ตั้งมั่นในแบบแผนหนักแน่นไม่หวั่นไหว

3 เมษายน 2538
เป็นตอนที่ 4 จาก 34 ตอนของ

ตั้งมั่นในแบบแผนหนักแน่นไม่หวั่นไหว

ข้อที่ ๒ นอกเหนือจากด้านภูมิปัญญาแล้ว เรื่องความประพฤติก็สำคัญแน่นอน พระนั้นมีหลักอยู่แล้ว คือมีวินัย เรื่องแบบแผนความประพฤติของเรานี้ เมื่อเราไปอยู่ต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่เจริญอย่างอเมริกา ถ้าเราไม่มีความมั่นใจในตัวเองตั้งแต่ต้น จะรู้สึกว่า เราชักจะหวั่นไหวง่าย หวั่นไหวทั้งสภาพแวดล้อมที่ล่อเรา คือความสะดวกสบายต่างๆ และอีกอย่างหนึ่ง คือ ความรู้สึกคล้ายๆ ว่า เราไปอยู่ในประเทศที่เจริญ เขาไม่ได้ประพฤติปฏิบัติอย่างนี้ เราทำอย่างนี้ มีระเบียบวินัยแบบแผนความประพฤติของพระอย่างนี้ ไม่สอดคล้องกับประเทศที่เจริญแล้ว รู้สึกตัวเองชักจะหวั่นไหว พาลจะเขวจากแนวทางความประพฤติของพระ อันนี้ก็เป็นจุดอ่อนสำคัญอย่างหนึ่ง

ในทางที่ถูกต้องเราต้องมีความมั่นใจในวินัยของพระสงฆ์ ซึ่งมีความผสมผสานกับวัฒนธรรมไทย เราต้องยืนหยัดในการที่จะประพฤติตามหลักพระวินัยของเรา ลองนึกถึงพวกคนยิว (Jews) ยิวนี่เป็นชาติที่มีอิทธิพลอย่างยิ่ง ครอบงำสังคมอเมริกันมากในทางเศรษฐกิจ ว่ากันว่าโรงพยาบาลเอกชนทุกโรงในนิวยอร์คเป็นของยิว และยิวก็มีอิทธิพลทางการเมืองอย่างมากมาย เพราะฉะนั้น ยิวรบกันกับพวกอาหรับ ยิวแค่ ๓ ล้าน รบกับอาหรับตั้งมากมาย ยิวยังเอาชนะได้

ยกตัวอย่าง เมื่อยิวรบกับประเทศอียิปต์ประเทศเดียว ๘๐ ล้านคน หลายปีมาแล้ว เขาเรียกกันว่าสงคราม ๗ วัน ตอนนั้น นัสเซอร์ (Gamal Abdel Nasser) แห่งอียิปต์ (Egypt) เป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ อียิปต์นับถือเหลือเกิน พอนัสเซอร์มีกำลังเข้มแข็ง ก็คิดว่าเราจะต้องแก้แค้น ต้องทำลายประเทศอิสราเอล (Israel) ลงให้ได้เพราะพร้อมที่สุดแล้ว อาจจะไม่มีระยะใดสมัยใดที่พร้อมเท่านั้นสำหรับยุคสมัยใหม่ ก็ตกลงว่าจะทำสงครามบุกยิว กะว่าถล่มคราวนี้ให้ล่มจมหายไปเลย แต่พออียิปต์จะเอาเครื่องบินขึ้นไปรบ ยังไม่ทันเอาเครื่องบินขึ้นเลย ยิวถึงตัวถล่มสนามบินอียิปต์หมดแล้ว ไม่มีสนามบินจะขึ้น ๗ วันเท่านั้น อียิปต์ยอมแพ้ อียิปต์ตอนนั้นมีพลเมือง ประมาณ ๘๐ ล้าน ยิวมี ๓ ล้านคน สงครามคราวอื่นก็มีมาเรื่อยๆ แต่ยิวที่แสนเล็กสามารถที่จะรอดตัวอยู่ได้ท่ามกลางภัยอันตรายที่คุกคามตลอดเวลา

ไม่ต้องพูดถึงการสร้างความเข้มแข็งภายใน เช่น คนยิวจะมีการฝึกฝนอย่างดีมาก ชนิดที่ว่า ไม่ว่าหญิงหรือชาย ทุกคน เมื่อมีเหตุจำเป็นเกิดขึ้น จะทำทุกอย่างได้ทันที เขาถือว่าคนยิวทุกคน ขึ้นรถ ขับรถได้ ลงเรือ ขับเรือได้ ขึ้นเครื่องบิน ขับเครี่องบินได้ ทำอะไรได้ทุกอย่างพร้อมหมด เพราะฉะนั้น ๑ ต่อ ๑๐ นี่ไม่กลัว แต่อันนี้เป็นส่วนของเรื่องภายใน อีกส่วนหนึ่งที่น่าสังเกตภายนอกก็คือ คนยิวรักชาติของตัวเองมาก ไม่ว่าจะไปอยู่ในดินแดนไหนก็ตาม เขามีความยึดมั่นในชนชาติของเขา รวมทั้งศาสนาด้วย ฉะนั้น พวกยิวนี้ถ้ามองด้วยสายตาของคนภายนอกจะเห็นว่า เขายึดถือในข้อปฏิบัติตลอดจนถือสัญลักษณ์ต่างๆ ที่เป็นรูปธรรมของเขาอย่างเคร่งครัดมาก จนดูเหมือนเป็นเรื่องของความเหลวไหลงมงาย แต่ไม่เห็นเขาจะไปหวั่นใจเลย เขามีความมั่นใจ เขาปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ หลักระเบียบของวัฒนธรรมของเขาอย่างมั่นคง เขาก็สามารถสร้างเกียรติภูมิหรือศักดิ์ศรีของเขาขึ้นมาได้ นี่เป็นตัวอย่างที่ให้เห็นว่าเราควรมีความมั่นใจในตัวเอง

คนไทยเราหรือชาวพุทธนี้ ไม่ค่อยมีความมั่นใจในตัวเอง เรื่องของรูปแบบ เช่นวัฒนธรรม ที่แสดงออกภายนอก คนไทยไปอยู่ในต่างประเทศแล้วรักษาไม่ค่อยอยู่ คนไทยชาวพุทธนี้ในแง่หนึ่งก็เป็นคนที่มีลักษณะประสานกลมกลืน ปรับตัวได้เก่ง แต่อีกด้านหนึ่งขาดความมั่นใจในตัวเอง ต่างจากหลายประเทศอื่นที่เขามั่นคงมากในเรื่องของวัฒนธรรมและรูปแบบภายนอกต่างๆ ดังยิวนี้เป็นตัวอย่าง การแต่งตัวหรืออะไรก็ตามที่เป็นสัญลักษณ์ของเขา เขาไม่หวั่นใจว่าใครจะมองอย่างไร เขารักษาของเขาได้

จะดูชนชาติชาวอื่นบ้างก็ได้ เช่น เดี๋ยวนี้ชาวมุสลิม (Muslim) กำลังเข้าไปในอเมริกามาก จากสุเหร่าหรือมัสยิด (mosque) ที่มีจำนวนแค่อาจจะเป็นร้อยเมื่อไม่กี่ปีมานี้ ขณะนี้มัสยิดในอเมริกาเพิ่มขึ้นมาก มีจำนวนเป็นหมื่น เข้าใจว่าขณะนี้คนอเมริกันกำลังหวั่นใจเรื่องนี้มาก ดังมีข่าวสารบทความต่างๆ ออกมาทางวิทยุเป็นต้น ค่อนข้างบ่อย อาจเป็นเพราะว่า ประชากรมุสลิมเพิ่มขึ้นค่อนข้างรวดเร็ว แต่ประชากรเพิ่มก็ยังไม่เท่าไร ที่สำคัญก็คือลักษณะทางสังคมและกิจกรรมต่างๆ

คนมุสลิมจับกลุ่มกันอย่างมั่นคงเข้มแข็งมาก แล้วก็มีลักษณะอย่างที่ว่า คือ เขามีข้อวัตรปฏิบัติและรูปแบบวัฒนธรรมที่เขายืนหยัด ยึดมั่นเหลือเกิน ซึ่งมีทั้งผลดี และผลร้าย ถ้ามีเวลาจะได้พูดต่อไป ผลดี คือ เขาสามารถรักษาหมู่คณะของตัวเองไว้ได้แล้วก็ก้าวไปด้วยกันอย่างมีพลัง แต่ในแง่ไม่ดีก็คือ ความโน้มเอียงในทางที่จะแบ่งแยกขัดแย้งและทำลาย ในระยะที่แล้วมามีปัญหาเกี่ยวกับมุสลิมเยอะ โดยเฉพาะกลุ่มฟันดาเมนตาลลิสต์ (fundamentalists) ซึ่งไปดำเนินการก่อการร้าย วางระเบิดที่ World Trade Center เมื่อวันที่ ๒๖ ก.พ. ๒๕๓๖ (๑๙๙๓) ทำให้คนตาย ๖ คน บาดเจ็บกว่า ๑,๐๐๐ คน แล้วก็จะไปทำลายอาคารสำคัญอื่นๆ ในนิวยอร์คอีกเยอะ เช่น ตึกสหประชาชาติ เป็นต้น แต่พอดีจับได้ก่อน เป็นปัญหามาก

เวลานี้วิทยุอเมริกัน อย่าง V.O.A. ออกบทความเกี่ยวกับเรื่องศาสนาอิสลามถี่ขึ้น ซึ่งแต่ก่อนเขาไม่ค่อยสนใจ อันนี้เราจะต้องสังเกต เพราะเป็นความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในสังคมอเมริกัน มองกว้างออกไปอีก ตอนนี้โป๊ปหรือสันตะปาปา (Pope) พูดออกมาว่า ก่อนจะถึงปี ค.ศ. ๒๐๐๐ นี้ คนมุสลิมจะมีจำนวนมากกว่าชาวคาทอลิกทั้งโลกเป็นครั้งแรก แสดงว่าโป๊ปก็มองความสำคัญของเรื่องนี้อยู่ อันนี้เป็นเรื่องของสถานการณ์ศาสนาซึ่งมีเรื่องให้พูดเยอะเหมือนกัน แต่พูดออกไปเรื่อยๆ เดี๋ยวจะเลยไป

ขอย้อนกลับมา ในแง่นี้ก็หมายความว่า ให้เรามีความมั่นใจในศีล คือ ในระเบียบวินัยของเรา อย่าไปหวั่นไหวง่ายๆ ถ้าเรารู้สึกว่าส่วนไหนในระเบียบแบบแผนข้อปฏิบัติของเราจะไม่สอดคล้องกับสังคมของเขา อาจจะทำให้ขัดขวางการปฏิบัติงาน ก็ต้องมองด้วยปัญญาจริงๆ ไม่ใช่มองด้วยความหวั่นใจ หรือหวั่นไหวไปตามความรู้สึก ต้องพิจารณาว่าเรื่องนี้เราจะปรับตัว หรือจะทำอย่างไรดี และอย่าเริ่มด้วยบุคคล ต้องปรึกษากับหมู่คณะให้ไปด้วยกัน นี้เป็นหลักของการทำงาน ในสังคมที่เขาเจริญเขาทำอย่างนี้ทั้งนั้น

ถ้าเรารู้สึกตัวขึ้นมาว่าข้อปฏิบัติอย่างนี้จะขัดขวางเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานแล้วชักจะหวั่นไหว อันนั้นอาจจะเป็นการคิดในแง่ส่วนตัวของตนเอง ถ้าคิดในแง่ตัวเองอย่างเดียวก็ไม่ถูกต้อง นอกจากจะแสดงถึงความไม่มั่นคงแล้วยังก่อให้เกิดความขัดแย้งในหมู่คณะของเราด้วย จึงต้องปรึกษาหารือกัน เวลานี้ในประเทศอเมริกา เราก็ตั้งสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา (The Council of Thai Bhikkhus in the U.S.A.) ขึ้นมาแล้ว เมื่อมีเรื่องแบบนี้ วัดทั้งหลายก็ต้องปรึกษากัน ให้ไปด้วยกัน

มีข้อที่ควรทราบตระหนักในเรื่องนี้ว่า รูปแบบที่เป็นเรื่องของวัฒนธรรมประเพณีเฉพาะชุมชน หรือสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์และเป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มชนหรือสังคมนั้น มีความหมายหรือสื่อความหมายต่างกันอย่างน้อยเป็น ๒ แบบใหญ่ๆ คือ

แบบที่หนึ่ง เป็นการใช้สิ่งเหล่านี้สำหรับยึดถือในการรวมพวก ทำให้เกิดความสามัคคีในหมู่พวกตน และแยกตัวต่างหากจากคนพวกอื่น บางพวกใช้เพียงเพื่อเป็นเครื่องรักษาชุมชนหรือกลุ่มของตัวไว้ให้คงอยู่ได้ แต่บางพวกก็ถือรุนแรงจนมีความหมายที่เด่นชัดในแง่การแบ่งแยกกับคนพวกอื่น อาจถึงกับใช้ยกตัวขึ้นและกีดกันกั้นคนพวกอื่น

ส่วนแบบที่สอง รูปแบบเหล่านั้นเป็นเพียงสิ่งที่แสดงลักษณะการดำเนินชีวิตที่เหมาะกับวิถีทางและจุดมุ่งหมายที่เป็นอุดมคติ เช่น ความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย ความเสียสละ การกำจัดกิเลส การไม่ยึดติดถือมั่นในทางทรัพย์และอำนาจ การสละสถานะความสำคัญของตนเอง ตลอดจนการไม่ยึดติดในขอบเขตที่จำกัดก่อความแบ่งแยกใดๆ เป็นต้น ซึ่งตรงข้ามกับแบบที่หนึ่ง

มนุษย์ส่วนใหญ่ยึดถือรูปแบบชุมชนในความหมายแบบที่ ๑ แต่ของพระสงฆ์เราเป็นการปฏิบัติเพื่อความหมายในแบบที่ ๒ ที่ทวนกระแสกับแบบที่ ๑

ตอนที่มีการประชุมกันตั้งสมัชชาสงฆ์ไทย เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๙ นั้น วัดไทยเพิ่งมีในอเมริกาไม่กี่แห่ง วัดแรกตั้งที่ลอสแองเจลีส (Los Angeles) ก่อน ต่อมาในปี ๒๕๑๘-๒๕๑๙ ก็มีวัดอื่นๆ เกิดผุดขึ้นอย่างรวดเร็ว ในเมืองนิวยอร์ค (New York) วอชิงตันดีซี (Washington D.C.) และในเมืองเดนเวอร์ (Denver) รัฐโคโลราโด

เวลานั้น วัดใหม่ๆ เหล่านี้ ต่างก็พบกับประสบการณ์และปัญหาต่างๆ ซึ่งทำให้เป็นห่วงกันว่า ในสภาพแวดล้อมที่ต่างออกไป และในวัฒนธรรมที่ต่างออกไป วัดทั้งหลายอยู่ห่างกัน อาจจะทำให้มีการปรับตัวไม่สม่ำเสมอกัน ถ้าไม่มีความร่วมใจกันก็จะประสบปัญหา ก็เลยคิดตั้งองค์กรร่วมกันที่จะเป็นที่ร่วมกันคิดพิจารณาแก้ปัญหาและร่วมกันทำงาน จึงนัดประชุมกัน แล้วก็ตั้งสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกาขึ้น โดยมีจุดหมายอย่างที่กล่าวมานี้

ต่อมาวัดไทยในอเมริกาก็เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วมาก จนกระทั่งปัจจุบัน ได้ทราบว่าเกิน ๕๐ วัด นับว่าเป็นประเทศพุทธศาสนาเถรวาทที่มีจำนวนวัดเพิ่มมากเร็วที่สุด แต่ก่อนนั้นตอนก่อนช่วง พ.ศ. ๒๕๒๐ ลังกายังนำเราอยู่ แต่หลังจากนั้นแล้วลังกาตามไม่ติดเลย พม่าก็ไกลเรามาก แต่เมื่อมีวัดมากก็มีปัญหา เรื่องนี้แหละที่ว่าจะให้มีข้อปฏิบัติที่สม่ำเสมอและพรักพร้อมกันได้อย่างไร

แม้แต่ในยุค พ.ศ. ๒๕๒๐ ตอนแรกๆ นั้น ก็มีข้อวิตกกังวลเรื่องนี้กัน เช่นในวัดบางวัดก็เริ่มมีพระขับรถเอง เสียงติฉินนินทาก็แพร่กระจายไป เพราะมีญาติโยมเดินทางไปในอเมริกา โดยเฉพาะญาติโยมที่ไปจากเมืองไทย เขาไปหลายรัฐ เที่ยวแบบทัวร์บ้าง ลูกหลานพาไปเที่ยวบ้าง ไปเมืองนี้ เยี่ยมวัดนี้แล้ว ก็ไปเมืองโน้น เยี่ยมวัดโน้น เมื่อไปเห็นสภาพวัดหนึ่งอย่างนี้แล้ว ก็เที่ยวเอาไปเล่าอีกวัดหนึ่งที่เมืองอื่น ตลอดจนกลับไปเล่าในเมืองไทย ถ้าไม่ชอบใจ ก็เอาไปติเตียน ฉะนั้น พระที่อื่นก็จะได้ยินได้ฟัง เช่น มีญาติโยมคณะหนึ่งจากเมืองไทยไปอเมริกา บางท่านไปทางนิวยอร์คก่อน บางท่านก็ไปทางแคลิฟอร์เนียก่อน ได้ยินว่ามีวัด พอไปถึงก็ไปไหว้พระ เสร็จแล้วไปทราบจากญาติมิตรคนไทยที่อยู่ในเมืองนั้นเล่าว่า พระวัดนี้เป็นอย่างไรๆ พอได้ยินอย่างนี้แล้วโยมคนนั้นก็เดินทางต่อไป ชิคาโกบ้าง ไปวอชิงตันดีซีบ้าง ไปโคโลราโดบ้าง ไปที่ไหนก็เอาไปเล่าตลอด เสียงก็ไปทั่ว เสียงที่เป็นการติเตียนก็แพร่ไปมาก

ยิ่งญาติโยมที่ไปจากเมืองไทยด้วยแล้ว ไปเห็นพระทำอะไรที่ไม่เหมือนในเมืองไทย ยิ่งสะดุดความรู้สึกมาก ก็เอาไปเล่าและพูดว่าติเตียน กลับมาเมืองไทยก็มาเล่าที่เมืองไทยต่อ ภาพในทางลบก็เกิดขึ้นมากเหมือนกัน เป็นข้อที่ต้องคิดพิจารณา

อย่างที่ว่าแล้ว ตอนนั้นผมก็ไม่ได้เป็นพระธรรมทูต แต่ไปบรรยายที่สวอร์ทมอร์ คอลเลจ (Swarthmore College) แล้วทางวัดที่นิวยอร์ค ท่านทราบก็ไปนิมนต์มาในงานต่างๆ ที่วัด เสร็จแล้ว บอกว่าจะมีประชุมก็เลยขอนิมนต์ให้เข้าประชุมด้วย

นี่ก็เล่าความเป็นมาเพื่อให้เห็นว่า ได้มีความเพียรพยายามมานานแล้วที่จะหาทางทำให้การทำงานต่างแดนในอเมริกาเป็นไปด้วยดี ด้วยการประสานร่วมมือกัน ซึ่งถ้าเป็นไปได้จะดีมาก แต่อย่างน้อย ถ้าจะเคลื่อนก็ให้เคลื่อนไปด้วยกัน และมีความมั่นใจในหลักของตน แม้ว่าข้อปฏิบัติต่างๆ จะดูแปลกไปบ้างก็อย่าเพิ่งไปหวั่นไหว ไม่ต้องกลัว คนกลุ่มอื่นเขามีอะไรต่ออะไรแปลกประหลาดกว่าเยอะ เขายังดำรงอยู่ได้ อย่างชาวมุสลิมนี่ เขาทำอะไรแปลกๆ ต่อสายตาของคนภายนอก แต่เขาก็ยืนหยัดอยู่ได้ คนเกาหลีและคนประเทศอะไรต่างๆ เขาก็ยืนหยัดในแบบแผนของเขา และรวมตัวกันได้เข้มแข็ง

ขอพูดนอกเรื่องอีกอย่างหนึ่ง คือคนไทยเรานี่จะทำงานเป็นคนๆ เวลาไปอยู่เมืองนอกเราอาจมีความเก่ง คนไทยก็เก่งมิใช่น้อย แต่เก่งเฉพาะคน รวมกลุ่มกันไปไม่ได้ คนไทยตั้งสมาคมไทยขึ้นในเมืองใหญ่ๆ อยู่ไม่ได้กี่ปีก็ล้ม ต้องแยกเป็นชมรมย่อยๆ อย่างในกรุงนิวยอร์ค สมาคมไทยมีแล้วก็ล้มไปนานแล้ว แม้จะพยายามฟื้นก็ไม่สำเร็จ แต่มีชมรมย่อยเยอะ เช่น ชมรมจุฬาฯ ชมรมเกษตร ชมรมธรรมศาสตร์ ชมรมชาวเหนือ ชมรมทักษิณ ชมรมอีสาน เป็นต้น ที่เมืองชิคาโก ก็คล้ายกัน ตั้งสมาคมไทยขึ้นก็ล้มแล้วล้มอีก ฟื้นก็ไม่ขึ้น มีคนไทยทำงานด้วยกัน เช่น เพื่อนกันร่วมกันทำกิจการร้านอาหาร พอตั้งมาได้สักปีก็ทะเลาะกัน แล้วก็เลิกแยกกัน

เมื่อเราไปอยู่ต่างประเทศ ความแตกต่างจะเห็นได้ชัด เพราะมีคนหลายชาติ อย่างคนเกาหลีนี่เขารวมกันแน่น เขาทำงานร่วมกัน และก้าวไปด้วยดี เพราะฉะนั้นกิจการของชาวเกาหลีจึงก้าวไปอย่างรวดเร็วมาก เมื่อเทียบกับเขา คนไทยเราก็ไปอยู่นาน แต่เราไม่ก้าวไปเท่าที่ควร นี่ก็เป็นลักษณะของคนไทยซึ่งน่าสังเกต ที่ว่ามานี้เป็นการพูดนอกเรื่องออกไปอีก เพื่อให้เห็นว่าคนไทยเรามีลักษณะอย่างนี้ เมื่อไปทำงานพระธรรมทูตจะต้องเข้าใจปัญหาต่างๆ เหล่านี้ ถ้ามีอะไรที่พอช่วยได้ก็ช่วยไป นี่เป็นเรื่องของข้อประพฤติปฏิบัติ คือเรื่องวินัยและเรื่องรูปแบบเช่นวัฒนธรรม ซึ่งจะต้องมีความมั่นใจแล้วก็ขยับไปด้วยกัน

ข้อที่ ๓ ส่วนทางด้านจิตใจก็ต้องมีความมั่นคง สังคมอย่างอเมริกันนั้น เป็นสังคมที่เจริญทางวัตถุ แต่มีปัญหาทางจิตใจอย่างสูงแล้วก็มีความต้องการในเรื่องสมาธิ เป็นต้น จนฝรั่งเกิดนิยมเรื่องสมาธิ ถึงกับเห่อกันไปเลย เพราะฉะนั้นเวลามีคนตะวันออกไป ถ้ามีลักษณะเป็นนักบวช เช่นเป็นโยคี ฝรั่งก็ตื่นมาหา ถึงกับมีผู้พูดทำนองว่า พวกเรานี้ไปเมืองฝรั่งไม่ต้องอะไรหรอก ไปแต่งตัวเป็นโยคีสักหน่อยเดี๋ยวก็หากินได้

อย่างพวกโยคีอินเดียนี่ ไปอยู่ในอเมริกา บางคนอายุแค่ ๑๐ กว่า เป็นมหาฤษี ประสบความสำเร็จถึงขั้นที่ว่าเวลาพูดต้องใช้สนามกีฬาใหญ่ๆ คนหนุ่มสาวไปฟังล้นหลาม เมืองฝรั่งอะไรๆ ก็เป็นเงินเป็นทอง ไปฟังทีหนึ่งก็ต้องเสียค่าผ่านประตู เก็บเงินได้มาก รวยเหลือเกิน โยคีคนหนึ่งถึงกับตั้งเป็นเมืองเลย มีเครื่องบินส่วนตัว มีรถรอลส์รอยซ์ (Rolls-Royce) หลายคัน จนกระทั่งทางการอเมริกันชักจะหวาด เอาไว้ไม่ได้ เกิดเป็นคดีขึ้นโรงขึ้นศาล ถือว่าเป็นการคุกคามความมั่นคงของอเมริกา ในที่สุดก็หาทางขับไล่กลับประเทศอินเดียไป แต่กิจการของคนตะวันออกไปประสบความสำเร็จมากมาย มีทั้งจริงทั้งหลอก เข้าไปประเทศอเมริกามาก

คนฝรั่งนี่มองในแง่หนึ่งก็หลอกง่าย เขาเก่งทางด้านวัตถุ แต่ทางด้านจิตใจยังล้าหลัง บางอย่างก็ตกต่ำมาก ทางด้านจิตใจของเราจึงมีความสำคัญ เราต้องมีความมั่นคงทางจิตใจ มีคุณธรรม มีอะไรดีที่ให้เขาเห็นทางด้านจิตใจ

รวมความที่ผมพูดมาเกี่ยวกับคุณสมบัติต่างๆ เหล่านี้ สรุปแล้วก็เป็นเรื่องของศีล สมาธิ ปัญญา นั่นเอง แต่ไปพูดเรื่องปัญญาความรู้เสียก่อน ในแง่ของความมั่นใจในคุณค่า ความจริง ความดีงามของพุทธธรรมเป็นต้น จากนั้นจึงพูดถึงข้อปฏิบัติด้านศีล แล้วก็มาถึงเรื่องของด้านจิตใจ คือสมาธิ เป็นอันลงในศีล สมาธิ ปัญญา นี้เอง ก็ถือว่า พูดเป็นหลักการไว้

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< มีภูมิปัญญาที่มั่นใจและรู้ว่าเขาต้องการอะไรทำงานเพื่อชุมชนไทย และเพื่อถิ่นที่ไป เพื่อทั้งโลก แต่ไม่ทิ้งสังคมไทย >>

No Comments

Comments are closed.