- สถานการณ์พระพุทธศาสนา: พลิกหายนะ เป็นพัฒนา
- – ๑ – วงใน – ชั้นใน สภาพวัด และพระสงฆ์
- ภาวะขาดเณร: เกณฑ์บอกชะตาต่อไป
- สัญญาณเตือนภัย: ข่าวว่าพระทำไมประพฤติเสียหาย
- สภาพสังคมไทย ภาพสะท้อน-เห็นอะไรจากข่าวสาร
- มองพระสงฆ์ให้เป็น ก็เห็นสภาพสังคมไทย
- คิดดูให้ดี พุทธศาสนานี้เป็นของใคร
- มัวแต่ด่าว่าเขา ไม่รู้ว่าเรานี่แหละตัวสำคัญ
- คนสร้างสังคม สังคมสร้างคน ถ้าไม่ตัดวงจร ไม่แปรปัจจัย คนสร้างสังคมไว้อย่างไร ก็ได้คนอย่างนั้นมาสร้างสังคมต่อไป
- ฉลาดเชิงกลไก แต่ไม่พัฒนาปัญญา ท่องไปทั่วหล้า แต่ปัญญาอ้างว้าง
- ต้องพัฒนาตัวกันทุกคน ไม่มีใครหนีพ้นความรับผิดชอบ
- – ๒ – วงใน – ชั้นนอก สภาพพุทธศาสนิก
- ถ้ายึดหลักไว้ได้ ก็ยังไม่ร่วงหลุดไป
- จะสอนอย่างไร ก็ต้องให้เข้าสู่จุดเริ่ม ที่เขาจะก้าวต่อไปได้
- สอนเอาหลักเพื่อประโยชน์แก่เขา ไม่ใช่สอนเอาแต่ใจของตัว
- ไม่ใช่สอนเอาใจเขา แต่สอนนำเขาเข้าหาหลัก
- ถ้ายังเอาความศักดิ์สิทธิ์ ก็ต้องคิดให้ทางเลือกที่ถูกหลัก
- ไม่ใช่เอาใจเขา แต่เราทำอย่างรู้หลัก และไม่ใช่คิดจะเอาจากเขา แล้วมอมเมาให้เขวจากหลัก
- พัฒนาคนให้มีความสุขประณีตขึ้นไป สังคมก็จะได้จริยธรรมที่มั่นคง
- เมื่อเอาผลทางพลังจิตมาสนองด้านกาม พฤติกรรมก็ต้องเกิดความวิปริต
- – ๓ – วงนอก – ชั้นใน สภาพสังคมไทย
- ด้วยการเป็นผู้ตาม ก็ได้ยอมรับความด้อย ด้วยการมองความเจริญแบบนักบริโภค ก็รักษาความเป็นผู้ตามไว้ได้
- จะเอาอย่างเขา หรือไม่เอาอย่าง ก็อย่าไปสุดทางสองข้าง
- จะเอาอย่างเขาถูกต้อง จนเป็นผู้นำเขาได้ ต้องมีการศึกษาที่ดี มานำทางไป
- เอาอย่างด้วยปัญญา ถึงแม้เลียนแบบก็ต้องทำให้ดีกว่า จึงจะมีคุณค่า ให้เขายอมนับถือ
- ตามเป็น เอาอย่างเป็น นับเข้าได้ในองค์ประกอบของการพัฒนา
- ความผิดเพี้ยนในวัฒนธรรมไทย บทเรียนให้ช่วยกันแก้ไข
- ไม่อยาก ก็พลาด แต่พออยาก ก็ผิด จะพัฒนาสัมฤทธิ์ ต้องอยากให้เป็น
- จากรับ-ตาม สู่ความเป็นผู้นำ-ผู้ให้ ก้าวยิ่งใหญ่ที่ท้าทายความสำเร็จ
- – ๔ – วงนอก – ชั้นนอก สภาวการณ์ของโลก
- มองดูคนที่เดินนำหน้า อย่าให้พาเราเดินหลงทาง
- คนข้างหน้าติดตัน หันรีหันขวาง เพราะเจอเหวดักหน้า ต้องหาทางกันใหม่
- ความก้าวหน้าที่แสนจะภูมิใจ กลายเป็นการหาภัยมาทำลายตัว
- เมื่อรู้ว่าทางตัน แม้จะหันไปหาทางใหม่ แต่ก็สูญเสียความหวัง ความมั่นใจก็หมดไป
- เมื่อผู้เดินนำหน้าเกิดอาการหวั่นไหว คนมีปัญญาต้องนำหาทางออกใหม่
- ต้องหยั่งรู้สาเหตุของปัญหา จึงจะมองเห็นทางแก้ไข
- เมื่อจับจุดปัญหาได้แน่ ก็สืบสาวเพื่อแก้ ให้ตรงกับเหตุปัจจัย
- อารยธรรมถึงจุดหักเลี้ยว โลกหันหาทางเลือกใหม่
- ผู้เคยเดินนำ ไม่แน่ว่าจะคลำหาทางไหว ผู้ใดเห็นทาง ผู้นั้นควรลุกขึ้นเดินนำไป
- สรุป
- บันทึกท้ายเล่ม
– ๑ –
วงใน – ชั้นใน
สภาพวัด และพระสงฆ์
วัดหลวงตา: เครื่องชี้สภาพที่มาถึงเรา
ในด้านสถาบันพระสงฆ์นั้น ปัจจุบันนี้ ชาวพุทธทั่วไปเป็นห่วงกันมาก เวลาพูดถึงสภาวการณ์ของพระพุทธศาสนาในฝ่ายพระสงฆ์ ก็จะปรารภร้องทุกข์โอดครวญกันในเรื่องความเสื่อมโทรมต่างๆ
ไม่ต้องดูอะไรมากหรอก วัดในประเทศไทยเรานี้ มีทั้งหมด ๓ หมื่นกว่าวัด ลองมองเข้าไปดูสภาพในวัด
เริ่มตั้งแต่พระสงฆ์ที่เป็นเจ้าอาวาส เมื่อสัก ๑๐-๒๐ ปีก่อนนี้ วัดสามหมื่นกว่าวัดนี้ ไม่มีเจ้าอาวาส ว่างเจ้าอาวาสอยู่ประมาณ ๔,๐๐๐ วัด มาปัจจุบันนี้ แทนที่ตัวเลขจะเบาลง แทนที่พระสงฆ์หรือเจ้าอาวาสจะมากขึ้น สถิติกลับเป็นไปในทางที่น่าวิตกยิ่งขึ้น
เจ้าหน้าที่กรมการศาสนาให้ตัวเลขว่า เวลานี้วัด ๓ หมื่นกว่าวัดนั้น ว่างเจ้าอาวาสใกล้หมื่นวัดเข้าไปแล้ว หมายความว่า ไม่มีพระที่มีคุณสมบัติพอที่จะเป็นเจ้าอาวาสได้
เจ้าอาวาสนั้น ต้องมีพรรษา ๕ ขึ้นไป แล้วก็มีคุณสมบัติคือวุฒิทางด้านการศึกษาบ้าง แต่ปัจจุบันนี้ วัดไม่มีพระที่มีคุณสมบัติที่จะเป็นเจ้าอาวาส ได้แค่รักษาการอยู่ตั้งเกือบหมื่นวัด หมื่นวัดนี่ก็หนึ่งในสาม วัดของเราไม่มีเจ้าอาวาสมากมาย
ขอให้พิจารณาดู เมื่อไม่มีเจ้าอาวาส ความรับผิดชอบต่อวัดและการที่จะทำให้วัดเดินเข้าไปสู่ความก้าวหน้า ก็ไม่หนักแน่น ไม่เต็มที่ แค่รักษาการก็มีความรับผิดชอบไม่สมบูรณ์ นอกจากนั้นก็บ่งชี้ถึงสภาพที่ขาดคุณสมบัติ ไม่มีภาวะที่จะเป็นผู้นำได้
ในเมื่อไม่มีพระสงฆ์ที่จะเป็นผู้นำ ที่จะเป็นเจ้าอาวาสได้ ก็จะเกิดมีสภาพที่ ๒ ตามมา
ในช่วง ๕-๖ ปีที่แล้วมา จนถึงปัจจุบันนี้ มีการปรารภกันในหมู่พระสงฆ์ระดับบริหาร ซึ่งอาจจะเป็นการพูดทำนองขำๆ สนุกๆ แต่ก็แฝงความน่าเป็นห่วงอยู่ด้วย คือการที่ท่านพูดกันว่า เวลานี้ในประเทศไทย ได้มีวัดหลวงเพิ่มขึ้นอีกประเภทหนึ่ง
วัดหลวงนี่ เราก็เคยได้ยินได้ฟังรู้กันอยู่แล้วว่า ศัพท์ทางการเรียกว่า “พระอารามหลวง” มีชั้นตรี ชั้นโท ชั้นเอก แต่เวลานี้ท่านบอกว่ามีวัดหลวงเพิ่มขึ้นอีกประเภทหนึ่ง แล้วก็ให้คิดกันดู ลองฟังคำเฉลยนะ วัดหลวงที่เพิ่มขึ้นอีกประเภทหนึ่งนั้นคือ “วัดหลวงตา”
วัดหลวงตานั้น เวลานี้มีมาก ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะว่า ไม่มีพระที่มีคุณสมบัติจะเป็นเจ้าอาวาส ก็เลยมีแต่หลวงตาเฝ้าวัด
“หลวงตา” ก็คือพระที่บวชเมื่อแก่ บางทีก็มุ่งมาหาความสงบ เลิกทำงานทำการ ก็เข้ามาบวช อย่างนี้ก็เป็นประเภทที่นับว่าดี แต่อีกประเภทหนึ่งก็คือ ผู้ที่ไม่มีทางไป ไปไม่ไหวแล้ว หมดทางทำมาหาเลี้ยงชีพ ก็เข้ามาอาศัยวัดเป็นที่เลี้ยงชีพ โดยมาบวชเป็นหลวงตา
เราไปต่างจังหวัด หรือแม้แต่ในกรุงเทพฯ ปัจจุบันนี้ พบพระที่สูงอายุ แล้วเข้าไปถามดูว่าพรรษาเท่าไร จะเห็นสภาพความเป็นไปของวงการคณะสงฆ์
สมัยก่อนนี้ พระที่มีอายุมากๆ ก็จะมีพรรษามาก อายุเจ็ดสิบ ก็อาจจะพรรษา ๔๐-๕๐ แต่ปัจจุบันนี้ ไปถามดู พระอายุ ๗๐ พรรษาเท่าไร หนึ่งพรรษา สองพรรษา สามพรรษา
อันนี้คือสภาพการณ์ที่น่าเป็นห่วง ท่านเหล่านี้มาบวชเมื่อแก่ บางท่านที่มาบวชหาเลี้ยงชีพแบบไม่มีทางไป ก็ไม่ตั้งใจจะศึกษาปฏิบัติ และอาจเที่ยวหาเงินทอง หลอกลวงทำความเสียหาย
ส่วนท่านที่มาบวชหาความสงบ ถึงแม้จะตั้งใจเล่าเรียนศึกษาปฏิบัติ วัยก็ไม่ให้ ไม่มีความแข็งแรง สมองก็เสื่อมโทรมลง เวลาในชีวิตที่จะทำงานให้พระศาสนา ก็เหลือน้อย น้อยองค์ที่จะมีความสามารถพิเศษ ซึ่งน่ายกย่อง ท่านที่ตั้งใจเล่าเรียนและมีความสามารถจริงๆ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เราก็ต้องยกให้
นี่ด้านหนึ่ง คือด้านพระที่สูงอายุ ก็เป็นอันว่า จะมีพระหลวงตาที่มีพรรษาน้อยๆ นี้มากมาย
No Comments
Comments are closed.