- นำเรื่อง
- – ๑ – แก้ความสับสน ให้เป็นความประสาน
- น่าแคลงใจ: การศึกษาปัจจุบัน สร้างสรรค์หรือทำลายสันติภาพ
- ปัญญาเดียวกัน แต่ต่างแหล่งเกิด
- ต้องจัดระบบและโครงสร้างให้ดี เพื่อให้ปฏิบัติการสื่อสารได้อย่างมั่นใจ
- ถ้าจะแก้ปัญหาของมนุษย์ให้ได้ ศาสตร์ทั้งหลายต้องข้ามพ้นความคิดแยกส่วน
- ถ้าจะแก้ปัญหาให้โลกมีสันติภาพ ต้องให้โลกที่ไร้พรมแดนประสานกับจิตใจที่ไร้พรมแดน
- ถ้าจะให้จิตใจไร้พรมแดน คนต้องเข้าถึงความเป็นสากลทั้งสามประการ
- ถ้าจะให้มนุษย์เข้าถึงความเป็นสากล คนต้องพัฒนาตนให้พ้นความคับแคบทั้งสามประการ
- บนฐานของภาวะจิตที่จำกัดแบ่งแยก มนุษย์ได้สร้างระบบสังคมที่รองรับความไร้สันติภาพ
- บนฐานของปัญญาที่รู้ความจริง เป็นส่วนๆ ด้านๆ ระบบทางสังคมที่มนุษย์จัดวาง ก็แยกเป็นหลายด้านอย่างไม่ประสาน
- เมื่อแนวคิดเศรษฐกิจที่ผิดแผกมาครอบงำประชาธิปไตย หลักการบางอย่างก็ต้องหล่นหาย หรือถ้าอยู่ได้ความหมายก็ต้องผันแปร
- ถ้าต้องการระบบประชาธิปไตยที่ดี ก็ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากให้คนเป็นธรรมาธิปไตย
- ปัญญาที่จะจัดระบบสังคมของมนุษย์ ต้องอยู่บนฐานของปัญญาที่รู้ระบบสัมพันธ์ของธรรมชาติ
- – ๒ – ประสานนอกกับใน ให้เกิดความสมบูรณ์
- ระหว่างกำลังพัฒนาปัญญา ถ้าปัญญาเทียมเกิดขึ้นมา คนจะปิดกั้นตัวเองไม่ให้เข้าถึงความจริงแท้
- เมื่อไม่พบปัญญาที่แท้ อารยธรรมก็ถูกครอบงำด้วยปัญญาเทียม และการแสวงหาสันติภาพ ก็กลายเป็นการสร้างวิถีแห่งการทำลายสันติภาพ
- มนุษย์จะลุถึงสันติภาพแท้จริงได้ ต้องพัฒนาสันติภายในที่จะมาเป็นปัจจัยหนุนกันกับสันติภาพภายนอก
- การศึกษาช่วยให้พัฒนาสันติภายในขึ้นได้ เพราะทำให้ปัญญาที่เข้าถึงธรรมชาตินำเอาเมตตากรุณามาให้แก่คน
- ความขัดแย้งเริ่มต้นและขยายตัวจากที่ไหน การสร้างสันติภาพก็ตั้งต้นและพัฒนาจากที่นั่น
- จุดแยกเข้าสู่กระบวนการของการศึกษา ก็เป็นจุดแยกเข้าสู่กระบวนการพัฒนาสันติภาพ
- การศึกษาที่พัฒนาคนให้สร้างสันติภาพได้ ก็จะพัฒนาคนให้มีความสุขมากขึ้นด้วย
- สุขที่ก่อปัญหา ไม่อาจพาสันติภาพมาให้
- ถึงเวลาต้องเลือก: การศึกษาเทียมที่สนองกระแสสังคมสู่การทำลายสันติภาพ กับการศึกษาแท้ที่นำคนให้ก้าวออกมาทำการสร้างสรรค์
- ยุคปัจจุบัน ถ้าจะประเมินผลการศึกษา จุดสำคัญหนึ่ง คือดูที่ท่าทีและการปฏิบัติต่อเทคโนโลยี
- ถ้ายังไม่เข้าใจความหมายที่แท้ของชุมชนและสังคม คนก็จะใช้ชุมชนและสังคมนั่นแหละเป็นที่ทำลายสันติภาพ
- ชุมชนเพื่อแบ่งคนให้เป็นกลุ่มที่จะแยกจากกลุ่มอื่น ที่จะมาขัดแย้งแย่งชิงกัน หรือชุมชนเพื่อรวมคนให้เป็นกลุ่มย่อยที่จะเข้ารวมกันเป็นกลุ่มที่ใหญ่ขึ้นๆ ต่อไป
- การศึกษาเพื่อสันติภาพหรือไม่ เริ่มเห็นได้ที่ในครอบครัว
- เมื่อการศึกษาเสียฐาน เทคโนโลยีก็กลายเป็นสื่อนำความก้าวหน้าในวิถีแห่งการทำลายสันติภาพ
- โลกปัจจุบันไม่มีคำตอบให้ แต่คำตอบนั้นหาได้ที่ในบ้าน และในหัวใจของทุกคน
- สรุป
ปัญญาที่จะจัดระบบสังคมของมนุษย์ ต้องอยู่บนฐานของปัญญาที่รู้ระบบสัมพันธ์ของธรรมชาติ
ในที่สุดจะเห็นว่า ระบบที่เป็นรูปแบบภายนอก กับคุณสมบัติที่เป็นสาระในตัวคน ทั้งสองอย่างนี้สัมพันธ์และเป็นปัจจัยหนุนกัน คือ ในตัวมนุษย์แต่ละคน เราต้องพัฒนาเขาจนรู้เข้าใจความจริงในสิ่งต่างๆ เข้าถึงหลักการของธรรมชาติ หยั่งถึงชีวิตจิตใจของคนและสังคมของมนุษย์ เมื่อมีปัญญารู้จริงแล้ว ปัญญานั่นแหละจะทำให้มนุษย์มีจิตไร้พรมแดน คือจิตหลุดพ้นจากความจำกัด จากขอบเขตที่กีดกั้น จากการแบ่งแยก
เมื่อมนุษย์หลุดพ้น มีจิตที่ไร้พรมแดน ไม่ถูกจำกัดแล้ว เขาจึงจะสามารถมีเมตตาที่ไร้พรมแดน คือมีความรู้สึกที่ดี ปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์ทั่วทั้งหมด แล้วเขาก็กลับมาใช้ปัญญาที่ทำให้เขาหลุดพ้น คือปัญญาที่รู้ความจริงนั้น มาดำเนินการจัดตั้งวางระบบสังคมให้สนองปัญญาที่รู้และจิตที่เมตตาอย่างสากลไร้พรมแดนนั้น ให้เป็นสังคมที่มีสภาพเอื้อต่อการพัฒนาของคนอื่นๆ ต่อๆ ไปอีก มันสัมพันธ์ย้อนกันไปมาอย่างนี้
คนกับสังคม และบุคคลกับระบบ จะต้องให้สัมพันธ์เป็นเหตุปัจจัยที่เกื้อหนุนแก่กันและกัน ไม่ใช่เอาแต่อย่างใดอย่างหนึ่ง อย่าพูดว่าบุคคลเท่านั้นสำคัญ หรือสังคมเท่านั้นสำคัญ แต่ที่แท้นั้นมันเป็นระบบปัจจัยสัมพันธ์ ที่ทั้งสองอย่างส่งผลต่อกันอย่างที่กล่าวแล้ว
สาระสำคัญในที่นี้คือ ต้องการให้มองทุกสิ่งทุกอย่างดำเนินไปในระบบความสัมพันธ์ มีองค์ประกอบต่างๆ อิงอาศัยกันและส่งผลต่อกัน ดังนั้น การมองมนุษย์จึงไม่จบแค่มนุษย์ แต่ต้องโยงต่อไปที่ธรรมชาติ และต้องมองอย่างสัมพันธ์กับสังคม และเมื่อมองไปที่สังคมก็ต้องโยงไปหาตัวคน และธรรมชาติ โยงกันไปมาอย่างถึงกันหมด เมื่อมองโดยรอบด้านอย่างนี้ การพิจารณาเรื่องต่างๆ จึงจะทั่วตลอด รอบคอบ และจึงจะแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน ถ้าเรามองตัดแค่ส่วนใดส่วนหนึ่งก็จะพลาดได้ง่าย เพราะเหตุปัจจัยไม่ใช่แค่นั้น แต่เลยไปกว่านั้น
เวลานี้มีความคิดเรื่องความเป็นเหตุปัจจัยกันเช่นในเชิงวิทยาศาสตร์ก็นับว่าดี แต่การมองเหตุปัจจัยก็ยังต้องให้ถูกต้องเพียงพอด้วย เช่น วิธีมองเหตุปัจจัยแบบหนึ่ง ถ้าเทียบกับรูปธรรม เหมือนกับเห็นสิ่งทั้งหลายเรียงต่อกันเป็นลูกโซ่ เป็นเหตุปัจจัยร้อยต่อเนื่องกันไป อีกแบบหนึ่งมองต่อไปว่า นอกจากร้อยต่อเป็นสายโซ่แล้วก็วนมาเป็นวง ในที่สุดก็หาต้นหาปลายไม่ได้ เพราะเป็นปัจจัยหมุนเวียนแก่กัน แต่การมองแบบสายโซ่นี้ถูกต้องหรือเพียงพอแล้วหรือ
นักปราชญ์บางท่านบอกว่า แนวคิดแบบสายโซ่นี้ยังไม่ถูก เป็นความคิดชั้นเดียว ยังแคบ มองได้เพียงเป็นสายไปทิศเดียว ที่จริงนั้น ความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ ไม่ใช่เป็นแบบสายโซ่ หรือ chain แต่เป็นแบบ net คือแบบเครือข่าย หมายความว่ามันไม่ได้ออกไปด้านเดียว แต่มันย้อนไปย้อนมาแผ่ไปสานกันไปทุกทิศ ฉะนั้นความเป็นปัจจัยจะไปมองแค่ตัวต่อไปถัดไปเป็นสายไม่ได้ ต้องมองเป็นเครือข่ายแผ่ไปทุกทิศ
อย่างไรก็ตาม การมองแบบ net ก็ยังไม่พอ เพราะว่าแม้จะออกทุกทิศก็จริง แต่ก็ยังเเบนไป ที่จริงนั้นสิ่งทั้งหลายส่งผลเป็นรัศมีรอบตัวทุกด้านทุกทิศรอบตัวเลย ซึ่งไม่รู้จะเอาอะไรมาเทียบ นี้คือความเป็นจริงในระบบความสัมพันธ์ของสิ่งทั้งหลายในธรรมชาติ
ด้วยเหตุนี้ หลักพุทธศาสนาจึงกล่าวว่า การที่สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้น ไม่ใช่เป็นเพียงระบบเหตุผล มนุษย์ทั่วไปยังติดอยู่ในระบบเหตุเดียวผลเดียว ซึ่งไม่ถูกต้อง ความจริงนั้น เป็นระบบเหตุปัจจัย คือผลอย่างเดียวที่เกิดขึ้น มีปัจจัยหลายอย่าง และปัจจัยอย่างหนึ่งส่งผลสะท้อนไปหลายทาง นอกจากนั้น ความเป็นเหตุปัจจัยนั้นไม่ใช่หมายถึงว่าต้องไปตามลำดับกาล ปัจจัยบางอย่างเกิดก่อนหลังกันโดยกาล บางอย่างเกิดพร้อมกันและเป็นปัจจัยแก่กันและกันในเวลาเดียวกัน ฉะนั้นความเป็นปัจจัยตามหลักพุทธศาสนาท่านจึงบอกไว้ถึง ๒๔ แบบ ความเป็นปัจจัยในแง่ก่อนหลังนี้เป็นเพียงรูปแบบหนึ่ง ในบรรดา ๒๔ แบบนั้น
เหมือนอย่างเราเอาชอล์คไปเขียนหนังสือบนกระดานป้าย ตัวหนังสือเกิดขึ้นมาเป็นผลหรือเป็นปรากฏการณ์ แต่ตัวหนังสือที่ปรากฏนั้นมีปัจจัยหลายอย่าง ไม่ใช่ว่ามีเหตุจึงมีผลแล้วก็จบ อะไรเป็นเหตุจึงทำให้เกิดตัวหนังสือบนกระดานดำ เราอาจจะบอกว่าชอล์ค แค่นั้นไม่พอ หรือบอกว่าคนเขียนเป็นเหตุ ก็ไม่พอ การที่จะมีตัวหนังสือขึ้นบนกระดานป้ายนั้น มีตั้งหลายปัจจัย เช่น มีชอล์ค มีบอร์ด มีคนเขียน มีสีของชอล์ค มีสีของกระดานป้าย มีความชื้น ฯลฯ ซึ่งทำให้มีผลที่เราพิจารณาอันเดียว คือ ตัวหนังสือที่ปรากฏ
ดังนั้น การที่มีผลอย่างหนึ่งเกิดขึ้นนั้น ไม่ใช่จะมีเหตุอย่างเดียว แต่ต้องมีปัจจัยพรั่งพร้อมผลจึงเกิดขึ้น อันนี้เป็นแนวคิดที่ต้องเน้นย้ำ เพราะคนโดยมากจะมองในแง่ของเหตุเดียวผลเดียว ทำให้การคิดแคบและตัน อย่างเช่นการที่จะปลูกมะม่วงขึ้นมาต้นหนึ่งนั้น ต้นมะม่วงปรากฏขึ้นมาได้อย่างไร ต้นมะม่วงเป็นผลแล้วอะไรเป็นเหตุ จะตอบว่าเมล็ดมะม่วงเท่านั้นไม่พอ เรามีเมล็ดมะม่วงเป็นเหตุอย่างเดียว ต้นมะม่วงเกิดไม่ได้ นอกจากเมล็ดมะม่วงแล้ว ยังต้องมีน้ำ มีปุ๋ย มีดิน มีอุณหภูมิที่เหมาะ มีอากาศ ฯลฯ เมื่อมีปัจจัยต่างๆ พรั่งพร้อมแล้วเมล็ดมะม่วงจึงงอกขึ้นมาเป็นต้นมะม่วง ดังนั้น ผลอย่างหนึ่งจึงมีปัจจัยหลายอย่าง อันนี้คือระบบความคิดที่จะต้องเชื่อมโยงสิ่งทั้งหลายให้ถึงกันหมด อย่ามองแค่แง่มุมเดียว ให้มองถึงปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยค้นหาให้ทั่วถึง จึงจะเข้าถึงความจริงและสร้างผลสำเร็จที่ต้องการได้อย่างดี
No Comments
Comments are closed.