คนยิ่งพัฒนา การแก้ปัญหายิ่งได้ผล

28 เมษายน 2536
เป็นตอนที่ 22 จาก 32 ตอนของ

คนยิ่งพัฒนา
การแก้ปัญหายิ่งได้ผล

ระดับที่ ๒ คือ การแก้ปัญหาเพื่อประโยชน์แก่สังคม ขั้นนี้จะเริ่มต้นได้ในเมื่อคนมีการศึกษาได้พัฒนาตนเองมากยิ่งขึ้น แล้วทำให้มองเห็นประโยชน์แก่สังคมของตน

ขอให้สังเกตว่า ที่ว่าสังคมนั้น ก็ยังเป็นสังคมของตนอยู่ หมายความว่า มันเป็นเรื่องของหมู่พวกเรา ชุมชนของเรา ตลอดจนหมู่มนุษย์ของเรา ตอนนี้จะมีจริยธรรมตัวหนึ่งเกิดขึ้น คือ ความรู้สึกรับผิดชอบ

พอมีความรู้สึกรับผิดชอบเกิดขึ้น การแก้ปัญหาเพื่อประโยชน์แก่สังคมก็สำเร็จได้ ปฏิบัติการในขั้นนี้ก็จะได้ผล คนจะมีความเข้าใจและมีจิตสำนึกขึ้นมาว่า ที่เราต้องรักษาป่านี้ ก็เพื่อประโยชน์ของสังคมของเรา ที่เรามีส่วนร่วมเป็นส่วนประกอบ หรือเป็นสมาชิกผู้หนึ่ง เราจะต้องช่วยกันรักษาป่านี้ไว้ เพราะเป็นผลประโยชน์ร่วมกัน

นี่คือการที่เรามีความรู้สึกรับผิดชอบต่อสังคมแล้ว เพราะฉะนั้น เราจึงก้าวจากการแก้ปัญหาเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของบุคคล มาสู่การแก้ปัญหาเพื่อผลประโยชน์ของสังคม เริ่มแต่ของชุมชนเป็นต้นไป

อย่างไรก็ตาม ในการแก้ปัญหาแบบนี้ จะต้องมีการผสมผสาน คือมีการทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัวรวมอยู่ด้วย โดยวิธีที่ค่อยๆ ขยายกว้างออกไป

ต่อไป เมื่อมนุษย์มองกว้างขึ้น จนถึงขั้นที่มองเห็นความสัมพันธ์ในระบบนิเวศ เข้าใจถึงระบบการพึ่งพาอาศัยกัน และผลกระทบที่มีต่อกันในระบบนิเวศ มนุษย์ก็จะขยายความคิดเรื่องผลประโยชน์ออกไป จนถึงขั้นที่เป็น การแก้ปัญหาเพื่อประโยชน์แก่สัตวโลกทั้งหมด คือแก่สรรพชีวิตเลยทีเดียว

ที่เป็นอย่างนี้เพราะอะไร ก็เพราะเขาขยายความเข้าใจกว้างขวางออกไป มนุษย์มีการพัฒนาตัวเองเพิ่มขึ้น มองเห็นอะไรต่ออะไรลึกซึ้งและละเอียดลออขึ้น รู้จักคิดและมองเห็นว่า ชีวิตทุกชีวิตมีความสัมพันธ์พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ตอนนี้ก็แก้ปัญหาเพื่อประโยชน์แก่สรรพชีวิต หรือเพื่อประโยชน์ของสรรพสัตว์

นี่เป็นการขยายขอบเขตกว้างออกไป คือ ไม่ใช่เฉพาะเพื่อสังคมของตัวเองเท่านั้น แต่มองเห็นพืชพรรณและสัตว์ทั้งหลาย ที่จะต้องได้รับประโยชน์ด้วย และเราก็มีเหตุผลในการที่คิดอย่างนั้น

ต่อจากนั้นอีกขั้นหนึ่ง ก็คือขั้นที่พูดเมื่อกี้ ได้แก่ การแก้ปัญหาเพื่อประโยชน์แก่ระบบชีวิตที่ดีงาม ที่มีดุลยภาพแห่งความสุขของมนุษย์ ที่ได้พูดไปในตอนสุดท้าย ที่ว่า เมื่อมนุษย์เข้าใจว่าอะไรเป็นความสุขที่แท้จริงของตนเอง อะไรเป็นอิสรภาพที่แท้จริงแล้ว เขาก็ปรับจิตใจของเขาและปรับพฤติกรรมใหม่ แนวความคิดก็เปลี่ยนไป และพฤติกรรมก็เปลี่ยนไป

ตกลงว่า ที่พูดมาทั้งหมดนี้ เป็นวิธีแก้ปัญหาตามระบบผลประโยชน์ทั้งนั้น แต่เป็นความเข้าใจเกี่ยวกับผลประโยชน์ที่ปรับเปลี่ยนไปตามการพัฒนาของมนุษย์ เงื่อนไขสำคัญก็คือ การพัฒนามนุษย์ เพราะฉะนั้น จึงต้องมีการศึกษา

การศึกษาก็เพื่อพัฒนาคนให้มีปัญญาที่จะรู้เข้าใจแยกได้ตั้งแต่ระดับความหมายของผลประโยชน์ ซึ่งทำให้เขามีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องผลประโยชน์ว่า ประโยชน์อะไรอยู่ที่ไหน

ประโยชน์เบื้องต้นที่สุดก็คือ ผลประโยชน์ที่มาปรนเปรอ ตา หู จมูก ลิ้น กายของตัวเอง แล้วต่อมาก็เป็นประโยชน์แก่ชีวิตที่แท้จริงของเขา ทั้งสองอย่างนี้ยังเป็นส่วนตัว แล้วก็ขยายออกไปเป็นประโยชน์ของชุมชนของสังคม ต่อมาก็เป็นประโยชน์ของระบบชีวิตทั้งหมด ที่มีทั้งมนุษย์ สัตว์ พืช รวมอยู่ด้วยกัน

แล้วก็มาถึงประโยชน์ของระบบชีวิตที่ดีงามที่เป็นนามธรรมเป็นขั้นสุดท้าย ซึ่งเป็นขั้นของความสุขที่มีอิสรภาพที่แท้จริง

นี้คือการแก้ปัญหาในระบบผลประโยชน์ ซึ่งมนุษย์จะทำอะไรก็เพื่อประโยชน์แก่ตัวมนุษย์นั้นเอง แต่เป็นประโยชน์ที่ประณีตขึ้นไป ที่มนุษย์จะต้องเข้าใจเป็นลำดับขั้น

ถ้ามนุษย์ไม่พัฒนาตัวเอง เขาก็ไม่สามารถก้าวหน้าไปในการเข้าถึงประโยชน์เหล่านี้ และการแก้ปัญหาก็จะทำได้ยาก เพราะเป็นการฝืนใจ

การแก้ปัญหาที่ดีจะสำเร็จได้ เมื่อมนุษย์ไม่มีความฝืนใจ และความเข้าใจเกี่ยวกับผลประโยชน์นี้จะทำให้เขาไม่ต้องฝืนใจ แต่ในทางตรงข้ามจะทำให้เขาพอใจ ชื่นชมยินดี และมีความสุขในการที่จะทำการแก้ปัญหา

เป็นอันว่า ถ้าความเข้าใจเกี่ยวกับประโยชน์ไม่สอดคล้องตามแนวการพัฒนานี้ การแก้ปัญหาก็จะไปขัดกับผลประโยชน์ และก็จะต้องเกิดการฝืนใจขึ้นมา เป็นการแก้ปัญหาในลักษณะของความขัดแย้ง ที่จบลงด้วยการประนีประนอม ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาแบบครึ่งๆ กลางๆ

แต่ในทางตรงข้าม เมื่อมนุษย์พัฒนาตนเองขึ้นไปให้มีปัญญารู้เข้าใจความหมายของผลประโยชน์ที่กว้างขวางออกไปตามลำดับจนครอบคลุมที่สุด การแก้ปัญหาก็จะประสานสอดคล้องกันไปกับกระบวนการพัฒนามนุษย์ เป็นการแก้ปัญหาที่ควบคู่กันไปกับการพัฒนามนุษย์ หรือการแก้ปัญหาที่มีลักษณะของความประสานกลมกลืน ที่ให้ผลจบรอบสมบูรณ์ ซึ่งทำให้ “การแก้ปัญหาก็ได้ผล และตัวคนก็เป็นสุข”

ตกลงว่า นี้เป็นหลักการสำคัญในการแก้ปัญหา

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ตอน ๓: ไทยอนาคตกับป่าปฏิบัติการในการแก้ปัญหา >>

No Comments

Comments are closed.