- วันครู
- งานของครู-งานของพระพุทธเจ้า
- หลักการศึกษา
- หลักการสอน
- ไตรสิกขา เดินหน้าไปกับชีวิตทั้งสามด้าน
- สอนเด็กให้ได้ครบไตรสิกขา
- สิกขาข้อศีลมี ๒ ด้าน
- กินอย่างไรให้เป็นไตรสิกขา
- เอาปัญญากับจิตใจมาช่วยในการฝึกศีล
- พอกินอยู่เป็น…ก็คิดเป็นเอง
- วินัย คือ จัดตั้งวิถีชีวิตแห่งไตรสิกขา
- ถ้ามองเห็นความสำคัญของความเคยชิน ก็รู้ความสำคัญของวินัย
- วินัยเป็นรูปแบบ ต้องรักษาสาระไว้ และสื่อสาระได้
- รู้จักศีลครบ ๔ หมวด จึงจะเข้าใจคำว่า “ศีล”
- ทำไม ในการศึกษาขั้นพื้นฐาน ท่านเริ่มต้นโดยเอาศีล เป็นที่บูรณาการไตรสิกขา
- ได้แค่ศีล เพียงขั้นกินอยู่ดูฟังเป็นเท่านั้น เด็กไทย สังคมไทย มีหรือจะไม่พัฒนา
- อาชีวะเป็นแดนใหญ่ ทั้งโดยกิจกรรม และโดยกาลเวลา ในการที่จะเอาไตรสิกขามาพัฒนาชีวิตคน
- ถ้ามีวินัยชาวพุทธ ก็มีวิถีชีวิตที่เอื้อต่อการศึกษา
- การศึกษา ออกผลมาเป็นชีวิตที่เป็นอยู่อย่างดี มีวิถีชีวิตดีงามที่พัฒนาไปในมรรค จนเป็นภาวิต ๔
- มอง Child-Centered Education อย่างไร จึงจะเอามาใช้หรือไม่ใช้ อย่างเท่าทัน
- ของที่นำเข้า ต้องรู้ให้เต็มเท่าที่เขาเข้าใจ ของเขาพร่องตรงไหน ก็ต้องรู้และเติมให้เต็มจริงๆ ได้
พอกินอยู่เป็น…ก็คิดเป็นเอง
ในการศึกษานี้เราเริ่มที่ศีล และเริ่มง่ายๆ ที่การเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน เช่นการกินอาหาร การใช้สอยบริโภคสิ่งต่างๆ ตลอดจนเทคโนโลยีทุกอย่าง คือ ให้รู้จักถามตัวเองว่า ที่เราใช้มันนี้เพื่ออะไร? คุณค่าที่แท้ของมันอยู่ตรงไหน? ถ้าเด็กรู้จักหัดพิจารณา เขาก็เกิดการรู้จักคิดใช่ไหม?
บางครั้งเราบอกกันว่าการศึกษาคือการคิดเป็น แต่ที่ว่าคิดเป็นนั้น บางทีก็นิ่งอั้นกันไป ไม่รู้จะไปคิดตรงไหน ที่จริงนั้นคิดเป็นก็เริ่มตรงนี้แหละ คือเริ่มที่การกินอยู่ในชีวิตประจำวันนี่แหละ พอเรากินอยู่เป็น มันก็คิดเป็นเอง ถ้าเราคิดไม่เป็น มันก็กินอยู่ไม่เป็น เพราะฉะนั้น ให้ชีวิตประจำวันเป็นแดนเริ่มเองเลย พระพุทธเจ้าก็ให้ปัญญามาอยู่ที่ศีลนั่นแหละ และปัญญากับจิตใจก็มาช่วยพัฒนาศีลขึ้นไป มาฝึกกันตั้งแต่นี่เลย
อย่างเช่นอยู่บ้าน ลูกจะรับประทานอาหาร พอถึงวันดีคืนดี คุณแม่ก็อาจจะถามว่า หนูลองคิดซิว่า “ที่เรากินนี่…ประโยชน์ของอาหารมันอยู่ที่ไหนแน่” หรือ “เรากินเพื่ออะไรกันแน่” อย่างนี้เด็กก็ต้องคิดแล้วใช่ไหม? นี่ก็คือใช้ความคิดกับเรื่องที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับชีวิตประจำวันนั่นแหละ แล้วการคิดเป็นมันก็มาเอง
พอคิดเป็น ก็ต้องคิดถูกใช่ไหม? ถ้าคิดไม่ถูก มันไม่เกิดผลดี แล้วจะเรียกว่าคิดเป็นได้อย่างไร คิดเป็น คือคิดถูกต้อง ที่จะทำให้เกิดผลดี ถ้าคิดถูกต้องแล้ว ก็เป็นการคิดเป็น และคิดเป็นนั้นก็มาดูตั้งแต่ชีวิตประจำวัน เช่นมาดูที่กินอยู่เป็น ซึ่งเป็นเรื่องทางปฏิบัติที่ชัดเจนกว่าจะมาพูดว่า “คิดเป็นๆ” แต่ไม่รู้จะไปคิดที่ไหน
เป็นอันว่า คิดเป็นก็อยู่ในชีวิตประจำวันนี่แหละ ทุกอย่างที่จะให้ได้ผลดีก็ต้องมีการคิดเป็นทั้งนั้น และมันก็บูรณาการเอาปัญญาพร้อมทั้งจิตใจเข้ามาสู่กระบวนการหมดเลย คือกระบวนการของชีวิตประจำวัน ตั้งแต่การกินอาหารเป็นต้นไป
จะใช้เสื้อผ้าล่ะ…หนูก็ลองคิดดูซิ ที่เรานุ่งห่มเสื้อผ้านี่เพื่ออะไร? ประโยชน์ของเสื้อผ้ามันอยู่ที่ตรงไหนแน่? บางคนใช้เสื้อผ้ามาเป็นสิบๆ ปีก็ไม่เคยคิดเลยว่านุ่งห่มเพื่ออะไร? บางทีก็หลงไปตามค่านิยม หลงไปตามกัน ทำตามๆ กันไป ถ้าตามๆ กันไปในทางที่ดี ได้ความเคยชินที่ดี กลายเป็นแบบแผนที่ดี…ก็ดีไป แต่เมื่อไม่ใช้ปัญญาพิจารณา ไม่มีการคิดเป็น ก็เสี่ยงอันตราย ตามกันไปกันมาแบบลุ่มหลงเป็นโมหะ ชีวิตก็เสื่อม สังคมก็โทรม
No Comments
Comments are closed.