หลักการศึกษา

16 มกราคม 2545
เป็นตอนที่ 3 จาก 21 ตอนของ

หลักการศึกษา

หลักที่พระพุทธศาสนาสอนไว้ ซึ่งเป็นหลักปลีกย่อยต่างๆ ที่เราเรียกว่า หลักธรรมทั้งหลาย มีมากมายเหลือเกิน การที่จะใช้ให้ได้ผลจริงก็ต้องจับหลักใหญ่ให้ได้

ธรรมซึ่งเป็นหลักทั่วไป ที่ทางครูอาจารย์-ผู้บริหารได้พูดมา เป็นหลักใหญ่ๆ อย่างที่พูดถึงเรื่อง สิกขา ๓ ก็ดี ภาวนา ๔ ก็ดี เป็นหลักสำคัญ โดยเฉพาะก็เกี่ยวข้องโดยตรงกับการศึกษา แต่ที่จริงก็คือ เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาทั้งหมด เพราะการพูดถึงเรื่องของพุทธศาสนาก็คือการที่จะนำเอาไตรสิกขาเข้ามาสู่ชีวิตของคน เพราะว่าในความหมายของพระพุทธศาสนา ไตรสิกขาเป็นเรื่องของชีวิต คือการที่จะทำให้ชีวิตอยู่ดีมีสุข

คนเราพอเกิดมาแล้วก็ต้องพยายามเป็นอยู่ให้ดี เริ่มตั้งแต่เป็นอยู่ให้รอด คือให้มีชีวิตรอด แต่แค่รอดคงไม่พอ ต้องพยายามเป็นอยู่ให้ดี จะเป็นอยู่ให้ดีได้อย่างไร การที่จะเป็นอยู่ให้ดีก็ต้องศึกษานั่นเอง ตรงกับที่เราใช้ปัจจุบันก็คือเรียนรู้

เรียนรู้เป็นความหมายหนึ่งของการศึกษา คือการที่จะฝึกตัวเอง พัฒนาชีวิตของตัวเอง ให้มีความสามารถที่จะเป็นอยู่ได้อย่างดี การศึกษาก็คือการที่จะทำให้ชีวิตเป็นอยู่ได้อย่างดี ซึ่งเราต้องพยายามอยู่ตลอดเวลา

ชีวิตนี่แน่นอนว่า จะอยู่ได้ด้วยการศึกษา เพราะว่าเราต้องเจอสถานการณ์ใหม่ พบคนใหม่ หรือพบคนเก่าในสถานการณ์ใหม่ ซึ่งจะต้องมีการปฏิบัติ การแสดงออก การตอบสนองอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง ตั้งแต่การคิด การรับรู้ การที่เราพยายามจะเป็นอยู่ หรือเรียกว่าดำเนินชีวิตของเราให้เป็นไปด้วยดี ก็คือการต้องพยายาม ต้องฝึกตัวเอง ต้องรับรู้ประสบการณ์ และหาทางที่จะปฏิบัติต่อสิ่งแวดล้อมให้ดี หรือแก้ปัญหาให้ได้ อันนี้แหละเรียกว่าการศึกษา

ถ้าชีวิตใดไม่พยายามที่จะปฏิบัติต่อสิ่งแวดล้อมให้ถูกต้องหรือให้ได้ผล ชีวิตนั้นก็จะเป็นอยู่ดีไม่ได้ เมื่อไม่พยายามเป็นอยู่ให้ดี เราก็เรียกว่าไม่มีการศึกษา พระพุทธเจ้าเรียกคนอย่างนี้ว่าคนพาล คำว่า “พาล” แปลว่า อ่อนปัญญา หรือเขลา เป็นอยู่สักแต่ว่ามีลมหายใจ หรือมีชีวิตอยู่สักแต่ว่าลมหายใจ

ถ้าคนจะมีชีวิตที่ดีก็ต้องพยายามเป็นอยู่ให้ดี คือต้องศึกษา การศึกษาจึงเป็นเรื่องตลอดชีวิต และตลอดเวลา ไม่ใช่ว่าจะมีต่อเมื่อเข้าโรงเรียน

เมื่อเราพยายามเป็นอยู่หรือทำชีวิตให้ดี เราก็ต้องปฏิบัติต่อสถานการณ์ต่างๆ ให้ได้ผลดีที่สุด ใครที่สามารถปฏิบัติต่อประสบการณ์ หรือปฏิบัติต่อสิ่งที่เกี่ยวข้องได้ผลดีที่สุด ก็เจริญพัฒนา เรียกว่ามีการศึกษาที่ดี

นี่เป็นเรื่องที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างชีวิตกับการศึกษา ไปๆ มาๆ การศึกษากับการมีชีวิตที่ดีก็เป็นเรื่องเดียวกัน และการศึกษาก็เป็นกิจกรรมของชีวิตนั่นเอง

ฉะนั้น เมื่อพูดด้วยภาษาของพระพุทธศาสนา การศึกษาจึงเข้ามาอยู่ในชีวิตของคน เหมือนกับว่าเอาไตรสิกขามาฝึกคนหรือเอามาจัดเข้าในชีวิตของคน ให้เกิดเป็นวิถีชีวิตที่มีองค์ประกอบ ๘ ประการ ที่เรียกว่า “มรรคมีองค์แปด”

สิกขา แปลว่า ศึกษา มรรคก็แปลว่า ทางชีวิต เราสิกขาอย่างไร เราก็มีมรรคคือวิถีชีวิตที่ดีงามขึ้นอย่างนั้น เมื่อสิกขามากขึ้น วิถีชีวิตของเราก็กลายเป็นมรรคมากขึ้น คือก้าวไปในมรรคมากขึ้น เรายิ่งทำไตรสิกขาให้เจริญมากขึ้น เราก็ยิ่งก้าวไปในมรรคมากขึ้น ฉะนั้น มรรคก็เป็นเรื่องเดียวกับไตรสิกขา หรือเป็นอีกด้านหนึ่งของไตรสิกขา

ตามที่พูดมานี้ ความหมายของการศึกษาจึงสามารถให้ได้หลายอย่าง จะพูดแง่ไหนก็ได้ เช่นว่าเป็นเรื่องของการพัฒนาความสามารถที่จะเป็นอยู่ให้ดีที่สุด หรือการทำชีวิตให้งอกงามไปในมรรค ดังที่กล่าวมาแล้ว

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< งานของครู-งานของพระพุทธเจ้าหลักการสอน >>

No Comments

Comments are closed.