- สถานการณ์พระพุทธศาสนา: พลิกหายนะ เป็นพัฒนา
- – ๑ – วงใน – ชั้นใน สภาพวัด และพระสงฆ์
- ภาวะขาดเณร: เกณฑ์บอกชะตาต่อไป
- สัญญาณเตือนภัย: ข่าวว่าพระทำไมประพฤติเสียหาย
- สภาพสังคมไทย ภาพสะท้อน-เห็นอะไรจากข่าวสาร
- มองพระสงฆ์ให้เป็น ก็เห็นสภาพสังคมไทย
- คิดดูให้ดี พุทธศาสนานี้เป็นของใคร
- มัวแต่ด่าว่าเขา ไม่รู้ว่าเรานี่แหละตัวสำคัญ
- คนสร้างสังคม สังคมสร้างคน ถ้าไม่ตัดวงจร ไม่แปรปัจจัย คนสร้างสังคมไว้อย่างไร ก็ได้คนอย่างนั้นมาสร้างสังคมต่อไป
- ฉลาดเชิงกลไก แต่ไม่พัฒนาปัญญา ท่องไปทั่วหล้า แต่ปัญญาอ้างว้าง
- ต้องพัฒนาตัวกันทุกคน ไม่มีใครหนีพ้นความรับผิดชอบ
- – ๒ – วงใน – ชั้นนอก สภาพพุทธศาสนิก
- ถ้ายึดหลักไว้ได้ ก็ยังไม่ร่วงหลุดไป
- จะสอนอย่างไร ก็ต้องให้เข้าสู่จุดเริ่ม ที่เขาจะก้าวต่อไปได้
- สอนเอาหลักเพื่อประโยชน์แก่เขา ไม่ใช่สอนเอาแต่ใจของตัว
- ไม่ใช่สอนเอาใจเขา แต่สอนนำเขาเข้าหาหลัก
- ถ้ายังเอาความศักดิ์สิทธิ์ ก็ต้องคิดให้ทางเลือกที่ถูกหลัก
- ไม่ใช่เอาใจเขา แต่เราทำอย่างรู้หลัก และไม่ใช่คิดจะเอาจากเขา แล้วมอมเมาให้เขวจากหลัก
- พัฒนาคนให้มีความสุขประณีตขึ้นไป สังคมก็จะได้จริยธรรมที่มั่นคง
- เมื่อเอาผลทางพลังจิตมาสนองด้านกาม พฤติกรรมก็ต้องเกิดความวิปริต
- – ๓ – วงนอก – ชั้นใน สภาพสังคมไทย
- ด้วยการเป็นผู้ตาม ก็ได้ยอมรับความด้อย ด้วยการมองความเจริญแบบนักบริโภค ก็รักษาความเป็นผู้ตามไว้ได้
- จะเอาอย่างเขา หรือไม่เอาอย่าง ก็อย่าไปสุดทางสองข้าง
- จะเอาอย่างเขาถูกต้อง จนเป็นผู้นำเขาได้ ต้องมีการศึกษาที่ดี มานำทางไป
- เอาอย่างด้วยปัญญา ถึงแม้เลียนแบบก็ต้องทำให้ดีกว่า จึงจะมีคุณค่า ให้เขายอมนับถือ
- ตามเป็น เอาอย่างเป็น นับเข้าได้ในองค์ประกอบของการพัฒนา
- ความผิดเพี้ยนในวัฒนธรรมไทย บทเรียนให้ช่วยกันแก้ไข
- ไม่อยาก ก็พลาด แต่พออยาก ก็ผิด จะพัฒนาสัมฤทธิ์ ต้องอยากให้เป็น
- จากรับ-ตาม สู่ความเป็นผู้นำ-ผู้ให้ ก้าวยิ่งใหญ่ที่ท้าทายความสำเร็จ
- – ๔ – วงนอก – ชั้นนอก สภาวการณ์ของโลก
- มองดูคนที่เดินนำหน้า อย่าให้พาเราเดินหลงทาง
- คนข้างหน้าติดตัน หันรีหันขวาง เพราะเจอเหวดักหน้า ต้องหาทางกันใหม่
- ความก้าวหน้าที่แสนจะภูมิใจ กลายเป็นการหาภัยมาทำลายตัว
- เมื่อรู้ว่าทางตัน แม้จะหันไปหาทางใหม่ แต่ก็สูญเสียความหวัง ความมั่นใจก็หมดไป
- เมื่อผู้เดินนำหน้าเกิดอาการหวั่นไหว คนมีปัญญาต้องนำหาทางออกใหม่
- ต้องหยั่งรู้สาเหตุของปัญหา จึงจะมองเห็นทางแก้ไข
- เมื่อจับจุดปัญหาได้แน่ ก็สืบสาวเพื่อแก้ ให้ตรงกับเหตุปัจจัย
- อารยธรรมถึงจุดหักเลี้ยว โลกหันหาทางเลือกใหม่
- ผู้เคยเดินนำ ไม่แน่ว่าจะคลำหาทางไหว ผู้ใดเห็นทาง ผู้นั้นควรลุกขึ้นเดินนำไป
- สรุป
- บันทึกท้ายเล่ม
เมื่อรู้ว่าทางตัน แม้จะหันไปหาทางใหม่
แต่ก็สูญเสียความหวัง ความมั่นใจก็หมดไป
การปฏิวัติครั้งที่สอง ที่เข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม ได้ผ่านไปแล้ว แม้ว่าหลายประเทศจะยังไม่ทันได้เข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม และยังพยายามอยู่ แต่ตอนนี้เขาบอกว่า จะต้องมีการพลิกประวัติศาสตร์ใหม่ หนังสือตำราของตะวันตกที่ทันสมัยกำลังร่ำร้องกันถึงการปฏิวัติครั้งที่ ๓
การปฏิวัติครั้งที่ ๓ นี้ หนังสือบางเล่มเรียกว่า Sustainability Revolution อาจจะแปลว่าการปฏิวัติเพื่อความคงอยู่ยั่งยืน
แต่หลายคนไม่เอาคำนี้ ก็ใช้คำใหม่ให้ง่ายและตรงเข้าไปอีกเรียกว่า Environmental Revolution คือการปฏิวัติด้านสิ่งแวดล้อม นี่เป็นการปฏิวัติครั้งที่ ๓ ที่ร่ำร้องกัน
ที่เรียกว่าเป็นการปฏิวัติ เพราะจะต้องพลิกประวัติศาสตร์ จะต้องพลิกกระบวนการพัฒนา จะต้องพลิกแนวความคิด และจะต้องแสวงหาภูมิปัญญาใหม่ หนังสือบางเล่มบอกว่า นี้คือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของอารยธรรม
ตอนนี้ อเมริกามีประธานาธิบดีคนใหม่ซึ่งเพิ่งปฏิญาณตัวเข้ารับตำแหน่งเมื่อวานซืนนี้ คือวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๓๖ ได้แก่ประธานาธิบดี บิล คลินตัน ซึ่งมีรองประธานาธิบดีชื่อ นายแอล กอร์
ให้สังเกตว่า Al Gore นี้เป็น environmentalist คือเป็นนักอนุรักษ์ธรรมชาติ เขาเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้มานานแล้ว ถึงกับแต่งหนังสือออกมาเล่มหนึ่งชื่อเรื่อง Earth in the Balance อาจเรียกได้ว่าเป็นนักต่อสู้เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม เมื่อไม่นานมานี้ ตอนที่ยังเป็นว่าที่รองประธานาธิบดี ก็ได้นำคณะผู้แทนของอเมริกันไปประชุมเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม แกสนใจเรื่องนี้มาก
ในหนังสือเล่มที่ว่านั้น ได้พูดถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของอารยธรรม ซึ่งหมายถึงอารยธรรมตะวันตก ว่าอารยธรรมตะวันตกจะต้องมีการพลิกผันเปลี่ยนแปลงครั้งมโหฬาร และจะต้องลงลึกถึงสาระทางจิตใจ มนุษย์จะต้องปฏิวัติตัวเอง ไม่ใช่เฉพาะภายนอก แต่ต้องเปลี่ยนแปลงถึงรากฐานทางด้านจิตใจทีเดียว และมีหนังสืออื่นๆ ที่พูดเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้มาก
ไหนๆ ก็ได้พูดถึงการเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีคลินตันแล้ว ขอแทรกเรื่องนี้เข้ามาหน่อย
เมื่อวานซืนที่ บิล คลินตัน ปฏิญาณตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีนั้น คนเป็นอันมากมัวชื่นชมกับพิธีการที่ยิ่งใหญ่มโหฬาร ตื่นเต้น
แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือคำปราศรัยของท่าน เราจะต้องมองดูว่า เขาคิดอย่างไร และเขาจะทำอะไร ขอให้สังเกตในคำปราศรัยของท่าน
คำปราศรัยตอนหนึ่งของท่านคลินตัน บอกด้วยความภูมิใจว่า American idea คือแนวความคิดของอเมริกัน ได้รับการยอมรับปฏิบัติตามไปทั่วโลก
นี่เป็นความภูมิใจของคนอเมริกัน ซึ่งก็เป็นความจริง แนวความคิดที่คนอเมริกันภูมิใจ ที่คนอื่นพากันทำตามนี้ คืออะไร
ที่จริง อันนี้เขาพูดกันมาก่อนแล้ว ก่อนที่ท่านคลินตันจะปราศรัย เพราะฉะนั้น เมื่อท่านคลินตันพูด ก็ไม่ต้องบอกว่าอะไร
อันนั้นก็คือ ความคิดในเรื่อง democracy และ free market economy คือ ประชาธิปไตย และเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี หรือลัทธิทุนนิยมนั่นเอง
หนึ่ง ก็แนวคิดประชาธิปไตย สอง ก็แนวคิดตลาดเสรีตามระบบทุนนิยม นี้เป็นสิ่งที่คนอเมริกันภูมิใจมากในขณะนี้ เขียนภูมิใจอวดกันไว้ในหนังสือต่างๆ
ขณะที่โลกคอมมิวนิสต์แตกกระจาย และอาณาจักรโซเวียตล่มสลาย ยุโรปตะวันออกเปลี่ยนพลิกจากระบบคอมมิวนิสต์มาหาระบบตลาดเสรี ที่ไหนๆ ก็ยอมรับหมดว่า โลกคอมมิวนิสต์ไปไม่รอด เพราะฉะนั้น ตอนนี้ก็มาสมาทานลัทธิทุนนิยม และประชาธิปไตยไปตามๆ กัน
นี้คือความภูมิใจของคนอเมริกัน ก็ควรที่จะภูมิใจ เพราะเขาเป็นผู้นำซึ่งเป็นที่ยอมรับว่า มีสิ่งที่ดีให้แก่ผู้อื่น
แต่เบื้องหลังความภูมิใจนี้ คืออะไร เบื้องหลังความภูมิใจนี้ ก็คือปมในใจ
ที่ท่านบิล คลินตันพูดอย่างนี้ ไม่ใช่มีแต่ความภูมิใจอย่างเดียว แต่มองให้ลึกลงไป ก็จะมองเห็นว่า ท่านพูดอย่างนี้ขึ้นมาในท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางจิตใจของคนอเมริกัน ที่กำลังขาดความมั่นใจ
คนอเมริกันในระยะ ๑๐ ปีมานี้ ได้สูญเสียความมั่นใจลงโดยลำดับ มีความไม่มั่นคงทางจิตใจมาก ทั้งในด้านความหวัง และความเชื่อถือ
ฉะนั้น คำของท่านคลินตันในฐานะผู้นำ จึงเป็นการพูดขึ้นในสภาพภูมิหลังอย่างนี้ เพื่อปลอบใจ และปลุกใจคนอเมริกัน เมื่อปัญหามีอยู่ และผู้คนหวั่นใจกันอยู่ แต่บ้านเมืองยังมีอะไรที่ภูมิใจได้ ในฐานะของผู้นำ เขาก็หยิบเอาจุดนั้นขึ้นมาพูด
ถ้อยคำส่วนอื่นๆ ของ บิล คลินตัน นั้น ส่อแสดงปมความรู้สึกนี้ ถ้าลองไปอ่านดู จะเห็นว่า เขามีปมอะไรในใจอยู่บ้าง แต่เอาเป็นว่า เขามีความภูมิใจอันนี้อยู่ และความภูมิใจนี้เขาพูดขึ้นมาจากภูมิหลังที่มีปมในใจ คือการขาดความมั่นใจในตนเอง
No Comments
Comments are closed.