หนึ่งต่อด้วยอะไร จึงจะไปถึงสิบ

3 เมษายน 2538
เป็นตอนที่ 19 จาก 34 ตอนของ

หนึ่งต่อด้วยอะไร จึงจะไปถึงสิบ

เรื่องนี้ให้แง่คิดแก่เราอย่างที่ว่าแล้ว คือ ปัจจัยที่จะใช้ในการสร้างสรรค์อะไรสักอย่างหนึ่งนั้น อย่ามองตัวเดียวแยกออกมา ต้องมองตัวควบ ตัวประสาน ตัวสัมพันธ์ หรือตัวประกอบอื่นด้วย ปัจจัยตัวเดียวกันนั้น เมื่อใช้ประกอบกับปัจจัยอีกตัวหนึ่ง ทำให้เกิดการสร้างสรรค์เจริญก้าวหน้า แต่พอปัจจัยตัวเดียวกันนั้นไปประกอบร่วมกับปัจจัยอีกตัวหนึ่ง ต่างออกไป กลับทำให้เกิดความเสื่อมไปเลย อย่างสันโดษก็เช่นเดียวกัน ถ้าเราไม่ใช้สันโดษเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะไปร่วมกับปัจจัยอื่นเพื่อทำให้เกิดการสร้างสรรค์ แต่ใช้สันโดษล้วนๆ เฉพาะตัว ก็ไปหยุดอยู่ที่ความพอใจ แล้วก็สบาย พอแค่นี้ ก็ได้ความสุข แต่ผลตามมาก็ขี้เกียจเท่านั้นเอง นอนสบาย ไม่ต้องเอาอะไร แค่นี้เราสุขแล้ว พระพุทธเจ้าไม่เคยสอนสันโดษแบบนี้

สันโดษมีจุดมุ่งหมายเพื่ออะไร ธรรมทุกข้อต้องมีความมุ่งหมาย บางคนตอบว่า สันโดษเพื่อจะได้มีความสุข ยังไม่เคยพบที่ไหนที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า สันโดษเพื่อมีความสุข แต่สันโดษนั้นทำให้มีความสุขในตัวของมันเองทันทีเลย แต่สันโดษไม่ใช่เพื่อความสุข เวลาเราสันโดษแล้วเราก็สุขได้เลย เราจะพอใจในปัจจัย ๔ ที่มีน้อยๆ และเราก็มีความสุขในทันที สันโดษทำให้เราเป็นคนมีความสุขได้ง่าย แต่สันโดษไม่ใช่เพื่อความสุข ความสุขเป็นผลพลอยได้ที่เกิดตามมาเองจากสันโดษ แต่ไม่ใช่จุดหมายของสันโดษ

สันโดษอยู่ในกระบวนการปฏิบัติธรรม คือ เป็นปัจจัยอย่างหนึ่งในระบบความสัมพันธ์ สู่จุดหมายใหญ่อันเดียวกัน ฉะนั้น มันจึงต้องมีความมุ่งหมายเพื่อจะก้าวหน้าไปสู่ธรรมที่สูงขึ้นไป สันโดษเป็นปัจจัยตัวหนึ่งที่จะให้เราก้าวหน้าในการปฏิบัติ โดยที่มันไปสนับสนุนความเพียร หมายความว่า สันโดษเป็นตัวเอื้อให้เราเพียร เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสความไม่สันโดษ ไว้คู่กันด้วย

พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัส ‘สันโดษ’ ไว้ลอยๆ สันโดษต้องมีอะไรตามมาด้วย สันโดษสำหรับพระภิกษุก็ตามด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ ถ้าไม่มีตัวตาม เป็นสันโดษลอยๆ ใช้ไม่ได้ ถ้าตัวตามผิดไป เช่น ภิกษุไปสันโดษในกุศลธรรม ก็กลายเป็น ปมาทวิหารี (ผู้อยู่ด้วยความประมาท) ไปเลย

ในพระสูตรหนึ่งพระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ภิกษุแม้จะเป็นอริยบุคคล เช่น เป็นโสดาบัน ปฏิบัติธรรมได้บรรลุคุณธรรมวิเศษ แล้วมาพอใจว่าเรานี้ได้บรรลุคุณธรรมเบื้องสูงถึงขนาดนี้แล้วเกิดสันโดษขึ้น พระพุทธเจ้าตรัสว่า ภิกษุรูปนั้นเป็น ปมาทวิหารี แปลว่า ผู้อยู่ด้วยความประมาท เป็นผู้ที่จะเสื่อม ฉะนั้น สันโดษในกุศลธรรมจึงผิด พระพุทธเจ้าไม่เคยตรัส มีแต่ตรัสว่า ให้ไม่สันโดษในกุศลธรรม

เป็นอันว่า สันโดษนั้น หนึ่ง ต้องมีตัวตามว่า สันโดษในอะไร ไม่ใช่ทิ้งไว้ด้วนๆ ลอยๆ สอง ต้องมีตัวควบว่าต้องมากับอะไรหรือต่อด้วยอะไร สาม ต้องมีจุดหมายว่าเพื่ออะไร

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ที่เราได้ตรัสรู้มานี้ ได้เห็นคุณของธรรมสองประการ คือ หนึ่ง ความไม่สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย สอง การบำเพ็ญเพียรไม่ระย่อ

พุทธพจน์นี้มาในอังคุตตรนิกาย ตรัสแสดงไว้ให้เราจำตระหนักว่า พระองค์ได้ตรัสรู้ คือบรรลุโพธิญาณ เพราะไม่สันโดษตามด้วยคำว่า ในกุศลธรรมทั้งหลาย เป็นอันว่า ธรรมที่ทำให้พระพุทธเจ้าตรัสรู้ คือ หนึ่ง อสนฺตุฏฐิตา กุสเลสุ ธมฺเมสุ ความไม่สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย สอง อปฺปฏิวาณิตา จ ปธานสฺมึ ความไม่ระย่อในการบำเพ็ญเพียร และพระองค์ได้บรรยายต่อไปว่า เรานั้น นั่งลงที่ควงโพธิ์ แล้วได้อธิษฐานจิตว่า ถ้ายังไม่ถึงธรรมที่จะพึงบรรลุได้ด้วยความเพียรของบุรุษตราบใด แม้เลือดเนื้อจะแห้งเหือดเหลือแต่เส้นเอ็น ก็จะไม่ลุกขึ้น นี่เป็นตัวอย่าง

พระพุทธเจ้าไม่เคยสันโดษเลยในเรื่องกุศลธรรม พระองค์เสด็จออกไปหาความรู้ แสวงหาผลสำเร็จในทางจิตใจ ไปบำเพ็ญสมาธิ ไปเข้าสำนักโยคะ ไปเข้าสำนักอาฬารดาบส กาลามโคตร ได้บรรลุถึงอากิญจัญญายตนสมาบัติ ไม่สันโดษ ไม่พอแค่นั้น เสด็จต่อไปยังสำนักอุททกดาบส รามบุตร ได้ถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะ ก็ไม่สันโดษอีก เขาเชิญให้ทรงเป็นอาจารย์ร่วมสำนักด้วย ก็ไม่เอา พระองค์ยังไม่ถึงจุดหมาย ก็ไม่หยุด คิดค้นเพียงพยายามต่อไปจนกระทั่งตรัสรู้ จึงได้ตรัสยืนยันไว้ว่า ที่พระองค์ตรัสรู้นั้น เพราะไม่สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย

ธรรม ๒ ข้อนี้มิใช่ตรัสไว้ในพระสูตรเท่านั้น แม้ในพระอภิธรรมปิฎกท่านก็แสดงไว้เป็นมาติกาหนึ่งในหมวดทุกมาติกาด้วย ฉะนั้น ความไม่สันโดษนี้ว่าไปแล้ว สำคัญยิ่งกว่าความสันโดษอีก แต่เราแทบจะไม่พูดกันเลย เราพูดถึงแต่สันโดษและเป็นสันโดษด้วนๆ

ถ้าเราปฏิบัติถูกต้อง เมื่อเราสันโดษในปัจจัย ๔ ตลอดจนในวัตถุบำรุงบำเรอทั้งหลายแล้ว เราก็ไม่สันโดษในกุศลธรรมได้เต็มที่ มันก็รับกันพอดี ความสันโดษกับความไม่สันโดษนี้ ประสานสอดคล้องกันอย่างยิ่ง เมื่อเราสันโดษในปัจจัย ๔ และในวัตถุบำรุงความสุขแล้ว เราก็มีเวลา แรงงาน และความคิด เหลือเฟือ เราก็เอาเวลา แรงงาน และความคิดนั้นไปใช้ในการไม่สันโดษในกุศลธรรม ทำให้บำเพ็ญเพียรเพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ และเจริญก้าวหน้าในกุศลธรรมได้เต็มที่

ฉะนั้น เรื่องธรรมนี้ จะต้องวิเคราะห์กันให้ชัดไปเลย ในที่นี้ยกมาเพียงเป็นตัวอย่างให้เห็นว่า ในสังคมอเมริกัน ลัทธิปัจเจกนิยม (individualism) ได้กลายมาเป็นปัญหา ซึ่งตอนนี้ฝรั่งเริ่มเห็นแล้ว ฝรั่งเริ่มเข้าใจอะไรต่ออะไรในระบบความสัมพันธ์แห่งปัจจัยต่างๆ มากขึ้น

เหตุหนึ่งที่ทำให้ฝรั่งสนใจในพระพุทธศาสนา คือการที่พระพุทธศาสนาสอนว่ามนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ฝรั่งไปติดในระบบความคิดแบบแบ่งซอย แยกส่วน จนกระทั่งในทางวิชาการก็ออกมาเป็นความชำนาญพิเศษเฉพาะด้าน (specialization) พอมองเห็นว่าแนวความคิดนี้ติดตัน แก้ปัญหาไม่ได้ ก็หันมาสนใจระบบองค์รวม แล้วก็มาเรียนรู้ว่าพระพุทธศาสนามองสิ่งทั้งหลายทุกอย่างอยู่ในระบบความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย ว่าสิ่งทั้งหลายเป็นการประชุมเข้าขององค์ประกอบทั้งหลายที่เป็นปัจจัยอิงอาศัยส่งผลต่อกัน ฝรั่งก็มาชอบหลักนี้ แล้วก็ถือว่าเข้ากับแนวความคิดใหม่ของเขาที่มองอะไรเป็นระบบ ขณะนี้ฝรั่งมองอะไรแม้แต่เรื่องธุรกิจการจัดการ ก็ต้องใช้การคิดเป็นระบบ เรียกว่า systems thinking ซึ่งตอนนี้กำลังเฟื่องใหญ่

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< หนึ่งกับหนึ่งเป็นสอง กลายเป็นหนึ่งกับหนึ่งเป็นสูญภูมิปัญญาที่สร้างความเจริญน่าตื่นตาในเบื้องต้น แต่นำสู่ความอับจนในเบื้องสุด >>

No Comments

Comments are closed.