แรงบีบคั้นที่ทำให้ไม่ประมาทเร่งสร้างสรรค์ แต่ความไม่ประมาทนั้น ยังต้องถามว่าเป็นอย่างแท้หรือเทียม

3 เมษายน 2538
เป็นตอนที่ 25 จาก 34 ตอนของ

แรงบีบคั้นที่ทำให้ไม่ประมาทเร่งสร้างสรรค์
แต่ความไม่ประมาทนั้น ยังต้องถามว่าเป็นอย่างแท้หรือเทียม

ยิ่งกว่านั้น ฝรั่งยังมีทุกข์บีบคั้นและภัยคุกคามที่มนุษย์สร้างขึ้นเองซ้อนเข้าไปอีก จึงยิ่งทำให้เขาดิ้นรนขวนขวายสร้างสรรค์พัฒนาในความหมายแบบของเขามากยิ่งขึ้น อาจจะพูดได้ว่า ฝรั่งคุ้นเคยหรือชินมากับระบบทุกข์บีบคั้นภัยคุกคามนี้กระทั่งเขาพัฒนามันขึ้นมาเป็นวิถีชีวิตในสังคมของเขา หรือเป็นวัฒนธรรมของเขาเลยทีเดียว ดังจะเห็นได้ว่า ในยุคเศรษฐกิจรุ่งเรืองที่ผ่านมานี้เขาใช้ระบบแข่งขัน โดยเฉพาะคนอเมริกันนั้นถือการแข่งขัน (competition) เป็นหัวใจของการสร้างความเจริญ โดยที่เขาเชิดชูลัทธิปัจเจกนิยม (individualism) ซึ่งแสดงออกมาเด่นทางด้านการแข่งขัน รวมทั้งวิถีชีวิตแบบตัวใครตัวมัน

การแข่งขันนี้ อเมริกันถือว่าขาดไม่ได้ในการสร้างความเจริญ แต่การแข่งขันนั้น มองในแง่ของธรรม ก็คือการที่คนมาบีบคั้นกันเองให้นิ่งเฉยเฉื่อยชาอยู่ไม่ได้ เพราะระบบแข่งขันนั้น คือลัทธิตัวใครตัวมัน ใครดีใครได้ ใครแข็งก็อยู่ ใครอ่อนก็ไป ถ้าใครไม่ดิ้นรนไม่ขวนขวาย คนนั้นก็ตาย ไม่มีใครช่วย ฉะนั้น ต้องพึ่งตัว ต้องดิ้นรนขวนขวายเอาเอง จึงเท่ากับมีภัยคุกคามทำให้ต้องดิ้นอยู่ตลอดเวลา เขาจึงสร้างสรรค์ความเจริญมาได้ ระบบแข่งขันก็ดีตรงนี้ คือดีสำหรับมนุษย์ที่ยังมีกิเลส ซึ่งไม่สามารถที่จะไม่ประมาทด้วยสติปัญญา จึงเรียกระบบแข่งขันนี้ว่าระบบทุกข์ภัยประดิษฐ์

อย่างไรก็ตาม พระพุทธเจ้าต้องการให้เราพัฒนาคนให้ไม่ประมาทด้วยสติปัญญา คือ โดยที่มีสติตามระลึกเท่าทัน ตื่นตัวต่อเหตุการณ์ มีอะไรเกิดขึ้นเป็นไปที่จะมีผลกระทบต่อชีวิต ต่อสังคม ต่อพระศาสนา ก็ไม่นิ่งเฉยเฉื่อยชา ไม่ปล่อยปละละเลย แต่จับเอามาตรวจมาดูว่า เรื่องนี้เกิดขึ้นแล้ว จะมีผลดี หรือผลร้าย ถ้าจะเป็นผลเสีย จะก่อให้เกิดความเสื่อม ก็รีบแก้ไขป้องกัน อันไหนจะทำให้เกิดความเจริญก็รีบจัดรีบทำ สติทำหน้าที่ คอยระลึก คอยนึก คอยจับ เอามาดูอยู่เรื่อย ปัญญาก็พิจารณาวิเคราะห์เรื่องราวและสืบสาวหาเหตุปัจจัย หาเหตุหาผล แล้วก็ทำไปตามเหตุปัจจัยนั้น โดยไม่ต้องรอให้มีทุกข์มาบีบคั้นหรือภัยมาคุกคาม ถ้าเราอยู่ได้อย่างนี้ เรียกว่าอยู่ด้วยความไม่ประมาท คือไม่ต้องรอให้ทุกข์บีบคั้นภัยคุกคามจึงมาเร่ง แต่ทีนี้มนุษย์เราทั่วๆ ไป ทำได้ไหมถึงขนาดนี้ เท่าที่เห็นกันอยู่ โดยมากก็จะอยู่ในวงจรของปุถุชนที่ว่า พอมีสุข สำเร็จ ได้ดีแล้ว ก็นอนเสวยผล ลุ่มหลงเพลิดเพลิน มัวเมา เฉื่อยชา ผัดผ่อน พอถูกทุกข์บีบคั้นภัยคุกคาม ก็ลุกขึ้นมาดิ้นรนขวนขวายกันที ฉะนั้น มนุษย์ก็เลยหนีไม่พ้นจากวงจรของความเสื่อมและความเจริญ

พระพุทธเจ้าทรงสอนหลักความไม่ประมาทไว้โดยทรงเน้นว่า เป็นหลักธรรมสำคัญที่สุด ทั้งเปรียบกับรอยเท้าช้าง และเป็นปัจฉิมวาจา จึงเป็นตัวคุมทั้งหมด ปฏิบัติธรรมไปอย่างไรๆ ในที่สุดก็มาจนที่ตรงนี้ คือ หลักธรรมต่างๆ นั้นมีไว้มากมาย เพื่อช่วยคนให้พ้นความชั่ว มาสู่ความดี ท่านอุตส่าห์สอนธรรมมามากมายให้คนปฏิบัติจนพ้นจากความชั่วมาสู่ความดี แต่พอคนนั้นมาสู่ความดีแล้ว เจริญแล้ว สำเร็จแล้ว หรือมีความสุขแล้ว ก็มาตกหลุมแห่งความประมาทเสีย คือ ยินดี พอใจ เพลิดเพลิน เลยหยุดเพียร พักผ่อน นอนเสวยผล กลายเป็นนิ่งเฉยเฉื่อยชา หรือนอนใจ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงสอนความไม่ประมาทควบไว้อีกที เพื่อให้คนที่ปฏิบัติธรรม เมื่อประสบความสำเร็จแล้ว ดีแล้ว สุขแล้ว จะได้ไม่ตกหลุม จะได้ไม่เสื่อมลงอีก ท่านเอาความไม่ประมาทมารั้งท้ายคุมไว้อีกที ฉะนั้น ความไม่ประมาทจึงเป็นธรรมสำคัญอย่างยิ่ง แต่มีปัญหาว่า มนุษย์จะไปถึงจุดนี้ได้หรือไม่

นี่คือบทพิสูจน์มนุษยชาติ ว่ามนุษย์เรานี้โดยส่วนรวมที่เรียกว่าสังคม จะสามารถพัฒนาไปถึงขั้นนี้ได้ไหม คือขั้นที่อยู่ได้ด้วยความไม่ประมาท สามารถสร้างสรรค์ความเจริญขึ้นมา แล้วรักษาความเจริญนั้นไว้ได้ และทำให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไปโดยไม่เสื่อม ด้วยความไม่ประมาท หรือจะต้องตกอยู่ใต้วงจรของการที่ว่า ต้องถูกทุกข์บีบคั้น ภัยคุกคาม จึงดิ้นรนขวนขวาย แล้วเมื่อประสบความสำเร็จ สุขแล้ว ดีแล้ว ก็หลงมัวเมาเพลิดเพลินผัดเพี้ยนมัวเสวยผล นอนใจ แล้วก็เสื่อมอีก เลยต้องใช้ระบบแข่งขันที่เป็นระบบกิเลสมาบีบคั้นแทน

เป็นอันว่า ฝรั่งใช้กิเลสของมนุษย์มาเป็นอุปกรณ์สร้างระบบทุกข์ภัยประดิษฐ์ คือการแข่งขันขึ้นมา แล้วการแข่งขันนั้นก็เป็นตัวเร่งตัวบีบคั้นให้ทุกคนดิ้นรนขวนขวายช่วยตัวเอง พร้อมกันนั้นก็ให้มีปัจจัยตัวอื่นในสังคมมนุษย์มาหนุนอีก เช่น การไม่ช่วยเหลือกัน การอยู่แบบตัวใครตัวมัน และเอาหลักการของสังคมตลอดจนกฎเกณฑ์ กติกาต่างๆ มาบีบมากำกับ ถ้าใครไม่ทำ กฎหมายกฎเกณฑ์กติกาจะบีบให้แย่เอง ทุนคนต้องช่วยเหลือตัวเอง ก็เลยต้องดิ้นรนขวนขวายตลอดเวลา

ฉะนั้น ในแง่นี้ ถ้าเราไม่สามารถสร้างความไม่ประมาทที่แท้ขึ้นมา คือ ไม่สามารถพัฒนาคนให้มีความไม่ประมาทที่แท้ได้ การใช้ระบบแข่งขันก็อาจจะดีกว่าที่จะปล่อยคนไทยไว้อย่างนี้ เพราะมันจะบีบเค้นให้คนไม่ประมาท แม้ว่าจะเป็นความไม่ประมาทอย่างเทียมด้วยแรงบีบก็ตาม ขอให้พิจารณาว่าระหว่างการบีบให้ดิ้น กับปล่อยให้ประมาท อย่างไหนจะดีกว่ากัน ขอให้เลือกว่าจะเอาอย่างไหน

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< – ๔ – แนวทางวางฐานเพื่อสร้างสรรค์อารยธรรมที่แท้ไทยสบายๆ แต่ตกอยู่ในความประมาท ฝรั่งไม่ประมาทแต่ไม่แท้ ก็ไปสู่ความพินาศ >>

No Comments

Comments are closed.