างสรรค์และไม่สร้างปัญหา
- การแก้ปัญหาที่ถ่วงการพัฒนาวิทยาศาสตร์ในสังคมไทย
เมื่อความมั่นใจในวิทยาศาสตร์สั่นคลอน
แม้แต่ศาสนาแห่งการอ้อนวอนก็เฟื่องฟูได้
ขอสรุปในข้อสำคัญอีกทีหนึ่งว่า ปัญหาของมนุษย์ในชีวิตและสังคมที่เป็นอยู่จริงนี้ ต้องการคำตอบที่สำเร็จรูปที่ใช้การได้ทันที หรือเป็นคำแนะนำที่พร้อมจะปฏิบัติได้ทันที สำหรับปัจจุบันขณะนี้ สำหรับชีวิตนี้ ที่แต่ละคนมีเวลาอยู่ในโลกจำกัด เขารอไม่ได้ สถานการณ์แต่ละอย่างไม่อาจผัดเพี้ยน จะได้คำตอบถูกหรือผิดก็อีกเรื่องหนึ่ง
แม้ว่าวิทยาศาสตร์จะมีความรู้และสามารถบอกวิธีปฏิบัติในการแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพมากมาย แต่ก็มีจุดอ่อน บกพร่องที่ไม่เพียงพอ และรอไม่ได้ นี่เป็นลักษณะของวิทยาศาสตร์ คือ “ไม่เพียงพอ และรอไม่ได้” อันนี้เป็นสิ่งที่เราจะต้องพูดกันต่อไป เป็นเรื่องมากมายทีเดียว
ที่ว่าไม่เพียงพอนั้น จะขอยกตัวอย่างมาให้ดูว่าทำไมวิทยาศาสตร์จึงไม่เพียงพอ ความรู้วิทยาศาสตร์โดยตรง จะเรียกว่าปัญญาวิทยาศาสตร์หรืออะไรก็ตาม ไม่สามารถแก้ปัญหาแท้ๆ ของชีวิตในขั้นรากฐาน เช่น ทำคนให้เป็นคนดีไม่ได้ ทำคนให้มีความสุขไม่ได้ แก้นิสัยคนไม่ได้ คนมีความทุกข์ โทมนัส เศร้า โกรธ เป็นต้น แก้ไม่ได้ พลัดพรากจากคนรัก ไม่สบายใจ แก้ไม่ได้ หรือแม้แต่แก้ปัญหาสังคมก็ไม่ได้
ในเรื่องนี้นักวิทยาศาสตร์อาจจะเถียงว่า อ้าว! เดี๋ยวนี้วิทยาศาสตร์ช่วยได้มากมาย คนนอนไม่หลับ ซึมเศร้า เป็นโรคทางจิตใจ เดี๋ยวนี้เราใช้ยาช่วยได้อย่างดี เอายากล่อมประสาทให้กิน หรือฉีดยา ก็นอนหลับ สบายใจ หายกลุ้มกังวล ช่วยได้มากมาย วิทยาศาสตร์ประยุกต์และเทคโนโลยีในทางการแพทย์ช่วยคนไว้มากหลาย ข้อนี้เราต้องยอมรับความจริง คนเสียสติ คนจิตวิปลาส วิทยาศาสตร์มีส่วนช่วยแก้ไขได้
วิทยาศาสตร์อาจจะมองว่า ต่อไปภายหน้า เราจะทำให้มนุษย์มีความสุขโดยใช้สารเคมี เพราะฉะนั้นจะผลิตยาพวกนี้มาเป็นแคปซูลๆ เวลาไม่สบายก็ไปซื้อยานี้มากิน มันจะไม่ใช่เป็นยาหรอก ต่อไปมันจะเป็นตัวสิ่งที่ให้ความสุขไปเลย จะเป็นวัตถุที่ให้ความสุข ไม่ใช่เป็นยา
ทีนี้วิทยาศาสตร์ก็คอยศึกษา เวลาคนมีความสุข มีความปลื้มใจ เป็นต้น สมองหลั่งสารอะไรออกมา อ้อ หลั่งสารอย่างนี้ออกมา จับได้แล้ว เราก็ไปผลิตสารนี้มา เสร็จแล้วคนมีอาการไม่สบายใจ กลุ้มใจ เครียด กังวลมา ก็ฉีดเข้าไป ให้กินเข้าไป ก็สบายใจไปทันที ดูๆ ไป วิทยาศาสตร์เหมือนเนรมิตได้ คงจะแก้ปัญหาของโลกได้หมด ก็ทำให้สบายใจนี่ ต่อไปมนุษย์ก็ไม่ต้องกลัว มีสารมีวัตถุเหล่านี้ขายเกลื่อนกล่นเหมือนกับอาหาร ใครไม่สบายใจ หรืออยากมีความสุข ก็ไปซื้อเอามา ก็สุขสบายไม่มีทุกข์
แต่ว่า มองไปอีกทีหนึ่ง แหม แค่สารพิษ สารเคมีในอาหาร อะไรต่างๆ ในปัจจุบันนี้ก็แย่พอแล้วนะ ยังจะไปเพิ่มอีก แต่อันนี้ก็ไม่สำคัญเท่าไร ที่สำคัญมากกว่านั้นก็มองที่ระบบคุณค่า ทางพระศาสนานี้ เราถือว่ามนุษย์จะต้องเดินก้าวหน้าไปสู่อิสรภาพ พัฒนาสู่ความเป็นอิสระมากขึ้น หมายความว่า มนุษย์จะต้องมีความสามารถในการที่จะมีความสุขได้ด้วยตนเองมากยิ่งขึ้น พึ่งพาอาศัยปัจจัยภายนอกน้อยลง พัฒนาชีวิตให้เป็นไท ไม่เป็นทาสที่ต้องขึ้นต่ออะไรๆ นอกตัวพะรุงพะรังไปหมด แต่วิธีการแบบนี้จะกลายเป็นว่า ทำให้มนุษย์ต้องฝากความสุข ฝากชะตากรรมไว้กับวัตถุภายนอกยิ่งขึ้น ยิ่งอยู่ด้วยตนเองไม่ได้มากยิ่งขึ้นๆ หมดอิสรภาพ ถ้าเป็นอย่างนั้น ก็จะเป็นวิถีทางไปสู่ความสูญเสียอิสรภาพของมนุษย์ มนุษย์จะอยู่ด้วยตนเองโดยลำพังตัวเองไม่ได้อีกต่อไป
อนึ่ง เมื่อว่าโดยสาระ ถ้าวิทยาศาสตร์เจริญไปในลักษณะเช่นนั้น คือทำให้คนต้องพึ่งอาศัยขึ้นต่อปัจจัยภายนอกมากขึ้น วิทยาศาสตร์ก็จะไม่ต่างอะไรกับศาสนาโบราณ ที่ให้มนุษย์ฝากชะตากรรมไว้กับการบวงสรวงอ้อนวอนเทพเจ้า คือต่างก็มอบสุขทุกข์ของมนุษย์ไว้กับอำนาจดลบันดาลจากภายนอกเช่นเดียวกัน ฝ่ายหนึ่งฝากไว้กับวัตถุ อีกฝ่ายหนึ่งฝากไว้กับสิ่งที่เป็นนามธรรม แต่สาระคือความสูญสิ้นอิสรภาพหรือหมดความเป็นไท เช่นเดียวกัน
ถ้าขืนเป็นอย่างนั้น และถ้าถึงขั้นนั้นแล้วเราก็เลิกเป็นมนุษย์ได้ คือ เราไม่ใช่มนุษย์ธรรมชาติแล้ว มันเป็นมนุษย์วิทยาศาสตร์ มนุษย์เทียม หรือจะกลายเป็นมนุษย์อะไรชนิดหนึ่ง ที่สภาพธรรมชาติอาจจะรองรับไม่ได้ก็ได้
ที่ว่ามานี้เป็นเรื่องของความไม่เพียงพอ คือ วิทยาศาสตร์อย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะแก้ปัญหาต่างๆ ของมนุษย์ ถ้าพูดด้วยศัพท์ทางธรรม ก็สรุปได้สั้นๆ ว่า วิทยาศาสตร์ (พร้อมทั้งเทคโนโลยี) ไม่ช่วยให้คนมีพฤติกรรมที่ดีงาม หรือเกื้อกูลต่อเพื่อนมนุษย์ (ศีล) ไม่ช่วยให้คนมีคุณธรรม หรือมีจิตใจเป็นสุข (สมาธิ) และมีตาข้างเดียว คือตาที่สำรวจเก็บข้อมูลความรู้ แต่ไม่มีตาที่จะนำหรือบอกทางว่าจะปฏิบัติอย่างไรจึงจะถูกต้อง หรือควรจะดำเนินชีวิตให้ดีงามมีความสุขได้อย่างไร (ปัญญา)
ข้อติดขัดประการต่อไปก็คือ รอไม่ได้ เพราะว่าความรู้ของวิทยาศาสตร์ยังไม่ถูกต้องถ่องแท้สมบูรณ์ ยังไม่สามารถให้คำตอบที่แน่นอนเด็ดขาด และก็ไม่รู้ว่าเมื่อไรวิทยาศาสตร์จะเข้าถึงความจริงที่แท้ ความรู้ทางวิทยาศาสตร์นั้นก้าวไปเรื่อยๆ สมัยหนึ่งเคยว่าอันนี้จริง ต่อมาก็พบว่าผิด แล้วก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ถ้าเราขืนรอความรู้ทางวิทยาศาสตร์ให้บอกความจริงของธรรมชาติเสร็จสิ้น เราก็อยู่ไม่ไหว และทำอะไรไม่ได้ เราแต่ละคนก็คงตายไปก่อน ชีวิตนี้ก็ไม่รู้ว่าจะอยู่กันอย่างไร แล้วมนุษย์ก็เป็นอันว่า ไม่มีทางบรรลุชีวิตที่ดีงาม
นักวิทยาศาสตร์หา general principle คือหลักการทั่วไปให้เราอยู่เรื่อย แต่กฎเกณฑ์ที่ค้นพบนั้น แม้จะเป็น general ที่ว่าทั่วไป แต่มันก็เป็นกฎปลีกย่อย เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ในภาพรวมของความจริงที่ครอบคลุมสำหรับชีวิต ซึ่งศาสนาให้คำตอบครอบคลุมไปทีเดียวเลย ทุกครั้งๆ ไป ให้คำตอบทีเดียวเสร็จ
เอาเป็นว่า ในระหว่างที่วิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถให้คำตอบความจริงขั้นพื้นฐานได้ ตอนนี้เราก็อาศัยวิทยาศาสตร์ที่ผ่านทางเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องประเทืองชีวิต ประโลมใจไปพลางก่อน ตอนนี้ ตัวที่มาช่วยมนุษย์ก็คือเทคโนโลยี ซึ่งมีบทบาทสำคัญที่เอามาใช้ประโยชน์ได้ อาศัยเกื้อกูลสำหรับดำเนินชีวิต แต่เทคโนโลยีนี้ไม่สามารถจะตอบคำถามพื้นฐานของมนุษย์ เพราะฉะนั้น ในด้านคำตอบความจริง (หรือไม่จริง) พื้นฐานของธรรมชาติ มนุษย์ก็อาศัยศาสนาไปก่อน และอาศัยวิทยาศาสตร์เพียงแค่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีมาเสริมแต่งความสุขสบายด้านนอกของชีวิต นี่คือสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ทำไมมนุษย์จึงยังต้องอาศัยศาสนาอยู่ ทำไมศาสนาจึงยังอยู่ในโลกได้จนกระทั่งปัจจุบัน ก็เพราะว่า มนุษย์ยังต้องการคำตอบชนิดครอบคลุมรวบยอดทีเดียวจบ พอแก่การ และใช้ได้ทันทีนี้อยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะจริงหรือไม่จริง เพราะยังไม่อาจพิสูจน์ได้ และเพราะพิสูจน์ยังไม่ได้และวิทยาศาสตร์ก็ช่วยในขั้นนี้ไม่ได้นี้แหละ จึงทำให้ต้องอยู่ด้วยความเชื่ออย่างนั้น
ถ้ามองในแง่นี้จะเห็นว่า แม้ปัจจุบันนี้วิทยาศาสตร์จะได้เจริญก้าวหน้ามาแล้วอย่างมากมายเหลือเกิน ก็ได้แต่ขยายมิติความรู้ด้านวัตถุอย่างเดียวออกไปอย่างกว้างขวางละเอียดพิสดาร แต่เมื่อพูดถึงการตอบปัญหาพื้นฐานของมนุษย์ ที่จะให้มนุษย์จัดวางชีวิตของตนลงในโลกอย่างลงตัวได้ที่แล้ว ตลอดเวลาที่ยาวนานยิ่งนี้ วิทยาศาสตร์ยังเสมือนว่าย่ำอยู่กับที่ ยังไปไม่ถึงไหนเลย
ว่ากันไป ไม่เฉพาะในระดับตัววิทยาศาสตร์บริสุทธิ์เท่านั้น ที่ว่าจะมีปัญหาเป็นเรื่องผิดพลาดต้องแก้ไขกันเป็นระยะๆ แม้แต่ในระดับวิทยาศาสตร์ประยุกต์และเทคโนโลยี ก็มีปัญหาอยู่บ่อยๆ ซึ่งบางทีไม่ใช่ถึงกับเป็นการผิดหรอก แต่มันเนื่องจากว่า ความรู้ไม่ทั่วถึง ไม่แทงตลอดในเรื่องนั้นๆ มองความจริงกันด้านเดียวแง่เดียวหรือสองด้านสามแง่ แต่ต่อมาพบความจริงในด้านอื่นแง่อื่นอีกที่ไม่ได้มองหรือมองไม่ถึง ก็เลยกลายเป็นว่า ที่ทำมานั้นเสียหายหรือเป็นภัยอันตราย ต้องรีบเลิกละเสีย
ยกตัวอย่างเช่น กรณียาคลอแรมเฟนนิคอล (chloramphenicol) สมัยหนึ่งนั้น นิยมกันนักหนาว่าเป็นยาครอบจักรวาล เป็นอะไรก็กินหาย คนดีใจกันใหญ่ ต่อไปนี้เราสบายแล้ว เป็นโรคอะไรก็ไปซื้อคลอแรมเฟนนิคอลกิน ตามตลาดวางขายกันเกลื่อน ต่อมาหลายปี สัก ๑๐ ปีหรือประมาณนั้น ค้นพบว่า คลอแรมเฟนนิคอลนี่ พิษร้ายเหลือเกิน ก่ออันตรายโดยไม่รู้ตัว ปรากฏว่า หลายคนตายไปแล้ว มันไปทำให้เยื่อในกระดูกหรือไขกระดูกไม่ผลิตเลือด คนตายเพราะเหตุนี้ไม่น้อย เพราะเป็นมะเร็งในเม็ดเลือดหรืออะไรพวกนี้
ต่อมา กรณีดีดีที ตอนนั้นก็นึกว่า ได้ดีดีทีขึ้นมาสบายแล้ว ต่อไปนี้ไม่ต้องกลัวแมลงแล้ว มดหมด ยุงหมด แมลงร้ายจะหมด มนุษย์เราจะสบายไม่ถูกรบกวนจากแมลง ต่อมาอีกหลายปี ก็ค้นพบความจริงว่า ดีดีทีนี่มีพิษร้าย เป็นสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อชีวิต แม้แต่มะเร็งมันก็อาจจะทำให้เกิดได้ แล้วยิ่งกว่านั้นก็คือว่า ในขณะที่มนุษย์แย่นี้ พวกแมลงต่างๆ มันสร้างภูมิต้านทานได้เก่งกว่า ต่อมาปรากฏว่า พิชิตแมลงไม่ได้แต่จะมาพิชิตมนุษย์อะไรทำนองนี้ หลายประเทศก็เลยบอกให้เลิกใช้ดีดีที แต่ประเทศไทยยังใช้กันอยู่บ้าง ก็แล้วแต่จะว่ากันไป
กรณียาทาลิโดไมด์ (Thalidomide) ยิ่งเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน และเตือนใจได้มาก เป็นยาแก้ปวดหัวกล่อมประสาทที่วงการแพทย์ชื่นชมกันนัก บอกว่าผ่านการพิสูจน์ทดลองกันมาอย่างละเอียดรอบคอบ มั่นใจนักหนาถึงกับประกาศว่าเป็นยาที่ปลอดภัยเป็นพิเศษ ถึงขนาดประเทศพัฒนาแล้วที่มีชื่อว่ากวดขันเรื่องยามาก ให้โอกาสประชาชนซื้อหามาใช้ได้โดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์ แล้วก็ขายกันนานถึง ๕ ปี ถึง พ.ศ. ๒๕๐๔ จึงได้รู้ว่าเป็นตัวสาเหตุให้หญิงมีครรภ์คลอดลูกออกมาพิกลพิการมากมาย กว่าจะค้นพบและถอนยาออกจากตลาด เด็กเกิดมาขาด้วนแขนกุดไปแล้วราว ๘,๐๐๐ ราย
ขอยกอีกตัวอย่าง กรณีสาร CFC (Chlorofluorocarbon) ชื่อมันยาว เอาเฉพาะตัวย่อ เจ้านี้เอามาใช้ในหลายเรื่อง เช่น ตู้เย็น เครื่องทำความเย็น หรือแอร์คอนดิชันเนอร์ แล้วก็ใช้ในพวกกระป๋องฉีดให้อากาศหอมอะไรทำนองนี้ สารพวกนี้ใช้กันมานานอย่างตายใจ กว่าจะรู้ตัว ปรากฏว่า มันขึ้นไปในบรรยากาศโน่น ไปทำให้เกิดช่องโหว่ในชั้นโอโซน หรือ ozone layer ขึ้นมา โหว่ไปเสียมากแล้ว ก็ตกใจ เอาอีกแล้ว ตอนนี้เกิดวิตกกันใหญ่ ประชุมกันในระดับโลกว่าจะแก้ไขอย่างไร ozone layer จะโหว่กันใหญ่แล้ว แย่แล้ว มนุษยชาติกำลังเผชิญภัยอันตราย อาจจะร้ายแรงแทบสูญสิ้น ก็เป็นอันว่าได้ความรู้ขึ้นมาใหม่ เอาอีกแล้ว สิ่งที่เชื่อมาว่าดีมีประโยชน์มากนิยมใช้กันนี่มีโทษอีกแล้ว ต้องทบทวนแก้ไขกันใหม่
แต่ก่อนนี้ระยะหนึ่ง แม่ชอบเลี้ยงลูกด้วยนมขวด นิยมกันไปทั่วหมดเลย ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายพากันใช้นมขวดเลี้ยงลูกแทนนมมารดากันมา จนกระทั่งปัจจุบันนี้จึงหันเหทิศทางใหม่ กลับไปหาธรรมดาธรรมชาติเดิม องค์การโลกกำลังพยายามชี้แจงแนะนำประชาชนให้หันมาเลี้ยงลูกด้วยนมมารดา เพราะนมขวดนี่มันมีข้อเสีย มีข้อบกพร่องหลายอย่าง และอันตรายด้วย เมื่อ ๒-๓ วันนี้ VOA ก็ออกข่าวปัญหาเรื่องแบคทีเรียมาอยู่ที่หัวจุก ที่เป็นยางหรือพลาสติกอะไรต่างๆ พวกนี้
นี่ก็เป็นบทเรียนต่างๆ ที่เตือนว่ามนุษย์จะต้องมีความรอบคอบและรู้รอบด้านยิ่งขึ้นในการปฏิบัติต่อวิทยาศาสตร์ ในที่นี้ยกมาเป็นตัวอย่างที่แสดงถึงความไม่เพียงพอ รอไม่ได้ และยังต้องแก้ไขกันไปเรื่อยๆ ถ้ามีเวลาจะหวนกลับมาอีกทีหนึ่ง
No Comments
Comments are closed.