- วันครู
- งานของครู-งานของพระพุทธเจ้า
- หลักการศึกษา
- หลักการสอน
- ไตรสิกขา เดินหน้าไปกับชีวิตทั้งสามด้าน
- สอนเด็กให้ได้ครบไตรสิกขา
- สิกขาข้อศีลมี ๒ ด้าน
- กินอย่างไรให้เป็นไตรสิกขา
- เอาปัญญากับจิตใจมาช่วยในการฝึกศีล
- พอกินอยู่เป็น…ก็คิดเป็นเอง
- วินัย คือ จัดตั้งวิถีชีวิตแห่งไตรสิกขา
- ถ้ามองเห็นความสำคัญของความเคยชิน ก็รู้ความสำคัญของวินัย
- วินัยเป็นรูปแบบ ต้องรักษาสาระไว้ และสื่อสาระได้
- รู้จักศีลครบ ๔ หมวด จึงจะเข้าใจคำว่า “ศีล”
- ทำไม ในการศึกษาขั้นพื้นฐาน ท่านเริ่มต้นโดยเอาศีล เป็นที่บูรณาการไตรสิกขา
- ได้แค่ศีล เพียงขั้นกินอยู่ดูฟังเป็นเท่านั้น เด็กไทย สังคมไทย มีหรือจะไม่พัฒนา
- อาชีวะเป็นแดนใหญ่ ทั้งโดยกิจกรรม และโดยกาลเวลา ในการที่จะเอาไตรสิกขามาพัฒนาชีวิตคน
- ถ้ามีวินัยชาวพุทธ ก็มีวิถีชีวิตที่เอื้อต่อการศึกษา
- การศึกษา ออกผลมาเป็นชีวิตที่เป็นอยู่อย่างดี มีวิถีชีวิตดีงามที่พัฒนาไปในมรรค จนเป็นภาวิต ๔
- มอง Child-Centered Education อย่างไร จึงจะเอามาใช้หรือไม่ใช้ อย่างเท่าทัน
- ของที่นำเข้า ต้องรู้ให้เต็มเท่าที่เขาเข้าใจ ของเขาพร่องตรงไหน ก็ต้องรู้และเติมให้เต็มจริงๆ ได้
อาชีวะเป็นแดนใหญ่ ทั้งโดยกิจกรรม และโดยกาลเวลา ในการที่จะเอาไตรสิกขามาพัฒนาชีวิตคน
๔. ต่อไป อาชีวปาริสุทธิศีล เป็น ศีลด้านอาชีวะ เรื่องของอาชีพการงานการเลี้ยงชีพ คือการที่จะได้จะมีปัจจัย ๔ มาเสพบริโภค ที่จริงท่านเอาปัจจยปฏิเสวนา ไปไว้ข้อสุดท้าย เพราะอะไร เพราะว่าเรามีอาชีพก่อน เราต้องรู้จักหาเลี้ยงชีพ จึงได้ปัจจัย ๔ มาบริโภค แล้วก็บริโภคให้เป็น แต่เด็กได้ของบริโภคจากพ่อแม่หามาให้ สำหรับเด็กก็เลยเน้นศีลด้านเสพบริโภค
อย่างไรก็ตาม เด็กๆ ก็ต้องเป็นอยู่ประพฤติตัวและทำหน้าที่ต่างๆ ให้สมกับการที่จะได้ของกินของใช้นั้นมาเสพบริโภค เพราะฉะนั้นเด็กก็ต้องมีอาชีวะที่ถูกต้อง เรียกว่า อาชีวปาริสุทธิศีล แปลตามตัวว่าศีลที่เป็นความบริสุทธิ์แห่งอาชีวะ ซึ่งเป็นศีลอีกหมวดหนึ่ง อย่างในมรรค ศีลประเภทนี้ก็คือสัมมาอาชีวะ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก คนมักมองข้ามเรื่องอาชีพ อย่าลืมว่าในมรรค สัมมาอาชีวะเป็นศีลข้อสำคัญ
บางทีศีล ๘ ท่านแสดงไว้สองชุด ศีล ๘ ที่เราเรียกกันว่าอุโบสถศีลนี้แบบหนึ่ง แล้วก็อาชีวัฏฐมกศีล ศีลมีอาชีวะเป็นที่ ๘ อีกชุดหนึ่ง ชุดหลังนี้จะเน้นเรื่องอาชีวะ คือการประกอบอาชีพให้ถูกต้อง
ในการประกอบอาชีพนั้น ก็ต้องดูว่าอาชีพต่างๆ ที่มนุษย์ตั้งกันขึ้นมานี้ ทุกอย่าง เขามีวัตถุประสงค์เพื่อจะแก้ปัญหาชีวิต หรือแก้ปัญหาสังคม หรือเพื่อการสร้างสรรค์อะไรสักอย่างหนึ่งทั้งนั้น ดังนั้นเมื่อเราทำอาชีพอะไร เราก็ต้องทำให้ได้ผลสมตามวัตถุประสงค์นั้น
ยกตัวอย่างง่ายที่สุดก็คือ อาชีพแพทย์มีเพื่ออะไร อ้าว! ก็เพื่อไว้ช่วยบำบัดโรค ช่วยคนไข้ให้หายป่วย ให้เขามีสุขภาพดี เพราะฉะนั้นคนประกอบอาชีพที่ถูกต้องตามความมุ่งหมายของอาชีพนี้ ก็คิดว่าฉันจะทำอาชีพนี้ให้ดีที่สุด ก็คือฉันจะช่วยให้คนไข้หายโรค ให้เขามีสุขภาพดี ส่วนเงินทองก็ได้มาประกอบ
เหมือนเป็นครูอาจารย์นี้ อาชีพของเราก็คือเพื่อจะช่วยให้เด็กมีการศึกษาดี มีชีวิตเจริญงอกงาม ถ้าเราคำนึงถึงวัตถุประสงค์ที่แท้ของอาชีพแล้ว ศีลและผลดีก็แทบจะมาทันทีเลย และเราก็จะรักวัตถุประสงค์นั้น และทำอาชีพด้วยความสุข ทุกอย่างจะสอดคล้องกัน แล้วชีวิตของเราก็สอดคล้องกับความเป็นจริง ไม่เกิดความขัดแย้ง แม้แต่ในใจตัวเอง ก็กลมกลืน ราบรื่น มีความสุข และทำได้ผลดีด้วย
จากนั้นก็หมายถึงว่าอาชีวะนี่ทำแล้วไม่เกิดโทษ ไม่ก่อการเบียดเบียนแก่ใคร ซึ่งก็เสร็จไปแล้วในตัว
แง่ต่อไปก็ให้อาชีพซึ่งใช้เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตของเรา วันหนึ่งตั้ง ๘ ชั่วโมง ๑๐ ชั่วโมงนี้ ให้เป็นแดนพัฒนาชีวิตของตัวเอง คนเราจะพัฒนาตัวเองได้ ก็ต้องอาศัยเวลา และอาศัยกิจกรรมในชีวิต เออ…อาชีพนี่เป็นงาน เป็นกิจกรรม เป็นเรื่องที่กินเวลาส่วนใหญ่ของชีวิต ถ้าเราพลาดมันไปเสียแล้ว เราจะเสียเวลาไปเยอะแยะเลย เพราะฉะนั้นเราก็เอาอาชีพนี่แหละเป็นแดน เป็นเวทีพัฒนาชีวิตของเรา เราก็พัฒนาไตรสิกขาไปเลยด้วยอาชีพนี่แหละ อย่างนี้เป็นต้น
อย่างน้อยที่สุด อาชีวปาริสุทธิศีล ก็คือไม่ให้อาชีพของเราไปก่อการเบียดเบียนเกิดโทษ ทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้ใด หรือทำให้สังคมเสื่อมเสีย (และไม่ทำให้ตัวเองสูญเสียหรือเสื่อมจากการพัฒนา)
No Comments
Comments are closed.