ภูมิปัญญาที่สร้างความเจริญน่าตื่นตาในเบื้องต้น แต่นำสู่ความอับจนในเบื้องสุด

3 เมษายน 2538
เป็นตอนที่ 20 จาก 34 ตอนของ

ภูมิปัญญาที่สร้างความเจริญน่าตื่นตาในเบื้องต้น
แต่นำสู่ความอับจนในเบื้องสุด

ขอย้อนถอยหลังไปอีก แนวความคิดของฝรั่งที่ถือว่าเป็นฐานของความเจริญของอเมริกัน ที่ขอยกมาเป็นตัวอย่างหนึ่ง ฝรั่งเรียกว่า frontier mentality อเมริกันภูมิใจนัก frontier แปลว่าพรมแดน mentality แปลว่า สภาพจิต รวมกันแปลเอาความว่า สภาพจิตแบบบุกฝ่าพรมแดน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้วัฒนธรรมตะวันตกได้พัฒนามา จนทำให้ฝรั่งมีลักษณะนิสัยที่เขายอมรับเองว่าเป็น offensive คือ เป็นพวกรุกราน บุกฝ่าพรมแดน คือ ก้าวไปข้างหน้า ไปหาสิ่งที่ยังไม่พบ แนวความคิดนี้มีมาตั้งแต่ยุโรป เป็นฐานความเจริญอย่างหนึ่งของอารยธรรมตะวันตก

สภาพจิตแบบบุกฝ่าพรมแดน (frontier mentality) คือ แนวความคิดที่มองว่า ดูสิ โลกนี้ไกลออกไป ที่เรายังไปไม่ถึง มีทรัพยากรอีกมากมายที่สนองความต้องการของเราได้แต่เรายังไม่ได้ไปใช้ จงบุกฝ่ามันไป ไปข้างหน้า ไปค้นหา แล้วจะได้พบทรัพยากรที่มีมากมายอย่างไม่รู้จักหมดสิ้นนั้น แล้วเราจะได้นำมาใช้ประโยชน์ นอกจากนั้น ประเทศของเรานี้เจริญพัฒนาแล้ว บุกฝ่าไปข้างหน้า จะได้ไปเจอมนุษย์ทั้งหลายที่ยังล้าหลัง ด้อยความเจริญ แล้วเราจะได้ไปช่วยพัฒนามนุษย์พวกนั้นให้เจริญก้าวหน้าขึ้น แนวความคิดนี้เขาถือเป็นฐานของลัทธิอาณานิคมด้วย

ด้วยความคิดนี้จึงทำให้โคลัมบัส (Columbus) ดั้นด้นไปค้นหา ไปแสวงโชค ในดินแดนไกล บุกฝ่าไป จนกระทั่งไปค้นพบทวีปอเมริกา และในทำนองเดียวกันนี้ พวกลัทธิอาณานิคมก็มาล่า มาหาดินแดนทางอาเซีย

แนวความคิดซึ่งกลายเป็นลักษณะนิสัยของชาวตะวันตก ที่จะบุกฝ่าพรมแดน เพื่อไปพบสิ่งที่ยังไม่พบ และจะได้ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างล้นเหลือในธรรมชาติ และจะไปทำให้คนที่ยังป่าเถื่อนไม่พัฒนา ได้เจริญตามขึ้นมาโดยเอาตัวฝรั่งเองเป็นหลักนี้ มาปรากฏเด่นที่อเมริกา คือ เมื่อพวกฝรั่งหนีภัยจากยุโรป ไปขึ้นที่อเมริกาด้วยเหตุที่ถูกบีบคั้น เช่น การหนีภัยศาสนาซึ่งเป็นเหตุปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เขาบุกฝ่าไป โดยรู้อยู่ว่าที่จะไปนี้ลำบากมาก เสี่ยงภัย จะตายหรือรอดยังไม่แน่ แต่ถ้าอยู่ตายแน่ เพราะฉะนั้นเสี่ยงภัยไปดีกว่า และบางพวกพอได้ยินว่าพวกที่ไปก่อนแล้วได้ไปพบอะไรต่ออะไรก็พากันเสี่ยงโชคกันไป เช่นไปขุดทอง พอไปแล้ว ก็ไปขึ้นฝั่งที่นิวยอร์ค (New York) บ้าง ที่บอสตัน (Boston) บ้าง ได้เห็นดินแดนอเมริกาที่กว้างใหญ่ไพศาล ไม่รู้ว่าจะไปถึงไหน ยังไม่เคยบุกฝ่าไปเลย เป็นสิ่งที่ท้าทายต่อแนวความคิดและลักษณะนิสัยของเขา

ประเทศอเมริกาเป็นดินแดนใหม่ เป็นโลกใหม่ เป็น New World แนวความคิดนี้ทำให้พวกนี้ไม่ท้อใจ ก็คิดว่า โอ้โฮ! มันจะต้องมีอะไรให้เราไปพบอีกเยอะแยะ อเมริกาเป็นดินแดนที่ยังต้องบุกฝ่าไป ทั้งในแง่ของธรรมชาติที่มีทรัพยากรไม่รู้ว่าเท่าไร ทั้งในแง่ของสภาพสังคม ที่เป็นสังคมใหม่ ไม่ตึงตัวด้วยกฎหมาย ระเบียบ วัฒนธรรม กติกาสังคมต่างๆ เหมือนอย่างในยุโรป ที่มีระบบสังคม และระบบการปกครองอะไรต่ออะไรตายตัวไปหมดแล้ว แก้ไขยาก ส่วนอเมริกานี้ทุกอย่างจะต้องมาวางเอาใหม่ทั้งหมด เพราะฉะนั้นมันจึงท้าทายต่อความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ พวกนี้ก็บุกไปทางตะวันตก เพราะขึ้นที่ฝั่งตะวันออก แนวความคิดนี้ได้พัฒนามาจนมีความหมายว่า การสร้างความเจริญของอเมริกาได้แก่การบุกฝ่าไปตะวันตก ดังมีคติที่คนอเมริกันจำแม่นว่า Go west young man และต่อด้วยคำว่า and grow up with the country.

ท่อนแรก Go west young man แปลว่าเจ้าหนุ่ม จงมุ่งหน้าไปตะวันตก ท่านที่เกิดนานๆ แล้วคงได้ดูหนังคาวบอย (cowboy) ซึ่งก็เป็นเรื่องของแนวคิดนี้แหละ ที่ทำให้เขาบุกลึกเข้าไป มุ่งหน้าไปตะวันตก ไปเรื่อย จนกระทั่งถึงแคลิฟอร์เนีย (California) แล้วก็ต่อด้วยท่อนที่สอง and grow up with the country แปลว่า แล้วจงทำบ้านนอกขอกนาให้เจริญขึ้นมาพร้อมกับตัวเจ้า อันนี้แหละ คือแนวความคิดที่เป็นคติในการสร้างสรรค์ประเทศอเมริกา ที่ชนชาตินี้ภาคภูมิใจนัก และเมื่อเขาได้สร้างประเทศอเมริกาให้เจริญทั่วผืนแผ่นดินแล้ว ก็บุกฝ่าพรมแดนไปในอวกาศคือ space อีก ซึ่งก็มาจากความคิดแบบฝ่าพรมแดน (frontier) อีกเหมือนกัน เป็นอันว่า แนวความคิดนี้ได้เป็นฐานในการสร้างสรรค์สังคมอเมริกันมาเป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม หลักการอย่างหนึ่งในแนวความคิดนี้ก็คือ การถือว่าทรัพยากรในธรรมชาติมีล้นเหลือไม่รู้จักหมดสิ้น ซึ่งทำให้อเมริกากลายเป็นสังคมที่บริโภคอย่างไม่อั้น และใช้อะไรต่ออะไรอย่างไม่ปรานีเลย สังคมอเมริกันนั้นฟุ่มเฟือยมาก เขาโกนหนวดครั้งหนึ่ง นักสถิติเคยคำนวณออกมา ต้องใช้น้ำกี่แกลลอนๆ คือใช้น้ำมากเหลือเกิน เพราะฝรั่งอเมริกันเปิดก๊อกน้ำไว้ก็โกนหนวดไป แกไม่ปิดน้ำนั้น เปิดทิ้งไว้จนกระทั่งโกนเสร็จแล้วจึงปิดน้ำ แม้กระทั่งส้วมชักโครกที่มาจากสังคมฝรั่งก็ใช้น้ำทีละเป็นถังเลย ที่จริงส้วมชักโครกเวลานี้ จะใช้อย่างนั้นไม่ได้แล้ว เพราะธรรมชาติแวดล้อมที่เป็นทรัพยากร มันไม่อนุญาต แต่สังคมอเมริกันได้สร้างนิสัยนี้มาจนเคยแล้ว พวกเราก็ตามเขา เพราะฉะนั้นจึงกลายเป็นตัวก่อปัญหา เวลานี้แนวคิดฝ่าพรมแดน (frontier) กลายเป็นตัวการสำคัญที่เป็นปัจจัยของการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ฝรั่งเองจึงบอกว่าจะต้องเปลี่ยนแนวความคิดใหม่

ปัจจัยในการสร้างสรรค์สังคมอเมริกันอย่างหนึ่งที่พูดไปแล้ว ซึ่งเป็นแนวความคิดที่ลึกและมีมายาวนานกว่านั้น คือ แนวความคิดที่จะพิชิตธรรมชาติ ซึ่งได้บอกแล้วว่า เป็นรากฐานของอารยธรรมตะวันตกทั้งหมด ที่เจริญมาโดยเฉพาะในทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สองพันกว่าปีแล้วที่ตะวันตกได้ยึดถือแนวความคิดนี้มา และฝรั่งก็ภูมิใจ ถึงกับเขียนไว้ในหัวข้อประวัติศาสตร์แห่งวิทยาศาสตร์คือ history of science ในหนังสือสารานุกรมบริแทนนิกา (Encyclopaedia Britannica) คุยไว้ว่า ในอดีตกาลนานมาแล้ว สังคมตะวันออกเจริญในทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากกว่าตะวันตก แต่ด้วยแนวความคิดที่จะพิชิตธรรมชาติ ก็ทำให้ตะวันตกเจริญล้ำหน้าตะวันออกไปได้ในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จะจัดการกับโลกแห่งธรรมชาติ จุดนี้แหละที่เขาภูมิใจมาก

นักคิดของเขา ตั้งแต่โสคราตีส (Socrates) เพลโต (Plato) อริสโตเติล (Aristotle) จนถึงเดส์คาร์ตส์ (Descartes) แม้กระทั่งฟรอยด์ (Freud) ทุกคนมีความคิดแบบนี้ บางคนพูดถึงขนาดว่า เมื่อเราพัฒนาวิทยาศาสตร์มากขึ้นต่อไป ความเจริญทางวิทยาศาสตร์จะทำให้เราเอาธรรมชาติมาอยู่ในกำมือของเรา แล้วเราก็จะสามารถปั้นมันให้เป็นรูปร่างอะไรก็ได้ตามที่เราต้องการ ความคิดของตะวันตกมีความใฝ่ฝันถึงขนาดนี้ แต่เวลานี้ความคิดนี้อับจนแล้ว

อย่างไรก็ตาม แนวความคิดที่จะพิชิตธรรมชาตินี้ ก็เป็นฐานของอารยธรรมตะวันตก และเป็นตัวเอื้อต่อแนวความคิดฝ่าพรมแดน (frontier) นั้นด้วย และยังมีแนวความคิดอีกอย่างหนึ่ง ที่เข้ามาประสาน ซึ่งควรจะจำไว้ คือแนวความคิดที่เป็นฐานของเศรษฐกิจแบบอุตสาหกรรมของตะวันตก

วิทยาศาสตร์เป็นความรู้ และเป็นการหาความรู้ล้วนๆ เมื่อได้ความรู้แล้วก็เอามาพัฒนาเทคโนโลยี เทคโนโลยีจึงอยู่บนฐานวิทยาศาสตร์ แล้วเทคโนโลยีนี้ก็มาทำให้เกิดความเจริญทางอุตสาหกรรม โดยนำมาใช้ในการผลิตสิ่งบริโภคต่างๆ กระบวนการทางเศรษฐกิจทั้งหลายจึงอาศัยเทคโนโลยีที่นำมาใช้พัฒนาอุตสาหกรรมให้เจริญขึ้นมา

อุตสาหกรรมเจริญเพื่ออะไร ก็เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ คือมีจุดหมายในที่สุดเพื่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ จะได้มั่งคั่งพรั่งพร้อมนั่นเอง ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมีเพื่ออะไร ก็เพื่อมนุษย์จะได้มีกินมีใช้ มีบริโภคเต็มที่ แนวความคิดนี้ก็ไปรับกับแนวความคิดที่ว่า เมื่อมนุษย์มีกินมีใช้ มีบริโภค มีสิ่งเสพเต็มที่บริบูรณ์มากที่สุด มนุษย์จะมีความสุขมากที่สุด มนุษย์จึงมีความมุ่งหมายใฝ่ฝันว่า เมื่อวิทยาศาสตร์เจริญ มนุษย์เอาชนะธรรมชาติได้เรียบร้อยแล้ว มนุษย์จะมีความสุขสมบูรณ์ เพราะมนุษย์จะมีกิน มีใช้ มีเสพบริบูรณ์มากที่สุด

ฐานความคิดที่แฝงอยู่ในเรื่องนี้ก็คือ ความเชื่อที่ว่ามนุษย์จะมีความสุขมากที่สุด เมื่อเสพมากที่สุด ความคิดนี้ก็มาเป็นฐานทางด้านเศรษฐกิจว่า เสพมากที่สุดคือสุขมากที่สุด จะเสพมากที่สุดเพื่อสุขมากที่สุดก็ต้องมีเสพให้มากที่สุด จะมีเสพได้มากที่สุดก็ด้วยอาศัยอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมจะเจริญได้ก็ต้องอาศัยเทคโนโลยี เทคโนโลยีจะพัฒนาได้ ก็ต้องอาศัยวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์เจริญขึ้นมา ก็ทำให้ชนะธรรมชาติโดยใช้เทคโนโลยีจัดการผ่านกระบวนการอุตสาหกรรม พอจัดการกับธรรมชาติได้ตามใจชอบเราก็มีวัตถุมาเสพได้มากที่สุด แล้วก็จะสุขมากที่สุด การที่จะมีวัตถุเสพก็ด้วยอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีไปเอาทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ ตกลงว่าแนวความคิดทั้งหมดนี้ก็มาประสานกันตรงที่ทำลายธรรมชาติ คือ

หนึ่ง… แนวความคิดที่จะพิชิตธรรมชาติ ก็ทำลายธรรมชาติ สอง… แนวความคิดว่า เสพมากที่สุด จะสุขมากที่สุด ก็นำไปสู่การทำลายธรรมชาติ กล่าวคือ คนเราพิชิตธรรมชาติ เพื่ออะไร ก็เพื่อจะได้เอาธรรมชาติมาผลิตเป็นวัตถุสิ่งเสพบริโภค แล้วมนุษย์ก็เสพให้มากที่สุดเพื่อจะมีความสุขมากที่สุด ฉะนั้น แนวความคิดสองอย่างนี้จึงมาบรรจบกัน อารยธรรมตะวันตกก็เจริญมาด้วยความภูมิใจมากที่สุดอันนี้ที่ว่า เมื่อเราชนะธรรมชาติ เราจะมีสิ่งเสพบริโภคมากที่สุด แล้วเราก็จะมีความสุขมากที่สุด แต่เมื่อมาถึงเวลานี้ แนวความคิดสองอย่างนี้กลับมาเป็นภัยอันตราย แล้วจะแก้อย่างไร ปัญหานี้นำมาสู่การติดตันอีกครั้งหนึ่งซึ่งจะพูดต่อไป

ตอนนี้ขอสรุปความอีกทีหนึ่งว่า ตะวันตกเจริญมาด้วยอุตสาหกรรม ด้วยความมุ่งหมายที่จะได้พัฒนาทางเศรษฐกิจ เพื่อจะมีสิ่งเสพบริโภคให้มากที่สุด เมื่อมนุษย์มีพฤติกรรมอย่างนี้ก็ทำลายธรรมชาติ ธรรมชาติแวดล้อมก็อยู่ไม่ได้ จึงมาถึงจุดตันที่ว่า ถ้าเรามีสิ่งเสพให้มากที่สุด และบริโภคมากที่สุด ธรรมชาติก็อยู่ไม่ได้ และถ้าธรรมชาติอยู่ไม่ได้ ผลเสียก็เกิดแก่เรา มนุษย์ก็จะอยู่ไม่ได้ด้วย แต่ในทางกลับกัน ถ้าเรายอมให้ธรรมชาติอยู่ดี เราก็ไม่สามารถบริโภคให้มากที่สุด และเราก็จะไม่สามารถมีความสุขมากที่สุด เมื่อเป็นอย่างนี้จะทำอย่างไร ก็เกิดปัญหาติดตัน เรียกว่า ปัญหากลืนไม่เข้าคายไม่ออก ฝรั่งเรียกว่า dilemma คือ ถ้าเราพิชิตธรรมชาติ ธรรมชาติก็พินาศ ถ้าธรรมชาติพินาศ เราก็พินาศด้วย ถ้าเราจะสุขมากที่สุด ธรรมชาติก็อยู่ไม่ได้ แต่ถ้าเราจะยอมให้ธรรมชาติอยู่ได้ เราก็ไม่สามารถมีสุขมากที่สุด เพราะเราจะไม่มีสิ่งเสพบริโภคมากที่สุด

สรุปอีกทีว่า ถ้าเราจะเสพมากที่สุด เพื่อสุขมากที่สุด ธรรมชาติก็อยู่ไม่ได้ แล้วเราก็อยู่ไม่ได้ด้วย แต่ถ้าเรายอมให้ธรรมชาติอยู่ เราก็ไม่สามารถสุขที่สุด เพราะเราไม่มีสิ่งที่จะบริโภคให้มากที่สุด ตันทั้งสองทาง พูดสั้นๆ ว่า ถ้าเราจะสุขมากที่สุด ธรรมชาติก็พินาศ และเราก็พินาศด้วย แต่ถ้าเรายอมให้ธรรมชาติอยู่ เราก็ไม่สามารถมีความสุขมากที่สุด ที่ว่าเขาแก้ปัญหาไม่ได้ ก็เพราะมันมาจนที่ตรงนี้

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< หนึ่งต่อด้วยอะไร จึงจะไปถึงสิบเมื่ออับจนจะแก้ปัญหาวิธีจำใจด้วยวิธีจำใจ ก็ยิ่งติดตันทั้งข้างนอกข้างใน >>

No Comments

Comments are closed.