ในระบบสัมพันธ์ที่พอดีเพื่อให้สังคมนี้ยั่งยืน ต้องให้มนุษย์อยู่กันดี โดยที่ธรรมก็ดำรงอยู่ได้

3 เมษายน 2538
เป็นตอนที่ 32 จาก 34 ตอนของ

ในระบบสัมพันธ์ที่พอดีเพื่อให้สังคมนี้ยั่งยืน
ต้องให้มนุษย์อยู่กันดี โดยที่ธรรมก็ดำรงอยู่ได้

เริ่มแรก พรหมวิหารเป็นธรรมที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ เราชัดเจนแล้วว่าเป็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ มนุษย์จะอยู่ร่วมกันด้วยดี ก็ต้องมี เมตตา กรุณา มุทิตา ถ้ามนุษย์อยู่ด้วยกัน โดยมีน้ำใจเอื้อเฟื้อช่วยเหลือกันตามสถานการณ์ทั้งสาม ด้วยคุณธรรมทั้งสามข้อนี้แล้ว โลกมนุษย์ก็อยู่ด้วยดี แต่แค่นี้พอที่จะให้อยู่ด้วยดีจริงหรือ? ขอให้ดูต่อไป

โลกมนุษย์นี้ ไม่ได้อยู่ตามลำพัง ภายใต้โลกมนุษย์นี้ มีสิ่งที่เป็นฐานรองรับอยู่ คือความจริงของสัจจธรรม หรือธรรมที่เป็นหลักการของธรรมชาติ ได้แก่ความเป็นจริงแห่งความเป็นไปตามเหตุปัจจัย หรือหลักการแห่งความจริง ความถูกต้องดีงาม ธรรมคือความเป็นจริงของกฎธรรมชาตินี้ ครอบคลุมและควบคุมธรรมชาติทั้งหลาย รวมทั้งโลกมนุษย์ไว้ทั้งหมด โลกมนุษย์ตั้งอยู่บนฐานของความเป็นจริงของธรรมนั้นซึ่งใหญ่กว่า ฉะนั้นความสัมพันธ์ในหมู่มนุษย์นี้ จะต้องไม่ไปกระทบกระเทือนหรือทำลายธรรม แต่จะต้องให้สอดคล้องกับธรรม โลกมนุษย์จึงจะเป็นไปได้ด้วยดี ฉะนั้น เราจึงมิใช่มีหน้าที่แต่เพียงรักษาความสัมพันธ์ที่ดีในหมู่มนุษย์เท่านั้น แต่เราจะต้องรักษาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับตัวธรรมที่เป็นกฎธรรมชาตินี้ด้วย

ทีนี้หมู่มนุษย์จะปฏิบัติต่อกันด้วยดี จะเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันอย่างไรก็ตาม แต่ถ้าไปทำผิดต่อธรรม ทำให้เสียธรรมเข้าเมื่อไร โลกมนุษย์นั้นก็ตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อใดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในข้อหนึ่งก็ตาม ข้อสองก็ตาม ข้อสามก็ตาม ไปส่งผลกระทบทำความเสียหายต่อตัวธรรมเข้า นี่คือสถานการณ์ที่ ๔ ซึ่งจะต้องอุเบกขา ได้แก่สถานการณ์ที่ว่าถ้าขวนขวายในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ก็จะไปกระทบต่อตัวธรรม จะทำให้ระบบของธรรมคลาดเคลื่อนเสียหาย จึงต้องหยุดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ไว้ก่อน เพื่อรักษาธรรมไว้ เพราะฉะนั้น ในกรณีเช่นนั้น เมตตา กรุณา มุทิตา จะออกโรงไม่ได้ และจะต้องมาถึงอุเบกขา

ขอยกตัวอย่าง เด็กคนหนึ่งไปลักขโมยของเขา ประสบความสำเร็จได้เงินมา ๕,๐๐๐ บาท ถ้าเราถือว่าเป็นสถานการณ์ที่ ๓ เราก็มุทิตา ดีใจด้วย ส่งเสริมเลย แต่ถ้าทำอย่างนั้นก็กระทบต่อธรรมทำให้ธรรมเสียหาย หรือผู้พิพากษาพิจารณาคดี รู้ว่าจำเลยนี้ทำความผิดจริง ไปฆ่าเขาตาย แต่เมื่อคิดว่าจำเลยจะต้องตกทุกข์ได้ยากไปติดคุก ก็สงสาร อยากจะปลดเปลื้องทุกข์ของเขา นึกว่าเป็นสถานการณ์ที่ ๒ ก็เลยกรุณา แต่กรุณาในที่นี้ แสดงออกไปก็เข้าสถานการณ์ที่ ๔ ผิดธรรมทันที ทำให้เสียความเป็นธรรม ทำให้เสียหลักการแห่งความถูกต้องดีงาม จึงต้องเปลี่ยนเป็นอุเบกขา

เป็นอันว่า ถ้าการสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ จะเป็นสถานการณ์ที่หนึ่งก็ตาม สองก็ตาม สามก็ตาม ไปกระทบต่อธรรมเข้าเมื่อไร ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ต้องหยุด แล้วเข้าเป็นสถานการณ์ที่สี่ เราก็วางอุเบกขาต่อคนนั้น คือ เฉยต่อเขา ไม่เอาแล้ว ฉันไม่ดีใจต่อเธอ ไม่สนับสนุนเธอ ฉันไม่ช่วยเธอแล้ว เธอทำอย่างนี้ฉันไม่เอาด้วยกับเธอละ เราเฉย วางใจเป็นกลางต่อเขา เพื่อให้ธรรมมาจัดการ

เราวางอุเบกขาต่อคน คือ เฉย หยุดขวนขวาย ไม่ช่วยเหลือเขา เพื่อจะได้ไม่เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงธรรม การปฏิบัติตามธรรมจะได้ดำเนินไป กฎต้องเป็นกฎ ธรรมต้องเป็นธรรม ใครมีหน้าที่ปฏิบัติตามธรรมก็มาจัดการไปตามธรรมนั้น พูดสั้นๆ ว่า เพื่อปฏิบัติตามธรรม จึงต้องยกเว้นสถานการณ์ที่ ๑,๒,๓ เสีย ข้อหนึ่ง สอง สาม ออกแสดงไม่ได้ เพื่อให้ข้อ ๔ มา ฉะนั้น อุเบกขา ตัวมันจึงแปลว่า เข้าไปมองดู หรือคอยมองดูอยู่ใกล้ๆ ให้เขาได้รับผลถูกต้องตามธรรม และแสดงถึงปัญญาด้วย เพราะว่า ๓ ข้อแรกความเด่นอยู่ที่ความรู้สึก พอสถานการณ์มาก็แสดงได้ทันที แทบไม่ต้องใช้ปัญญาเลย แต่ข้อที่ ๔ จะแสดงได้ ต้องมีปัญญา ต้องรู้ว่าอะไรถูกต้อง อะไรผิด อะไรเป็นธรรม อะไรไม่เป็นธรรม อะไรเป็นบาปเป็นบุญ เหตุผลเป็นอย่างไร

นี่แหละ สถานการณ์ที่ ๔ ที่เรามาอธิบายกันว่า ให้เป็นไปตามกรรม เป็นอย่างนี้ คือเป็นสถานการณ์ที่ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ หรือระหว่างบุคคลจะไปกระทบต่อธรรมเข้า หมายความว่า กรรมของเขาจะต้องถูกตัดสินด้วยธรรม หรือต้องบังเกิดผลตามธรรม เพราะถ้ากระทบต่อธรรมแล้วเรายังขืนเข้าไปวุ่นวายแทรกแซง ฐานของสังคมมนุษย์ก็เสีย ธรรมที่รองรับโลกมนุษย์อยู่ก็วิปลาส และโลกมนุษย์เองก็จะอยู่ไม่ได้ ฉะนั้น จึงต้องหยุดความสัมพันธ์กับคนเพื่อรักษาธรรม

พระพุทธเจ้าทรงประทานไว้ครบว่าจะอยู่แค่ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์เท่านั้นไม่พอ ต้องรักษาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับตัวธรรมด้วย โลกมนุษย์จึงจะอยู่ได้ ถ้าเราปฏิบัติธรรมไม่ครบชุด ก็ยุ่งและเกิดโทษ เมตตากรุณา กลับทำให้เกิดปัญหา เสียความยุติธรรม เสียความชอบธรรม ทำให้หลักการของสังคมตั้งอยู่ไม่ได้ สังคมก็วุ่นวายปั่นป่วน พระพุทธเจ้าจึงทรงเรียกธรรมหมวดนี้ว่า พรหมวิหาร แปลว่า ธรรมเครื่องอยู่ของพระพรหม คือ ธรรมประจำใจของผู้สร้างสรรค์อภิบาลโลก

ในศาสนาพราหมณ์นั้นเขาถือว่า พรหมเป็นผู้สร้างโลก พอสิ้นกัปป์หนึ่งโลกทลาย พระพรหมก็สร้างโลกใหม่อีกทีหนึ่ง แล้วโลกก็อยู่ไปอีกกัปป์หนึ่ง ทีนี้ พระพุทธเจ้าตรัสสอนเราให้ไม่ต้องรอพระพรหมที่เป็นเทวดาที่จะมาสร้างโลก แต่ทรงสอนให้มนุษย์ทุกคนนี่แหละเป็นพรหม คือมาช่วยกันเป็นผู้สร้างโลก เป็นผู้อภิบาลโลก หล่อเลี้ยงบำรุงรักษาให้โลกตั้งอยู่ได้ด้วยดี เมื่อเราปฏิบัติตามธรรม ๔ ข้อนี้เราทุกคนก็เป็นพรหม คือเป็นผู้ที่มีส่วนในการสร้างสรรค์ อภิบาลรักษาบำรุงโลก

พระพุทธเจ้าต้องการให้ทุกคนเป็นพรหม เบื้องแรกให้มารดาบิดาเป็นพรหมก่อน ต่อมาให้มนุษย์ทุกคนเป็นพรหม เมื่อเราปฏิบัติตามธรรม ๔ ข้อนี้ครบถ้วนดี โลกมนุษย์คือสังคมก็อยู่ได้ โลกอยู่ได้ เพราะทุกคนร่วมกันสร้างสรรค์อภิบาล ไม่มีปัญหาเลย แต่เวลานี้เกิดความผิดพลาดมีปัญหา เพราะสังคมเอียง เสียดุลในการปฏิบัติธรรม ๔ ข้อนี้

พรหมวิหาร ๔ ข้อนี้ ถ้าเราจัดเป็นพวกเป็นฝ่าย จะเหลือ ๒ เท่านั้น คือ ข้อ ๑ ถึง ๓ ได้แก่เมตตา กรุณา มุทิตา เป็นธรรมเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ต่อมนุษย์ หรือคนต่อคน ส่วนข้อที่ ๔ เป็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในกรณีที่เกี่ยวกับธรรม หรือพูดรวบรัดว่า เป็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรม จึงเป็น ๒ ฝ่าย คือมนุษย์กับมนุษย์ฝ่ายหนึ่ง และมนุษย์กับธรรมอีกฝ่ายหนึ่ง หรือคนกับคน และคนกับธรรม จะเห็นว่าในหมู่มนุษย์การปฏิบัติระหว่าง ๒ ฝ่ายนี้ มีการเอียงสุดได้

ในสังคมบางสังคม มนุษย์มีการเอื้อเฟื้อช่วยเหลือกัน มีน้ำใจต่อกันอย่างดี เด่นในเมตตา กรุณา ตลอดจนมุทิตามาก แต่สังคมนั้นอ่อนในอุเบกขา สังคมประเภทนี้เป็นอย่างไร ในแง่ดี ก็จะมีความรู้สึกอบอุ่น แช่มชื่นด้วยไมตรีจิตมิตรภาพ มีการเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันดี แต่ในแง่เสีย คนจะช่วยเหลือกันเป็นเรื่องส่วนตัวจนกระทั่งมองข้ามหลักการ มองข้ามกฎเกณฑ์กติกา มองข้ามความเป็นธรรมและความชอบธรรม พอมีอะไรเกิดขึ้นก็คิดว่าจะไปหาเพื่อนไปหาผู้ใหญ่ให้ช่วย เสร็จแล้ว กฎเกณฑ์ กติกา กฎหมาย ไม่เอาเลย เลี่ยงหมดเลย สังคมนี้ก็เสียดุล สังคมอย่างนี้ระยะยาวก็จะเสื่อม เพราะว่าอ่อนในอุเบกขา เรียกว่าเอียงสุดไปในด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เอาแต่จะช่วยเหลือกันระหว่างบุคคล

ส่วนในบางสังคม ความสัมพันธ์จะเด่นในอุเบกขา คือเอาแต่กฎเกณฑ์ กติกา และหลักการ ตลอดจนกฎหมาย สังคมมีกติกาวางไว้แล้ว หลักการมีอยู่แล้ว ทุกคนต้องปฏิบัติตามนั้น ตัวใครตัวมัน ถ้าแกผิดฉันฟัน แต่ระหว่างนั้น ไม่มีน้ำใจต่อกัน ไม่ช่วยเหลือกัน ทุกคนดิ้นรนขวนขวายเอาเอง ทุกคนช่วยตัวเอง และพึ่งตนเอง สังคมแบบนี้ก็แห้งแล้งน้ำใจ ขาดความอบอุ่น มีความเครียดสูง คนเป็นโรคจิตโรคประสาทกันมาก

จากหลักที่พูดมานี้ ก็ลองมาพิจารณาดูว่าเวลานี้สังคมเป็นอย่างไร สังคมไทยของเรานี้เอียงไหม จะเห็นได้ว่า สังคมไทยของเรา เอียงมาในทางความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในข้อที่ ๑ และ ๒ มาก ข้อที่ ๓ ก็ยังหย่อน แต่ข้อที่ ๑ ที่ ๒ หนัก จนกระทั่งแสดงออกมาทางถ้อยคำที่ใช้ในสังคมของเรา คือ คำว่า เมตตา กรุณา นี้เราพูดกันเรื่อย เป็นศัพท์สามัญ แต่มุทิตาพูดน้อยลง อุเบกขาไม่พูดเลย แสดงว่า ธรรมเสียดุลแล้ว

ทีนี้ หันไปดูสังคมฝรั่งบ้าง เรื่องเมตตา กรุณา มุทิตานี้ เอาน้อย แต่อุเบกขามาแรง ทุกคนต้องอยู่กับหลักการ ทุกคนต้องเคารพกฎหมาย ทุกคนปฏิบัติตามกฎหมายก็แล้วกัน ถ้าทำผิดก็โดน ถ้าทำถูกแกไปได้ กฎเป็นกฎ ไม่เอาใครทั้งนั้น สังคมอย่างนี้ก็ดีเหมือนกัน เพราะรักษาความเที่ยงธรรมไว้ได้ รักษากฎเกณฑ์กติกาของสังคมได้ แต่แห้งแล้งและเครียดอย่างที่ว่า ก็เสียดุลอีก

สังคมที่มีความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์สูงนั้น นอกจากเสียความเป็นธรรม รักษากฎเกณฑ์กติกาและหลักการไว้ไม่ค่อยได้แล้ว ในระยะยาว คนจะหวังพึ่งกันมากเกินไป คนจำนวนหนึ่ง ซึ่งมีนิสัยชอบหวังพึ่งผู้อื่น คอยรับความช่วยเหลือจากคนอื่น โดยคิดว่าไม่เป็นไรหรอก เดี๋ยวจนลงเราก็ไปขอยืมเพื่อนได้ ไม่เป็นไร เดี๋ยวแม่เรา ญาติเรา ผู้ใหญ่ของเราก็ช่วยเราได้ เลยไม่ดิ้นรนขวนขวาย ก็เลยเฉื่อยชา เกียจคร้าน ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา จึงทำให้คนโน้มเอียงไปในทางประมาท เฉื่อยชา สังคมก็จะเสื่อมหรืออืดอาด

ส่วนสังคมที่หนักในอุเบกขา เอาแต่กฎเกณฑ์กติกา ไม่เอาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ก็แห้งแล้งอย่างที่ว่า แต่ก็เป็นเครื่องบีบคั้นและเร่งรัดคนให้กระตือรือร้นขวนขวาย สร้างสรรค์ความเจริญได้ ทุกคนจะดิ้นรนขยันตัวเป็นเกลียว เพราะฉะนั้น จึงทำให้สร้างความเจริญก้าวหน้าได้ดี แต่ถ้าแห้งแล้งและเครียดเกินไปก็อาจจะถึงจุดเดือด คนจะเกิดความโกรธ มีโทสะว่า อะไรกัน มันไม่ช่วยเหลือกันบ้างเลยเชียวหรือ คนจะโกรธแค้น จนกระทั่งว่าหลักการกติกาเหล่านี้ เราไม่เอากับมันแล้ว ทำลายมันเลย หลักการของสังคมก็อยู่ไม่ได้เช่นเดียวกัน

เพราะฉะนั้น ถ้าเอียงสุดจนเกินไป ในที่สุดก็อยู่ไม่ได้ทั้งคู่ จึงต้องปฏิบัติให้พอดี ซึ่งอยู่ที่ว่า ทำอย่างไรจะรักษาดุลยภาพระหว่างธรรม ๔ ข้อนี้ไว้ ซึ่งแยกเป็น ๒ ฝ่าย คือเมตตา กรุณา มุทิตา ในส่วนของความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และอุเบกขาในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรม เพราะฉะนั้น ธรรมจึงเป็นชุดและต้องปฏิบัติให้ครบ เวลานี้เราปฏิบัติธรรมกัน แม้แต่ในชุดพรหมวิหารนี้ก็วุ่น ธรรมที่มาในสังคมไทย แตกกระจัดกระจายเป็นข้อๆ ไปหมด ยิ่งไปเรียนในโรงเรียน ยิ่งไปเรียนแบบจริยธรรมสากล ก็เลยไปกันใหญ่

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< เมื่อมองธรรมแยกกระจาย ไม่อยู่ในระบบความสัมพันธ์ ความเข้าใจก็ผิด การปฏิบัติก็พลาด ผลคือความเสียหายถึงเวลาที่ต้องมองหลักให้ชัดปฏิบัติให้ครบ เพื่อนำมวลมนุษย์หลุดทางตันสู่อารยธรรมที่แท้ >>

No Comments

Comments are closed.