- (กล่าวนำ)
- – ๑ – คุณสมบัติและหน้าที่ของพระธรรมทูต
- มีภูมิปัญญาที่มั่นใจและรู้ว่าเขาต้องการอะไร
- ตั้งมั่นในแบบแผนหนักแน่นไม่หวั่นไหว
- ทำงานเพื่อชุมชนไทย และเพื่อถิ่นที่ไป เพื่อทั้งโลก แต่ไม่ทิ้งสังคมไทย
- – ๒ – ความติดตันของอารยธรรมปัจจุบัน
- มองมนุษย์แยกจากธรรมชาติ วิทยาศาสตร์มุ่งพิชิตเป็นเจ้านาย
- มองมนุษย์ด้วยกันแยกเป็นฝ่าย ศาสนายิ่งซ้ำให้คนรวมกันไม่ได้
- เมื่อโลกต้องการความเป็นสากล ทำไมศาสนาสนองความต้องการนั้นไม่ได้
- สากลเป็นสภาพธรรมดาอยู่แล้ว เมื่อว่าไปตามธรรมดา สันติภาพสากลก็ตามมาเอง
- – ๓ – สภาพโทรมของสังคมอเมริกัน
- ความหวั่นใจว่าใกล้สิ้นยุคอเมริกา
- เมื่อเบ้าหลอมแตกไป จะเอาอะไรมาสร้างรูปร่างใหม่
- เรื่องเก่า: ทิ้งคนแก่อยู่กับความเงียบเหงา
- เรื่องใหม่: เด็กกลายเป็นคู่เวรกับพ่อแม่
- เมื่อยุคอุตสาหะผ่านพ้น คนก็เลิกขยันหมั่นเพียร
- กฎหมาย: เครื่องธำรงที่กลายเป็นเครื่องทำร้ายสังคม
- หนึ่งกับหนึ่งเป็นสอง กลายเป็นหนึ่งกับหนึ่งเป็นสูญ
- หนึ่งต่อด้วยอะไร จึงจะไปถึงสิบ
- ภูมิปัญญาที่สร้างความเจริญน่าตื่นตาในเบื้องต้น แต่นำสู่ความอับจนในเบื้องสุด
- เมื่ออับจนจะแก้ปัญหาวิธีจำใจด้วยวิธีจำใจ ก็ยิ่งติดตันทั้งข้างนอกข้างใน
- เลิกเอียงสุดข้างนอก ระวังจะมาเอียงสุดข้างใน
- เมื่อตะวันตกดิ้นหาทางออกใหม่ ตะวันออกจะไปช่วยได้จริงหรือ
- – ๔ – แนวทางวางฐานเพื่อสร้างสรรค์อารยธรรมที่แท้
- แรงบีบคั้นที่ทำให้ไม่ประมาทเร่งสร้างสรรค์ แต่ความไม่ประมาทนั้น ยังต้องถามว่าเป็นอย่างแท้หรือเทียม
- ไทยสบายๆ แต่ตกอยู่ในความประมาท ฝรั่งไม่ประมาทแต่ไม่แท้ ก็ไปสู่ความพินาศ
- ขัดแย้ง จำใจ ไม่ยั่งยืน คือความติดตันของความเจริญยุคปัจจุบัน
- ความเจริญที่แท้ เริ่มจากคนตั้งต้นพัฒนาอย่างถูกทาง
- แสงสว่างช่วยส่องทางไปข้างหน้า แต่แสงสีอาจพาให้หลงวน
- เครื่องกล่อมและปลอบใจ ต้องรู้จักใช้ เอาพอได้พักตั้งตัว เพื่อเดินหน้ากันต่อไป
- เมื่อมองธรรมแยกกระจาย ไม่อยู่ในระบบความสัมพันธ์ ความเข้าใจก็ผิด การปฏิบัติก็พลาด ผลคือความเสียหาย
- ในระบบสัมพันธ์ที่พอดีเพื่อให้สังคมนี้ยั่งยืน ต้องให้มนุษย์อยู่กันดี โดยที่ธรรมก็ดำรงอยู่ได้
- ถึงเวลาที่ต้องมองหลักให้ชัดปฏิบัติให้ครบ เพื่อนำมวลมนุษย์หลุดทางตันสู่อารยธรรมที่แท้
- เมื่อมีความเปลี่ยนแปลงในระบบความสัมพันธ์ใหญ่ อารยธรรมเก่าก็เปลี่ยนไปเป็นอารยธรรมใหม่
เลิกเอียงสุดข้างนอก ระวังจะมาเอียงสุดข้างใน
ยิ่งกว่านั้น ในด้านภูมิปัญญาที่ว่าเป็นมาตรฐานวัดความจริง ก็ชักไม่เป็นจริงอีกแล้ว แนวความคิดแยกส่วน (reductionism) ก็มาจากวิทยาศาสตร์ การถือความชำนาญพิเศษเฉพาะด้าน (specialization) ทางวิชาการ ก็มาจากการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ แนวความคิดแบบนี้ ไม่ทำให้แก้ปัญหาของมนุษย์ได้ ไปๆ มาๆ นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำก็บอกว่า วิทยาศาสตร์ไม่สามารถนำมนุษย์เข้าถึงความจริงได้ นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำในยุคควอนตัม (quantum) หรือยุคทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ (Einstein’s theories of relativity) ได้พัฒนาความคิดกันมาถึงยุคนี้ที่เรียกว่า new physics
พวกนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ โดยเฉพาะนักฟิสิกส์รุ่นใหม่ ซึ่งเป็นผู้นำในวงการวิทยาศาสตร์ บอกว่าวิทยาศาสตร์ไม่สามารถนำมนุษย์เข้าถึงความจริงได้ จะเข้าถึงได้ก็เพียงเงาของความจริงเท่านั้น ในที่สุดวิทยาศาสตร์ก็บอกว่า การหาความจริงทางวิทยาศาสตร์ที่ว่าเป็นการหาความจริงแบบปรวิสัย (objective) ไม่ขึ้นต่อสภาพจิตของมนุษย์ ไม่ขึ้นต่อการแปลความตีความหมายของคนนั้น ที่แท้ก็ไม่จริง เพราะการที่จะมองสิ่งต่างๆ จนเกิดเป็นความรู้ขึ้นนั้น สิ่งที่ถูกรู้นั้นถูกมนุษย์ตีความหมายโดยไม่รู้ตัว เพราะมันผ่านกระบวนการของจิตใจมนุษย์ทั้งนั้น เลยกลายเป็นว่า ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่เกิดขึ้นนั้น ไม่เป็นปรวิสัย (objective) จริง ไม่พ้นจากความเป็นอัตวิสัย (subjective) วิทยาศาสตร์ที่ภูมิใจกันมาตั้งเป็นร้อยๆ ปีว่าเป็นปรวิสัย (objective) มาถูกนักวิทยาศาสตร์รุ่นหลังๆ บอกว่าไม่ใช่ ทำให้มองเห็นต่อไปอีกว่ามนุษย์จะเข้าถึงความจริงโดยสมบูรณ์ไม่ได้ถ้าไม่เข้าใจเรื่องจิตด้วย ตอนนี้จึงมาถึงยุคที่นักวิทยาศาสตร์ก็เกิดการแตกแยกกันหรือสับสน บางพวกก็มาถึงจุดที่หันมาศึกษาเรื่องจิตใจ
มองดูแง่หนึ่งก็เป็นการสวนทางกันและน่าขำ ในยุคที่ผ่านมาพวกนักจิตวิทยาได้พยายามไปเป็นวิทยาศาสตร์ ถึงขนาดที่ยุคหนึ่งบอกว่า จิตใจนี่ไม่รู้จะดูได้อย่างไร มองไม่รู้ ก็เลยเอาจิตวิทยาเป็นศาสตร์แห่งพฤติกรรมไปเลย จิตวิทยาตามตัวอักษร แปลว่าวิชาว่าด้วยจิตใจ แต่ไปๆ มาๆ เรื่องจิตทำไมกลายเป็นเรื่องพฤติกรรมไป นี่คือจิตวิทยาสมัยใหม่ แต่ตอนนี้ที่น่าแปลกก็คือ นักวิทยาศาสตร์ใหม่ฝ่ายฟิสิกส์ที่เป็นฝ่ายรูปธรรมเอง กลับมาสนใจศึกษาเรื่องจิต ขณะที่นักจิตวิทยาหันไปศึกษาเรื่องรูปธรรม
ตอนนี้ นักวิทยาศาสตร์ถามกันว่า จิต (consciousness) คืออะไร จิตใจ (mind) คืออะไร คอมพิวเตอร์ (computer) มีจิตใจ (mind) ได้หรือไม่ มีการพิมพ์หนังสือออกมาเป็นเล่มๆ เพียงเพื่อหาคำตอบว่า คอมพิวเตอร์นี้ ต่อไปจะพัฒนาให้มีจิตได้หรือเปล่า เพราะตอนนี้คอมพิวเตอร์รุ่นใหม่พัฒนาก้าวหน้าไปมากถึงกับมี artificial intelligence ที่เรียกว่า ปัญญาประดิษฐ์ สามารถคิดเหตุผลเอง จนกระทั่งต่อไปอาจจะเป็นคู่แข่งกับมนุษย์ก็ได้ แต่มันจะมีจิตได้หรือเปล่า นักวิทยาศาสตร์บางคนหันมาศึกษาเรื่องนี้และพยายามทำวิจัย บางทีก็เขียนหนังสือเป็นเล่มโตๆ เพื่อตอบเรื่องนี้ แล้วก็มีหนังสือที่หาคำตอบเรื่องจิตใจ (consciousness หรือ mind) ซึ่งขณะนี้กลายเป็นปัญหาของวิทยาศาสตร์ เพราะเขามองว่า วิทยาศาสตร์จะเข้าถึงความจริงแท้ของธรรมชาติไม่ได้ ถ้าไม่ศึกษาเรื่องจิตใจ เพราะในที่สุดแล้ว จิตใจเป็นผู้ที่ศึกษาวัตถุหรือรูปธรรม ถ้าไม่รู้ตัวผู้ศึกษาแล้วจะไปเข้าใจสิ่งที่ถูกศึกษาได้อย่างไร
ไปๆ มาๆ ก็ไปไม่ไกล วิทยาศาสตร์ก็ย้อนกลับมาที่จุดตั้งต้นอีก เพราะฉะนั้น ยุคนี้จึงเป็นยุคที่เขาเรียกว่า “จุดหักเลี้ยว” (turning point) มีหนังสือบางเล่มที่ขายดิบขายดี (bestseller) เช่น Turning Point ของนายฟริตจอฟ คาปรา (Fritjof Capra) ซึ่งเคยขายดีมากในยุคหนึ่ง นับว่าเป็นยุคหัวเลี้ยวหัวต่อ ที่จะมีการหักเลี้ยวของอารยธรรมมนุษย์ มีการสนใจและเปลี่ยนแปลงแปลกใหม่ เช่น ตะวันตกหันมาสนใจตะวันออก วิทยาศาสตร์เสื่อมฐานะลงไปจากการเป็นมาตรฐานวัดความจริง นักวิทยาศาสตร์หันมาศึกษาเรื่องจิต ดังนี้เป็นต้น
เวลานี้ โลกตะวันตกหันมาสนใจเรื่องทางด้านจิตใจ และแสวงหาภูมิปัญญาใหม่กันมาก เป็นเรื่องหนึ่งที่เราจะต้องติดตามและรู้เท่าทัน เมื่อเราไปทำงานในสังคมตะวันตก ขณะที่ฝรั่งกำลังมีแนวโน้มอย่างนี้ จะต้องเข้าใจด้วยถึงปกติวิสัยอย่างหนึ่งที่ว่า มนุษย์นั้นมีความโน้มเอียงในทางตีกลับตรงกันข้าม คือ เมื่อเอียงไปสุดข้างหนึ่งแล้วก็มักจะกลับเอียงไปสุดทางอีกข้างหนึ่ง เพราะฉะนั้นเวลาไปอเมริกาได้เห็นพวกฝรั่งมาสนใจเรื่องจิตใจหรือเรื่องนามธรรมมาก จึงไม่ใช่เรื่องที่เราจะต้องไปภูมิใจอะไรมาก คนของเราบางทีไปดีใจภูมิใจ แล้วก็ไปหลงตาม และไปสนองแนวโน้มของเขา ซึ่งอาจจะผิดก็ได้ จึงต้องมีสติระวังไว้ ฝรั่งเขากำลังจะไปเอียงสุดอีกข้างหนึ่งที่ตรงข้ามกับสภาพเดิมของเขา
No Comments
Comments are closed.