- นำเรื่อง
- – ๑ – แก้ความสับสน ให้เป็นความประสาน
- น่าแคลงใจ: การศึกษาปัจจุบัน สร้างสรรค์หรือทำลายสันติภาพ
- ปัญญาเดียวกัน แต่ต่างแหล่งเกิด
- ต้องจัดระบบและโครงสร้างให้ดี เพื่อให้ปฏิบัติการสื่อสารได้อย่างมั่นใจ
- ถ้าจะแก้ปัญหาของมนุษย์ให้ได้ ศาสตร์ทั้งหลายต้องข้ามพ้นความคิดแยกส่วน
- ถ้าจะแก้ปัญหาให้โลกมีสันติภาพ ต้องให้โลกที่ไร้พรมแดนประสานกับจิตใจที่ไร้พรมแดน
- ถ้าจะให้จิตใจไร้พรมแดน คนต้องเข้าถึงความเป็นสากลทั้งสามประการ
- ถ้าจะให้มนุษย์เข้าถึงความเป็นสากล คนต้องพัฒนาตนให้พ้นความคับแคบทั้งสามประการ
- บนฐานของภาวะจิตที่จำกัดแบ่งแยก มนุษย์ได้สร้างระบบสังคมที่รองรับความไร้สันติภาพ
- บนฐานของปัญญาที่รู้ความจริง เป็นส่วนๆ ด้านๆ ระบบทางสังคมที่มนุษย์จัดวาง ก็แยกเป็นหลายด้านอย่างไม่ประสาน
- เมื่อแนวคิดเศรษฐกิจที่ผิดแผกมาครอบงำประชาธิปไตย หลักการบางอย่างก็ต้องหล่นหาย หรือถ้าอยู่ได้ความหมายก็ต้องผันแปร
- ถ้าต้องการระบบประชาธิปไตยที่ดี ก็ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากให้คนเป็นธรรมาธิปไตย
- ปัญญาที่จะจัดระบบสังคมของมนุษย์ ต้องอยู่บนฐานของปัญญาที่รู้ระบบสัมพันธ์ของธรรมชาติ
- – ๒ – ประสานนอกกับใน ให้เกิดความสมบูรณ์
- ระหว่างกำลังพัฒนาปัญญา ถ้าปัญญาเทียมเกิดขึ้นมา คนจะปิดกั้นตัวเองไม่ให้เข้าถึงความจริงแท้
- เมื่อไม่พบปัญญาที่แท้ อารยธรรมก็ถูกครอบงำด้วยปัญญาเทียม และการแสวงหาสันติภาพ ก็กลายเป็นการสร้างวิถีแห่งการทำลายสันติภาพ
- มนุษย์จะลุถึงสันติภาพแท้จริงได้ ต้องพัฒนาสันติภายในที่จะมาเป็นปัจจัยหนุนกันกับสันติภาพภายนอก
- การศึกษาช่วยให้พัฒนาสันติภายในขึ้นได้ เพราะทำให้ปัญญาที่เข้าถึงธรรมชาตินำเอาเมตตากรุณามาให้แก่คน
- ความขัดแย้งเริ่มต้นและขยายตัวจากที่ไหน การสร้างสันติภาพก็ตั้งต้นและพัฒนาจากที่นั่น
- จุดแยกเข้าสู่กระบวนการของการศึกษา ก็เป็นจุดแยกเข้าสู่กระบวนการพัฒนาสันติภาพ
- การศึกษาที่พัฒนาคนให้สร้างสันติภาพได้ ก็จะพัฒนาคนให้มีความสุขมากขึ้นด้วย
- สุขที่ก่อปัญหา ไม่อาจพาสันติภาพมาให้
- ถึงเวลาต้องเลือก: การศึกษาเทียมที่สนองกระแสสังคมสู่การทำลายสันติภาพ กับการศึกษาแท้ที่นำคนให้ก้าวออกมาทำการสร้างสรรค์
- ยุคปัจจุบัน ถ้าจะประเมินผลการศึกษา จุดสำคัญหนึ่ง คือดูที่ท่าทีและการปฏิบัติต่อเทคโนโลยี
- ถ้ายังไม่เข้าใจความหมายที่แท้ของชุมชนและสังคม คนก็จะใช้ชุมชนและสังคมนั่นแหละเป็นที่ทำลายสันติภาพ
- ชุมชนเพื่อแบ่งคนให้เป็นกลุ่มที่จะแยกจากกลุ่มอื่น ที่จะมาขัดแย้งแย่งชิงกัน หรือชุมชนเพื่อรวมคนให้เป็นกลุ่มย่อยที่จะเข้ารวมกันเป็นกลุ่มที่ใหญ่ขึ้นๆ ต่อไป
- การศึกษาเพื่อสันติภาพหรือไม่ เริ่มเห็นได้ที่ในครอบครัว
- เมื่อการศึกษาเสียฐาน เทคโนโลยีก็กลายเป็นสื่อนำความก้าวหน้าในวิถีแห่งการทำลายสันติภาพ
- โลกปัจจุบันไม่มีคำตอบให้ แต่คำตอบนั้นหาได้ที่ในบ้าน และในหัวใจของทุกคน
- สรุป
ระหว่างกำลังพัฒนาปัญญา ถ้าปัญญาเทียมเกิดขึ้นมา คนจะปิดกั้นตัวเองไม่ให้เข้าถึงความจริงแท้
ในเรื่องปัญญานี้ ข้อสำคัญคือต้องพัฒนามันขึ้นมา และการพัฒนาปัญญานั้น ก็ต้องให้ถึงขั้นเข้าถึงความจริงของธรรมชาติ มิฉะนั้นจะมีปัญหา กล่าวคือ ในระหว่างที่กำลังพัฒนาปัญญาอยู่นั้น มนุษย์จะเกิดความรู้สึกว่า ตัวมีปัญญา ตัวรู้ตัวเห็น แล้วก็จะเกิดมีสิ่งที่เรียกว่า “ทิฏฐิ” หมายความว่า ในขณะที่มนุษย์พยายามเข้าถึงความจริงของสิ่งทั้งหลายนั้น เมื่อได้ความรู้ หรือข้อมูลขึ้นมาบ้างก็จะเกิดเป็นความเห็นของตนเอง แล้วก็เกิดความยึดติดในความเห็นนั้น พอคิดว่าที่ตัวเห็นนั้นเป็นความจริง ก็ยึดติดในความเห็นนั้นและยึดเอาความเห็นของตนเป็นความจริง ถึงตรงนี้ก็เกิดเป็นทิฏฐิขึ้นมา (ทิฏฐิเป็นภาษาบาลี สันสกฤตว่าทฤษฎี)
ทิฏฐิ ซึ่งรวมทั้งทฤษฎีด้วยนี้ ทั้งที่เกิดจากความที่รู้บ้างแล้ว แต่ทำให้เกิดผลในทางลบที่สำคัญ ๒ อย่าง คือ
๑. ทิฏฐิเกิดขึ้นระหว่างกำลังหาความจริง ถ้าไม่ระวังให้ดี ก็ทำให้เอาความเห็นเป็นความจริง มันจึงกลับมาเป็นตัวกั้นบังตนเองไม่ให้เห็นความจริง หรือปิดกั้นไม่ให้ก้าวไปในการหาความรู้ความจริงต่อไป พูดง่ายๆ ว่า กั้นบังกีดขวางปัญญานั่นเอง
๒. ทิฏฐิเกิดขึ้นจากการยึดถือ และการยึดถือนั้นก็โยงเข้ากับตัวตน คือยึดถือเป็นของตน จึงทำให้เกิดความขัดแย้งกับผู้อื่น เช่นการทะเลาะวิวาทเป็นต้น ในลักษณะของการปกป้องตัวตน ตลอดจนอาจจะถึงกับไปบังคับบีบคั้นคนอื่นให้ถืออย่างตน ซึ่งบางทีรุนแรงถึงกับรบราฆ่าฟันกันเป็นสงครามก็มากมาย
เป็นอันว่า ทิฏฐินี้กลับมาเป็นตัวบังไม่ให้คนเข้าถึงปัญญา เพราะฉะนั้นกระบวนการพัฒนามนุษย์จึงมีปัญหามาก เนื่องจากทิฏฐิมักเข้ามาขวาง ฉะนั้นมนุษย์จึงต้องตั้งหลักตั้งท่าทีไว้ให้ดี โดยมองทิฏฐิเป็นทิฏฐิ หรือมองทฤษฎีเป็นเพียงทฤษฎี อย่าเพิ่งไปยึดว่าเป็นของเรา แล้วกลายเป็นว่าต้องอย่างนี้เท่านั้นจึงจะเป็นความจริง อย่างอื่นเป็นเท็จทั้งสิ้น ก็เลยไม่สามารถที่จะรับฟังต่อ พระพุทธศาสนาให้ระวังมากเรื่องทิฏฐิ ไม่ให้ยึดติดทิฏฐิ
ทิฏฐินั้นถ้าเราปฏิบัติต่อมันผิด มันก็จะกันเราไม่ให้เข้าถึงความจริง แต่ถ้าเราใช้เป็น มันก็จะเป็นบันไดให้เราก้าวต่อไปสู่ปัญญาที่จะรู้ความจริง
ในระหว่างที่มนุษย์ยังเข้าไม่ถึงความจริง ทิฏฐิบางอย่างเมื่อยึดแล้วจะกั้นเราให้หยุดหรือเลิกค้นหาความจริง เช่น ทิฏฐิว่าอะไรจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่อำนาจเร้นลับที่เรารู้ไม่ได้จะดลบันดาล แต่ทิฏฐิบางอย่างจะทำให้เราค้นหาความจริงยิ่งๆ ขึ้นไป เช่น ทิฏฐิว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย ทำให้เราค้นหาความจริงยิ่งขึ้น เพราะไม่ว่าพบอะไรก็ต้องคิดสืบสาวค้นหาเหตุปัจจัยของมัน เป็นการหนุนการแสวงปัญญา
ทิฏฐิที่กั้นขวางให้หยุดแสวงปัญญาไม่ค้นหาความจริง จัดเป็นมิจฉาทิฏฐิ ส่วนทิฏฐิที่ช่วยให้แสวงปัญญาสืบหาความจริง จัดเป็นสัมมาทิฏฐิ พระพุทธศาสนาเน้นมากเรื่องให้มีสัมมาทิฏฐิ ซึ่งเมื่อเรายึดถือแล้วจะนำหรือเป็นตัวหนุนให้เราค้นคว้าหาความจริงยิ่งขึ้นไป
No Comments
Comments are closed.