- สถานการณ์พระพุทธศาสนา: พลิกหายนะ เป็นพัฒนา
- – ๑ – วงใน – ชั้นใน สภาพวัด และพระสงฆ์
- ภาวะขาดเณร: เกณฑ์บอกชะตาต่อไป
- สัญญาณเตือนภัย: ข่าวว่าพระทำไมประพฤติเสียหาย
- สภาพสังคมไทย ภาพสะท้อน-เห็นอะไรจากข่าวสาร
- มองพระสงฆ์ให้เป็น ก็เห็นสภาพสังคมไทย
- คิดดูให้ดี พุทธศาสนานี้เป็นของใคร
- มัวแต่ด่าว่าเขา ไม่รู้ว่าเรานี่แหละตัวสำคัญ
- คนสร้างสังคม สังคมสร้างคน ถ้าไม่ตัดวงจร ไม่แปรปัจจัย คนสร้างสังคมไว้อย่างไร ก็ได้คนอย่างนั้นมาสร้างสังคมต่อไป
- ฉลาดเชิงกลไก แต่ไม่พัฒนาปัญญา ท่องไปทั่วหล้า แต่ปัญญาอ้างว้าง
- ต้องพัฒนาตัวกันทุกคน ไม่มีใครหนีพ้นความรับผิดชอบ
- – ๒ – วงใน – ชั้นนอก สภาพพุทธศาสนิก
- ถ้ายึดหลักไว้ได้ ก็ยังไม่ร่วงหลุดไป
- จะสอนอย่างไร ก็ต้องให้เข้าสู่จุดเริ่ม ที่เขาจะก้าวต่อไปได้
- สอนเอาหลักเพื่อประโยชน์แก่เขา ไม่ใช่สอนเอาแต่ใจของตัว
- ไม่ใช่สอนเอาใจเขา แต่สอนนำเขาเข้าหาหลัก
- ถ้ายังเอาความศักดิ์สิทธิ์ ก็ต้องคิดให้ทางเลือกที่ถูกหลัก
- ไม่ใช่เอาใจเขา แต่เราทำอย่างรู้หลัก และไม่ใช่คิดจะเอาจากเขา แล้วมอมเมาให้เขวจากหลัก
- พัฒนาคนให้มีความสุขประณีตขึ้นไป สังคมก็จะได้จริยธรรมที่มั่นคง
- เมื่อเอาผลทางพลังจิตมาสนองด้านกาม พฤติกรรมก็ต้องเกิดความวิปริต
- – ๓ – วงนอก – ชั้นใน สภาพสังคมไทย
- ด้วยการเป็นผู้ตาม ก็ได้ยอมรับความด้อย ด้วยการมองความเจริญแบบนักบริโภค ก็รักษาความเป็นผู้ตามไว้ได้
- จะเอาอย่างเขา หรือไม่เอาอย่าง ก็อย่าไปสุดทางสองข้าง
- จะเอาอย่างเขาถูกต้อง จนเป็นผู้นำเขาได้ ต้องมีการศึกษาที่ดี มานำทางไป
- เอาอย่างด้วยปัญญา ถึงแม้เลียนแบบก็ต้องทำให้ดีกว่า จึงจะมีคุณค่า ให้เขายอมนับถือ
- ตามเป็น เอาอย่างเป็น นับเข้าได้ในองค์ประกอบของการพัฒนา
- ความผิดเพี้ยนในวัฒนธรรมไทย บทเรียนให้ช่วยกันแก้ไข
- ไม่อยาก ก็พลาด แต่พออยาก ก็ผิด จะพัฒนาสัมฤทธิ์ ต้องอยากให้เป็น
- จากรับ-ตาม สู่ความเป็นผู้นำ-ผู้ให้ ก้าวยิ่งใหญ่ที่ท้าทายความสำเร็จ
- – ๔ – วงนอก – ชั้นนอก สภาวการณ์ของโลก
- มองดูคนที่เดินนำหน้า อย่าให้พาเราเดินหลงทาง
- คนข้างหน้าติดตัน หันรีหันขวาง เพราะเจอเหวดักหน้า ต้องหาทางกันใหม่
- ความก้าวหน้าที่แสนจะภูมิใจ กลายเป็นการหาภัยมาทำลายตัว
- เมื่อรู้ว่าทางตัน แม้จะหันไปหาทางใหม่ แต่ก็สูญเสียความหวัง ความมั่นใจก็หมดไป
- เมื่อผู้เดินนำหน้าเกิดอาการหวั่นไหว คนมีปัญญาต้องนำหาทางออกใหม่
- ต้องหยั่งรู้สาเหตุของปัญหา จึงจะมองเห็นทางแก้ไข
- เมื่อจับจุดปัญหาได้แน่ ก็สืบสาวเพื่อแก้ ให้ตรงกับเหตุปัจจัย
- อารยธรรมถึงจุดหักเลี้ยว โลกหันหาทางเลือกใหม่
- ผู้เคยเดินนำ ไม่แน่ว่าจะคลำหาทางไหว ผู้ใดเห็นทาง ผู้นั้นควรลุกขึ้นเดินนำไป
- สรุป
- บันทึกท้ายเล่ม
สอนเอาหลักเพื่อประโยชน์แก่เขา
ไม่ใช่สอนเอาแต่ใจของตัว
ถ้าความเชื่อถือในพระรัตนตรัยมีเรื่องของความเข้าใจในแง่ศักดิ์สิทธิ์อยู่บ้าง เราจะทำอย่างไร
เมื่อกี้ได้พูดแล้วถึงเกณฑ์มาตรฐาน คือ หลักการมีอยู่แล้วว่าให้หวังผลจากการกระทำ จุดตัดสินอยู่ที่นี่
ตรงนี้ก็ทำให้เรามีความชัดเจนว่า ถ้าหากความเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์นั้นเป็นแบบที่เสริมการกระทำ คือทำให้เขามีเรี่ยวแรงกำลังใจในการทำมากขึ้น อย่างนี้พอรับได้
แต่ถ้าเขาเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้วทำให้เขานอนคอยโชค ได้แต่หวังผลจากการดลบันดาลของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ งอมืองอเท้าไม่ทำอะไร อันนี้ผิดหลักกรรมร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยสิ้นเชิง อย่างนี้ใช้ไม่ได้
เป็นอันว่า ถ้าความเชื่อใดทำให้ผู้เชื่อยังมีความสำนึกรับผิดชอบในการกระทำของตน และเพียรพยายามกระทำการเพื่อให้สำเร็จผลที่ต้องการอยู่ เพียงแต่เอาความเชื่อนั้นมาเสริมให้มีกำลังใจที่จะทำการนั้นให้เข้มแข็งมั่นคงยิ่งขึ้น อย่างนี้ เราพูดได้ว่ายังไม่ผิดหลักกรรม และบุคคลนั้นยังพึ่งตน เขาจึงยังมีหลักในการที่จะก้าวหน้าในแนวทางของการฝึกฝนพัฒนาตนต่อไป
เพราะฉะนั้น ถ้าผู้สอนไม่มีความสามารถเพียงพอ และผู้ฟังยังมีระดับต่ำมาก แนวทางที่จะปฏิบัติอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามลำดับ และไม่ผิด ก็คือ
หนึ่ง ดึงจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายนอก เข้ามาสู่พระพุทธศาสนา โดยมองไปที่พระรัตนตรัย ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาฝึกฝนพัฒนาตนสูงขึ้นได้ต่อไป
สอง แม้เขาจะมองพระรัตนตรัยเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่ ก็ให้เขาเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของพระรัตนตรัยนั้น ในทำนองที่สนับสนุนหลักกรรม คือให้เกิดกำลังใจที่จะเพียรพยายามทำการให้เข้มแข็งมั่นคงยิ่งขึ้น ไม่ใช่เชื่อแล้ว เลยยกชะตากรรมไปให้แก่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ แล้วก็หวังผลจากการดลบันดาล ซึ่งผิดหลักกรรมดังที่ว่าเมื่อกี้
ถึงเขาจะยังเชื่อความศักดิ์สิทธิ์ แต่ถ้าความศักดิ์สิทธิ์นั้นย้ายมาอยู่ที่พระรัตนตรัยแล้ว ก็จะโยงเขาเข้ามาหาหลักกรรม และหลักการฝึกฝนพัฒนาตน ซึ่งจะมีผลพลิกกลับให้เขาหลุดพ้นจากความหวังพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้ต่อไป แต่จะต้องเข้าใจความหมายและเชื่อพระรัตนตรัยอย่างถูกต้อง
เป็นอันว่า การก้าวเข้ามาสู่พระพุทธศาสนา ก็อาจจะต้องมีขั้นมีตอนด้วย
- สำหรับคนที่กระโดดไม่ไหว ก็อาจจะต้องมีบันไดให้ก้าวเป็นขั้นๆ
- สำหรับคนที่ก้าวไกลไม่ได้ ก็อาจจะต้องมีไม้พาดให้ค่อยๆ เดิน
แต่ข้อสำคัญจะต้องให้เขาเดินหน้ามา ไม่ใช่หยุดนิ่ง หรือถอยหลัง หรือไปเหยียบซ้ำให้เขาจมหายไปเลย
เพราะฉะนั้น การปฏิบัติต่อเรื่องราวเหล่านี้จึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนอยู่ และต้องจับหลักให้ได้
ที่ว่าจับหลักให้ได้ หมายความว่า หลักกรรมที่สอนให้กระทำความเพียรเพื่อผลสำเร็จที่ต้องการ จะต้องยืนเป็นหลักอยู่
ไม่ว่าเขาจะนับถืออะไรก็ตาม ถ้าตราบใดความเชื่อนั้นยังมาเสริมให้เขากระทำการเพื่อผลสำเร็จ และยังเป็นจุดเริ่มต้น หรือเป็นจุดเชื่อมต่อให้ก้าวหน้าไปได้ ในวิถีแห่งการพัฒนาตน สู่อิสรภาพที่สมบูรณ์ข้างหน้าต่อไป ก็ยังไม่ผิดหลักการ ถือเป็นจุดเริ่มต้นได้
แต่ถ้าเมื่อใดเขายกชะตากรรมไปให้แก่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่เชื่อแล้วได้แต่หวังผลจากการดลบันดาล และนั่งนอนคอยโชค อย่างนั้นถือว่าเป็นการผิดหลักกรรมโดยสิ้นเชิง
ฉะนั้น ในฐานะที่ครูต้องสัมผัสกับคนที่อยู่ในระดับการพัฒนาต่างกันมาก อย่าสอนชนิดที่ทำให้เขาเสียหลักแล้วลอยเตลิดไปเลย และเคว้งคว้างยิ่งขึ้น ควรสอนอย่างมีขั้นมีตอน โดยสัมพันธ์กับความสามารถของตน สิ่งสำคัญที่สุดคือ จะต้องจับหลักไว้ให้ได้
ขอเน้นว่า ตัวเราก็ต้องยอมรับด้วยว่า เรานั้นมีความสามารถในการสอนแค่ไหน สอนแล้วจะทำให้เขามีความมั่นใจในการกระทำของตนเองได้แค่ไหน จะต้องสอนเพื่อประโยชน์แก่เขา ให้เขาพัฒนา ไม่ใช่ว่าสอนเอาแต่ใจตนเอง ไปด่าไปว่าทำลายแล้วทำให้เขาหมดหลัก เลยยิ่งร้ายหนักเข้าไปอีก แล้วแทนที่ตัวเองจะทำสิ่งที่ดีงามและเป็นประโยชน์ กลับทำสิ่งที่เป็นโทษ นี่เป็นเรื่องหนึ่ง
ตกลงว่า ในเรื่องพระศาสนานี้ สิ่งที่สำคัญคือ จับหลักให้ได้ว่าอยู่ที่ไหน ในการสอนนั้นเราควรรู้ว่าจะผ่อนปรนอะไรได้แค่ไหนเพียงไร แต่หลักการจะต้องยืนตัวแน่นอน ไม่ว่าจะนับถืออะไรก็ตาม ที่จะถือว่าศักดิ์สิทธิ์หรือไม่ ก็ต้องให้เป็นสิ่งที่มาเสริมการกระทำ และความรับผิดชอบต่อการกระทำ อย่าให้มาเป็นตัวลดหย่อนการกระทำและเสียความเชื่อกรรม
ส่วนการหวังผลจากการดลบันดาลและลาภผลที่เลื่อนลอยอะไรต่างๆ นั้น จะต้องให้หมดไปจากชาวพุทธ เพราะไม่ใช่หลักของพระศาสนา และผิดหลักการของพระศาสนาด้วย
No Comments
Comments are closed.