ศาสนากับวิทยาศาสตร์ เริ่มร่วมแล้วร้างเริด

16 สิงหาคม 2534
เป็นตอนที่ 9 จาก 37 ตอนของ

ศาสนากับวิทยาศาสตร์ เริ่มร่วมแล้วร้างเริด

จุดเริ่มร่วมที่กลายเป็นจุดแยกห่าง
ระหว่างศาสนากับวิทยาศาสตร์

ศาสนามีต้นกำเนิดจากอะไร เรียนกันมาแต่ไหนแต่ไรว่า ศาสนามีต้นกำเนิดจากความกลัวภัย ก็กลัวภัยธรรมชาตินี้แหละ ฟ้าผ่า น้ำท่วม แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด พายุร้ายอะไรต่างๆ เหล่านี้ เป็นภัยอันตรายที่คุกคามชีวิตมนุษย์ตลอดมาทุกยุคทุกสมัย ในสมัยโบราณมนุษย์เริ่มแรก ยังไม่รู้เหตุรู้ผล ไม่รู้จักธรรมชาติ ก็ต้องหาทางหาคำตอบที่จะแก้ปัญหาหรือช่วยตัวเองให้พ้นจากภัยเหล่านั้น

พูดรวบรัดว่า มนุษย์นี้ ถูกภัยธรรมชาติบีบคั้น เกิดความกลัวภัยขึ้นมา ก็เริ่มที่จะหาคำตอบ และการที่จะหาคำตอบก็คือ เกิดความสนใจต่อธรรมชาตินั่นเอง เพราะธรรมชาติมาทำให้เกิดภัยบีบคั้นเรา เราก็สนใจต่อธรรมชาตินั้นที่อยู่รอบตัว ที่เราจะต้องเกี่ยวข้องซึ่งมีผลกระทบต่อตัวเราอยู่ตลอดเวลา เพื่อหาทางปฏิบัติด้วยความปรารถนาจะพ้นภัย นี่คือมีตัวกำหนดอันหนึ่งขึ้นมา และตัวกำหนดอันนี้แหละที่จะไปบรรจบกับวิทยา­ศาสตร์ บรรจบกันตรงที่ว่า ในฝ่ายศาสนานี้มีความใฝ่ปรารถนาจะพ้นภัย ส่วนทางฝ่ายวิทยาศาสตร์ เราพูดไปแล้วเมื่อกี้ว่ามีความใฝ่ปรารถนาที่จะรู้ความจริงของธรรมชาติ ตรงนี้แหละที่จะเห็นจุดบรรจบ

เราพูดถึงฝ่ายศาสนาว่า มีความใฝ่ปรารถนาที่จะพ้นภัย ภัยนี้เกี่ยวกับธรรมชาติ เมื่อมีความกลัวภัย มีความใฝ่ปรารถนาจะพ้นภัยแล้ว เขาก็มองดูไปที่ธรรมชาติ เพื่อหาทางปฏิบัติ พร้อมกันนั้นเขาก็มีความอัศจรรย์ใจต่อความลึกลับมหัศจรรย์ยิ่งใหญ่ของธรรมชาตินั้น จากความอัศจรรย์ใจนี้ เขาก็มีความใฝ่ปรารถนาต้องการที่จะรู้ความจริงของธรรมชาตินั้น ซึ่งไม่เฉพาะอยากจะรู้เท่านั้น มันบังคับให้เขาต้องอยากจะรู้ด้วย เพราะมิ⁠ฉะนั้นเขาจะแก้ปัญหาไม่ได้ แล้วมันก็จะคุกคามเขาไปเรื่อยตลอดเวลา

เพราะฉะนั้น จากความใฝ่ปรารถนาที่จะพ้นภัย คือจากความกลัวนี่แหละ ก็นำไปสู่ความใฝ่รู้ความจริงของธรรมชาติด้วย ดังนั้นตอนนี้เราก็เห็นได้ว่าศาสนามาบรรจบกับวิทยาศาสตร์แล้วละ แต่ที่จริงนั้นกำลังบอกว่า ศาสนาเริ่มก่อน คือเริ่มจากจุดที่ว่ากลัวภัย แล้วจากนั้นจึงใฝ่ปรารถนาจะรู้ความจริงของธรรมชาติ พอถึงจุดนี้แหละ ทั้งศาสนาและวิทยาศาสตร์ก็เกิดขึ้นด้วยกัน นี่คือจุดบรรจบ

เป็นอันว่าเรามาถึงจุดที่ว่า มีความใฝ่ปรารถนา ต้องการจะรู้ความจริงที่อยู่เบื้องหลังความเป็นไปของธรรมชาติ ซึ่งเป็นจุดร่วมที่เริ่มกำเนิด ทั้งของศาสนาและวิทยาศาสตร์

จะเห็นว่า ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ยุคแรกนั้นมากับศาสนา พวกที่กำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ยุคแรกไว้ ในยุคอียิปต์ เมโสโปเตเมีย ฯลฯ เท่าที่ทราบนี่ เป็นคนในวงการศาสนา อาจจะเรียกว่าเป็นนักบวชหรืออะไรก็แล้วแต่ เพราะว่าบุคคลพวกนี้มีความสนใจธรรมชาติ เอาใจใส่หาทางจัดการกับภัยที่คุกคามมนุษย์นี้เป็นพวกแรก แล้วเขาก็ใฝ่รู้ความจริงของธรรมชาติด้วย ก็เลยกลายเป็นว่า วิทยาศาสตร์กับศาสนานี้เริ่มต้นมาด้วยกัน อันนี้เป็นจุดที่มาทางประวัติศาสตร์ เดี๋ยวจะมาบรรจบกับแนวความคิดของนักวิทยาศาสตร์ปัจจุบันทีหลัง ว่าศาสนากับวิทยาศาสตร์นี้ มีจุดเริ่มต้นกันอย่างไร

ณ จุดเริ่มที่เป็นจุดร่วมนี้ หมายความว่า ณ จุดเริ่มทั้งของวิทยา­ศาสตร์และของศาสนาที่เป็นจุดร่วมกันนี้ มันก็เป็นจุดแยกไปด้วยในตัว ศาสนากับวิทยาศาสตร์จะเริ่มแตกต่างกันตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป แตกต่างกันอย่างไร มันก็เป็นเรื่องของความจริงตามธรรมชาตินี่แหละ จะได้อธิบายต่อไป

ธรรมชาติและภัยจากธรรมชาติที่มนุษย์หรือชีวิตจะต้องเผชิญนี้ เป็นเรื่องต่อหน้า เกี่ยวข้องกับชีวิต ความเป็นความตาย ซึ่งจะต้องมีคำตอบ และปฏิบัติได้ทันที รอไม่ได้ ภัยอยู่ข้างหน้าแล้ว มันมาถึงแล้ว สถานการณ์อยู่ตรงหน้านี้แล้ว จะทำอย่างไรก็ทำ ต้องมีคำตอบให้ทำได้ทันที พร้อมกันนั้นมันก็เป็นเรื่องของหมู่ชนหรือสังคมทั้งหมด ทุกคนจะต้องเผชิญร่วมกัน ในสถานการณ์เช่นนี้ ก็จะต้องมีผู้เสนอคำตอบขึ้น ชนิดที่จะให้ปฏิบัติได้ทันที ซึ่งพอแก่การถึงความยุติทีเดียว สำหรับหมู่ชนนั้นทั้งหมดพร้อมกัน เมื่อมีผู้เสนอคำตอบอย่างว่านั้นขึ้นแล้วและเป็นที่ยอมรับกัน คำตอบแบบนี้แหละก็ได้กลายมาเป็น “ศาสนา”

คำตอบที่เป็นรายการปฏิบัติได้ทันทีนั้น อาจจะออกมาในรูปที่เราเรียกปัจจุบันว่า ไม่มีเหตุผล เช่นพิธีกรรมแปลกๆ เป็นต้นก็ได้ แต่มันก็เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ทันที และนี่เป็นความจริงที่ว่า มนุษย์จะต้องมีคำตอบที่ปฏิบัติได้ทันที สำหรับหมู่ชนที่เป็นสังคมทั้งหมด แล้วอันนี้ก็มาเป็นศาสนา

ทีนี้ อีกพวกหนึ่ง หรือพร้อมกันนั้นในคนเดียวกันนั่นเอง เมื่อผ่านสถานการณ์นั้นไปแล้ว หรือสถานการณ์เฉพาะหน้าไม่บีบคั้น ก็มีเวลาที่จะค่อยรวบรวมหาข้อมูล คิดค้นตรวจสอบความจริงไปเรื่อยๆ พวกนี้ได้คำตอบมา เป็นความรู้จากการสังเกตและทดลอง ต่อมาเราเรียกว่าเป็น “วิทยาศาสตร์” เป็นความรู้จากการที่ค่อยๆ พิสูจน์ได้ทีละอย่างๆ ทีละเรื่องๆ มา

นี่คือ จุดที่แตกต่างกัน ที่จริงเดิมนั้นก็อันเดียวกัน เริ่มมาด้วยกัน แล้วกลายเป็นแยกเป็นสองอย่าง คำตอบที่เรียกว่าเป็นเรื่องสำหรับทำทันที เป็นเรื่องของชุมชน เป็นเรื่องของคนทั้งหมดร่วมกัน มาในรูปของความเชื่อและศรัทธา เพราะไม่รู้จะพิสูจน์อย่างไร มันไม่มีเวลาจะพิสูจน์ หรือยังไม่มีทางจะพิสูจน์ได้ แต่ก็ต้องทำลงไปอย่างใดอย่างหนึ่ง อย่างที่ว่ารอไม่ได้ ต้องทำต้องแก้ปัญหากันไปเลย ก็มาเป็นสิ่งที่เรียกว่าศาสนา เพราะฉะนั้น ศาสนาจึงมากับศรัทธา และก็เกิดขึ้นอย่างนี้

ส่วนวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องของการสืบสาวหาความรู้ในความจริงอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่จำเป็นจะต้องตอบทันที และเป็นเรื่องของบุคคลที่มีความสนใจ ไม่เป็นเรื่องของสังคมหรือหมู่ชนทั้งหมด เพราะฉะนั้น อาจจะมีปัจเจกชนหรือกลุ่มผู้สนใจเฉพาะกลุ่มน้อยๆ พยายามศึกษาเรื่องนี้ต่อกันมา โดยใช้วิธีหาความรู้ที่จะพิสูจน์ความจริงได้ ที่เรียกว่าวิธีวิทยาศาสตร์ นี่คือความแตกต่างระหว่างศาสนากับวิทยาศาสตร์เท่าที่พิจารณาในตอนนี้

มีข้อสังเกตแทรกเข้ามาตรงนี้หน่อยหนึ่ง ดังได้กล่าวแล้วว่าศาสนาเป็นเรื่องของคนหมู่ใหญ่ทั้งสังคมหรือทั้งชุมชน ก็มีปัญหาว่า จะคุมแก่นคำสอนของตนให้คงอยู่ โดยให้คนทั้งหมดถือเหมือนกันทำเหมือนกันไปได้เรื่อยๆ อย่างไร คำตอบก็คือ ศาสนาเป็นเรื่องของศรัทธา มากับศรัทธาอยู่แล้ว ศาสนาก็เลยใช้ศรัทธาเป็นเครื่องคุมรักษาแก่นของตนไว้ โดยให้หลักความเชื่อที่จะต้องยึดถือและทำตามอย่างตายตัว ชนิดที่ไม่ต้องถามหาเหตุผล อย่างที่ฝรั่งเรียกว่า dogma (ข้อกำหนดตายตัวของลัทธิ)

ส่วนวิทยาศาสตร์อยู่ในวงจำกัดของคนที่เข้าถึง ซึ่งจะต้องรู้จักใช้ปัญญา ก็รักษาสาระของตนไว้ด้วยความจริงที่พิสูจน์ได้ โดยใช้วิธีการที่ถูกต้อง วิทยาศาสตร์ก็จึงรักษาและเผยแพร่หลักของตนออกไป ด้วยวิธีการแห่งปัญญา ที่มีชื่อเฉพาะว่าวิธีวิทยาศาสตร์ (scientific method)

เป็นอันว่า ศาสนาเสนอคำตอบเพื่อแสดงความจริงรวบยอดที่ครอบคลุม และเป็นคำตอบที่พอแก่การ ยุติทีเดียวจบ ที่จริงไม่ใช่ศาสนาเสนอคำตอบอย่างนี้ แต่คำตอบอย่างนี้แหละกลายเป็นศาสนา ตรงนี้อย่างง คือไม่ใช่ว่าศาสนาเป็นอะไรอันหนึ่ง เป็นสถาบันอันหนึ่งที่มีอยู่แล้วมาเสนอคำตอบอย่างนี้ ไม่ใช่อย่างนั้น แต่คำตอบที่มนุษย์เสนอขึ้นมาอย่างนี้นั่นแหละกลายมาเป็นศาสนา มนุษย์เองนั่นแหละเสนอคำตอบ แล้วต่อมาก็มีคนที่รวมกันเป็นสถาบันเป็นกลุ่มหรืออะไรที่จะมาช่วยดูแลรักษาให้คงอยู่ตามนั้น จึงกลายเป็นนักบวช เป็นสถาบันศาสนาขึ้นมา

เพราะฉะนั้น มองในแง่หนึ่ง ศาสนาก็คือการให้คำตอบเบ็ดเสร็จ คือ ให้คำตอบที่เชื่อว่าเป็นความจริงพื้นฐานของโลกและชีวิตอย่างที่บอกเมื่อกี้ว่าความจริงรวบยอด จบทีเดียว คลุมจากข้างบนลงมาทีเดียวหมดเลย

แต่วิทยาศาสตร์นั้นตรงข้าม วิทยาศาสตร์เป็นการพยายามพิสูจน์ความจริงปลีกย่อยทีละเรื่องละอย่าง เป็นความจริงเฉพาะเรื่องเฉพาะอย่าง ก้าวไปหาความจริงที่ครอบคลุมทีละน้อยๆ

แม้วิทยาศาสตร์จะบอกว่า ฉันต้องการ general principle คือหลักการทั่วไป แต่หลักการทั่วไปของวิทยาศาสตร์นั้น ก็เป็นหลักการทั่วไปเฉพาะด้าน เฉพาะเรื่อง เฉพาะกรณี ซึ่งมาเป็นส่วนย่อยของความจริงรวบยอดหรือความจริงพื้นฐานอีกที

ถ้าจะใช้คำล้อกัน ถ้าเราบอกว่า ศาสนาให้คำตอบเบ็ดเสร็จ วิทยาศาสตร์ก็ให้คำตอบเบ็ดเตล็ด จะเป็นทำนองนี้ และมันก็เป็นมาอย่างนี้ เมื่อมองเป็นกลางๆ เราจะเห็นความจริงที่เป็นไปตามธรรมดาของวิวัฒนาการของมนุษย์มาอย่างนี้ จากประวัติศาสตร์เราจะเห็นจุดเริ่มร่วมกันของวิทยาศาสตร์กับศาสนา พร้อมทั้งจุดแยกต่างอย่างที่ว่ามานี้

ตรงนี้ขอแทรกนอกเรื่องนิดหน่อยว่า เพราะศาสนาและวิทยาศาสตร์เป็นอย่างที่ว่ามานี้ ก็เลยมีคนอีกพวกหนึ่งที่ไม่พอใจทั้งกับศาสนาและกับวิทยาศาสตร์ คนพวกนี้ต้องการคำตอบเกี่ยวกับความจริงพื้นฐานของโลกและชีวิต ชนิดที่เป็นคำตอบเบ็ดเสร็จอย่างที่ว่ามาแล้ว แต่เมื่อดูทางด้านศาสนา แม้จะให้คำตอบเบ็ดเสร็จถึงความจริงพื้นฐาน แต่คำตอบนั้นก็ไม่เห็นเป็นเหตุเป็นผลที่จะรู้เข้าใจได้ด้วยปัญญา จะให้เชื่อเพียงด้วยศรัทธา เขาก็รู้สึกว่ายอมรับไม่ได้ และเมื่อหันไปดูทางด้านวิทยาศาสตร์ แม้จะให้คำตอบเป็นเหตุเป็นผลพิสูจน์ได้ รู้เข้าใจด้วยปัญญา แต่ก็ยังไม่ได้คำตอบชนิดเบ็ดเสร็จที่ความจริงพื้นฐาน เพราะยังพิสูจน์ไม่ถึง ซึ่งเขาก็รอไม่ได้ คนพวกนี้ก็เลยพยายามคิดค้นหาคำตอบขั้นเบ็ดเสร็จนั้นเอาเอง ในเมื่อยังพิสูจน์ไม่ได้ ก็ใช้วิธีการคิดหาเหตุผล จะให้เข้าถึงความจริงพื้นฐานด้วยวิธีการทางเหตุผลนั้น โดยไม่ต้องรอการพิสูจน์ วิธีการหาความจริงเบ็ดเสร็จแบบนี้ ก็กลายเป็นวิชาการขึ้นมาอย่างหนึ่งเรียกว่าปรัชญา

ถ้าพูดแบบเอาง่ายเข้าว่า ก็อาจจะเทียบแดนความรู้ ๓ ประเภทนี้ได้ โดยกำหนดเอาที่คำตอบเบ็ดเสร็จเกี่ยวกับความจริงพื้นฐานของธรรมชาติ หรือของโลกและชีวิตเป็นหลัก กล่าวคือ

  1. วิทยาศาสตร์ ยังไม่ให้คำตอบ โดยต้องรอการพิสูจน์ก่อน
  2. ปรัชญา พยายามให้คำตอบ ในระหว่างที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ โดยเอาความคิดเหตุผลแทนการพิสูจน์ไปก่อน
  3. ศาสนา ให้คำตอบเด็ดขาดไปเลย โดยไม่ต้องพิสูจน์

ทั้งวิทยาศาสตร์และปรัชญาต่างก็เกิดตามศาสนามา และต่างก็จะมาให้คำตอบที่มุ่งให้ชัดเจนจะแจ้งกว่าศาสนา แต่ทั้งสองอย่างก็ยังไม่อาจให้คำตอบที่สนองความต้องการที่จะพอแก่การและพอแก่ใจของมนุษย์ได้ ศาสนาจึงยังคงและยังต้องทำหน้าที่ให้คำตอบแบบทันทีทันใดที่พอแก่การ ซึ่งตั้งอยู่บนฐานแห่งศรัทธานั้นต่อไป

 

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< เบื้องหลังความเจริญ คือเบื้องหลังความติดตันศาสนากับวิทยาศาสตร์ ความแตกต่างที่ไม่ห่างจากความแม้นเหมือน >>

No Comments

Comments are closed.