การแก้ปัญหาระดับปัญญา: บริโภคด้วยปัญญาให้เกิดความพอดี

28 เมษายน 2536
เป็นตอนที่ 30 จาก 32 ตอนของ

การแก้ปัญหาระดับปัญญา:
บริโภคด้วยปัญญา ให้เกิดความพอดี

เรื่องของปัญญา ยังรวมถึงความเข้าใจในเรื่องปลีกย่อยอีกมากมาย แต่ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อย่างยิ่ง ซึ่งจะต้องย้ำเน้นไว้ ก็คือ เรื่องความเข้าใจคุณค่าที่แท้ของสิ่งทั้งหลาย ซึ่งที่จริงก็พูดมาแล้ว แต่เป็นส่วนสำคัญมากในการรักษาธรรมชาติแวดล้อม กล่าวคือ พฤติกรรมสำคัญของมนุษย์ที่ก่อปัญหาแก่ธรรมชาติอย่างมาก ก็คือ การบริโภค

เมื่อมนุษย์จะบริโภค คือเมื่อจะสนองความต้องการในการบริโภค เขาก็ต้องผลิต เมื่อเขาต้องผลิต เขาก็ต้องไปเอาทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ เมื่อบริโภคมาก ก็ผลิตมาก เมื่อผลิตมาก ก็ใช้ทรัพยากรธรรมชาติมาก

เพราะฉะนั้น ในปัจจุบันนี้ คำว่า การผลิต จึงมีความหมายเป็นการทำลายด้วย

ในยุคนี้ คนเริ่มมองเห็นความหมายใหม่ว่า การผลิตมีความหมายเป็นการทำลายด้วย แต่ก่อนนี้ไม่คิดกันว่า การผลิตคือการทำลาย แต่เดี๋ยวนี้ยอมรับว่า การผลิตคือการทำลายในรูปใดรูปหนึ่ง

เมื่อเราเอาทรัพยากรธรรมชาติมาทำการผลิตในทางอุตสาหกรรม ก็คือเราต้องทำลายธรรมชาติ เมื่อเป็นเช่นนี้ ถ้าเราจะอนุรักษ์ธรรมชาติ เราก็ต้องพยายามให้การผลิตของเรานี้ทำลายธรรมชาติน้อยที่สุด หรือไม่ทำลายเลย

แต่การผลิตนั้น ก็เพื่อสนองการบริโภค เพราะฉะนั้น พฤติกรรมของมนุษย์ที่สำคัญคือ “การบริโภค”

ถ้าเราแก้พฤติกรรมในการบริโภคของมนุษย์ได้ ก็จะแก้ปัญหาธรรมชาติแวดล้อมไปได้มากมาย และตอนนี้แหละที่ปัญญามีบทบาทเข้ามาเกี่ยวข้อง

เบื้องแรก ขอให้พิจารณาความหมาย ความมุ่งหมาย และเหตุผลของการบริโภค

คนจำนวนมาก ไม่เคยคิดไม่เคยถามตัวเองเลยว่า การบริโภคของมนุษย์เพื่ออะไร แต่เขาจะมีความรู้สึกที่เป็นการมองความหมายและคุณค่าของการบริโภค ว่าเป็นการกระทำเพื่อจะได้บำรุงบำเรอความสุขของตัวเอง ซึ่งก็เข้าสู่ระบบความคิดของยุคอุตสาหกรรมเมื่อกี้ที่บอกว่า ความสุขของมนุษย์อยู่ที่ต้องหาวัตถุมาบำรุงบำเรอตนเองให้มากที่สุด ซึ่งก็คือต้องบริโภคให้มากที่สุด

พฤติกรรมการบริโภคอย่างนี้ก็คือ การบริโภคชนิดที่บอกเมื่อกี้ว่าเป็นการเห็นแก่ตัวไม่เป็น มุ่งแต่จะสนองความพอใจในระดับพื้นฐานที่ไม่ใช้ปัญญา เช่น กินเพื่อเห็นแก่อร่อยอย่างเดียว หรือเพื่อเห็นแก่ความโก้ หรูหรา กินเพื่ออวดฐานะ แสดงความฟุ่มเฟือย อะไรต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งเป็นพฤติกรรมบริโภคที่ทำให้เกิดการสูญเปล่ามากมาย ไม่ดีทั้งแก่ชีวิต ทั้งแก่สังคม และแก่ธรรมชาติแวดล้อม เสียหมดตลอดกระบวนการ

ทีนี้ พอมนุษย์ใช้ปัญญาในการบริโภค คือบริโภคด้วยปัญญา เขาก็จะถามตัวเอง และจะพิจารณาหาความหมายและคุณค่าอย่างจริงจังว่า “บริโภคเพื่ออะไร”

แล้วเขาก็จะตอบได้เองว่า บริโภคเพื่อประโยชน์แก่ชีวิต ที่จะหล่อเลี้ยงร่างกายให้มีสุขภาพดี สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ จะได้ดำเนินชีวิตที่ดีงาม มีกำลังที่จะศึกษาเล่าเรียน ทำหน้าที่การงานได้ ทำประโยชน์สุขได้ และเป็นอยู่ผาสุก

เมื่อมองเห็นความหมายและความมุ่งหมายอย่างนี้ ก็จะมีมาตรฐานในการวัดความพอดีในการบริโภคว่า กินแค่ไหนจึงจะพอดีกับความต้องการของชีวิต และเป็นประโยชน์แก่ชีวิตอย่างแท้จริง แล้วเขาก็จะกินอย่างพอดี พฤติกรรมในการบริโภคก็จะเปลี่ยนไป

ตอนนี้ก็จะมีการบริโภคชนิดที่เรียกว่า รู้จักประมาณ ขึ้นมา คือรู้จักพอดีในการบริโภค หรือบริโภคอย่างพอดี ทำให้การบริโภคมีขอบเขต และเป็นประโยชน์ที่แท้จริง เพราะเป็นการบริโภคที่เป็นประโยชน์แก่ตัวชีวิตเอง ไม่ใช่ว่า ตัวคนแซบ แต่ชีวิตแทบสิ้น

นี่ก็คือเป็นการ บริโภคด้วยปัญญา ที่ทำให้ชีวิตเข้าถึงประโยชน์ ทั้งได้คุณค่าที่แท้จริงแก่ชีวิตด้วย และทำให้ลดการเบียดเบียนกันในสังคม ไม่ต้องแย่งชิงกันมากด้วย แล้วก็ทำลายธรรมชาติแวดล้อมน้อยลงด้วย คือ ได้ผลดีครบหมดเลยทั้ง ๓ ด้าน

ดังนั้น เพียงแค่มนุษย์ปรับความเข้าใจในการบริโภคให้ถูกต้อง แล้วเปลี่ยนพฤติกรรมในการบริโภคให้สนองปัญญา ที่เข้าใจความหมายที่แท้จริง ผลดีก็เกิดขึ้นแก่การอนุรักษ์ธรรมชาติทันที และผลดีนั้นก็สอดคล้องกันหมดทั้งกระบวนการ

ฉะนั้น การบริโภคด้วยปัญญานี้ จึงเป็นการฝึกเบื้องต้นในพุทธศาสนา ท่านเรียกว่า “โภชเนมัตตัญญุตา” (ความรู้จักประมาณในการบริโภค) ซึ่งหมายถึงการบริโภคด้วยปัญญาที่รู้เข้าใจความหมายและคุณค่าของการบริโภค ว่าเราบริโภคเพื่ออะไร

เพราะฉะนั้น สำหรับพระที่เข้ามาบวชใหม่ จึงมีคำสอนเบื้องต้นอย่างหนึ่งว่าให้ ปฏิสังขาโย คือจะต้องพิจารณาก่อนบริโภคว่า เราบริโภคเพื่ออะไร ไม่ใช่บริโภคเพียงเพื่อเอร็ดอร่อย เพื่อจะสนุกสนาน มัวเมา หรือเพียงเพื่อจะอวดโก้แสดงฐานะอะไรกัน ไม่ใช่อย่างนั้น ถ้ากินแบบนั้นก็มีแต่ผลเสียหมดทุกด้าน จึงต้องมองความหมายของการบริโภคให้ถูกต้อง

พอบริโภคด้วยปัญญา ก็ปรับพฤติกรรมในการบริโภค ทำให้บริโภคอย่างรู้จักประมาณ รู้จักพอดี แล้วก็เกิดคุณทั้ง ๓ สถาน มีผลดีทั้งระบบ

อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิต ที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา คือความพอดีที่เป็นทางสายกลาง

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< การแก้ปัญหาระดับปัญญา: มองเห็นระบบปัจจัยสัมพันธ์แห่งสรรพสิ่งการแก้ปัญหาระดับปัญญา: พอคนมีความสุขอย่างอิสระ ป่าก็ได้รับการอนุรักษ์เต็มที่ >>

No Comments

Comments are closed.