ทำงานเพื่อชุมชนไทย และเพื่อถิ่นที่ไป เพื่อทั้งโลก แต่ไม่ทิ้งสังคมไทย

3 เมษายน 2538
เป็นตอนที่ 5 จาก 34 ตอนของ

ทำงานเพื่อชุมชนไทย และเพื่อถิ่นที่ไป
เพื่อทั้งโลก แต่ไม่ทิ้งสังคมไทย

ทีนี้ต่อไปก็มามองถึงการทำหน้าที่ ว่าการเป็นพระธรรมทูตในต่างแดน น่าจะมีบทบาทอย่างไรบ้าง ในการพูดวันนี้ ผมเอาประเทศอเมริกาเป็นตัวอย่าง อาจจะใช้ไม่ได้กับทุกประเทศ แต่เวลานี้พระธรรมทูตไทยไปประเทศอเมริกาคงจะมากที่สุด เพราะฉะนั้นก็เลยพูดเอาอเมริกาเป็นตัวอย่างไว้

พระไทยเราไปต่างประเทศอย่างอเมริกานี้ บทบาทที่หนึ่ง เราไปอยู่ที่วัดไทย วัดไทยทำหน้าที่อะไร วัดไทยนี้เรามองในแง่ว่าเป็นศูนย์กลางของชุมชนไทยก่อน ส่วนเรื่องการทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาแก่คนเจ้าถิ่น คือคนอเมริกันนั้น เป็นเรื่องรอง เทียบกันแล้วยังทำน้อยนิดเดียวหรือแทบไม่ได้ทำเลย บางวัดเข้าลักษณะที่พูดได้ว่า วัดของคนไทย โดยคนไทย เพื่อคนไทย วัดไทยของเรามีลักษณะเป็นอย่างนั้นมาก เพราะฉะนั้นสิ่งแรกที่เราจะต้องไม่มองข้าม ก็คือคนไทยด้วยกัน

วัดของเราเป็นศูนย์รวมจิตใจและเป็นศูนย์กลางของชุมชนไทย หน้าที่ข้อแรกคือบทบาทที่อยู่ในมืออยู่แล้ว ถ้าเรายังทำไม่ได้ ก็น่าเสียดาย อย่าไปมองข้าม อันนี้เป็นบทบาทพื้นฐาน ต้องทำให้สำเร็จ คือบทบาทในฐานะที่วัดไทยเป็นศูนย์รวมจิตใจ และเป็นศูนย์กลางของชุมชนไทย การเป็นศูนย์กลางของชุมชนไทยก็หมายถึงเรื่องวัฒนธรรมไทยด้วย คนไทยที่ไปอยู่ที่นั่น โดยส่วนใหญ่ก็เป็นพุทธศาสนิกชน แต่เป็นพุทธศาสนิกชนแบบไทยที่มีพื้นฐานจากวัฒนธรรมไทย เมื่อเราไปที่นั่น เราก็ต้องสนองความต้องการทางด้านวัฒนธรรมไทยมาก ดังนั้นวัดไทยทั้งหลายจะมีกิจกรรมต่างๆ ทางด้านวัฒนธรรม เช่น การทำบุญทำกุศลต่างๆ งานวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา งานประเพณี เช่น สงกรานต์ เป็นต้น และมีการสอนภาษาไทยแก่เด็ก ถึงกับมีการร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในเมืองไทย อย่างคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ก็ได้ร่วมมือสนับสนุนศาสนกิจของวัดหลายวัดในอเมริกา เดี๋ยวนี้แพร่ไปมาก

วัดใหญ่ในหลายรัฐหลายเมือง มีการร่วมมือกัน แต่ละปีมีการส่งครูอาจารย์ จากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปสอน หลายท่านคงทราบ สอนแล้วมีการสอบวัดผล ให้ประกาศนียบัตรจากเมืองไทยรับรอง หมายความว่า เด็กเหล่านี้ ถ้ากลับมาอยู่เมืองไทย ไม่ต้องห่วง ได้ใบประกาศนียบัตรแล้ว สามารถมาเรียนต่อได้ตามชั้นนั้นๆ กิจการได้ขยายไปมาก แต่ละปีทางคณะครุศาสตร์ก็จะมีอาจารย์ผู้ใหญ่ไปดูแล เป็นกิจกรรมซึ่งพัฒนามาจากโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ซึ่งสอนทั้งเรื่องของพระพุทธศาสนา และภาษาไทย ตลอดจนวัฒนธรรมไทย มีการสอนขับร้อง ดนตรี การรำอะไรต่างๆ แบบไทยด้วย รวมความว่า บทบาทแรก คือบทบาทในฐานะที่เป็นศูนย์รวมจิตใจและศูนย์กลางของชุมชนไทย โดยมีเรื่องวัฒนธรรมไทยและภาษาไทยเป็นแกน เป็นงานที่จำเป็น จะทิ้งไม่ได้

บทบาทที่สอง คือ เป็นแหล่งเผยแผ่พุทธธรรม ข้อนี้คล้ายกับว่าเป็นจุดหมายที่แท้จริง คือเราตั้งอันนี้เป็นหลักการใหญ่ ทั้งๆ ที่ว่าในทางปฏิบัติ ยังทำกันไม่เท่าไร อาจจะเป็นสิ่งที่เรียกว่าอยู่ในอุดมคติ การเผยแผ่พุทธธรรมก็คือเผยแพร่แก่คนเจ้าถิ่นนั่นเอง คนอเมริกันนั้นในสายตาของเราคือคนต่างชาติ แต่ที่จริงนั้น เขาเป็นเจ้าถิ่น ทำอย่างไรเราจะเผยแพร่ธรรมแก่คนเจ้าถิ่นให้ได้ผล เรื่องนี้เป็นหัวข้อใหญ่ที่ต้องพูดกันต่อไป

อย่างไรก็ตาม มีข้อพิจารณาระยะยาวอย่างหนึ่งว่า พระพุทธศาสนาจะประดิษฐานมั่นคงในดินแดนใด จะต้องให้เป็นพระพุทธศาสนาของสังคมนั้น ของคนชาตินั้นต่อไป เพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนาจะฝังรากในอเมริกาอย่างแท้จริงก็ต่อเมื่อคนอเมริกันได้มาเป็นชาวพุทธ มาบวชเป็นพระ และมาเป็นผู้ดำเนินกิจการเผยแผ่ต่อไป เหมือนอย่างพระพุทธศาสนามาเมืองไทย ถ้าตราบใดยังเป็นของพระอินเดียอยู่ ตราบนั้น ก็ยังเป็นของต่างชาติ ยังไม่ฝังรากลง ที่ฝังรากลงในประเทศไทยก็เพราะว่าพระพุทธศาสนาเป็นของคนไทยแล้ว คนไทยเราบวช เราเรียน เราเป็นพุทธศาสนิกชน พระพุทธศาสนาก็เป็นของคนไทย อันนี้ก็เหมือนกัน เราไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาในอเมริกา เราจะประสบความสำเร็จจริงไม่ได้ ถ้าเรายังไม่สามารถทำให้พุทธศาสนาเป็นของคนอเมริกัน การเป็นพระธรรมทูตเป็นการบอกอยู่ในตัวแล้วว่าเราทำหน้าที่เป็นสื่อนำเอาธรรมไปให้แก่เขา ให้เขารับเอาเป็นของเขาไป อันนี้พูดทิ้งไว้ก่อนเพราะเป็นหัวข้อใหญ่

ทีนี้บทบาทที่สาม คำว่าทูตนี้ มองดูให้ดี ทูตไปทำงานในประเทศอื่น แต่ทำแทนประเทศของตัว และเพื่อผลประโยชน์ให้ประเทศของตัว อันนี้เราอาจจะมองข้าม เช่น เอกอัครราชทูตไทย ไปประจำอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ทูตไทยทำงานเพื่ออะไร ก็ไปทำงานเพื่อประโยชน์ของประเทศไทย แสดงว่าผลประโยชน์ในที่สุดมันย้อนกลับมาสู่ประเทศของเรา อันนี้เป็นเรื่องของกิจการที่เรียกว่าทูตในทางบ้านเมือง

แต่ทูตในทางธรรม ที่เรียกว่าธรรมทูตนั้น ไม่ได้มีความหมายเหมือนกันทีเดียวกับทูตทางบ้านเมือง เพราะเราไม่ใช่ระบบผลประโยชน์ เราเป็นทูตของพระธรรม เราทำตามหลักการของพระพุทธเจ้าว่า จรถ ภิกฺขเว จาริกํ พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย จาริกไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลเพื่อความสุขของคนจำนวนมาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก จุดหมายกว้างเป็นสากล เราทำไม่ใช่เพื่อประโยชน์แก่ประเทศเราเท่านั้น อันนี้ต่างกันหน่อย แต่ถึงอย่างนั้นก็ตามก็มีแง่ที่ว่าเป็นประโยชน์บางอย่าง ชนิดที่ไม่ใช่เป็นเรื่องผลประโยชน์ในทางโลกที่แย่งชิงกัน คือเราไม่ได้ทำเหมือนชาวโลก เราไม่ได้ไปเอาผลประโยชน์จากประเทศของเขามาให้แก่ตัว แต่เราได้ประโยชน์ในทางที่จะทำให้เกิดความเจริญงอกงามที่ไม่ได้เป็นผลเสียแก่ใครๆ ไม่ใช่ระบบแย่งชิงผลประโยชน์ แต่หมายความว่า เมื่อเราไปเป็นพระธรรมทูต นอกจากจะเอาธรรม ความดีงาม และประโยชน์สุขไปให้แก่ดินแดนที่เราไปเป็นทูตแล้ว เราก็ควรจะนำคุณค่าประโยชน์สิ่งที่ดีงามกลับคืนมาให้แก่ประเทศของตนเองด้วย

ในแง่หนึ่ง พระธรรมทูตก็เป็นสื่อกลางระหว่างพระพุทธศาสนาหรือพุทธธรรม กับสังคมหรือดินแดนนั้นๆ ในเมื่อเป็นสื่อกลาง ด้านหนึ่งเราก็เอาธรรมไปให้แก่เขาเพื่อประโยชน์สุขของเขา แต่พร้อมกันนั้น เราก็คำนึงถึงประโยชน์สุขของสังคมไทย และพุทธศาสนาในประเทศไทยด้วย เช่นเราอาจจะได้แง่คิดข้อสังเกตอะไรที่ดีเป็นความรู้ที่จะกลับมาช่วยพัฒนาสังคมไทย พัฒนากิจการพระพุทธศาสนาในประเทศไทย เราก็คำนึงไว้ด้วย อย่าทิ้ง

ประโยชน์แบบนี้ไม่ใช่ผลประโยชน์แบบทางโลก ต่างจากทูตในทางโลก ซึ่งต้องการผลประโยชน์ให้ประเทศของตนจนกระทั่งแม้แต่บางทีไปทำร้ายประเทศอื่นๆ ก็มี ดังที่เราจะเห็นง่ายๆ เช่น การที่ต้องส่งทูตกลับกันบ่อยๆ อย่างทูตอเมริกันไปอยู่ในรัสเซียก็ทำเพื่อผลประโยชน์ของประเทศอเมริกา บางครั้งมีการลักลอบหาข้อมูล จนกระทั่งกลายเป็นจารชนไป ทางฝ่ายรัสเซียก็ทำกับอเมริกาทำนองเดียวกัน บางทีบุคคลในวงการทูตจึงกลายเป็นจารชน และถูกประเทศเจ้าถิ่นจับได้ แล้วขับไล่ออกมา เกิดปัญหาระหว่างประเทศ มีการทำกันถึงขนาดที่ว่า เอาเครื่องดักฟังไปฝังไว้ในกำแพงอาคารของอีกฝ่ายหนึ่ง เพื่อจะลักลอบเอาข้อมูลของอีกฝ่ายหนึ่งมาให้แก่ประเทศของตน เขาทำกันรุนแรง นั่นทูตทางโลก แต่ทูตทางธรรมเราไม่ได้ทำอย่างนั้น เราไปเพื่อประโยชน์ของทั้ง ๒ ฝ่าย เพราะฉะนั้น เราก็หาความรู้และแง่คิดอะไรต่างๆ เพื่อจะมาช่วยเกื้อกูลแก่สังคมไทยและพระพุทธศาสนาในสังคมไทยด้วย บทบาทอันนี้ก็สำคัญเหมือนกัน

แต่รวมความว่า ในการที่จะทำหน้าที่ทั้งหมดนี้ให้ได้ผลดี ก็ต้องกลับมาสู่หลักการในหัวข้อแรกที่พูดไว้แล้วคือ ต้องมีความมั่นใจในตัวเอง ว่าเรามีอะไรดีที่จะให้แก่เขา ถ้ายังนึกไม่ออกว่ามีอะไรจะไปให้แก่เขา ก็ยังไม่น่าจะไป ถ้าจะเอากันแบบอุดมคติ ต้องมั่นใจจริงๆ ว่าที่เราไปนี้เรามีอะไรดีที่จะให้แก่เขา แต่อย่ามองแบบหลงตนเอง บางทีเรานึกว่าตัวเองมีอะไรดีให้แก่เขา แต่มองแบบหลงตัวเองก็พลาดเหมือนกัน เพราะฉะนั้นจึงบอกว่าต้องไปด้วยปัญญา โดยมีความภูมิใจ มั่นใจ อันเกิดจากปัญญาที่รู้ความจริง ทั้งรู้หลักพุทธธรรม และรู้สภาพถิ่นที่จะไป ความรู้เข้าใจสภาพสังคมของเขาอย่างดีจะทำให้เราไม่หลงตัวเอง และไม่หลงไปตามเขา พร้อมทั้งทำงานเพื่อประโยชน์แก่เขาอย่างได้ผลดี

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ตั้งมั่นในแบบแผนหนักแน่นไม่หวั่นไหว– ๒ – ความติดตันของอารยธรรมปัจจุบัน >>

No Comments

Comments are closed.