มองธรรมชาติด้วยความรู้สึกอย่างพุทธะ

28 เมษายน 2536
เป็นตอนที่ 7 จาก 32 ตอนของ

มองธรรมชาติ
ด้วยความรู้สึกอย่างพุทธะ

เนื่องจาก เรื่องของป่าที่เป็นสภาพแวดล้อมทางธรรมชาตินี้ ท่านเอามาใช้เป็นองค์ประกอบในการศึกษาคือในการพัฒนามนุษย์ด้วย ดังนั้น ในประวัติพุทธศาสนาและตามบันทึกในคัมภีร์ต่างๆ จึงมีเรื่องราวมากมายที่ว่าพระได้เข้าไปปฏิบัติธรรมในป่า หรือแม้แต่พระพุทธเจ้าเอง ก็ทรงหาที่ที่สงบสงัดไปประทับอยู่ในป่า และพระองค์ก็บำเพ็ญเพียรในป่า เราจึงมีคำกล่าวเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้อยู่มากมาย

ต่อไปนี้ จะขออ่านข้อความจากพระไตรปิฎกให้ฟังสักนิดหน่อยว่า ในทางพระพุทธศาสนาท่านมีความรู้สึกต่อป่าอย่างไร และให้เห็นเป็นตัวอย่างว่า พระสงฆ์ที่ไปอยู่ในป่าท่านใช้ป่าเป็นอุปกรณ์หรือองค์ประกอบในการฝึกฝนพัฒนาตนอย่างไร เริ่มตั้งแต่ได้ความรู้สึกที่ดี มีการชื่นชมความงามของธรรมชาติ ทำให้จิตใจมีความสุข แล้วท่านก็ใช้เป็นส่วนประกอบในการฝึกอบรมจิตใจให้เข้าสู่สมาธิ

แม้แต่พระพุทธเจ้าเอง ก็ทรงออกไปแสวงหาพื้นที่ที่สงบสงัดอย่างนั้น ดังจะเห็นได้ในพุทธประวัติ อาตมาจะอ่านคำบรรยายในพระไตรปิฎกตอนหนึ่งให้ฟัง คือตอนที่ทรงแสวงหาที่ที่จะบำเพ็ญเพียรเพื่อโพธิญาณ ซึ่งพูดถึงธรรมชาติว่า (เช่น ม.ม.๑๒/๓๑๙/๓๒๒)

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรานั้น เมื่อยังเป็นผู้แสวงหาว่าอะไรเป็นกุศล ขณะที่แสวงหาทางประเสริฐแห่งสันติ อันยอดเยี่ยม เที่ยวจาริกไปในมคธชนบทโดยลำดับ ดำเนินมาถึงตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ได้เห็นภูมิภาคอันรื่นรมย์ มีไพรสณฑ์น่าชื่นบานใจ มีแม่น้ำไหลใสเย็น มีท่าน้ำงามสะอาดตา น่ารื่นรมย์ ทั้งมีโคจรคามตั้งอยู่โดยรอบ

จึงคิดว่า ภูมิภาคเป็นที่น่ารื่นรมย์หนอ ไพรสณฑ์ก็น่าชื่นบานใจ แม่น้ำก็ไหลใสเย็น มีท่าน้ำงามสะอาดตาน่ารื่นรมย์ ทั้งมีโคจรคามตั้งอยู่โดยรอบ เป็นที่เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียรของกุลบุตรผู้ต้องการบำเพ็ญเพียร เราจึงนั่ง ณ ที่นั้น ด้วยคิดว่า ที่นี้ละเหมาะที่จะบำเพ็ญเพียร

ตามพุทธพจน์นี้ จะเห็นว่า พระพุทธเจ้าเองก็ทรงแสวงหาสถานที่ที่มีธรรมชาติแวดล้อมสวยงามรื่นรมย์ ท่าทีในพระทัยของพระองค์ก็คือทรงเห็นธรรมชาติเป็นสิ่งที่งดงาม มีผลเกื้อกูลต่อความคิดจิตใจ และเป็นเครื่องช่วยในการฝึกฝนพัฒนาตนเองให้เข้าถึงธรรม อันนี้เป็นแนวโน้มของจิตใจที่จะไม่มีการทำลายป่าเป็นอันขาด

ต่อจากนี้ ลองไปดูความรู้สึกนึกคิดของพระสาวกบ้าง อาตมาจะอ่านให้ฟังสัก ๒-๓ ตัวอย่าง เช่น พระภิกษุองค์หนึ่งไปอยู่ในป่า และได้พูดถึงความรู้สึกของท่าน ท่านชื่อพระวนวัจฉเถระ ได้ภาษิตคาถาไว้อย่างนี้ว่า (ขุ.เถร.๒๖/๑๕๐/๒๖๓)

ภูเขาทั้งหลาย ล้วนแล้วด้วยศิลา สีเขียวทะมึนดังเมฆ ดูรุจิเรกงามดี มีธารวารีเย็นใสสะอาด ดารดาษไปด้วยแมลงค่อมทอง แดนขุนเขา ทำใจเราให้รื่นรมย์

อีกองค์หนึ่ง คือ พระจิตตกะ ได้กล่าวเป็นคาถาไว้ แปลเป็นไทยว่า (ขุ.เถร.๒๖/๑๕๙/๒๖๕)

นกยูงทั้งหลาย มีขนเขียว ขนคองาม หงอนงาม พากันร่ำร้องอยู่ในป่าการวี นกยูงเหล่านั้นระเริงร้องท่ามกลางลมหนาว อันเจือด้วยฝน ปลุกบุคคลผู้เจริญฌานซึ่งหลับอยู่ให้ตื่นจากการพักผ่อน

อีกองค์หนึ่งชื่อพระเอกวิหาริยเถระ ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า (ขุ.เถร.๒๖/๓๗๑/๓๔๙)

… เราผู้มุ่งมั่นต่อธรรมที่เป็นจุดหมาย จักเข้าไปลำพังผู้เดียวโดยเร็วพลัน สู่ป่าใหญ่ อันเป็นที่ก่อให้เกิดปีติแก่พระโยคาวจร น่ารื่นรมย์ เป็นที่อยู่ของหมู่ช้างตกมัน เราลำพังผู้เดียวจักโสรจสรงกายในซอกเขาอันเยือกเย็น ในป่าอันยะเยือก ที่มีดอกไม้บานสะพรั่ง จักจงกรมให้เป็นที่สำราญใจ

… เมื่อลมเย็นพัดมา พากลิ่นดอกไม้หอมฟุ้งไป เรานั่งอยู่บนยอดเขา จักทำลายอวิชชา ณ เงื้อมผาที่ดารดาษไปด้วยดอกโกสุม มีภาคพื้นเยือกเย็นในแดนป่า เราผู้เป็นสุขแล้วด้วยวิมุตติสุข จะรื่นรมย์อยู่ในถ้ำแห่งขุนเขาอย่างแน่นอน

เรานั้นมีความดำริอันเต็มเปี่ยมแล้ว เหมือนดังดวงจันทร์ในวันเพ็ญ เป็นผู้สิ้นอาสวะทั้งปวงแล้ว บัดนี้ ภพใหม่มิได้มี

คำกล่าวแบบนี้มีมากมาย ขอยกมาอีกท่านหนึ่ง คือพระมหากัสสปะ ได้กล่าวว่า (ขุ.เถร.๒๖/๓๙๙/๔๒๒)

… ตัวท่านนี้ ได้ไปสู่เรือนคือถ้ำ ที่เงื้อมเขาอันสวยงามดังสรรสร้าง1 เป็นที่เหล่าหมูป่าและกวางพากันมาอาศัย อยู่ในแดนป่าคราวฝนตกใหม่ จักได้รื่นรมย์ใจ

ณ ที่นั้น ฝูงนกยูงมีขนคอเขียว มีหงอนและปีกงาม รำแพนหางมีแวววิจิตรนัก ส่งสำเนียงก้องกังวาลไพเราะจับใจ จักยังท่านผู้บำเพ็ญฌานอยู่ในป่าให้ร่าเริงได้

คราวฝนตกแล้ว หญ้างอกยาวประมาณ ๔ นิ้ว ดอกไม้บานลานตา ท้องฟ้างามแจ่มใส ไร้เมฆปกคลุม ตัวท่านเป็นดั่งกิ่งคอนขอนไม้ นอนอยู่บนหญ้าระหว่างภูเขานั้น จะรู้สึกอ่อนนุ่มดังสำลี

ทีนี้ลองมาฟังพระองคุลิมาล ที่เคยเป็นโจรใหญ่ แต่ก่อนนี้อยู่ในป่าด้วยความรู้สึกอย่างหนึ่ง แต่พอได้ปฏิบัติธรรมแล้วเปลี่ยนมาเป็นพระสาวกของพระพุทธเจ้า ก็เปลี่ยนไป โดยมีความรู้สึกต่อป่าใหม่อีกอย่างหนึ่ง ท่านได้กล่าวไว้ว่า (ขุ.เถร.๒๖/๓๙๒/๓๙๐)

… แต่ก่อนนั้น เราอยู่ในป่า อยู่ที่โคนไม้ ภูเขา หรือในถ้ำ ทุกหนแห่ง มีใจเสียวสยองอยู่ตลอดเวลา โอ้ว่าเราผู้อันพระศาสดาทรงอนุเคราะห์แล้ว ไม่เข้าไปในเงื้อมมือมาร จะยืนจะนอน ก็เป็นสุข มีชีวิตที่เป็นสุข

อีกองค์หนึ่งเป็นกษัตริย์เก่า ครองแคว้นศากยะแล้วออกมาบวช ขอเอามาอ่านเพื่อให้เห็นความรู้สึกของท่านที่เปลี่ยนแปลงไป ท่านกล่าวไว้ว่า (ขุ.เถร.๒๖/๓๙๑/๓๘๖)

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อก่อนนั้น ข้าพระองค์จะไปไหนก็ขึ้นคอช้างไป แม้จะนุ่งห่มผ้า ก็นุ่งห่มแต่ผ้าที่ส่งมาจากแคว้นกาสี มีเนื้ออันละเอียด แม้จะบริโภค ก็บริโภคแต่อาหารล้วนเป็นข้าวสาลี พร้อมด้วยเนื้ออันสะอาดมีโอชารส ถึงกระนั้น ความสุขนั้นก็หาได้ทำจิตของข้าพระองค์ให้ยินดีเหมือนความสุขในวิเวก ณ บัดนี้ไม่

ในกาละนี้ ข้าพระองค์ผู้มีนามว่าภัททิยะ โอรสของพระนางกาลิโคธา เป็นภัทรชน ผู้มีความเพียรสม่ำเสมอ ยินดีแต่อาหารที่ได้มาด้วยการเที่ยวบิณฑบาต ไม่ถือมั่นสิ่งใดๆ เพ่งพินิจธรรม

… ข้าพระองค์ละทิ้งเครื่องราชูปโภค คือ จานทองคำราคา ๑๐๐ ตำลึง ซึ่งล้วนแล้วด้วยลวดลายอันงดงามวิจิตรด้วยภาพทั้งภายในและภายนอก นับได้ตั้ง ๑๐๐ มาใช้บาตรดินใบนี้ นี้เป็นการอภิเษกครั้งที่สอง

แต่ก่อนนั้น ข้าพระองค์มีหมู่ทหารถือดาบรักษาบนกำแพงอันสูงที่ล้อมรอบ กับทั้งที่ป้อมและซุ้มประตูพระนคร อย่างแน่นหนา ก็ยังมีความหวาดเสียวอยู่เป็นนิตย์

บัดนี้ ข้าพระองค์ผู้ชื่อว่าภัททิยะ โอรสของพระนางกาลิโคธา เป็นภัทรชน ไม่มีความสะดุ้งหวาดเสียว ละความขลาดกลัวภัยได้แล้ว มาหยั่งลงสู่ป่า เพ่งพินิจธรรม ข้าพระองค์ตั้งมั่นอยู่ในศีลขันธ์ อบรมสติปัญญา ได้บรรลุถึงความสิ้นไปแห่งสังโยชน์ทั้งปวงโดยลำดับ

คำพูดของท่านมีใจความว่า แต่ก่อนนี้ เมื่อเป็นกษัตริย์อยู่วัง แสนจะมีความสุข มีเครื่องอุปโภคบริโภคใช้พรั่งพร้อมทุกอย่าง ก็ยังมีความหวาดหวั่นพรั่นใจ ความสุขก็ไม่สมบูรณ์ แต่บัดนี้ได้มาดำเนินชีวิตอย่างสงบเรียบง่าย จิตใจเข้าถึงธรรมแล้ว แม้จะอยู่ป่า ไม่มีอะไรเลย ก็มีความสุข

คำบรรยายความรู้สึกที่มีมาในคัมภีร์อย่างนี้ แสดงถึงชีวิตของพระอรหันต์ ทั้งของพระพุทธเจ้า และพระสงฆ์สาวก เป็นคติทางพระพุทธศาสนาที่มีมาแต่เดิม ในด้านความสัมพันธ์กับธรรมชาติ ให้เห็นว่าธรรมชาติเป็นส่วนสำคัญของชีวิตที่ดีงาม เป็นองค์ประกอบของชีวิตที่พึงประสงค์

มนุษย์ไม่ควรคิดต่อธรรมชาติอย่างเป็นปฏิปักษ์ หรือมุ่งจะไปเอาประโยชน์จากธรรมชาติเท่านั้น แต่ควรมีความรู้สึกที่จะอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างเป็นมิตรและมีความสุข แล้วแต่ละฝ่ายก็จะเป็นปัจจัยแห่งความสุขแก่กันและกันได้

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< พุทธศาสนามองธรรมชาติอย่างไรภูมิหลังของคนไทยในบรรยายกาศแห่งป่าเขาลำเนาไพร >>

เชิงอรรถ

  1. ปกเฏว (ปกเตว ก็ว่า) อรรถกถาของที่นี่เองแปลว่า “อย่างปกติ” แต่คำนี้โดยทั่วไปแปลว่า ทำ หรือสร้าง อรรถกถา-ฎีกาบางแห่งแปลว่า “ปฏิยตฺต, อภิสงฺขต” ในที่นี้ ถือตามนัยนี้ จึงแปลว่า จัดสรร แต่งสรร หรือสรรสร้าง

No Comments

Comments are closed.