ขัดแย้ง จำใจ ไม่ยั่งยืน คือความติดตันของความเจริญยุคปัจจุบัน

3 เมษายน 2538
เป็นตอนที่ 27 จาก 34 ตอนของ

ขัดแย้ง จำใจ ไม่ยั่งยืน
คือความติดตันของความเจริญยุคปัจจุบัน

เมื่อกี้นี้ได้พูดไปแล้วว่า จริยธรรมตะวันตกเป็นจริยธรรมแบบเทวบัญชา แล้วต่อมาก็เป็นจริยธรรมที่ถือว่ามนุษย์ปรุงแต่งสมมุติกันขึ้นเอง ไม่มีความเป็นวิทยาศาสตร์ ครั้นถึงปัจจุบันนี้เมื่อมาประสบปัญหาทางจิตใจและทางสังคม ก็เริ่มเห็นความสำคัญของจริยธรรมขึ้นมาอีก แต่ก็ยังไม่มากนัก จนกระทั่งมาประสบปัญหาธรรมชาติแวดล้อมเข้า ฝรั่งจึงได้หวนกลับไปให้ความสำคัญแก่จริยธรรมอย่างเต็มที่ เวลานี้จริยธรรม คือ ethics จึงได้กลับมามีความสำคัญมากในสังคมตะวันตก เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมซึ่งทำให้เกิดมีจริยธรรมสิ่งแวดล้อม (environmental ethics) ซึ่งก็เป็นจริยธรรมแห่งความจำใจอยู่นั่นเอง เช่นบอกว่า มนุษย์ต้องมี restraint (ตรงกับ สังวร หรือ สัญญมะ) คือ ต้องมีการควบคุมยับยั้งตนเองในการที่จะปฏิบัติต่อธรรมชาติ โดยไม่เอาทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ตามใจชอบ เป็นต้น

ในเวลาเดียวกัน จริยธรรมก็ฟื้นฟู เฟื่องขึ้น ในด้านอื่นๆ ทางฝ่ายสังคมด้วย อย่างในมหาวิทยาลัยต่างๆ เวลานี้ก็มีการกลับมาศึกษาจริยธรรม เช่นมี จริยธรรมธุรกิจ (business ethics) ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญอย่างหนึ่ง คือ ทำอย่างไรจะดำเนินธุรกิจโดยไม่ส่งผลให้เกิดการทำลายสภาพแวดล้อม เพราะการแข่งขันกันมากในทางธุรกิจ จะทำให้ทุกคนต่างก็หาผลประโยชน์ แล้วก็ลงท้ายด้วยการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ฉะนั้น จริยธรรมสิ่งแวดล้อม (environmental ethics) จึงมีอิทธิพลออกไปจนถึงวงการทางสังคม ทำให้การศึกษาในมหาวิทยาลัยเกิดมีจริยธรรมธุรกิจ (business ethics) ขึ้นด้วย จริยธรรมก็กลับฟื้นฟูมีความสำคัญขึ้นมา

อย่างไรก็ตาม ในเมื่อจริยธรรมของตะวันตกเป็นจริยธรรมแบบจำใจ ฝืนใจ มันก็ไม่มั่นคง ไม่ปลอดภัย ไม่มีหลักประกัน เพราะเมื่อมนุษย์ฝืนใจก็ทุกข์ จึงคอยหาทางเลี่ยงจริยธรรมแบบที่ว่าตลอดเวลา ฉะนั้น จึงบอกว่าติดตันไม่มีทางออก ส่วนจริยธรรมของพระพุทธศาสนานั้น ไม่เป็นจริยธรรมแห่งการประนีประนอม ไม่ใช่จริยธรรมแบบที่ว่าทั้งสองฝ่ายต่างต้องยอมเสียบ้าง เพื่อต่างก็ได้บ้างด้วยกัน แต่เป็นจริยธรรมที่ต่างก็ประสานประโยชน์เกื้อกูลซึ่งกันและกัน ซึ่งในที่สุดจะทำให้องค์ประกอบทั้ง ๓ ส่วนในอารยธรรมของมนุษยชาติอยู่ร่วมกันและเจริญงอกงามไปด้วยกันได้ด้วยดี คือ

๑. ชีวิตมนุษย์

๒. สังคม และ

๓. สิ่งแวดล้อม

ขณะนี้ องค์ประกอบทั้งสาม ตกอยู่ในกระบวนการพัฒนาของมนุษย์ ที่เรียกว่า unsustainable คือเป็นวิธีการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน ซึ่งทำให้ผลประโยชน์ของทั้งสามอย่างขัดแย้งกันไปหมด คือ ถ้าบุคคลได้สังคมก็สูญเสีย ถ้าจะให้สังคมได้บุคคลต้องยอมสละ ดังนั้นเพื่อบุคคล สังคมต้องยอมเสีย หรือเพื่อสังคม บุคคลต้องยอมเสีย ต่อมาระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ถ้ามนุษย์ได้ธรรมชาติก็สูญเสีย ถ้าธรรมชาติได้มนุษย์ก็สูญเสีย ขัดกันหมด ระบบนี้จึงนำมาซึ่งจริยธรรมแบบจำใจ

ที่นี้ในทางพุทธศาสนานั้น เราบอกว่า คนนี้พัฒนาได้ เมื่อพัฒนาคนแล้ว ทุกอย่างที่เกี่ยวกับคนจะเปลี่ยนไป พอคนเปลี่ยนไปแล้ว เราจะทำให้สามอย่างนี้มาประสานประโยชน์กัน จนกระทั่งกลายเป็นว่า บุคคลได้ก็ดีแก่สังคมด้วย สังคมได้ก็ดีแก่บุคคลด้วย มนุษย์ได้ก็ดีแก่ธรรมชาติด้วย ธรรมชาติได้ก็ดีแก่มนุษย์ด้วย การพัฒนาจะต้องมาถึงจุดนี้ จึงจะเป็น sustainable ที่แปลกันว่ายั่งยืน แต่ปัญหาอยู่ที่ว่ามนุษย์จะทำได้ไหม

ถ้ามองในแง่ของปรัชญาตะวันตกตอนนี้ การพัฒนาที่ยั่งยืน (sustainable development) นั้นเห็นว่าไม่มีทาง ตันหมด เพราะแนวคิดของเขาแฝงความขัดแย้งไว้ตลอดหมดทั้งสาย และมาลงที่จริยธรรมแห่งความจำใจ ซึ่งเป็นไปตามแนวความคิดที่เริ่มตั้งแต่มองมนุษย์แยกต่างหากจากธรรมชาติ และให้มนุษย์พิชิตธรรมชาติ แล้วจัดการกับธรรมชาติตามชอบใจ เพื่อเอามาสนองความต้องการของตนที่จะเสพให้มากที่สุด เพื่อจะได้สุขมากที่สุด ต่างจากแนวคิดของพระพุทธศาสนาที่ว่า ให้สิ่งที่ดีแก่บุคคลก็ดีแก่สังคมด้วย ให้สิ่งที่ดีแก่สังคมก็ดีแก่บุคคลด้วย ให้สิ่งที่ดีแก่มนุษย์ก็ดีแก่ธรรมชาติด้วย ให้สิ่งที่ดีแก่ธรรมชาติก็ดีแก่มนุษย์ด้วย ถ้าถึงจุดนี้ได้ องค์ประกอบทั้งสามก็ประสานประโยชน์กันได้ และกลายเป็นเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ก็แก้ปัญหามนุษย์ได้ นี่คือความสำเร็จของอารยธรรม อันนี้แหละ เป็นบทสุดท้ายที่จะพิสูจน์ว่าการพัฒนามนุษย์จะทำได้แค่ไหน เป็นจุดสุดยอด เราไม่ไปยุ่งกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ด้วยซ้ำ

เอาเป็นว่า จุดศูนย์รวมทั้งหมดในการแก้ปัญหาของมนุษยชาตินี้ เราบอกว่าพระพุทธศาสนามีคำตอบให้

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ไทยสบายๆ แต่ตกอยู่ในความประมาท ฝรั่งไม่ประมาทแต่ไม่แท้ ก็ไปสู่ความพินาศความเจริญที่แท้ เริ่มจากคนตั้งต้นพัฒนาอย่างถูกทาง >>

No Comments

Comments are closed.