เมื่อตะวันตกดิ้นหาทางออกใหม่ ตะวันออกจะไปช่วยได้จริงหรือ

3 เมษายน 2538
เป็นตอนที่ 23 จาก 34 ตอนของ

เมื่อตะวันตกดิ้นหาทางออกใหม่
ตะวันออกจะไปช่วยได้จริงหรือ

ในสมัยโบราณก็มีมาแล้ว มนุษย์เป็นอย่างนี้มาเรื่อย สมัยหนึ่งมีความโน้มเอียงสุดโต่งทางวัตถุ แล้วอีกสมัยหนึ่งก็มาสุดโต่งทางจิต สังคมอเมริกันก็มีปรากฏการณ์ส่อแสดงสภาพอย่างนี้มานานแล้วเหมือนกัน ตั้งแต่เกิดพวกฮิปปี้ (hippies) ในช่วงทศวรรษ 1960s (พ.ศ. ๒๕๐๐ เศษ) ฮิปปี้นี้เกิดจากสังคมอเมริกันที่หลงเพลินพัฒนาวัตถุอย่างมาก เหมือนอย่างสังคมไทยเราขณะนี้ คนอเมริกันก็ใฝ่ฝันในวิทยาศาสตร์และการพัฒนาวัตถุว่า ความเจริญพรั่งพร้อมทางวัตถุจะทำให้เขามีชีวิตที่สุขสมบูรณ์ แต่พอมาถึงอีกยุคหนึ่งเมื่อมีความเจริญพรั่งพร้อมพอสมควร ในระยะ ค.ศ. 1960s ฝรั่งมาถึงยุคกดปุ่มแล้ว เขาเริ่มเห็นว่า ถึงจะพัฒนาไปอีกเท่าไร ดีกว่านี้เท่าไร ก็เห็นชัดว่ามนุษย์จะไม่มีความสุขที่แท้จริง จิตใจก็ไม่ดี สังคมก็เสื่อมโทรม ปัญหาหลักๆ ของมนุษย์ก็แก้ไม่ได้ มนุษย์เริ่มผิดหวัง ก็ทำให้เกิดสภาพที่เป็นปฏิกิริยาของคนรุ่นใหม่ ต่อสังคมอเมริกัน เกิดมีคนที่เรียกว่า บุปผาชน คือพวกฮิปปี้ขึ้นมา

พวกฮิปปี้เห็นว่า พ่อแม่ของเรานี่ไม่ได้เรื่อง ต้องขยันหมั่นเพียร ทำการทำงานกันไม่ลืมหูลืมตาเพียงเพื่อจะสร้างวัตถุสิ่งของมาเสพให้มีความสุข มีโทรทัศน์ วิทยุ ตู้เย็น พัดลม ฯลฯ แต่ก็ไม่เห็นมีความสุขจริงเลย แล้วยังต้องอยู่ในกรอบของสังคม มีวัฒนธรรมที่บีบบังคับตัวเอง ไม่เห็นจะมีความสุขเลย การที่เราต้องแต่งชุดสากล แต่งตัวอย่างเป็นระเบียบ ต้องรีดเสื้อผ้าอย่างดี มานั่งในห้องแอร์ทำงานทำการหรือวางท่ากันเคร่งเครียดนี้ จะดีอะไร เราไม่ต้องแต่งตัวเลย ไม่ต้องอาบน้ำ ไม่ต้องหวีผม ไม่ต้องรีดเสื้อผ้า นุ่งห่มอะไรก็ได้ ปล่อยตัวตามสบาย นอนกลางดิน กินกลางทราย อยากทำอะไรก็ทำ ไม่อยากทำอะไรก็ไม่ทำ จะแก้ผ้าก็ได้ จะมีความสุขมากกว่า พวกนี้ก็เลยปฏิเสธสังคม ออกไปเป็นฮิปปี้ คราวนี้ไม่เอาเรื่องอะไรทั้งนั้น ปฏิเสธทุกอย่าง มองเห็นว่า คนรุ่นพ่อแม่ เป็นพวกหัวเก่า คนรุ่นใหม่เจริญทันสมัยต้องทิ้งสังคมไปเลย ไปหาความสุขตามสบาย ไม่ต้องมีกฎเกณฑ์ของสังคมบีบบังคับ อยากจะสืบพันธุ์ก็สืบพันธุ์ อยากจะนอนที่ไหนก็นอน เสื้อผ้า แต่งก็ได้ ไม่แต่งก็ได้ แล้วก็ท่องเที่ยวเร่ร่อนไป มั่วสุมกันเป็นแห่งๆ พาลัทธิของตัวเผยแพร่มาจนถึงทางตะวันออก มาในอินเดีย มาในเนปาล มาสร้างนิคมฮิปปี้กันขึ้น เป็นที่น่าเกลียดสำหรับคนตะวันออก

ต่อมาอีกระยะหนึ่งสังคมฝรั่งก็ค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น แต่ก็ยังมีความโน้มเอียงทางด้านจิตใจมาก มีความสนใจในการแก้ปัญหาทางจิตใจ ชอบเรื่องสมาธิ เช่น นิกายเซ็นที่สอนเน้นในเรื่องสมาธิ ฝรั่งก็ชอบมาก เซ็นขึ้นมากจนกลายเป็นแฟชั่น แล้วต่อมาโยคะเข้าไป โยคะก็เฟื่องเหมือนกัน ต่อมาทิเบตแตก พวกลามะเข้าไปเป็นอาจารย์สอนธรรมะ เรียกว่ารินโปเช ก็สอนเน้นเรื่องสมาธิ พุทธศาสนาแบบทิเบตก็เฟื่องขึ้นไปแข่งกับเซ็น ตอนนี้ ทางอเมริกา การฝึกปฏิบัติแบบทิเบตขึ้นมาก เขาเคยอ้างว่า ศูนย์และสำนักของเขา ได้มีจำนวนเพิ่มมากจนกระทั่ง บัดนี้ กลายเป็นคู่แข่งกับเซ็น ฝรั่งก็มาสนใจ จนกระทั่งมีการตั้งเป็นสถาบันการศึกษา เช่นตัวอย่างหนึ่ง คือ สถาบันนาโรปา (Naropa Institute) ที่เมืองโบลเดอร์ (Boulder) รัฐโคโลราโด (Colorado)

สถาบัน Naropa นี้สอนเรื่องของสมาธิ จิตวิทยา แนวความคิดแบบองค์รวม (holism) ตลอดจนเรื่องของการรักษาโรคตามแนวความคิดแบบองค์รวม มีฝรั่งไปศึกษาพอสมควร เขาเปิดเป็นหลักสูตร แต่ก่อนให้ปริญญาตรี ต่อมามีปริญญาโท (เวลานี้ ทั้งผู้บริหารและอาจารย์ในสถาบันนาโรปา เป็นฝรั่งแทบทั้งหมดแล้ว) กรณีนี้ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ให้เห็นว่าตะวันตกได้หันมาสนใจการศึกษาความคิดและวิชาการของตะวันออก พวกทิเบตนี่ก็เก่ง มีการตั้งสำนักพิมพ์ เช่นสำนักพิมพ์ Shambhala ซึ่งมีกิจการเจริญก้าวหน้าจนต่อมาตั้งงานส่วนหนึ่งเป็นสำนักพิมพ์ New Science Library ผลิตหนังสือดีๆ ออกมาขาย เขาต้องประสบความสำเร็จพอสมควรจึงไปได้ หนังสือของเขาก็ทำอย่างดี อีกสำนักพิมพ์หนึ่งซึ่งก็ประสบความสำเร็จมากเหมือนกัน คือ Wisdom Publications อันนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่เราควรจะติดตาม

ส่วนทางฝ่ายเถรวาทนั้นนับว่าล้าหลังมาก ตามไม่ติดเลย เมื่อเทียบกับฝ่ายมหายาน ตั้งแต่เซ็นเฟื่อง เราก็ล้าหลัง ตามไม่ทัน เมื่อทิเบตมาอีก เรายิ่งไม่ทันเขาเลย ทีนี้ มีข้อสังเกตว่า ทางฝ่ายมหายานนั้น คนมหายานจากตะวันออก ที่เป็นชาวอาเซียเอง เป็นผู้นำเข้าไปตะวันตก เช่นอย่างของเซ็น ซูซูกิ (D.T. Suzuki) ซึ่งเป็นอาจารย์เซ็นผู้มีชื่อเสียงมาก ได้ไปสอนข้อปฏิบัติสมาธิ (meditation) แบบเซ็นในอเมริกา แต่เถรวาทนี่ ฝรั่งมาเอาไป ขอให้สังเกตดู ฝรั่งเข้ามาศึกษาในประเทศศรีลังกาบ้าง มาประเทศพม่าบ้าง มาประเทศไทยบ้าง แล้วเขาเอากลับไปสอน พระพุทธศาสนาแบบเถรวาทที่เข้าไปในตะวันตก โดยเฉพาะอเมริกา จึงแทบไม่เป็นผลงานของคนเอเชียเลย

จริงอยู่ พระลังกาก็มีไปบ้าง แต่ไม่มาก ฝรั่งเข้ามาและมีบทบาทด้านนี้มากกว่า ฝรั่งบางคนมาเป็นพระผู้ใหญ่ในศรีลังกาก็มี หลายท่านคงได้ยินชื่อ ท่านญาณติโลกะ (Nyanatiloka) ในหลักสูตรพุทธศาสตร์บัณฑิต เคยใช้หนังสือ The Word of the Buddha ในชั้นปีที่ ๒ (ได้ทราบว่าปัจจุบันก็ยังใช้อยู่) หนังสือเล่มนี้ก็เป็นผลงานของท่านญาณติโลกะ ซึ่งเป็นชาวเยอรมัน ต่อมาก็มีท่านญาณโปนิกะ (Nyanaponika) ซึ่งเป็นลูกศิษย์ใหญ่ที่สำคัญของท่านญาณติโลกะ แต่งตำราเยอะ ก็เป็นชาวเยอรมัน แล้วก็มีพระญาณโมลี (Nyanamoli) มาอยู่ในศรีลังกา ก็เป็นพระอังกฤษ ได้แปลหนังสือ คัมภีร์ ทั้งพระไตรปิฎก และอรรถกถาเป็นต้นมากมาย เช่นแปลวิสุทธิมรรคเป็นภาษาอังกฤษ ทำให้มีตำราพระพุทธศาสนาออกมามาก แม้แต่สำนักพิมพ์หนังสือพระพุทธศาสนาที่สำคัญของศรีลังกา คือ Wheel Publications เวลานี้ก็มีพระฝรั่งเป็นผู้ดำเนินงาน ในพม่าก็มีฝรั่งที่ไปศึกษาในสำนักกรรมฐาน ฝึกปฏิบัติวิปัสสนาแล้วนำไปสอน

แม้แต่ที่เมืองไทยเราก็มีชาวตะวันตกเข้ามาเรียนแล้วเอาไปสอนในประเทศของเขาเอง เช่น นายโจเซฟ โกลด์สทีน (Joseph Goldstein) และ นายแจ๊ค คอร์นฟีลด์ (Jack Kornfield) เป็นต้น สองท่านนี้เคยมาเมืองไทยแล้วบวชในสำนักหลวงพ่อชา หลังจากศึกษาปฏิบัติแล้วก็กลับไปอเมริกา แล้วก็ไปสึก ไปตั้งสำนักกรรมฐาน มีสำนักวิปัสสนาที่เมืองบาร์รี (Barre) ในรัฐแมสสาจูเซตส์ (Massachusetts) เรียกว่า Insight Meditation Society (สมาคมวิปัสสนา) ผมเคยไปเยี่ยม เมื่อปี ๒๕๒๔ มีการรับคนเข้าปฏิบัติเป็นช่วงฝึก (course) ช่วงหนึ่งประมาณ ๑๕ วัน ตอนที่ผมไปนั้น มีสัก ๗๕-๘๐ คน เป็นคนหนุ่มๆ สาวๆ ชาวอเมริกันทั้งนั้น แสดงว่า เขาก้าวหน้าไปพอสมควร ไม่ทราบว่าแจ๊ค คอร์นฟีลด์ ตอนนี้มาอยู่ที่แคลิฟอร์เนียหรือเปล่า ผมไม่ได้ติดตาม แต่เขาเคยไปสอนที่สถาบันนาโรปา (Naropa Institute) ที่โคโลราโด ด้วย นั่นก็เป็นเรื่องของฝรั่ง แต่มีข้อสังเกตว่าท่านเหล่านี้มาบวชเป็นพระ กลับไปแล้วก็สึก เป็นอาจารย์สอนในเพศคฤหัสถ์

ครั้นต่อมาตอนหลังนี้ ที่สำนักอาจารย์ชา ท่านส่งไปเป็นพระเลย เริ่มที่อังกฤษ ท่านสุเมโธไปตั้งวัดจิตตวิเวก (Cittaviveka) ที่ชิตเฮอร์สท์ (Chithurst) ต่อมาก็ได้ขยายไปในแผ่นดินใหญ่ของยุโรป ที่อังกฤษมี ๔ สาขา หรือจะเพิ่มเป็น ๕ แล้วก็ไม่ทราบ แล้วก็ขยายไปที่สวิตเซอร์แลนด์ก็มี ที่อิตาลีก็มี ส่วนที่อเมริกา กำลังเข้าไป มีที่ดินแล้วเหนือเมืองซานฟรานซิสโก (San Francisco) ขึ้นไป จะสร้างในไม่ช้านี้ อย่างนี้ก็พอจะเรียกได้ว่าเป็นพระสงฆ์จากเมืองไทยเข้าไป แต่ก็เป็นพระฝรั่งนั่นแหละไป

ขอย้อนกลับมาเรื่องที่ว่า ฝรั่งเอียงสุด ก็อย่างที่พูดแล้วว่า เขามาสนใจเรื่องจิตใจ ชอบสมาธิ ทีนี้บางพวกก็ไปไกล จนกระทั่งไปสนใจเรื่องลึกลับ เรื่องไสยศาสตร์ เรื่องของโหราศาสตร์ เวลานี้ถ้าไปอเมริกาจะเห็นหนังสือโหราศาสตร์เยอะ แต่เขาก็เถียงกันเองคือมีทั้งพวกเชื่อและพวกไม่เชื่อ ทำให้เราเห็นถึงความสับสนหรือระส่ำระสายของสังคมของเขาได้ในแง่หนึ่ง และเพราะความเอียงสุดทางจิตก็ไปสนใจเรื่องลึกลับ จนกระทั่งถึงเรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ และการสนองความต้องการทางจิตใจที่เราอาจจะแปลกใจว่า พวกนี้เป็นปกติดีหรือเปล่า มีลัทธิอะไรต่ออะไรแปลกๆ ใหม่ๆ เกิดขึ้นในอเมริกามากในระยะที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้ ซึ่งเขาเรียกว่าเป็น New Age

ในยุคสมัยใหม่นี้ มีศาสนาใหม่ๆ เกิดขึ้น เป็น new religions เยอะ ศาสนาใหม่ที่เกิดในอเมริกาเหล่านี้ มีทั้งศาสนาที่แตกแยกจากศาสนาของตะวันตกเอง มีทั้งการพัฒนาตัวเองขึ้นเป็นศาสนาตะวันตก ในรูปแบบใหม่ๆ ของศาสนาตะวันออกที่เข้าไป มีทั้งพวกตะวันออกที่เข้าไปเอง แล้วตั้งสำนักเป็นศาสนาใหม่ มีการปะปนผสมผสาน เช่น อย่างพวกสำนักของคาทอลิก ก็นำเอาวิธีปฏิบัติกรรมฐานของพระพุทธศาสนาไปใช้ บางสำนักมีกิจวัตรประจำวัน ที่รวมเอาการเจริญสมาธิ (meditation) ใส่ไว้ด้วย

มีการศึกษาพุทธศาสนาเพิ่มขึ้นในระดับปริญญาสูงๆ ถึงปริญญาเอก แม้ในระดับปริญญาตรีก็มีมากขึ้น โดยจัดเป็นวิชาเลือก เดี๋ยวนี้จัดกันทั่วไป แล้วก็มีฝรั่งเข้ามาศึกษาหลายแบบ บางพวกมาศึกษาเพื่อรู้ความจริง ด้วยความสนใจจริงๆ เพราะเห็นประโยชน์แล้ว อยากจะศึกษายิ่งๆ ขึ้นไป บางพวกก็ศึกษาอย่างเป็นแฟชั่น คือเห็นว่า ผู้คนเขาสนใจ ก็สนใจบ้าง บางพวกก็ศึกษาเพื่อให้รู้ว่า สังคมของเขาเป็นอะไร ทำไมจึงมาสนใจสิ่งเหล่านี้ และสิ่งที่กำลังสนใจใหม่นี่เป็นอย่างไร บางพวกก็มาศึกษาเพื่อจะเอาไปใช้ในพวกของเขา เช่น ชาวคริสต์ ที่เข้ามาศึกษา เพื่อจะได้เอาแบบแผนวิธีการของเราไปใช้ ฉะนั้น เราจึงควรจะรู้ว่าเขาศึกษาไปทำไม

เป็นอันว่า เวลานี้ฝรั่งมาศึกษาเรื่องพุทธศาสนามากขึ้น แต่จุดที่ต้องการชี้เป็นข้อสังเกตก็คือ การมีแนวโน้มที่จะเป็นลัทธิเอียงสุด ซึ่งต้องระวังให้มาก คนจะไปเพลินสนองความต้องการทางด้านจิตใจแล้วลุ่มหลงหมกมุ่นจนเกินไป กลายเป็นลัทธิลึกลับ และศาสนาใหม่ๆ แปลกๆ บางพวกเตลิดไปจนถึงกับมีการฆ่าตัวตายหมู่ ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ ก็ได้มีขึ้นแล้ว อย่างสำนักแปลกประหลาดของนายจิม โจนส์ (Jim Jones ผู้นำสำนัก People’s Temple Church) ในอเมริกา ตอนหนึ่งพากันไปที่สำนักในป่าที่โจนสทาวน์ ประเทศไกอานา (Guyana) อเมริกาใต้ แล้วจิมโจนส์ก็ให้พวกศิษย์ดื่มยาพิษ กลายเป็นการฆ่าตัวตายครั้งใหญ่เกือบพันคน (๙๑๓ คน)

เรื่องที่ว่านั้น แม้จะนานมาแล้ว ตั้งแต่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๒๑ (๑๙๗๘) แต่ก็เป็นตัวอย่างแสดงแนวโน้มของจิตใจและสังคม ดังที่ต่อมาก็มีเกิดขึ้นอีกเป็นระยะๆ อย่างที่เท็กซัส ปีที่แล้วนี้เอง ใกล้เมืองเวโก (Waco) ก็เกิดปัญหาที่สำนักลัทธิบรานช์ เดวิเดียน (Branch Davidian cult) ของเดวิด โกเรช (David Koresh) ซึ่งเรียกตัวเองว่าพระเยซูคริสต์ และอ้างว่าตนแปลคัมภีร์ตอนหนึ่งว่าด้วยคำเตือนเกี่ยวกับวันสิ้นโลก ตำรวจจะเข้าค้นอาวุธจึงล้อมอยู่ ๕๑ วัน ในที่สุดตำรวจสูบแก๊สน้ำตาเข้าไปในอาคาร โกเรชสั่งเผาสำนักของตนและทำการฆ่าตัวตายหมู่อย่างน้อย ๗๔ คน เมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๓๖ (๑๙๙๓)

เมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๓๗ (๑๙๙๔) ที่สวิตเซอร์แลนด์ ลัทธิหนึ่ง เจ้าสำนักชื่อ Luc Jouret ก็มีการฆ่าตัวตายและฆ่ากันตายหมู่ เจ้าหน้าที่พบศพครั้งแรก ๔๘ ศพ ต่อมาพบว่าตายในคานาดาอีก ๒ ศพ รวมเป็น ๕๐ ศพ ส่วนที่ญี่ปุ่นตอนนี้ก็มีลัทธิศาสนาใหม่ ซึ่งเป็นที่สงสัยว่า ได้เอาแก๊สพิษไปปล่อยตามสถานีรถไฟ เป็นต้น ฆ่าคนโดยมีความคิดว่าจะถึงวันสิ้นโลกแล้ว รีบตายกันเสียก่อน เดี๋ยวไปถึงวันสิ้นโลกแล้วจะลำบาก อะไรต่างๆ เหล่านี้ แสดงถึงความวิปริตผันผวนทางจิตใจที่มีมาก

สภาพจิตของฝรั่งเวลานี้เราจะต้องเข้าใจเท่าทันว่า ตกอยู่ในสภาพที่ไม่มั่นคง เนื่องจากเขาขาดความมั่นใจในสังคมของตนเอง นอกจากผิดหวังจากความเจริญที่สร้างสรรค์มาแล้ว สังคมของเขาก็มีความเสื่อมลงไปในหลายๆ ด้าน รวมทั้งการสูญเสียความเป็นผู้นำและความยิ่งใหญ่ในเวทีโลก อารยธรรมก็เสื่อมลง ชักจะหมดความหวัง พร้อมกันนั้นสภาพจิตใจก็เคว้งคว้าง ขาดสิ่งยึดเหนี่ยว ในท่ามกลางสภาพเช่นนี้ ตัวเราเองจะต้องมั่นใจในหลักการของตน และจะต้องมีความชัดเจน มิฉะนั้น จะไปพลอยสนองตอบตามเขาไปด้วยแล้วก็อาจจะผิดพลาดไปได้ เช่นอาจจะชักนำเขาไปในทางที่เหลวไหลก็ได้ หรือบางทีกลับไปหาผลประโยชน์จากฝรั่งที่เขากำลังคลั่งไคล้ ก็ผิดเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ปัจจุบันนี้จึงเป็นยุคที่จะต้องนำเอามัชฌิมาปฏิปทา มาแสดงให้ชัดเจน เราเองจะต้องมีความมั่นใจและชัดเจนในมัชฌิมาปฏิปทาของตน

เมื่อไปแล้ว เราทำงานเป็นพระธรรมทูต มีบทบาทอย่างที่กล่าวมาทั้งสามประการ ในด้านหนึ่ง เราอาจจะใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ โดยถือโอกาสวิจัยสังคมและศาสนาตะวันตกเสียเลย เพราะเราได้ไปอยู่ใกล้ ได้เห็น ได้ยินอะไรๆ ตลอดเวลา ถ้าเราไม่ตั้งจุด และไม่ตั้งใจไว้ก่อน เราอาจจะปล่อยสิ่งที่ควรจะได้ให้สูญเสียไปเปล่า ทั้งๆ ที่ไปอยู่ที่นั่น แต่เวลาก็ผ่านไปอย่างนั้นเอง โดยไม่ได้สังเกตว่า มีอะไรเกิดขึ้นในสังคมของเขา

ถ้าเราตั้งข้อสังเกต และศึกษาด้วยปัญญาที่วิเคราะห์วิจัย จะได้อะไรมากมาย เราจะเห็นภาพที่โยงกันได้ จากเหตุการณ์หนึ่งในสังคมของเขาจะมีปัจจัยที่ไปโยงกับเรื่องอื่น จนทำให้เราจับได้ว่า อ้อ! สังคมของเขามีภาพรวมเป็นอย่างนี้ จับจุดได้แล้วเราก็วางรูปสภาพสังคมตะวันตกขึ้นมา แล้วก็โยงเข้ามาหาสภาพอารยธรรมทั้งหมดของโลก แล้วเราก็อาจจะเห็นทางชัดขึ้นว่า จะนำหลักพระพุทธศาสนาไปช่วยแก้ไขปัญหา และสร้างสรรค์อารยธรรมของมนุษยชาติได้อย่างไร แล้วก็โยงอีกทีหนึ่งมาที่สังคมไทยของเราเอง ว่าเป็นไปอย่างไร ภายใต้กระแสของโลก

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< เลิกเอียงสุดข้างนอก ระวังจะมาเอียงสุดข้างใน– ๔ – แนวทางวางฐานเพื่อสร้างสรรค์อารยธรรมที่แท้ >>

No Comments

Comments are closed.