ศาสนากับวิทยาศาสตร์ ความแตกต่างที่ไม่ห่างจากความแม้นเหมือน

16 สิงหาคม 2534
เป็นตอนที่ 10 จาก 37 ตอนของ

ศาสนากับวิทยาศาสตร์
ความแตกต่างที่ไม่ห่างจากความแม้นเหมือน

เมื่อได้เห็นความแตกต่างบ้างแล้ว ก็จะพูดถึงข้อสังเกตเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างศาสนากับวิทยาศาสตร์ต่อไปอีก

เพราะเหตุที่ศาสนาเสนอความจริงเกี่ยวกับธรรมชาติแบบรวบยอดครอบคลุมจบทีเดียว ต่อสถานการณ์เฉพาะหน้าที่ต้องปฏิบัติทันที แล้วก็เป็นเรื่องของคนมาก เป็นเรื่องของสังคม ซึ่งไม่อาจพิสูจน์ด้วยประสาท​ทั้ง ๕ ในทันใด ก็จึงต้องอาศัยความเชื่ออย่างที่ว่าเมื่อกี้

เมื่อต้องอาศัยความเชื่อ ตราบใดที่ยังพิสูจน์ให้เห็นชัดเจนแน่นอนไม่ได้ คำตอบแบบนี้ก็จะมีเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ ในยุคสมัยหนึ่งมีผู้เสนอคำตอบแบบนี้ขึ้นมาแล้ว คนก็ไม่รู้ว่ามันจะจริงหรือไม่จริง มันก็พิสูจน์ไม่ได้ ถ้ายอมรับก็ต้องเชื่อเอาไว้ ต่อมาก็มีผู้เสนอคำตอบขึ้นมาอีก คำตอบใหม่นั่นก็ไม่รู้อีกแหละว่าจริงหรือไม่จริง จะพิสูจน์อย่างไรก็พิสูจน์ไม่ได้ ก็อยู่ที่ว่าใครจะเชื่ออันไหน บางคนก็ว่า เอ้อ อันเก่าดีกว่า บางคนก็บอกว่าอันใหม่ดีกว่า เสร็จแล้วมันก็อยู่ที่ความเชื่อ เพราะฉะนั้นศาสนาซึ่งอยู่ที่ศรัทธา ก็เลยแตกต่างกันไปตามศรัทธา และเพราะฉะนั้นเราจะมองเห็นว่า ในเวลาเดียวกันจะมีศาสนาได้หลายศาสนา

ที่ว่านั้นเพราะอะไร ก็เพราะธรรมดามันเป็นอย่างนั้น คือลักษณะของคำตอบมันจะต้องเป็นอย่างนั้น คือคำตอบที่เสนอความจริงครอบ​คลุมเป็นคำตอบพื้นฐานทีเดียวจบ เสนอมาแล้วก็ยังพิสูจน์ไม่ได้ ก็เชื่อกันว่าอย่างนั้น มีคำตอบใหม่ อีกพวกหนึ่งก็เชื่อกันไป ต่างก็ยังพิสูจน์ไม่ได้ ก็จึงมีหลายศาสนาๆ เพิ่มขึ้นมาๆ เรียกว่ามีหลายศาสนาอยู่ในเวลาเดียวกัน

แต่ทางฝ่ายวิทยาศาสตร์นั้นค่อยๆ ตอบ ค่อยๆ พิสูจน์ไปทีละอย่าง มันก็แก้ปัญหาในทางความรู้ไปได้เรื่อยๆ เสร็จไปตามลำดับ เพราะฉะนั้น ในแต่ละช่วงเวลาหนึ่งจึงมีวิทยาศาสตร์อันเดียว และด้วยเหตุนี้ จึงอาจจะมีผู้พูดว่า ศาสนานั้นมีหลายศาสนา แต่วิทยาศาสตร์มีวิทยาศาสตร์เดียว นี่ก็เป็นเรื่องของธรรมดาตามธรรมชาติที่มันจะเกิดขึ้นอย่างนั้น มันเป็นความจริงตามธรรมชาติแห่งวิวัฒนาการของมนุษย์ว่า ในช่วงเวลาหนึ่งก็ย่อมมีวิทยาศาสตร์อันเดียว

แต่ที่จริง ถ้าว่าโดยลำดับกาลเวลาในประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ก็มีหลายวิทยาศาสตร์ เพราะวิทยาศาสตร์นั้นไม่ให้คำตอบที่แสดงความจริงแบบรวบยอดทีเดียวจบ อย่างที่ว่าเมื่อกี้ เพราะฉะนั้น ลักษณะของวิทยาศาสตร์จึงตรงข้ามกับศาสนา คือศาสนานั้นมีหลายศาสนาในเวลาเดียวกัน แต่วิทยาศาสตร์มีหลายวิทยาศาสตร์โดยลำดับกาลในประวัติศาสตร์

ที่พูดไปนั้น หมายความว่าอย่างไร อ้าว ในเวลาที่เรามองธรรมชาตินั้นเรามักจะมองไปที่ the universe คือจักรวาล หรือเอกภพ ว่าเป็นอย่างไร แล้วก็จะมีคำตอบของแต่ละยุคแต่ละสมัย ที่เราบอกว่าเป็นคำตอบของวิทยาศาสตร์ คำตอบที่สมัยหนึ่งว่าถูกต้อง แต่ต่อมาก็พิสูจน์ได้ว่าผิด และต่อมาคำตอบใหม่ที่ว่าถูก ก็พิสูจน์ได้ว่าผิดอีก ก็ได้ภาพอันใหม่ต่อมาเรื่อยๆ เราก็เลยมีวิทยาศาสตร์ของแต่ละยุค

วิทยาศาสตร์แบบหนึ่งสมัยหนึ่งเป็นไปตาม Ptolemaic universe คือแสดงเอกภพหรือจักรวาลตามแบบที่ Ptolemy อธิบายไว้ แต่ต่อมาก็จะมี Copernican universe คือจักรวาลแบบโคเปอร์นิคัส เดี๋ยวต่อมาก็มี Cartesian universe หรือ Newtonian universe จนกระทั่งถึง the universe of the new physics ในปัจจุบันนี้ ซึ่งภาพของจักรวาลหรือความจริงในธรรมชาติได้เปลี่ยนมาเรื่อยตลอดเวลา ภาพ universe หรือเอกภพ หรือธรรมชาติของ the new physics นี่ ไม่ว่าจะเป็นของ quantum หรือ relativity คือจะเป็นของทฤษฎีควอนตัม หรือทฤษฎีสัมพัทธภาพก็ตาม ก็ไม่เหมือนกับโลกธรรมชาติ หรือจักรวาลในยุคสมัยของ Newton เป็นคนละแบบกันเลย เพราะฉะนั้น วิทยาศาสตร์ก็มีหลายวิทยาศาสตร์ โดยลำดับกาลเวลา อันนี้ก็เป็นแง่พิจารณาอย่างหนึ่ง

ขอแทรกตรงนี้อีกนิดหน่อย ที่ว่ามีวิทยาศาสตร์หลายวิทยาศาสตร์โดยลำดับกาลนั้น มาถึงเวลานี้ ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่า ชักจะมีหลายวิทยาศาสตร์ในเวลาเดียวกัน หรือในลำดับกาลที่ใกล้ชิดกันมากเกิดขึ้นแล้ว ดังจะเห็นว่า ตอนนี้มีนักวิทยาศาสตร์ไม่น้อยที่บอกว่า วิทยาศาสตร์จะต้องเปลี่ยนแนวความคิดพื้นฐานใหม่ในการที่จะแสวงหาความจริง นักวิทยาศาสตร์พวกนี้ไม่ยอมรับแนวความคิดพื้นฐานของวิทยาศาสตร์แบบเก่า แล้วก็มีการเรียกแบ่งแยกเป็นทำนองว่ามีฟิสิกส์เก่า กับฟิสิกส์ใหม่ หรือวิทยาศาสตร์เก่ากับวิทยาศาสตร์ใหม่ โดยเฉพาะคำว่า the new physics จะปรากฏให้เห็นบ่อยมาก หรือคำว่า the new sciences ก็มีให้เห็นเป็นครั้งคราว แสดงว่าแม้แต่ขณะนี้ก็ไม่ใช่มีวิทยาศาสตร์เดียว

ต่อไปอีกอย่างหนึ่งก็คือ เมื่อกี้ได้บอกแล้วว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องของโลกภายนอก ว่าด้วยวัตถุนอกตัวมนุษย์ที่พิสูจน์ได้ด้วยประสาท หรืออินทรีย์ทั้ง ๕ เมื่อพิสูจน์ได้ด้วยอินทรีย์ทั้ง ๕ ในขั้นต้นนี้เราก็บอกได้ว่าเป็นเรื่องที่ตัดสินผิดถูกกันไปได้เลย เป็นอันเสร็จสิ้นไปทีหนึ่งๆ แล้วก็ก้าวสู่ความจริงขั้นต่อไปเป็นตอนๆ อย่างที่ว่ามาแล้ว แต่ทีนี้ศาสนายังมีลักษณะพิเศษที่ต่างออกไป คือศาสนาไม่ได้มองเฉพาะโลกวัตถุภายนอกเท่านั้น แต่ศาสนาเป็นเรื่องของตัวมนุษย์ที่เป็นผู้พิสูจน์ความจริงนั้นเอง

วิทยาศาสตร์นั้นไปยุ่งกับสิ่งที่ถูกมนุษย์พิสูจน์ แต่ศาสนามาเอาที่ตัวผู้พิสูจน์เอง คือมายุ่งกับตัวมนุษย์ผู้ใช้อินทรีย์ ๕ นั้น มันก็เลยผ่านพ้นหรือเลยระดับการพิสูจน์โลกภายนอกด้วยอินทรีย์ทั้ง ๕ มาสู่พัฒนา­การทางจิตปัญญาของตัวคนผู้จะทำการพิสูจน์ มันก็เลยเป็นเรื่องซับซ้อนขึ้นไปอีก คือมันเป็นเรื่องของพัฒนาการทางจิตปัญญาของมนุษย์

อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตแทรกในตอนนี้ว่า สำหรับศาสนาทั่วๆ ไป แม้จะมีจุดสนใจอยู่ที่ตัวมนุษย์ ก็สนใจในฐานะเป็นตัวผู้ประสบปัญหา คือเป็นผู้ถูกปัญหากระทบ และจะต้องแก้ปัญหาให้แก่มนุษย์นั้น แต่ในเวลาที่มองหาเหตุปัจจัยของปัญหา กลับมองไปที่ธรรมชาติฝ่ายโลกวัตถุภายนอก ว่าเป็นต้นตอที่ก่อปัญหาแก่มนุษย์ เพราะการที่มองหาเหตุปัจจัยข้างนอกนี้ ศาสนาทั่วไปเหล่านั้นจึงมีจุดร่วมกับวิทยาศาสตร์ ในแง่ที่เพ่งมองไปที่ธรรมชาติฝ่ายโลกวัตถุภายนอก

สำหรับศาสนาทั่วไปเหล่านั้น ก็มองธรรมชาติภายนอก ในฐานะเป็นแหล่งก่อปัญหาโทษทุกข์แก่ตัวมนุษย์ ส่วนวิทยาศาสตร์มองธรรมชาติภายนอกนั้น ในฐานะเป็นวัตถุแห่งความใฝ่รู้ที่ตนจะศึกษาหาความรู้ในความจริง ศาสนามองหาความจริงเบื้องหลังธรรมชาติภายนอกนั้น เพื่อแก้ปัญหาให้แก่มนุษย์ ส่วนวิทยาศาสตร์มองหาความจริงเบื้องหลังธรรมชาติเพียงเพื่อสนองความใฝ่รู้

สำหรับศาสนาทั่วๆ ไปเหล่านั้น ซึ่งจะต้องมีคำตอบที่พร้อมให้มนุษย์ใช้ปฏิบัติได้ทันทีไม่ว่าปัญหาที่เป็นความวิปริตต่างๆ จะเกิดขึ้นภายนอกหรือในตัวก็ตาม ตัวก่อเหตุก็คือความจริงที่อยู่เบื้องหลังธรรมชาติภายนอกนั้นเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะผีสางเทวดา หรือเทพเจ้าหรืออำนาจเหนือธรรมชาติอื่นๆ ถ้าเป็นเหตุการณ์วิปริตภายนอก เช่นฟ้าผ่า แผ่นดินไหว ก็ปฏิบัติต่อผีสางเทพเจ้าด้วยการบวงสรวงอ้อนวอน ถ้าเป็นเหตุการณ์วิปริตภายใน จะเป็นความเจ็บป่วยทางกายหรือแม้แต่โรคจิต และพฤติกรรมวิปริตต่างๆ ก็ปฏิบัติต่อผีสางเทพเจ้าด้วยการหาหมอผีมาทำพิธีรักษาเป็นต้น ส่วนวิทยาศาสตร์ซึ่งก็มองเหตุที่ธรรมชาติภายนอกเช่นเดียวกัน แต่ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องให้คำตอบทันทีทันใด ก็ค่อยๆ ค้นคว้ารวบรวมหาข้อมูลสืบค้นความรู้ไปเรื่อยๆ ทีละเล็กละน้อย

ส่วนศาสนาธรรมชาติ โดยเฉพาะพุทธศาสนา แม้จะมีจุดสนใจอยู่ที่ตัวมนุษย์ โดยมุ่งจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นแก่มนุษย์ เช่นเดียวกับศาสนาทั่วๆ ไป แต่มิได้มองแหล่งเกิดปัญหาที่ธรรมชาติภายนอกในโลกแห่งวัตถุเท่านั้น ศาสนาประเภทนี้จะมองต้นตอของปัญหาที่กระบวนการแห่งเหตุปัจจัยทั้งหมด ซึ่งรวมทั้งปัจจัยภายในตัวของมนุษย์เอง เช่นการดำเนินชีวิตที่ผิดเป็นต้นด้วย คือมองที่เหตุปัจจัยของปัญหานั้นๆ ตามเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นภายนอกหรือภายใน ไม่ว่าทางรูปธรรมหรือนามธรรม ไม่ว่าทางวัตถุหรือทางจิตใจ ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งแห่งระบบหรือกระบวนการนั้น

ในบรรดาศาสนาทั่วไปทั้งหลายนั้น หลายศาสนาสอนให้มนุษย์แก้ปัญหาด้วยการประพฤติปฏิบัติตนให้ถูกต้อง อย่างที่เรียกว่าทำตามหลักศีลธรรมหรือจริยธรรม จึงดูคล้ายกับว่าศาสนาเหล่านั้น มองเหตุปัจจัยของปัญหาที่ตัวมนุษย์ด้วยเหมือนกัน แต่ที่จริงไม่ใช่เช่นนั้น กล่าวคือ การปฏิบัติที่เป็นการแก้ไขภายในตัวมนุษย์เองหรือการปฏิบัติตัวของมนุษย์ตามความเข้าใจของศาสนาเหล่านั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องของเหตุปัจจัยภายในตัวมนุษย์เอง แต่เป็นการปฏิบัติตามคำสั่งหรือคำบัญชาของอำนาจเหนือธรรมชาติภายนอก ที่กำหนดให้ทำเช่นนั้น ซึ่งเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับอำนาจดลบันดาลภายนอกเหล่านั้น โดยที่การปฏิบัติตัวของมนุษย์นั้นเป็นการหลีกหลบการที่จะถูกลงโทษ หรือเป็นการเอาอกเอาใจให้เทพเจ้าโปรดปรานประทานรางวัล หาใช่เป็นการมองเห็นเหตุปัจจัยในกระบวนการของธรรมชาติไม่

เมื่อมองในแง่นี้ ศาสนาที่มีหลายศาสนาในเวลาเดียวกันนั้น ก็เพราะว่าศาสนาเหล่านั้น สนองความต้องการของบุคคล หรือของมนุษย์ที่มีความเจริญหรือพัฒนาการทางจิตปัญญาไม่เท่ากัน ฉะนั้น ในขณะเดียวกันนี้ หรือในเวลาใดเวลาหนึ่งนี้ เมื่อมนุษย์มีพัฒนาการทางจิตปัญญาอยู่ในระดับต่างๆ กัน เราก็มีศาสนาไว้หลายศาสนาสำหรับสนองความต้องการของมนุษย์เหล่านั้นที่หลากหลาย นี่เป็นคำตอบอีกแง่หนึ่ง แต่ไม่แค่นั้น ยังมีเรื่องต่อไปอีก

ทีนี้ ที่ว่าความจริงทางวิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้ด้วยประสาททั้ง ๕ หรืออินทรีย์ ๕ นั้น ก็มีข้อแม้อีก อย่างที่พูดมาเมื่อกี้ทีหนึ่งแล้วว่า ในระยะแรก การพิสูจน์โลกวัตถุด้วยอินทรีย์ทั้ง ๕ นั้น ใช้อินทรีย์ ๕ เปล่าเปลือยล้วนๆ ได้ เช่นใช้ตา กาย หู ล้วนๆ ได้ แต่ต่อมาต้องอาศัยอุปกรณ์มาช่วยขยายวิสัยของอินทรีย์ ๕ ออกไป เช่นมีกล้องโทรทรรศน์ กล้อง​จุลทรรศน์ เป็นต้น ทีนี้ต่อมาก็มีความจริงที่เลยวิสัยของอุปกรณ์เหล่านั้นไปอีก นักวิทยาศาสตร์ก็ต้องอาศัยอุปกรณ์ที่ซับซ้อนยิ่งขึ้นไป จนกระทั่งต้องอาศัยอย่างที่ว่าเมื่อกี้ คือพิสูจน์ด้วยคณิตศาสตร์ขั้นสูงๆ ใช้ภาษาคณิตศาสตร์เป็นเครื่องมือในการพิสูจน์ จนกระทั่งปัจจุบันเราก็มีอุปกรณ์ที่เรียกว่าคอมพิวเตอร์ขึ้นมาช่วย

วิธีการในการสังเกตทดลองพิสูจน์ความจริงของวิทยาศาสตร์ อย่างที่ว่ามานี้ ได้ทำให้เกิดลักษณะของวิทยาศาสตร์ขึ้นมาอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นลักษณะที่ต่างจากศาสนาออกไปอีก กล่าวคือ การพิสูจน์ความจริงของวิทยาศาสตร์นั้นกลายเป็นเรื่องของผู้เชี่ยวชาญพิเศษ เมื่อนานไปก็กลายเป็นว่าคนสามัญไม่สามารถพิสูจน์ความจริงทางวิทยาศาสตร์ได้ เพราะไม่สามารถเข้าถึงเครื่องมือและอุปกรณ์ที่จะพิสูจน์ เช่น ไม่สามารถเข้าถึงคณิตศาสตร์ชั้นสูง เป็นต้น เลยกลายเป็นว่า ตอนนี้วิทยาศาสตร์กลายเป็นเรื่องของคนจำนวนน้อย กลายเป็นเรื่องของพวก specialized ไปแล้ว ต่างจากศาสนาที่เป็นเรื่องของชนหมู่มาก ของชุมชน ของสังคมทั้งหมด และลงมาถึงสามัญชน ซึ่งอาจยอมรับด้วยศรัทธาโดยไม่ต้องพิสูจน์

จริงอยู่ ในบางศาสนาก็มีเหมือนกัน ที่นักบวชหรือสถาบันศาสนาทำการอย่างที่เรียกว่าผูกขาดสัจจธรรม คือมีการกำหนดว่าต้องนักบวชหรือคนชั้นนั้นวรรณะนั้นเท่านั้น จึงจะเล่าเรียนคัมภีร์ ศึกษาหลักสำคัญ ตลอดจนเข้าถึงจุดหมายสูงสุดของศาสนานั้นได้ แต่นั่นก็เป็นเรื่องของการผูกขาด ซึ่งตามหลักความจริง หรือในศาสนาธรรมชาติอย่างพระพุทธ­ศาสนา ไม่มีการจำกัด หรือผูกขาดอย่างนั้น เพราะเป็นเรื่องที่เป็นไปตามธรรมชาติ ใครจะไปจำกัดหรือผูกขาดไม่ได้ เป็นเรื่องของพัฒนาการของบุคคลนั้นๆ เองที่จะรู้และเข้าถึงได้ เงื่อนไขก็อยู่ที่ระดับแห่งพัฒนาการทางจิตปัญญาของเขา

พึงสังเกตว่า การพิสูจน์ไม่ได้ที่พูดถึงในที่นี้มี ๒ อย่าง คือ พิสูจน์ไม่ได้เพราะเข้าไม่ถึงวิธีการที่ใช้พิสูจน์ กับพิสูจน์ไม่ได้เพราะเนื้อหาหรือตัวสิ่งที่จะพิสูจน์เป็นสิ่งที่ไม่อาจเข้าถึงด้วยวิธีการพิสูจน์อย่างนั้น เวลานี้วิทยาศาสตร์กำลังจะเป็นปัญหากับทั้งสองอย่าง โดยเฉพาะในเมื่อวิทยาศาสตร์จะพูดถึงความจริงรวบยอดขั้นสุดท้ายที่ครอบคลุม และเข้ามาจ่อแดนของจิตใจอย่างที่ว่าแล้วข้างต้น ถ้าวิทยาศาสตร์ไม่ปรับท่าทีวิธีการและขยายขอบเขตความหมายของตนเสียใหม่ ก็จะต้องพบกับความสับสนและติดตัน

วิทยาศาสตร์มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะให้คำตอบพื้นฐานที่รวบยอดครอบคลุมความจริงทั้งหมด แต่เมื่อไรจะเข้าถึงสักที และพอจะเข้าถึงก็กลับกลายเป็นว่า วิทยาศาสตร์ก็เจอกับคำตอบที่วิธีการวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันพิสูจน์ไม่ได้เสียอีก มันก็ชักจะมาเข้ารอยเดียวกับศาสนา เลยดีไม่ดีวิทยาศาสตร์จะกลายเป็นศาสนาไปด้วย

 

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ศาสนากับวิทยาศาสตร์ เริ่มร่วมแล้วร้างเริดความสดใสที่ไม่พ้นความสับสน >>

No Comments

Comments are closed.