- นำเรื่อง
- – ๑ – แก้ความสับสน ให้เป็นความประสาน
- น่าแคลงใจ: การศึกษาปัจจุบัน สร้างสรรค์หรือทำลายสันติภาพ
- ปัญญาเดียวกัน แต่ต่างแหล่งเกิด
- ต้องจัดระบบและโครงสร้างให้ดี เพื่อให้ปฏิบัติการสื่อสารได้อย่างมั่นใจ
- ถ้าจะแก้ปัญหาของมนุษย์ให้ได้ ศาสตร์ทั้งหลายต้องข้ามพ้นความคิดแยกส่วน
- ถ้าจะแก้ปัญหาให้โลกมีสันติภาพ ต้องให้โลกที่ไร้พรมแดนประสานกับจิตใจที่ไร้พรมแดน
- ถ้าจะให้จิตใจไร้พรมแดน คนต้องเข้าถึงความเป็นสากลทั้งสามประการ
- ถ้าจะให้มนุษย์เข้าถึงความเป็นสากล คนต้องพัฒนาตนให้พ้นความคับแคบทั้งสามประการ
- บนฐานของภาวะจิตที่จำกัดแบ่งแยก มนุษย์ได้สร้างระบบสังคมที่รองรับความไร้สันติภาพ
- บนฐานของปัญญาที่รู้ความจริง เป็นส่วนๆ ด้านๆ ระบบทางสังคมที่มนุษย์จัดวาง ก็แยกเป็นหลายด้านอย่างไม่ประสาน
- เมื่อแนวคิดเศรษฐกิจที่ผิดแผกมาครอบงำประชาธิปไตย หลักการบางอย่างก็ต้องหล่นหาย หรือถ้าอยู่ได้ความหมายก็ต้องผันแปร
- ถ้าต้องการระบบประชาธิปไตยที่ดี ก็ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากให้คนเป็นธรรมาธิปไตย
- ปัญญาที่จะจัดระบบสังคมของมนุษย์ ต้องอยู่บนฐานของปัญญาที่รู้ระบบสัมพันธ์ของธรรมชาติ
- – ๒ – ประสานนอกกับใน ให้เกิดความสมบูรณ์
- ระหว่างกำลังพัฒนาปัญญา ถ้าปัญญาเทียมเกิดขึ้นมา คนจะปิดกั้นตัวเองไม่ให้เข้าถึงความจริงแท้
- เมื่อไม่พบปัญญาที่แท้ อารยธรรมก็ถูกครอบงำด้วยปัญญาเทียม และการแสวงหาสันติภาพ ก็กลายเป็นการสร้างวิถีแห่งการทำลายสันติภาพ
- มนุษย์จะลุถึงสันติภาพแท้จริงได้ ต้องพัฒนาสันติภายในที่จะมาเป็นปัจจัยหนุนกันกับสันติภาพภายนอก
- การศึกษาช่วยให้พัฒนาสันติภายในขึ้นได้ เพราะทำให้ปัญญาที่เข้าถึงธรรมชาตินำเอาเมตตากรุณามาให้แก่คน
- ความขัดแย้งเริ่มต้นและขยายตัวจากที่ไหน การสร้างสันติภาพก็ตั้งต้นและพัฒนาจากที่นั่น
- จุดแยกเข้าสู่กระบวนการของการศึกษา ก็เป็นจุดแยกเข้าสู่กระบวนการพัฒนาสันติภาพ
- การศึกษาที่พัฒนาคนให้สร้างสันติภาพได้ ก็จะพัฒนาคนให้มีความสุขมากขึ้นด้วย
- สุขที่ก่อปัญหา ไม่อาจพาสันติภาพมาให้
- ถึงเวลาต้องเลือก: การศึกษาเทียมที่สนองกระแสสังคมสู่การทำลายสันติภาพ กับการศึกษาแท้ที่นำคนให้ก้าวออกมาทำการสร้างสรรค์
- ยุคปัจจุบัน ถ้าจะประเมินผลการศึกษา จุดสำคัญหนึ่ง คือดูที่ท่าทีและการปฏิบัติต่อเทคโนโลยี
- ถ้ายังไม่เข้าใจความหมายที่แท้ของชุมชนและสังคม คนก็จะใช้ชุมชนและสังคมนั่นแหละเป็นที่ทำลายสันติภาพ
- ชุมชนเพื่อแบ่งคนให้เป็นกลุ่มที่จะแยกจากกลุ่มอื่น ที่จะมาขัดแย้งแย่งชิงกัน หรือชุมชนเพื่อรวมคนให้เป็นกลุ่มย่อยที่จะเข้ารวมกันเป็นกลุ่มที่ใหญ่ขึ้นๆ ต่อไป
- การศึกษาเพื่อสันติภาพหรือไม่ เริ่มเห็นได้ที่ในครอบครัว
- เมื่อการศึกษาเสียฐาน เทคโนโลยีก็กลายเป็นสื่อนำความก้าวหน้าในวิถีแห่งการทำลายสันติภาพ
- โลกปัจจุบันไม่มีคำตอบให้ แต่คำตอบนั้นหาได้ที่ในบ้าน และในหัวใจของทุกคน
- สรุป
การศึกษาเพื่อสันติภาพหรือไม่ เริ่มเห็นได้ที่ในครอบครัว
เป็นอันว่า ด้วยปฏิบัติการบนฐานความคิดที่ถูกต้อง ทุกอย่างจะประสานกันไปตลอด เริ่มตั้งแต่ชุมชนหน่วยย่อยที่สุด แล้วระบบชีวิตของชุมชนและสังคมที่จัดตั้งขึ้นอย่างนี้ก็จะคุมให้มนุษย์ที่มาอยู่ในชุมชนนั้นเป็นปัจจัยที่เอื้อแก่กันและกัน พร้อมทั้งสร้างทัศนคติหรือท่าทีของมนุษย์ที่มองผู้อื่น ทั้งในชุมชนเดียวกัน และในต่างชุมชน ตลอดจนต่อโลกทั้งหมด ในเชิงประสานและมีสมานฉันท์
มนุษย์จะมองโลกและมองผู้อื่น ด้วยทัศนคติหรือท่าทีอย่างไร สังคมมีอิทธิพลชักจูงและกำหนด ถ้าการจัดตั้งวางระบบสังคมถูกต้อง สังคมก็จะเอื้อต่อทัศนคติที่ส่งเสริมสันติภาพ ทั้งนี้เริ่มตั้งแต่ในครอบครัวเป็นต้นไป
ครอบครัวเป็นชุมชนหน่วยย่อยที่สุด และเป็นพื้นฐานที่สุด ชุมชนจะเป็นสื่อกลางที่นำมนุษย์ไปสู่การรวมกันเป็นสังคมสากลหรือไม่ ก็เริ่มต้นที่การศึกษาในชุมชนแรกคือครอบครัวนี่แหละ การศึกษามีการเลี้ยงดูในครอบครัวเป็นจุดเริ่มต้น การศึกษาเริ่มจากครอบครัวอย่างไร
ครอบครัวมีพ่อแม่เป็นหัวหน้า หรือพูดอีกสำนวนหนึ่งว่า บ้านเป็นดินแดนในอำนาจครอบครองของพ่อแม่ หรือดินแดนภายใต้การบริหารของพ่อแม่ การบริหารที่สำคัญก็คือ การที่จะทำให้การศึกษาเกิดขึ้นแก่สมาชิกใหม่
พระพุทธเจ้าตรัสว่า พ่อแม่เป็นพรหมของลูก เมื่อให้กำเนิดแล้ว บทบาทแรกของพรหมคือ แสดงโลกแก่ลูก ถ้าใช้ภาษาสมัยใหม่ก็ว่า “นำเสนอโลกแก่ลูก” นำเสนออย่างไร
คนเราเกิดมาในโลกเราก็มองเห็นโลก แต่การมองเห็นโลก ไม่ได้หมายความว่าจะต้องมองเห็นความจริงของโลก หรือมองเห็นโลกตามความเป็นจริง ทันทีที่มนุษย์เกิดมา กระบวนการศึกษาหาความจริงของโลก หรือมองโลกเพื่อให้รู้จักโลกก็เริ่มขึ้น เพราะการมองเห็นและรู้จักโลก เป็นสิ่งสำคัญยิ่งต่อการอยู่รอด และการดำรงอยู่ด้วยดีของชีวิต
เมื่อมนุษย์เกิดมา โลกที่มนุษย์มองเห็น นอกจากไม่ครบถ้วนทั่วตลอดทั้งหมดแล้ว เรายังมองเห็นโลกนั้นในแง่มุมของความเข้าใจและท่าทีอย่างใดอย่างหนึ่ง และการที่จะมองเห็นอย่างไร ก็อยู่ที่บทบาทของผู้นำเสนอโลกนั้น
พ่อแม่นี่แหละเป็นผู้นำเสนอโลกนี้แก่ลูก ภาพของโลกที่ลูกมองเห็น ท่าทีที่ลูกจะมีต่อโลก ต่อสังคม ต่อเพื่อนมนุษย์ เช่นว่าเขาจะมองเพื่อนมนุษย์อย่างไร ก็อยู่ที่การนำเสนอของพ่อแม่ และตอนนี้แหละคือจุดสำคัญที่สุดที่การศึกษาจะวางพื้นฐานให้แก่ชีวิตของเขา ถ้าเขามีทัศนคติต่อเพื่อนมนุษย์ ต่อโลก ต่อวัตถุสิ่งของในโลก หรือต่อสภาพแวดล้อมอย่างไร ต่อไปทัศนคตินั้นก็จะเป็นตัวกำหนดวิถีแห่งการดำเนินชีวิตของเขา
ลูกจะมองเห็นโลกนี้อย่างไรก็อยู่ที่พ่อแม่ เช่นอาจจะเห็นสังคมน่าเกลียดน่าชังเป็นศัตรู เห็นโลกเป็นแดนที่จะไปหาผลประโยชน์ให้ตัวได้เสพ หรือมองเห็นเพื่อนมนุษย์เป็นมิตรเป็นเพื่อนร่วมโลกที่จะอยู่ร่วมกันด้วยไมตรี มองเห็นสิ่งทั้งหลายในโลกเป็นวัตถุแห่งการเรียนรู้ที่เราจะไปแสวงหาความเข้าใจให้เห็นความจริง หรือมองเห็นโลกนี้ในลักษณะที่ว่าเรามีส่วนร่วมที่จะต้องไปร่วมกันสร้างสรรค์โดยมีความรับผิดชอบ พ่อแม่มองโลกในลักษณะใด ก็จะนำเสนอโลกแก่ลูกในลักษณะนั้น ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว
ว่าโดยสรุป การมองโลกขั้นพื้นฐานที่พึงปรารถนามี ๓ ประการ
๑. มองเห็นมนุษย์ร่วมโลกอย่างเป็นมิตร ตลอดจนมองสัตว์ทั้งหลายและสิ่งแวดล้อมด้วยท่าทีที่เป็นมิตรมีไมตรี
๒. มองโลกในแง่ที่กว้างขวางใหญ่โต เป็นแดนอันอัศจรรย์ มีความงดงามน่าชื่นชมและเป็นแหล่งแห่งความรู้ที่เราจะไปศึกษาหาความจริง
๓. มองความสัมพันธ์ของตนเองกับโลกด้วยเจตจำนงที่จะเข้าไปร่วมสร้างสรรค์
ถ้าพ่อแม่นำเสนอโลกให้ลูกได้แนวทัศนคติพื้นฐาน ๓ ข้ออย่างนี้ก็อุ่นใจได้ แต่ปัญหาก็คือ ขณะนี้พ่อแม่นำเสนอโลกแก่ลูกในลักษณะนี้หรือไม่ อย่าว่าแต่จะนำเสนอโลกแก่ลูกให้ได้อย่างนี้เลย ปัญหาหนักยิ่งกว่านั้นที่เกิดขึ้นในยุคนี้ก็คือ เวลานี้กล่าวได้ว่าพ่อแม่กำลังสูญเสียอำนาจครอบครองดินแดนของตน พร้อมทั้งละทิ้งหรือละเลยบทบาทในการนำเสนอโลกแก่ลูกนี้ไปเสีย
No Comments
Comments are closed.