- คำนำ
- ปรับท่าทีและทำความเข้าใจกันก่อน
- วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ความสดใสที่แฝงความสับสน
- เมื่อวิทยาศาสตร์แปลกหน้ากับธรรมชาติ
- วิทยาศาสตร์กับเทคโนโลยี เพื่อนเก่าที่จะต้องเข้าใจกันให้ดี
- ก้าวถึงสุดแดน แต่ก็รู้ไม่จบ
- คุณค่าและความคิดที่ผลักดัน เบื้องหลังกำเนิดและพัฒนาการของวิทยาศาสตร์
- เบื้องหลังความเจริญ คือเบื้องหลังความติดตัน
- ศาสนากับวิทยาศาสตร์ เริ่มร่วมแล้วร้างเริด
- ศาสนากับวิทยาศาสตร์ ความแตกต่างที่ไม่ห่างจากความแม้นเหมือน
- ความสดใสที่ไม่พ้นความสับสน
- วิทยาศาสตร์เดียว ศาสนาเดียวหรือศาสนากับวิทยาศาสตร์ที่เป็นหนึ่งเดียว
- เมื่อความมั่นใจในวิทยาศาสตร์สั่นคลอน แม้แต่ศาสนาแห่งการอ้อนวอนก็เฟื่องฟูได้
- มนุษย์จะประสบคุณค่าสูงสุดได้ ต้องให้วิทยาศาสตร์กับศาสนาบรรลุจุดบรรจบ
- วิทยาศาสตร์กับพุทธศาสนา จุดแยกหรือจุดบรรจบ
- ศาสนาแห่งธรรมชาติ และการรู้ธรรมชาติด้วยปัญญา
- ศาสนาแห่งการเพียรแก้ปัญหา ด้วยการพัฒนาปัญญาของมนุษย์
- แยกแล้วทิ้ง กับแยกไปเอาความจริง
- พุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์ ความต่างในความเหมือน
- ศรัทธา: จุดร่วมที่แตกต่าง ระหว่างพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์
- ศรัทธาที่ครบชุด ต้องทั้งมนุษย์ ธรรมชาติ และสังคม
- ทำท่าจะเหมือน แต่ก็ไม่เหมือน
- แดนแห่งความรู้: ขอบเขตและเป้าหมายที่ไม่เหมือนกัน
- วิธีเข้าถึงความรู้: แนวทางที่ตรงกัน แต่เน้นต่างกัน
- วิธีเข้าถึงความจริง: จุดเน้นและการใช้ต่าง ที่ทำให้ห่างไกลกัน
- สุดแดนวิทย์ เข้ามาจ่อแดนจิต
- โลกวัตถุ: แดนตัวเองที่วิทยาศาสตร์ยังไปไม่จบ
- จริยธรรม: ด่านหน้าที่รอประลองของแดนนามธรรมแห่งจิต
- วิทยาศาสตร์: ต้นวงจรที่เฉออกไปจากมนุษย์
- ศาสนาที่แท้เป็นฐานกำเนิดของวิทยาศาสตร์
- สู่การยอมรับคุณค่าและประสบการณ์ทางอินทรีย์ที่ ๖
- ข้อเสนอเบ็ดเตล็ด เพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์
- การยอมรับความ “ไม่เพียงพอ” ของวิทยาศาสตร์
- ความ “รอไม่ได้” ก็เป็นภาวะที่ต้องยอมรับด้วย
- จัดปรับเรื่องคุณค่าให้ถูก เข้าใจสุข-ทุกข์ให้ตรงปัญหาการพัฒนาจึงจะแก้ได้
- ส่งเสริมเทคโนโลยีที่สร้างสรรค์และไม่สร้างปัญหา
- การแก้ปัญหาที่ถ่วงการพัฒนาวิทยาศาสตร์ในสังคมไทย
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ความสดใสที่แฝงความสับสน
คุณค่าที่ถูกสงสัย
ก่อนอื่น เราคงจะต้องยอมรับกันถึงคุณค่า หรือประโยชน์ หรือจะเรียกเป็นศัพท์สูงๆ หน่อยก็คือ คุณูปการที่วิทยาศาสตร์ได้ทำไว้ให้แก่มนุษยชาติ วิทยาศาสตร์มีประโยชน์เป็นเอนกอนันต์ อันนี้ไม่มีใครปฏิเสธ อาตมามาแสดงปาฐกถาครั้งนี้ เดินทางมาชั่วโมงเดียวก็ถึงเชียงใหม่ จากสนามบินดอนเมือง ถ้าหวนหลังไปเมื่อรัชกาลที่ ๑ สัก ร.ศ. ๑1 กว่าท่านผู้ฟังในที่นี้จะได้ฟังอาตมาก็คงต้องอีก ๓ เดือนข้างหน้า ซึ่งคงจะไม่มาเสียมากกว่า อันนี้ก็ต้องถือว่าเป็นอุปการะของวิทยาศาสตร์ ที่ช่วยให้การปฏิบัติกิจการต่างๆ เกิดความสะดวกสบาย จะเดินทางท่องเที่ยวก็ได้ จะมาทางวิชาการเพื่อประโยชน์ในทางสติปัญญาก็ได้ มีทั้งเครื่องบิน มีทั้งรถไฟ และรถยนต์
มองกว้างออกไปอีก ในการสื่อสารปัจจุบัน เรามีวิทยุ โทรศัพท์ โทรสาร โทรทัศน์ แล้วก็มีวีดีทัศน์ ดาวเทียมอะไรต่างๆ ซึ่งล้วนเป็นอุปกรณ์ที่เกิดจากความเจริญก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือที่เห็นกันชัดๆ ก็อย่างในวงการแพทย์ โรคระบาดมากมายหลายอย่าง เดี๋ยวนี้ก็หายไปหมด อหิวาต์ก็แทบจะไม่มี เงียบไปนานแล้ว เพิ่งจะไปโผล่ที่เปรูเมื่อไม่นานนี้ ในสายอาเซียก็เงียบไป กาฬโรคก็หายไปเลย ไข้ทรพิษก็บอกว่าลบไปได้แล้ว รวมแล้วโรคระบาดเหล่านี้ เดี๋ยวนี้เราไม่ค่อยต้องกลัวอันตราย แม้ว่าจะยังไม่อาจวางใจได้ว่าปลอดภัย ในเมื่อเอดส์โผล่ขึ้นมา มาเลเรียที่รบกันยังไม่จบสิ้นก็ชักจะฟื้นตัวขึ้น และวัณโรคก็ทำท่าจะหวนกลับมา
แต่ก่อนนี้คนเป็นแค่ไส้ติ่งอักเสบ ก็คงจะต้องเสียชีวิต แต่เดี๋ยวนี้การผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบเป็นเรื่องที่ง่ายเสียเหลือเกิน จนกระทั่งถึงผ่าสมองก็ไม่ยาก เครื่องมือในการตรวจ ในการหาสมุฏฐานและตำแหน่งของโรคก็พรั่งพร้อมและชัดเจนแม่นยำ อย่างเอกซ์เรย์ก็เจริญมาเป็นเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ จะใช้ระบบอุลตราซาวนด์ก็ได้ จนกระทั่ง MRI ก็มีแล้ว หมอแทบไม่ต้องตรวจเอง ส่งไปเข้าเครื่องตรวจก็สำเร็จ จนกระทั่งหมอยุคต่อไป ถ้าไม่มีเครื่องมือเหล่านี้ ก็อาจจะตรวจไม่เป็น นี่ก็เป็นเรื่องของความเจริญที่ล้วนเป็นประโยชน์ทั้งสิ้น
เรามีเครื่องไฟฟ้า มีเครื่องทุ่นแรงสารพัด การพิมพ์ การอะไรต่างๆ ก็เจริญก้าวหน้า แม้แต่ของที่เดี๋ยวนี้เราเห็นเป็นของเล็กน้อย อย่างนาฬิกานี่ สมัยก่อนถอยหลังไป ๒๐-๓๐ ปี นาฬิกาไม่ใช่เป็นของที่ง่ายๆ เลย บางทีไปซื้อมาประจำบ้านเป็นเรือนใหญ่ๆ โตๆ แล้วก็ใช้ลำบาก ต้องไขลานหรือดึงลูกตุ้มกันทุกวัน อะไรทำนองนี้ แต่เดี๋ยวนี้นาฬิกาควอร์ทซ์มีแล้ว เป็นเรื่องง่ายเหลือเกิน ราคาก็ถูก ถูกนิดเดียว แล้วก็เดินตรงกว่าสมัยก่อนมากมาย นาฬิกาสมัยก่อนเรือนใหญ่ๆ ราคาแพงๆ จะให้ตรงนี้ยาก เราเรียกนาฬิกาปารีส บางทีต้องตั้งต้องปรับกันอยู่นั่นแหละ ยากเหลือเกิน เดี๋ยวนี้ตรงกันข้าม นาฬิกากลายเป็นเรื่องที่แสนจะง่ายสบาย เครื่องเขียน ปากกา ก็แสนจะหาง่าย ราคาก็แสนจะถูก เมื่อ ๒๐ ปีก่อนต้องคอยระวังเก็บรักษา แต่เดี๋ยวนี้ มันง่ายและถูกจนใช้กันทิ้งๆ อย่างไม่มีความหมาย เจริญพรั่งพร้อมสะดวกไปทุกอย่าง จนกระทั่งสามารถไปอวกาศได้ มีคอมพิวเตอร์ใช้ นี่ก็เป็นความเจริญที่เรียกว่ารุดหน้าอย่างยิ่ง
ในทางชีววิทยาก็ไปถึงขั้นที่เรียกว่า พันธุวิศวกรรม ซึ่งอาจจะมีการแปลงพันธุ์ แต่งพันธุ์ ปรุงแต่งเพิ่มพันธุ์แปลกๆ ใหม่ๆ ของชีวิตพืชและสัตว์ต่างๆ ได้ อันนี้ก็เป็นความหวังของมนุษย์ในยุคปัจจุบัน เรียกว่าพรรณนากันไปได้แทบจะไม่มีที่สิ้นสุด นี่แหละคุณประโยชน์ของวิทยาศาสตร์ ซึ่งปรากฏออกมาในรูปของเทคโนโลยีเป็นอันมาก
แต่ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อมองไปก็ปรากฏว่า วิทยาศาสตร์นี้ โดยเฉพาะที่ออกรูปมาเป็นเทคโนโลยีอย่างที่กล่าวเมื่อกี้ ได้ก่อให้เกิดโทษอย่างมหาศาลแก่มนุษยชาติเช่นเดียวกัน ยิ่งถึงยุคปัจจุบันนี้ก็มีความกังวลกันมาก โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาอย่างสูงแล้วถึงกับหวาดกลัวกันว่า โลกและมนุษยชาตินี้ อาจจะถึงความพินาศไป เพราะความเจริญหรือพัฒนาในทิศทางที่ทำกันมา อาจจะเป็นความพินาศแบบปุ๊บเดียว คือชั่วกดสวิตช์ กดปุ่ม อย่างสงครามนิวเคลียร์ หรือมิฉะนั้นก็อาจจะเป็นความพินาศไปอย่างช้าๆ ใช้เวลายาวนาน คือการที่ธรรมชาติแวดล้อมเสื่อมสลาย ซึ่งกำลังเป็นปัญหาใหญ่มากของยุคปัจจุบัน
แม้แต่ในชีวิตประจำวันที่ใกล้ตัวเดี๋ยวนี้ คนก็ถูกคุกคามด้วยภัยธรรมชาติอย่างใหม่อันนี้กันมาก จะกินอาหาร ก็ไม่รู้ว่าผักหรือปลานี้ เขาแช่ฟอร์มาลินหรือเปล่า บางทีเขาฉีดฮอร์โมนเร่งความเติบโตของสัตว์และพืชที่เอามาทำเป็นอาหาร บางทีเลี้ยงหมู ก็ให้กินสารเคมีที่ทำให้เนื้อมีสีแดงน่ารับประทาน ขายได้ราคา หรืออาจจะมีสารเคมีเป็นพิษ ซึ่งมาในรูปของสารที่ช่วยรักษาอาหารให้คงทน อยู่นานบ้าง ปรุงแต่งรสบ้าง ปรุงแต่งสีสัน หรือเป็นส่วนผสมอะไรต่างๆ บ้าง ตลอดกระทั่งในเรื่องยาฆ่าแมลง ผัก ผลไม้และเนื้อสัตว์ ที่วางขายมีไม่น้อยเป็นของที่คนปลูกและคนเลี้ยงเขาไม่รับประทาน อันนี้ก็เป็นสภาพปัจจุบันที่คนไม่น้อยมีความหวาดกลัว มีชีวิตอยู่ด้วยความระแวงหวั่นใจ แล้วมันก็คุกคามต่อชีวิตของคนจริงๆ
อันนี้มองไปในแง่หนึ่งก็เหมือนกับว่า เวลานี้วิทยาศาสตร์ได้เข้าไปแปลกปนอยู่ในธรรมชาติ นี้เป็นสำนวนพูด คือ เรารู้สึกเหมือนกับว่าวิทยาศาสตร์กับธรรมชาติเวลานี้เป็นคนละพวก คือ คนมองคล้ายๆ กับว่าวิทยาศาสตร์เป็นพวกหนึ่ง และธรรมชาติเป็นอีกพวกหนึ่ง เป็นคนละพวกกัน ทั้งๆ ที่แท้จริงแล้ววิทยาศาสตร์ก็คือการศึกษาธรรมชาติ อยู่ด้วยกันมากับธรรมชาติ
No Comments
Comments are closed.