- สถานการณ์พระพุทธศาสนา: พลิกหายนะ เป็นพัฒนา
- – ๑ – วงใน – ชั้นใน สภาพวัด และพระสงฆ์
- ภาวะขาดเณร: เกณฑ์บอกชะตาต่อไป
- สัญญาณเตือนภัย: ข่าวว่าพระทำไมประพฤติเสียหาย
- สภาพสังคมไทย ภาพสะท้อน-เห็นอะไรจากข่าวสาร
- มองพระสงฆ์ให้เป็น ก็เห็นสภาพสังคมไทย
- คิดดูให้ดี พุทธศาสนานี้เป็นของใคร
- มัวแต่ด่าว่าเขา ไม่รู้ว่าเรานี่แหละตัวสำคัญ
- คนสร้างสังคม สังคมสร้างคน ถ้าไม่ตัดวงจร ไม่แปรปัจจัย คนสร้างสังคมไว้อย่างไร ก็ได้คนอย่างนั้นมาสร้างสังคมต่อไป
- ฉลาดเชิงกลไก แต่ไม่พัฒนาปัญญา ท่องไปทั่วหล้า แต่ปัญญาอ้างว้าง
- ต้องพัฒนาตัวกันทุกคน ไม่มีใครหนีพ้นความรับผิดชอบ
- – ๒ – วงใน – ชั้นนอก สภาพพุทธศาสนิก
- ถ้ายึดหลักไว้ได้ ก็ยังไม่ร่วงหลุดไป
- จะสอนอย่างไร ก็ต้องให้เข้าสู่จุดเริ่ม ที่เขาจะก้าวต่อไปได้
- สอนเอาหลักเพื่อประโยชน์แก่เขา ไม่ใช่สอนเอาแต่ใจของตัว
- ไม่ใช่สอนเอาใจเขา แต่สอนนำเขาเข้าหาหลัก
- ถ้ายังเอาความศักดิ์สิทธิ์ ก็ต้องคิดให้ทางเลือกที่ถูกหลัก
- ไม่ใช่เอาใจเขา แต่เราทำอย่างรู้หลัก และไม่ใช่คิดจะเอาจากเขา แล้วมอมเมาให้เขวจากหลัก
- พัฒนาคนให้มีความสุขประณีตขึ้นไป สังคมก็จะได้จริยธรรมที่มั่นคง
- เมื่อเอาผลทางพลังจิตมาสนองด้านกาม พฤติกรรมก็ต้องเกิดความวิปริต
- – ๓ – วงนอก – ชั้นใน สภาพสังคมไทย
- ด้วยการเป็นผู้ตาม ก็ได้ยอมรับความด้อย ด้วยการมองความเจริญแบบนักบริโภค ก็รักษาความเป็นผู้ตามไว้ได้
- จะเอาอย่างเขา หรือไม่เอาอย่าง ก็อย่าไปสุดทางสองข้าง
- จะเอาอย่างเขาถูกต้อง จนเป็นผู้นำเขาได้ ต้องมีการศึกษาที่ดี มานำทางไป
- เอาอย่างด้วยปัญญา ถึงแม้เลียนแบบก็ต้องทำให้ดีกว่า จึงจะมีคุณค่า ให้เขายอมนับถือ
- ตามเป็น เอาอย่างเป็น นับเข้าได้ในองค์ประกอบของการพัฒนา
- ความผิดเพี้ยนในวัฒนธรรมไทย บทเรียนให้ช่วยกันแก้ไข
- ไม่อยาก ก็พลาด แต่พออยาก ก็ผิด จะพัฒนาสัมฤทธิ์ ต้องอยากให้เป็น
- จากรับ-ตาม สู่ความเป็นผู้นำ-ผู้ให้ ก้าวยิ่งใหญ่ที่ท้าทายความสำเร็จ
- – ๔ – วงนอก – ชั้นนอก สภาวการณ์ของโลก
- มองดูคนที่เดินนำหน้า อย่าให้พาเราเดินหลงทาง
- คนข้างหน้าติดตัน หันรีหันขวาง เพราะเจอเหวดักหน้า ต้องหาทางกันใหม่
- ความก้าวหน้าที่แสนจะภูมิใจ กลายเป็นการหาภัยมาทำลายตัว
- เมื่อรู้ว่าทางตัน แม้จะหันไปหาทางใหม่ แต่ก็สูญเสียความหวัง ความมั่นใจก็หมดไป
- เมื่อผู้เดินนำหน้าเกิดอาการหวั่นไหว คนมีปัญญาต้องนำหาทางออกใหม่
- ต้องหยั่งรู้สาเหตุของปัญหา จึงจะมองเห็นทางแก้ไข
- เมื่อจับจุดปัญหาได้แน่ ก็สืบสาวเพื่อแก้ ให้ตรงกับเหตุปัจจัย
- อารยธรรมถึงจุดหักเลี้ยว โลกหันหาทางเลือกใหม่
- ผู้เคยเดินนำ ไม่แน่ว่าจะคลำหาทางไหว ผู้ใดเห็นทาง ผู้นั้นควรลุกขึ้นเดินนำไป
- สรุป
- บันทึกท้ายเล่ม
ไม่อยาก ก็พลาด แต่พออยาก ก็ผิด
จะพัฒนาสัมฤทธิ์ ต้องอยากให้เป็น
ทั้งตัณหาและมานะนี้ พระพุทธเจ้าให้ละเสีย สิ่งที่พระองค์ต้องการคือ ให้ปลุกฉันทะขึ้นมา
“ฉันทะ” คือความอยากรู้ความจริง อยากให้สิ่งนั้นๆ ดีงาม อยากทำให้มันดี ให้มันงาม ให้มันสมบูรณ์เต็มหรือสมตามสภาวะของมัน รักงาน รักจะทำสิ่งที่มีคุณค่า เป็นประโยชน์
ยกตัวอย่าง เช่น ต้องการพัฒนาชีวิต ต้องการพัฒนาสังคม ต้องการทำให้สังคมไทยร่มเย็นสงบสุข อยากทำให้ทุกคนอยู่ดีกินดีมีสุขภาพดี อยากทำให้บ้านเมืองสะอาดเรียบร้อยเป็นระเบียบ อยากให้บ้านเมืองไทยเป็นสังคมที่ดี ให้ประชาชนมีชีวิตที่ดี อยากให้เกิดมีคุณภาพชีวิต ความอยากอย่างนี้เรียกว่า ฉันทะ
ถ้าเอาสิ่งที่ดีงาม เอาความสำเร็จที่ดีอย่างนี้มาเป็นตัวปลุกเร้าว่า เออ เธอเล่าเรียนไปนะ ต่อไปจะได้มาช่วยกันพัฒนาชุมชนของเรานี้ ให้พ้นจากความยากจน พ้นจากความเจ็บไข้ได้ป่วย ให้คนมีสุขภาพดี มีสติปัญญา มีความสงบสะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อย อยู่กันร่มเย็นเป็นสุข ถ้าอย่างนี้เรียกว่า เอาฉันทะมาปลุก
แต่คนไทยเรา แทนที่จะใช้ฉันทะปลุก กลับเอาตัณหากับมานะมาปลุก หรือไม่ก็เลยเถิดไปเสียอีกข้างหนึ่ง คือไม่ให้มีความอยาก กลัวว่า ถ้าอยาก จะเป็นตัณหา ก็เลยไม่ให้อยาก จะไม่ให้อยากอะไรทั้งนั้น กลับตรงข้ามไปอีก เสียทั้งคู่ เพราะไม่รู้หลัก หรือจับหลักไม่ถูก
อย่าให้เขาติเตียนได้ว่า คนไทยนี่อยู่กันมาอย่างไร คนไทยนี้นับถือพระพุทธศาสนากันมาอย่างไร แค่ความอยากก็แยกไม่ออก แยกแยะไม่ได้ รู้จักแต่ตัณหา ไม่รู้จักฉันทะ แล้วจะเอาประโยชน์จากพระพุทธศาสนาได้อย่างไร
ความอยาก มี ๒ อย่าง ความอยากที่เป็นกุศล เรียกว่า ฉันทะ ความอยากที่เป็นกิเลส เรียกว่า ตัณหา
ความอยากที่พระพุทธเจ้าให้ละนั้น หมายถึงความอยากประเภทตัณหา ซึ่งหมายถึงความอยากได้วัตถุอามิสมาเสพปรนเปรอตา หู จมูก ลิ้น และร่างกายของตน ความอยากได้ อยากเอา อยากเป็น อยากไม่เป็น เพื่อตัว
แต่สิ่งที่พระองค์สนับสนุน คือความอยากประเภทฉันทะ ซึ่งตรงข้ามกับตัณหา
มองง่ายๆ ตัณหา คืออยากเพื่อตัว อยากเอาให้แก่ตัว แต่ ฉันทะ คืออยากเพื่อสภาวะของสิ่งนั้นๆ อยากเพื่อความดี ความงาม ความเต็ม ความสมบูรณ์ เพื่อความอุดมหมดจดผ่องแผ้วของสิ่งนั้นๆ
ท่านจึงสอนให้เรามีความใฝ่รู้ ให้เรารักงาน ให้เราอยากทำสิ่งที่ดีงาม ให้เรามุ่งหวังเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ที่ดีงาม ให้ตั้งใจเด็ดเดี่ยวที่จะสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม เป็นกุศล ให้บำเพ็ญบารมีธรรม เมื่อเห็นด้วยปัญญาว่าอะไรดีงามมีคุณค่าเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง ก็ให้อธิษฐานจิตอุทิศใจในการที่จะทำให้สำเร็จ
ความต้องการให้ชีวิตมีคุณภาพ ต้องการให้สังคมมีความสงบสุข มีความมั่นคงในด้านต่างๆ มีความสะอาดสงบเรียบร้อยสวยงาม เป็นต้น อย่างนี้เป็นฉันทะ
เราควรจะเอาตัวนี้ คือฉันทะนี้ มาเป็นตัวเร้าให้คนอยากเล่าเรียนศึกษา ไม่ใช่เอาความอยากได้ผลประโยชน์ อยากได้เงินตอบแทน หรือยศฐานะตำแหน่งส่วนตัวมาปลุกเร้า อันนั้นเรียกว่าตัณหา-มานะ
ประเทศไทยในยุคพัฒนาระยะที่ผ่านมานี่ พัฒนาผิดพลาดไปมาก เพราะไปเอาตัณหามาเร้า ให้คนอยากได้อยากเอา อยากมีวัตถุอามิสมาเสพมาบริโภคมากๆ นึกว่าเขาอยากอย่างนั้นแล้ว จะขยันทำงานพัฒนาประเทศชาติ
แต่คนอยากได้ อยากเอา เขาไม่อยากทำงาน เมื่ออยากร่ำรวย ก็เลยเล่นการพนัน กู้หนี้ยืมสินดีกว่า ไม่ต้องไปทำงาน ก็จะได้เงิน ไม่ได้พัฒนาปัญญา ก็เลยกลายเป็นพัฒนาปัญหา
ความอยากที่ผิด และความอยากที่ถูกนี้ เป็นเรื่องสำคัญเกี่ยวกับการเรียนการสอนด้วย จะต้องปลุกเร้าเอาฉันทะมาใช้กัน
No Comments
Comments are closed.