วิทยาศาสตร์กับพุทธศาสนา จุดแยกหรือจุดบรรจบ

16 สิงหาคม 2534
เป็นตอนที่ 15 จาก 37 ตอนของ

วิทยาศาสตร์กับพุทธศาสนา
จุดแยกหรือจุดบรรจบ

เป็นศาสนาเหมือนกัน แต่ไม่เหมือนกัน

เมื่อพูดถึงพุทธศาสนา ก็ต้องพูดถึงจุดเริ่มของพุทธศาสนาก่อน เมื่อกี้บอกว่า จุดเริ่มของศาสนาคือความกลัวภัย ทีนี้จุดเริ่มของพุทธศาสนาคืออะไร จุดเริ่มของพุทธศาสนาก็คือ ความกลัวทุกข์ เปลี่ยนจากภัยมาเป็นทุกข์ ไม่เหมือนกันนะ ต้องระวัง

ในตอนของศาสนาทั้งหลายนั้นเป็นภัย แต่มาในตอนของพุทธ­ศาสนานี่เป็นทุกข์ ซึ่งมีความหมายครอบคลุมกว่า กล่าวคือ จุดเน้นของความกลัวภัยนั้นไปอยู่ที่เหตุปัจจัยภายนอก เช่น น้ำท่วม แผ่นดินไหว ไฟ⁠ป่า พายุพัด อะไรต่างๆ อย่างที่ว่าเมื่อกี้ แต่พอมาถึงเรื่องทุกข์นี่มันครอบคลุมปัญหาทั้งหมดตลอดถึงในตัวมนุษย์เอง

ทุกข์คืออะไร คือสภาพบีบคั้น ติดขัด คับข้อง ก็ได้แก่ปัญหาของมนุษย์นั่นเอง ในแง่หนึ่ง พูดง่ายๆ ทุกข์ก็คือ ปัญหา เพราะปัญหาก็คือ สิ่งบีบคั้น ติดขัด คับข้อง ของมนุษย์

ศาสนาต่างๆ นั้น มองหาแหล่งเกิดภัย หมายความว่า เมื่อต้องการพ้นภัยก็มองหาแหล่งเกิดภัย ในระยะแรก ศาสนาเหล่านั้นมองไปที่อะไร (ที่จริงไม่ใช่ศาสนามองหรอก ก็คือมนุษย์นั่นเองแหละที่มอง แต่พูดให้เป็นภาพ) ก็นึกถึงคนนี่แหละ เพราะว่าเท่าที่รู้ๆ เห็นๆ กันอยู่ สิ่งต่างๆ จะเป็นอย่างไรก็ต้องมีผู้ทำ ในเมื่อสิ่งทั้งหลายในโลกมนุษย์นี่ มนุษย์ทำ แต่สิ่งใหญ่ๆ ในธรรมชาติเหล่านี้ มนุษย์ทำไม่ได้ แต่ก็ต้องมีผู้ทำ ก็นึกหาผู้ทำ นึกหากันไปก็ได้ผู้ทำที่เรียกว่าเทพเจ้าหรือเทวดา ก็เลยมองไปที่เทวดา ว่าเป็นที่มาของภัยเหล่านั้น หรืออาจจะเรียกว่า อำนาจลึกลับภายนอกที่อยู่เบื้องหลังธรรมชาติ เป็นผู้บันดาลพาเมฆมา พาพายุมา พาน้ำมา พาไฟมาอะไรต่างๆ เหล่านี้ พอถึงขั้นนี้ก็เกิดมีศาสนาที่มีเทวดาหลายองค์บ้าง องค์เดียวบ้าง จนกระทั่งแม้แต่เป็นภาวะหนึ่งเดียวที่เลยจากขั้นเทวดาไปแล้ว

เมื่อมนุษย์มองตามระบบการลงโทษและให้รางวัล ก็เห็นว่าต้นตอภัยอยู่ที่ไหน จุดระงับภัยก็ต้องอยู่ที่นั่น ตอนแรกก็มองแบบมนุษย์นี่แหละ คือคนเราก็มองคนด้วยกัน ก็เห็นกันอยู่ว่าผู้ใหญ่มีอำนาจมากกว่า เมื่อคนเล็กมาทำไม่ชอบใจเขาก็ทำร้ายเอา ลงโทษเอา แต่ถ้าคนเล็กทำดีคนใหญ่ชอบใจก็ให้รางวัล เมื่อมองไปที่สิ่งใหญ่ที่อยู่เบื้องหลังธรรมชาติก็คิดแบบเดียวกัน ก็เอาภาพของมนุษย์ไปใส่ให้เทวดา เพราะฉะนั้น จึงมีนักจิต­วิทยาสมัยหลังบอกว่า มนุษย์สร้างเทวดาตามฉายาของมนุษย์ ซึ่งไปขัดกับคำสอนของศาสนาคริสต์ ที่ว่า พระเจ้าสร้างมนุษย์ตามฉายาของพระเจ้า คือ ท่านบอกว่า พระผู้เป็นเจ้าสร้างมนุษย์ขึ้นมาตามรูปเสมือนของพระองค์ แต่นักจิตวิทยาสมัยหลังนี่ เมื่อพูดถึงเรื่องกำเนิดของศาสนา บางท่านบอกว่า มนุษย์สร้างเทวดาตามรูปเหมือนของมนุษย์ ก็แล้วแต่ว่าจะคิดหาเหตุผลมาแสดงกันไป

เป็นอันว่า มนุษย์ก็คิดว่า เทวดาเหล่านี้แหละ เป็นต้นตอของเภทภัยอันตรายทั้งหลาย เพราะฉะนั้น เราต้องเอาใจคนที่มีอำนาจฉันใด เราก็ต้องเอาใจเทวดาฉันนั้น ก็เลยเกิดมีวิธีการขึ้นมาในการที่จะช่วยตัวเองให้พ้นภัย โดยการไปแสดงความเคารพ อ่อนน้อม กราบไหว้ อ้อนวอน ขอผล เป็นอันว่า

ปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดผลในศาสนาโบราณเหล่านั้น ก็คือ การดลบันดาลของเทพเจ้า ซึ่งไม่ใช่วิสัยของมนุษย์

ตัวโยงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเทพเจ้าหรืออำนาจดลบันดาลเหล่านั้น ก็คือ ศรัทธา หรือความเชื่อ

เมื่อเชื่อในพระองค์ เคารพในพระองค์แล้ว ก็แสดงออกเป็นวิธีการ วิธีการก็คือ การบวงสรวงอ้อนวอน

เป็นอันว่าได้ครบแล้ว คือ ตัวกำหนดผล ได้แก่ การบันดาลของเทพเจ้า ตัวสัมพันธ์ ได้แก่ ศรัทธา วิธีการปฏิบัติ ได้แก่ การบวงสรวงอ้อนวอน อันนี้เป็นระบบความเชื่อในศาสนาต่างๆ เท่าที่เป็นมา

ทีนี้ พอพุทธศาสนาเกิดขึ้น เราก็เอาหลักการเหล่านี้มาปรับดูว่า จะเป็นอย่างไร พุทธศาสนานั้น อย่างที่พูดไปแล้วว่า ต้องการพ้นทุกข์ ไม่ต้องการมีความทุกข์ ถึงตอนนี้ก็จะมีความใฝ่ปรารถนาที่จะพ้นทุกข์ขึ้นมา เพราะฉะนั้น จุดกำเนิดของพุทธศาสนาก็คือ ความใฝ่ปรารถนาจะพ้นทุกข์ หรือความใฝ่ปรารถนาภาวะไร้ทุกข์

เป็นอันว่า ความใฝ่ปรารถนาภาวะไร้ทุกข์เป็นจุดกำเนิดของพุทธ­ศาสนา ต่อจากนั้นในกระบวนการแก้ไขจะทำอย่างไร เมื่อเราต้องการพ้นจากทุกข์ก็จะต้องมีวิธีการแก้ทุกข์ จะรู้วิธีนั้นได้ก็ต้องดูต้นกำเนิดของทุกข์ ต้นกำเนิดของทุกข์อยู่ที่ไหน ศาสนาเก่าบอกว่าภัยนั้นต้นกำเนิดมาจากเทวดา แต่พุทธศาสนาบอกว่า การเกิดขึ้นของทุกข์เป็นกระบวนการของเหตุปัจจัย เป็นกฎธรรมชาติ ซึ่งจะต้องรู้เข้าใจ

ทุกข์นี้มีต้นเหตุซึ่งเป็นไปตามกระบวนการของธรรมชาติ คือ หลักของความเป็นเหตุเป็นผล หรือความเป็นไปตามเหตุปัจจัย ความไม่รู้เข้าใจในความจริงนั้นแหละ หรือตัวความไม่รู้ไม่เข้าใจในกระบวนการธรรมชาติหรือกระบวนความเป็นไปตามเหตุผลนั้นแหละเป็นต้นตอให้เกิดทุกข์ เพราะฉะนั้นพุทธศาสนาจึงสืบสาวหาต้นกำเนิดของความทุกข์โดยมองไปที่ตัวความไม่รู้ไม่เข้าใจเหตุปัจจัย หรือตัวความไม่รู้เข้าใจธรรมชาติและกฎธรรมชาติ ได้แก่ อวิชชา

เป็นอันว่า ตอนนี้ เรามาถึงจุดกำเนิดของพุทธศาสนาแล้ว เมื่อกี้นี้ว่า จุดกำเนิดของศาสนาต่างๆ ได้แก่ ภัย และต้นกำเนิดของภัย ได้แก่เทพเจ้าหรืออำนาจดลบันดาลภายนอก แต่จุดกำเนิดของพุทธศาสนาบอกว่าได้แก่ ทุกข์ และต้นกำเนิดของทุกข์คือ ความไม่รู้เข้าใจเหตุปัจจัยของทุกข์นั้น หรือความไม่รู้เข้าใจกฎธรรมชาติ กล่าวคือ กระบวนการแห่งความเป็นไปตามเหตุปัจจัยนั้นเอง

ต่อไปก็มาถึงตัวการที่จะแก้ปัญหา ตัวการที่จะแก้ปัญหาคืออะไร ในเมื่อความไม่รู้ไม่เข้าใจกฎธรรมชาติหรือเหตุปัจจัยนี้เป็นต้นกำเนิด ตัวการที่จะแก้ปัญหาก็ตรงข้าม กล่าวคือ ความรู้เข้าใจเหตุปัจจัยนั้น ความรู้เข้าใจกฎธรรมชาติคือ ตัวปัญญา

จากจุดเดิม ศาสนาต่างๆ บอกว่า ศรัทธา คือ ตัวโยงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับต้นกำเนิดของภัย พุทธศาสนาก็เปลี่ยนเป็นว่า ตัวโยงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ไปหาต้นกำเนิดของทุกข์นั้นคือ ปัญญา หมายความว่า ย้ายจากศรัทธามาหาปัญญา นี่คือจุดเปลี่ยนของพุทธ­ศาสนา มนุษย์จะต้องรู้เข้าใจกระบวนการของเหตุปัจจัยทั้งหลายนั้น แล้วแก้ไขที่เหตุปัจจัย

ประการสุดท้าย การแก้ไขที่เหตุปัจจัยนั้นเป็นเรื่องของมนุษย์ที่มนุษย์จะต้องทำ และเป็นวิสัยที่มนุษย์จะกระทำได้ เพราะฉะนั้น การแก้ปัญหาก็จะเปลี่ยนจากอำนาจดลบันดาลของเทพเจ้ามาเป็นการกระทำของมนุษย์

สรุปว่า จุดทั้ง ๓ นี้เป็นหลักการสำคัญ

  1. ในศาสนาทั่วไปต้นกำเนิดของภัย ได้แก่ เทวดา แต่ในพุทธ­ศาสนา ต้นกำเนิดของทุกข์ ได้แก่ ความไม่รู้เข้าใจกฎธรรมชาติ
  2. ตัวโยงไปสู่ต้นกำเนิดนั้น ในศาสนาต่างๆ ได้แก่ศรัทธา แต่ในพุทธศาสนา เปลี่ยนมาเป็นปัญญาที่รู้เข้าใจกฎธรรมชาติ
  3. ตัวกำหนดผล ในศาสนาทั่วไป ได้แก่อำนาจดลบันดาล แต่ในพุทธศาสนาเปลี่ยนมาเป็นการกระทำของมนุษย์

อันนี้ก็คือ การเปลี่ยนแปลงที่เป็นการปฏิวัติเลยทีเดียว เป็นอันว่า จุดเน้นหรือประเด็นหลักในพุทธศาสนา ได้ย้ายไปแล้วจากศรัทธามาสู่ปัญญา ปัญญาที่ว่านี้ ก็เริ่มด้วยความใฝ่รู้ หรือใฝ่ในความรู้เหมือนกัน เพราะการที่จะมีปัญญาได้ เราก็ต้องมีความใฝ่รู้ แต่ความใฝ่รู้นั้นจะมีลักษณะต่างกันซึ่งจะได้วิเคราะห์กันต่อไป

จุดเน้นใหญ่อีกอย่างหนึ่งก็คือ การเปลี่ยนจากการบันดาลของอำนาจเหนือธรรมชาติ มาสู่การกระทำความเพียรพยายามของตัวมนุษย์เอง และในเรื่องนี้พุทธศาสนามีหลักการสำคัญที่ชัดเจนแน่นแฟ้น กล่าวคือ ไม่ว่าพุทธศาสนาจะเผยแพร่ออกไปสู่ชาวโลกกว้างขวางก้าวไกลเพียงใด หรือจะมีความเชื่อถือและความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนแปลกออกไปอย่างไรก็ตาม สาระก็ยังคงอยู่ที่จุดสำคัญ ประเด็นสำคัญคือ การกระทำของมนุษย์ หลักการสำคัญของพระพุทธศาสนาอันนี้ ถ้าเปลี่ยนไปถือว่าผิดเลย คือ จุดประเด็นหลักอันได้แก่ การกระทำของมนุษย์

หลักการแห่งการกระทำของมนุษย์ก็สืบมาในรูปที่เรียกว่า หลักกรรม นั่นเอง คนอาจจะเข้าใจตัวกรรมไขว้เขวไปบ้าง ความเข้าใจผิดอาจแทรกปนเข้ามาในหมู่ชาวพุทธบ้าง แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม กรรมก็ยังคือการกระทำของมนุษย์อยู่นั่นแหละ ไม่ใช่เป็นการบันดาลของเทพเจ้า

การที่พุทธศาสนาถือหลักกฎธรรมชาติ ประกาศอิสรภาพของมนุษย์ และเอาปัญญามาแทนศรัทธา อันนี้เป็นสิ่งที่แปลกในวงการศาสนา จนกระทั่งฝรั่งบางทีไม่ยอมเรียกพุทธศาสนาว่าเป็นศาสนา เราจะเห็นหนังสือฝรั่ง บางทีบอกว่า พุทธศาสนาไม่ใช่ religion คือ ไม่ใช่ศาสนาในความหมายของเขา เพราะมันไม่มีลักษณะเหมือนกับศาสนาทั้งหลายที่เขาเคยรู้จักมา

เป็นอันว่า หลักการที่เป็นจุดสำคัญก็มี

  1. ถือหลักกฎธรรมชาติ
  2. ประกาศอิสรภาพของมนุษย์
  3. เอาปัญญามาแทนศรัทธา

 

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< มนุษย์จะประสบคุณค่าสูงสุดได้ ต้องให้วิทยาศาสตร์กับศาสนาบรรลุจุดบรรจบศาสนาแห่งธรรมชาติ และการรู้ธรรมชาติด้วยปัญญา >>

No Comments

Comments are closed.