ความเจริญที่แท้ เริ่มจากคนตั้งต้นพัฒนาอย่างถูกทาง

3 เมษายน 2538
เป็นตอนที่ 28 จาก 34 ตอนของ

ความเจริญที่แท้ เริ่มจากคนตั้งต้นพัฒนาอย่างถูกทาง

พระผู้เข้าอบรม – ที่ได้กราบเรียนถามไปเมื่อกี้นะครับ ก็พอสรุปได้ด้วยตัวเองว่า เป็นสุข แล้วก็อย่าเฉื่อยชา นี่ก็คงพอใช้ได้นะครับ

พระธรรมปิฎก – อันนั้นแหละ คือความไม่ประมาทละ

พระผู้เข้าอบรม – ครับผม

พระธรรมปิฎก – พอสุขแล้ว เฉื่อยชา คือประมาท

พระผู้เข้าอบรม – ครับ ทีนี้ มีอยู่อีกคำหนึ่งที่เกล้ากระผมมีความสนใจ แล้วก็อยากจะให้ชัดเจนมากๆ อาจจะเป็นส่วนตัวนะครับ ทุกท่านอาจจะชัดเจนหมดแล้วก็ได้นะครับ คำนี้เป็นคำที่คาใจ หรือว่ายังไม่ค่อยชัดเจนใจของพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไปนะครับ คือ คำว่า สันโดษ เพราะว่าตัวนี้ ถ้าไม่เข้าใจความหมายอย่างชัดเจน ก็อาจจะนำมาซึ่งความเสื่อมหรือความไม่พัฒนาสำหรับตัวเองและสังคมได้

ทีนี้ เกล้ากระผมก็อยากจะขอความคิดเห็นจากพระเดชพระคุณนะครับว่า เกล้ากระผมจะขอสรุปคำนิยามของคำว่าสันโดษนะครับ คือ สันโดษนี้มีส่วนส่งเสริมให้มีสภาพคล่องและไม่คล่องได้ในการพัฒนาร่างกายและจิตใจ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการนำมาใช้ สรุปเป็นคำนิยามในลักษณะอย่างนี้ ไม่ทราบว่าจะถูกต้องหรือไม่ครับ

พระธรรมปิฎก – อันนี้เป็นนิยามเชิงความมุ่งหมาย คือพูดถึงการนำไปใช้ประโยชน์ ส่วนนิยามในตัวความหมายของมันเองจะต้องให้ใกล้ศัพท์กว่านี้อีกหน่อย จึงขอถือโอกาสพูดเรื่องนี้ต่อจากเมื่อกี้ เมื่อกี้ยังไม่จบ เพราะเพิ่งตอบไปแง่เดียวว่า พุทธศาสนาจะเป็นเหตุให้สังคมไทยไม่เจริญ หรือทำให้คนไทยขี้เกียจอะไรทำนองนี้ แต่ยังไม่จบเท่านั้น

ข้อต่อไปก็คือว่า คนไทยเรานี้ อาจจะมีการใช้ธรรมบางข้อไม่ถูก หรือไม่เป็นธัมมานุธัมมปฏิบัติ เมื่อใช้ไม่ถูกต้อง เอาธรรมมาใช้ผิด มันก็เกิดโทษ แม้แต่กุศลธรรมเมื่อใช้ผิดก็เกิดโทษ และอีกอย่างหนึ่ง ตามหลักอภิธรรมบอกไว้แล้วว่า กุศลเป็นปัจจัยแก่อกุศลก็ได้ บางทีชาวพุทธเราก็ใช้กุศลเป็นปัจจัยแก่อกุศลกันเสียมาก ไม่ว่าจะใช้ผิดหรือใช้ไม่ครบ ก็เสียหายทั้งนั้น ใช้ผิดกับใช้ไม่ครบนั้น เป็นคนละอย่างกัน ที่ว่าใช้ไม่ครบ เช่น ใช้ไม่ครบชุดของมัน ไม่ครบถ้วนตามระบบองค์รวม ใช้เว้าๆ แหว่งๆ มีตัวอย่างเยอะ จะพูดกันเรื่องนี้ก็ยังว่ากันได้อีกมาก ตอนนี้ ก็เลยต้องขอยกเอาเรื่องสันโดษที่พูดแล้วข้างต้นมาพูดเสริมอีก

เรื่องสันโดษนี้ ก็เป็นตัวอย่างของการใช้ธรรมที่ไม่ครบถ้วนกระบวนการ สันโดษนั้นไม่ใช่จบแค่ความหมาย ความหมายว่าตามศัพท์ ก็แปลว่า ความพอใจ อันนี้แปลโดยพยัญชนะ แต่มันไม่ใช่คำจำกัดความทางวิชาการ ทีนี้เราแปลให้กว้างออก ความสันโดษก็คือ ความพอใจในสิ่งที่ตนมีตนได้ จากนั้นก็ขยายความออกไปอีกในเชิงวัตถุว่า สันโดษ คือความพอใจในสิ่งที่ได้มาเป็นของตน ด้วยความเพียรพยายามอันชอบธรรม นี่เป็นคำจำกัดความที่กว้างขึ้นไปอีก เพราะบอกกำกับไว้ว่า ในการที่จะสันโดษนั้นจะต้องขยันหมั่นเพียรด้วย และได้มาโดยชอบธรรมด้วย เพราะสันโดษนี้มุ่งกำจัดทุจริตด้วย กล่าวคือ ถ้าไม่สันโดษในของตนก็ไปยินดีในของคนอื่น แล้วก็ไปลักขโมยของเขา แต่ทั้งหมดนี้ก็ยังเป็นเพียงส่วนหนึ่งของคำจำกัดความหรือความหมาย

สันโดษไม่จบเท่านั้น เพราะธรรมนั้น เป็นระบบแห่งความสัมพันธ์ ธรรมทั้งหลายมีความสัมพันธ์ส่งผลต่อกันในระบบองค์รวม เพื่อนำไปสู่จุดหมายรวมอันเดียวกัน คือการบรรลุพระนิพพาน คือเพื่อบรรลุจุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา ในเมื่อธรรมทุกข้อส่งผลไปรวมกัน ธรรมทุกข้อก็ต้องสัมพันธ์ส่งผลต่อกัน ธรรมข้อย่อยก็ต้องสอดคล้องกับหลักการข้อใหญ่ จึงเรียกว่า ธัมมานุธัมมปฏิบัติ ที่แปลกันมาว่าปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ซึ่งอรรถกถาท่านอธิบายว่า ธรรมน้อยต้องคล้อยแก่ธรรมใหญ่ ซึ่งเป็นหลักการปฏิบัติเพื่อเจริญก้าวหน้าสู่จุดหมายของพระพุทธศาสนา

ถ้าปฏิบัติสันโดษแล้วนอนสบายเป็นสุข มันก็ไม่สอดคล้องกับธรรมที่เป็นหลักการใหญ่ หลักการใหญ่คือการที่จะก้าวไปให้ถึงจุดหมาย ถ้าสันโดษแล้วนอนสบาย มันก็ไม่ก้าว สันโดษจะต้องสัมพันธ์กับธรรมอื่นๆ เพื่อให้ก้าวไปสู่จุดหมายใหญ่ ในระบบองค์รวมทั้งหมด เพราะฉะนั้น ธรรมย่อยๆ จึงสัมพันธ์กัน เมื่อกี้จึงพูดถึงความหมายหลายแง่

ในแง่ความหมาย เราอาจจะพูดสั้นหรือพูดยาวก็ได้ อย่างที่พูดเมื่อกี้ว่า สันโดษคือความพอใจ สันโดษคือความพอใจในสิ่งที่ตนมีตนได้ สันโดษคือความพอใจตามมีตามได้ในสิ่งที่เป็นของตน ตลอดจนว่าสันโดษคือความพอใจในสิ่งที่ได้มาเป็นของตนด้วยความเพียรพยายามอันชอบธรรม

ที่ให้ความหมายมาทั้งหมดก็อย่างนี้ แต่ยังไม่จบเท่านั้น ในระบบความสัมพันธ์ต้องมีต่อ สันโดษต้องมีคำตามด้วยว่า สันโดษในอะไร นี่แหละ ตอนนี้ที่สำคัญมาก ในพระสูตรมีไหมที่พระพุทธเจ้าตรัสทิ้งไว้ลอยๆ นอกจากในคาถาเท่านั้นที่ตรัสลอยๆ เช่น สนฺตุฏฐี ปรมํ ธนํ แต่ถ้าตรัสในร้อยแก้วเป็นพระสูตร เป็นคำสอน ต้องตามมาด้วยคำต่อตามว่า สันโดษในจีวร…ในบิณฑบาต…ในเสนาสนะ ตามมีตามได้ และท้ายสุดจะมีธรรมอื่นมารับอีก เช่น ในอริยวงศ์ ๔ ข้อที่ ๔ ว่ายินดีในการเจริญกุศลธรรม และพอใจในการละอกุศลธรรม แสดงว่ายังต้องตามมาอีกว่า สันโดษแล้วต่อด้วยอะไร ซึ่งก็จะเห็นว่าสันโดษ ๓ ข้อต้นมาสอดคล้องกับข้อที่ ๔ นี้ โดยส่งผลมาสู่เป้าหมายที่ต้องการในข้อที่ ๔ ซึ่งมาปิดท้าย

เพียงแค่หลักอริยวงศ์ ๔ นี้ ก็ให้ความชัดเจนแล้วในเรื่องขอบเขตและความมุ่งหมายของสันโดษ ในระบบความสัมพันธ์ขององค์ธรรมต่างๆ ต้องขอย้ำว่า สองอย่างนี้สำคัญมาก คือ สันโดษในอะไร และ สันโดษแล้วต่อด้วยอะไร (=สันโดษแล้วจะต้องทำอะไรต่อไป) แต่ตอนนี้เอาแค่นี้ก่อนว่า สันโดษในอะไร

สันโดษท่านบอกคำต่อตามไว้เสร็จแล้วว่า สันโดษด้วยวัตถุปัจจัยบำรุงชีวิต ถ้าเป็นคฤหัสถ์เราก็ขยายความหมายว่าพอใจในวัตถุบำรุงบำเรอปรนเปรอความสุข มีความสุขได้ง่ายด้วยวัตถุสิ่งเสพตามมีตามได้ ไม่ต้องวุ่นวายทะเยอทะยานมักมากในสิ่งเสพเหล่านั้น

เมื่อเราสันโดษในสิ่งเสพสิ่งบริโภคอย่างนี้แล้ว พระพุทธเจ้าก็ตรัสธรรมไว้อีกคู่กันกับความสันโดษในวัตถุบำรุงบำเรอ คือตรัส ความไม่สันโดษ ไว้เป็นหลักธรรมเหมือนกัน แต่ก็มีคำต่อตามว่า ความไม่สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่ใช่ทิ้งลอยๆ ถ้าพูดว่าไม่สันโดษเฉยๆ ก็ผิดอีก ความไม่สันโดษในกุศลธรรม ขอให้ไปดูเถอะ ตรัสไว้มากมาย แต่เราไม่เอามาสอนกัน

ความไม่สันโดษในกุศลธรรมนี้ พระพุทธเจ้าตรัสถึงขนาดว่า ที่เราได้บรรลุโพธิญาณนี้ ได้เห็นคุณของธรรมสองประการ คือ ความไม่สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย และความไม่ระย่อในการบำเพ็ญเพียร อย่างที่ได้พูดมาข้างต้นแล้ว พระพุทธเจ้าจึงเป็นตัวอย่างของการไม่สันโดษในกุศลธรรม

เป็นอันว่า ประสานสอดคล้องกันเลย คือสันโดษในวัตถุสิ่งเสพ กับไม่สันโดษในกุศลธรรม ฉะนั้น เราจะหยุดแค่ความสันโดษไม่ได้ ต้องต่อไปที่ความไม่สันโดษด้วย แล้วทีนี้ความสันโดษมาเอื้อต่อความไม่สันโดษและความเพียรอย่างไร

เมื่อเราสันโดษในวัตถุบำรุงบำเรอ เราก็ไม่เสียเวลาไปกับการขวนขวายหาสิ่งเหล่านี้ คนที่ไม่สันโดษ อยากจะหาวัตถุบำรุงบำเรอตัว หาอาหารดีๆ กินเอร็ดอร่อย คิดจะหาความสุขจากการเสพการบริโภค แกก็เสียเวลาไปในการวุ่นวายหาสิ่งเหล่านี้ แล้วแกก็เสียแรงงานด้วย แรงงานของแกก็หมดไปกับการหาสิ่งเหล่านี้ ความคิดอีกล่ะก็มัวแต่หมกมุ่นครุ่นคิดว่า เอ…พรุ่งนี้เราจะไปกินที่ไหนให้อร่อยให้โก้ จะไปกินอะไรให้เลิศรส คิดแต่เรื่องเหล่านี้ เวลา แรงงาน และความคิดหมดไปกับเรื่องเหล่านี้ ไม่เป็นอันทำการทำงานหรือสร้างสรรค์อะไร ถ้าหมกมุ่นวุ่นวายเรื่องนี้มากนัก ก็เสียงานไปเลย หรือถ้าหนักนักก็ต้องทุจริต

ในทางตรงข้าม พอเราสันโดษในวัตถุสิ่งเสพ เราก็สงวนเวลา แรงงาน และความคิด ไว้ได้ทั้งหมด แล้วเราก็เอา เวลา แรงงาน และความคิดนั้นมาทุ่มให้กับความเพียรพยายามในการปฏิบัติกิจหน้าที่การงานและการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม คือ ความไม่สันโดษในกุศลธรรม ก็ทำหน้าที่และสิ่งดีงามได้เต็มที่ สอดคล้องกันหมด

ขอสรุปจุดเน้นว่า สันโดษในวัตถุสิ่งเสพ และสันโดษแล้วต่อด้วยความเพียร หมายความว่า สันโดษ ทำให้สุขง่ายด้วยปัจจัยน้อย จะได้ไม่กระวนกระวาย จิตใจจะได้พร้อม แล้วสงวนเวลา แรงงาน และความคิดไว้ เพื่อเอาไปทุ่มเทอุทิศให้กับการเพียรพยายามพัฒนากุศลธรรม ทำกิจหน้าที่ สร้างสรรค์สิ่งดีงามและประโยชน์สุขให้ยิ่งขึ้นไป

นี่แหละคือหลักในการพิจารณาธรรม เป็นหลักการครอบคลุมที่ใช้ได้ทั่วไป งานสำคัญต้องเริ่มตั้งแต่เรื่องของปัญญา คือด้านความรู้ เราต้องให้ความรู้ที่เป็นภูมิปัญญาที่สูงขึ้นไปแก่มนุษย์ยุคปัจจุบัน ยิ่งไปในสังคมตะวันตก เราต้องมีอะไรที่จะให้แก่เขาในสิ่งที่ลึกซึ้งได้ ไม่ใช่อยู่แค่สิ่งเล็กๆ น้อยๆ แม้จะสอนสิ่งเล็กน้อย ก็ต้องมาจากฐานความมั่นใจในหลักการใหญ่ด้วย คือต้องมีหลักการใหญ่ที่เรามั่นใจอยู่ เป็นที่รองรับ เมื่อพูดถึงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็เป็นขั้นเอาไปประยุกต์ และเราจะต้องไปประยุกต์ให้เข้ากับสังคมนั้น ซึ่งจะเป็นเรื่องที่ไม่ใช่สูตรสำเร็จ เพราะในสังคมเวลานี้ ก็ไม่มีสูตรสำเร็จอะไรทั้งสิ้น

ที่จริง เพราะติดในสูตรสำเร็จนี่แหละ มันจึงยุ่ง ฝรั่งมีสูตรสำเร็จที่มาจากฐานความคิดที่ผิด ปัญหาของยุคปัจจุบันจึงเกิดขึ้น และสูตรสำเร็จเหล่านั้น ก็กำลังถูกยกเลิกไปตามๆ กัน ตอนนี้งานอย่างหนึ่งของเราก็คือจะต้องไปสร้างสูตรใหม่ให้แก่เขา โดยนำเอาหลักการของธรรมไปประยุกต์ให้เข้ากับสภาพสังคมและปัญหาของเขา ตลอดจนเหตุปัจจัยของเขา ฉะนั้น ในขั้นประยุกต์ การแก้ปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ก็ว่ากันไป เช่น ในเรื่องเศรษฐกิจว่าจะเอาอย่างไร เศรษฐกิจปัจจุบันมีจุดอ่อน บกพร่องอย่างไร ลัทธิทุนนิยมจะแก้ปัญหาของโลกได้หรือไม่ มันก่อให้เกิดปัญหาอย่างไร เพราะอะไร ในเรื่องรัฐศาสตร์จะเอาอย่างไร ต้องไปชี้ให้เขาได้

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ขัดแย้ง จำใจ ไม่ยั่งยืน คือความติดตันของความเจริญยุคปัจจุบันแสงสว่างช่วยส่องทางไปข้างหน้า แต่แสงสีอาจพาให้หลงวน >>

No Comments

Comments are closed.