- สถานการณ์พระพุทธศาสนา: พลิกหายนะ เป็นพัฒนา
- – ๑ – วงใน – ชั้นใน สภาพวัด และพระสงฆ์
- ภาวะขาดเณร: เกณฑ์บอกชะตาต่อไป
- สัญญาณเตือนภัย: ข่าวว่าพระทำไมประพฤติเสียหาย
- สภาพสังคมไทย ภาพสะท้อน-เห็นอะไรจากข่าวสาร
- มองพระสงฆ์ให้เป็น ก็เห็นสภาพสังคมไทย
- คิดดูให้ดี พุทธศาสนานี้เป็นของใคร
- มัวแต่ด่าว่าเขา ไม่รู้ว่าเรานี่แหละตัวสำคัญ
- คนสร้างสังคม สังคมสร้างคน ถ้าไม่ตัดวงจร ไม่แปรปัจจัย คนสร้างสังคมไว้อย่างไร ก็ได้คนอย่างนั้นมาสร้างสังคมต่อไป
- ฉลาดเชิงกลไก แต่ไม่พัฒนาปัญญา ท่องไปทั่วหล้า แต่ปัญญาอ้างว้าง
- ต้องพัฒนาตัวกันทุกคน ไม่มีใครหนีพ้นความรับผิดชอบ
- – ๒ – วงใน – ชั้นนอก สภาพพุทธศาสนิก
- ถ้ายึดหลักไว้ได้ ก็ยังไม่ร่วงหลุดไป
- จะสอนอย่างไร ก็ต้องให้เข้าสู่จุดเริ่ม ที่เขาจะก้าวต่อไปได้
- สอนเอาหลักเพื่อประโยชน์แก่เขา ไม่ใช่สอนเอาแต่ใจของตัว
- ไม่ใช่สอนเอาใจเขา แต่สอนนำเขาเข้าหาหลัก
- ถ้ายังเอาความศักดิ์สิทธิ์ ก็ต้องคิดให้ทางเลือกที่ถูกหลัก
- ไม่ใช่เอาใจเขา แต่เราทำอย่างรู้หลัก และไม่ใช่คิดจะเอาจากเขา แล้วมอมเมาให้เขวจากหลัก
- พัฒนาคนให้มีความสุขประณีตขึ้นไป สังคมก็จะได้จริยธรรมที่มั่นคง
- เมื่อเอาผลทางพลังจิตมาสนองด้านกาม พฤติกรรมก็ต้องเกิดความวิปริต
- – ๓ – วงนอก – ชั้นใน สภาพสังคมไทย
- ด้วยการเป็นผู้ตาม ก็ได้ยอมรับความด้อย ด้วยการมองความเจริญแบบนักบริโภค ก็รักษาความเป็นผู้ตามไว้ได้
- จะเอาอย่างเขา หรือไม่เอาอย่าง ก็อย่าไปสุดทางสองข้าง
- จะเอาอย่างเขาถูกต้อง จนเป็นผู้นำเขาได้ ต้องมีการศึกษาที่ดี มานำทางไป
- เอาอย่างด้วยปัญญา ถึงแม้เลียนแบบก็ต้องทำให้ดีกว่า จึงจะมีคุณค่า ให้เขายอมนับถือ
- ตามเป็น เอาอย่างเป็น นับเข้าได้ในองค์ประกอบของการพัฒนา
- ความผิดเพี้ยนในวัฒนธรรมไทย บทเรียนให้ช่วยกันแก้ไข
- ไม่อยาก ก็พลาด แต่พออยาก ก็ผิด จะพัฒนาสัมฤทธิ์ ต้องอยากให้เป็น
- จากรับ-ตาม สู่ความเป็นผู้นำ-ผู้ให้ ก้าวยิ่งใหญ่ที่ท้าทายความสำเร็จ
- – ๔ – วงนอก – ชั้นนอก สภาวการณ์ของโลก
- มองดูคนที่เดินนำหน้า อย่าให้พาเราเดินหลงทาง
- คนข้างหน้าติดตัน หันรีหันขวาง เพราะเจอเหวดักหน้า ต้องหาทางกันใหม่
- ความก้าวหน้าที่แสนจะภูมิใจ กลายเป็นการหาภัยมาทำลายตัว
- เมื่อรู้ว่าทางตัน แม้จะหันไปหาทางใหม่ แต่ก็สูญเสียความหวัง ความมั่นใจก็หมดไป
- เมื่อผู้เดินนำหน้าเกิดอาการหวั่นไหว คนมีปัญญาต้องนำหาทางออกใหม่
- ต้องหยั่งรู้สาเหตุของปัญหา จึงจะมองเห็นทางแก้ไข
- เมื่อจับจุดปัญหาได้แน่ ก็สืบสาวเพื่อแก้ ให้ตรงกับเหตุปัจจัย
- อารยธรรมถึงจุดหักเลี้ยว โลกหันหาทางเลือกใหม่
- ผู้เคยเดินนำ ไม่แน่ว่าจะคลำหาทางไหว ผู้ใดเห็นทาง ผู้นั้นควรลุกขึ้นเดินนำไป
- สรุป
- บันทึกท้ายเล่ม
– ๒ –
วงใน – ชั้นนอก
สภาพพุทธศาสนิก
ถ้าหลงใหลอย่างเลื่อนลอย
ก็จะหล่นผล็อยจากพุทธศาสนา
ต่อไปนี้มองกว้างออกไปในแง่ของพุทธบริษัทด้านวงนอก คือรวมทั้งคฤหัสถ์ด้วย หรือมุ่งเน้นพุ่งเป้าไปที่คฤหัสถ์เป็นพิเศษ
ลองมาดูสภาพทั่วไปในขณะนี้ว่า ประชาชนทั่วไปที่ส่วนใหญ่เป็นพุทธศาสนิกชนในประเทศไทย ที่ถือว่ามีชาวพุทธอยู่ ๙๕ เปอร์เซ็นต์ หรือปัจจุบันนี้ว่า ๙๓ เปอร์เซ็นต์นี่ มีสภาพเป็นอย่างไร
ภาพที่เด่นอย่างหนึ่ง ก็คือ การที่ประชาชนทั้งหลายส่วนใหญ่มุ่งหาความสำเร็จจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ดลบันดาล ภาพของการหลงใหลในไสยศาสตร์นี้ เป็นไปอย่างแพร่หลายมาก แล้วควบคู่กับความเชื่อ ความหลงใหลในไสยศาสตร์ ในอำนาจศักดิ์สิทธิ์ ในเครื่องรางของขลัง ก็คือเรื่องการพนัน และสุรา
คนไทยจำนวนมากมีปัญหาในเรื่องการพนัน มองอะไรต่ออะไรในแง่การพนันไปหมด
หลวงพ่อชาถึงมรณภาพวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๓๕ แล้วมาปลงศพ พระราชทานเพลิงศพวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๓๖ ประชาชนก็มุ่งมองไปที่ตัวเลข ปรากฏว่าตัวเลขของท่านวันมรณภาพ และวันเผาเป็นวันที่ ๑๖ มกราคม ก็แทงหวยเลข ๑๖ หนังสือพิมพ์ก็ขึ้นพาดหัวเลย บอกว่าเจ้ามือแย่ไปตามๆ กัน ไม่มีเงินจ่าย ๕๐ ล้านบาท คนแทงหวยถูกกันมาก
คนจำนวนมาก เมื่อมองไปที่หลวงพ่อ ก็มองไปที่เลข มองที่หวย มองไปที่การพนัน แทนที่จะมองไปที่คำสอนว่าท่านสอนอะไร ปฏิปทาของท่านเป็นอย่างไร ไม่มองอย่างนั้น ไม่มองไปที่ธรรม แต่มองไปที่เรื่องการพนัน
การพนันในที่นี้ มีความสัมพันธ์กับเรื่องความศักดิ์สิทธิ์หรือไสยศาสตร์ ที่จะเอามาแทงหวยกัน หวังผลร่ำรวยแบบลาภลอย
นอกจากการพนัน ก็มียาเสพติด เช่นสุราเป็นต้น ซึ่งแพร่หลายเกลื่อนกล่นไปหมด
สภาพอย่างนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความศักดิ์สิทธิ์ก็ตาม เรื่องของสุราและการพนันก็ตาม ย่อมเป็นเครื่องแสดงถึงสภาพจิตใจที่หวังผลจากลาภลอย อยู่ด้วยความหวังอันเลื่อนลอย ไม่มีความมั่นใจ ขาดความเข้มแข็งอดทนและขาดความเพียรพยายามในการดำเนินชีวิต อันนี้เป็นสภาพจิตใจของสังคมที่มองแล้วน่าเป็นห่วง แล้วก็ไม่ถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนา
ถ้าประชาชน ซึ่งส่วนใหญ่คือชาวพุทธ เป็นกันอย่างนี้ ก็สวนกระแสธรรม ในขณะที่ธรรมของพระพุทธเจ้าสอนหลักกรรม ให้คนหวังผลจากการกระทำ แต่ประชาชนกลับหวังผลจากการดลบันดาลด้วยอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อันนี้มันตรงกันข้าม ขัดหลักกรรม
เมื่อขัดหลักกรรม ก็ถือว่าหลุดออกจากพระศาสนา และสูญเสียความเป็นชาวพุทธ
หลักกรรมนี้ เป็นหลักการพื้นฐานของพระพุทธศาสนา ชาวพุทธต้องพิจารณา โดยเฉพาะท่านที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการสั่งสอนธรรม การที่ประชาชนหวังผลเลื่อนลอยจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ นั้น เป็นการขัดหลักกรรม และหลักกรรมนี้เป็นหลักการพื้นฐาน ถ้าขัดหลักกรรมแล้วก็อย่างที่บอกเมื่อกี้ คือ หลุดออกจากพระศาสนา
หลักกรรมมีสาระสำคัญ คือการหวังผลจากการกระทำ เราจะเอาอย่างไร เราจะวางท่าทีต่อสิ่งเหล่านี้อย่างไร วันนี้เราควรจะยอมเสียเวลากันบ้างในการพิจารณาเรื่องนี้
No Comments
Comments are closed.