ความสำนึกผิดที่ทำให้หันสู่แนวทางใหม่

28 เมษายน 2536
เป็นตอนที่ 13 จาก 32 ตอนของ

ความสำนึกผิด
ที่ทำให้หันสู่แนวทางใหม่

นี่คือความคิดของตะวันตก ที่ปรากฏออกมาว่าฝรั่งได้มองความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติอย่างนี้ อันนี้คือตัวการหรือตัวเหตุตัวปัจจัยที่สำคัญที่สุด ที่เขาถือว่าจะต้องแก้ ถือได้ว่าเป็น จุดสำนึกผิดของตะวันตก ซึ่งในปัจจุบันยอมรับแล้วว่า ในการที่จะแก้ไขปัญหาธรรมชาติแวดล้อมเสียนั้น ในที่สุดจะต้องแก้ให้ถึงระดับความคิดนี้ จะต้องเปลี่ยนปรัชญาใหม่ เปลี่ยนความคิดใหม่ ไม่ใช่เปลี่ยนเฉพาะในระดับปฏิบัติการเท่านั้น

ถ้าจะสรุปความเป็นไปในแนวทางการพัฒนาของตะวันตกในปัจจุบัน เขาได้มาถึงจุดเปลี่ยนที่เกิดจากการมีความสำนึกผิด ๒ ประการ คือ

๑. ความสำนึกผิดในระดับปฏิบัติการ

ระดับปฏิบัติการ คือ การกระทำต่างๆ ทั้งพฤติกรรมและกิจการในกระบวนการพัฒนา ซึ่งเขายอมรับว่า ได้ดำเนินมาผิดพลาด ทำให้เกิดความเสียหายต่างๆ มากมายหนักหนา โดยเฉพาะก็คือธรรมชาติแวดล้อมเสีย

๒. ความสำนึกผิดในระดับรากฐานความคิด

ระดับฐานความคิด คือ ความเชื่อถือ ลัทธิ ทฤษฎี แนวความคิดทางปรัชญา และบทบัญญัติ หรือหลักคำสอนของศาสนา ที่เป็นต้นแหล่งหรือที่มาของพฤติกรรมและการดำเนินกิจการต่างๆ อย่างที่บอกว่ามีการพัฒนาอย่างนี้ ก็เพราะมีฐานความคิดอย่างนี้

ฝรั่งเคยอวดไว้ เช่นบอกว่า การพัฒนาวิทยาศาสตร์ของตะวันตกที่เจริญล้ำหน้าตะวันออกมาได้ ก็เพราะฐานความคิดนี้

ในหัวข้อประวัติวิทยาศาสตร์ ในหนังสือ Encyclopaedia Britannica เขาเขียนอวดไว้เลยได้ใจความว่า แต่ก่อนนี้ ตะวันออกเหนือกว่าตะวันตกในเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่ด้วยแนวความคิดที่จะพิชิตธรรมชาติ (the conquest of nature) จึงทำให้ตะวันตกเจริญล้ำหน้าตะวันออกมาได้1

อันนี้ เป็นฐานความคิดในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ ซึ่งก็มาจากคำสั่งสอนทางศาสนาและความคิดทางปรัชญาของตะวันตกเอง การที่วิทยาศาสตร์พัฒนามาแบบนี้ ก็แสดงให้เห็นถึงการถูกครอบงำด้วยอิทธิพลความคิดเก่าที่มาจากสายมนุษยศาสตร์

ในโลกสมัยใหม่นี้ คนนิยมวิทยาศาสตร์มาก ทำให้วิชาการจำพวกมนุษยศาสตร์อับแสงไป แต่ดูไปดูมา ไม่ใช่วิทยาศาสตร์อยู่เหนือมนุษยศาสตร์หรอก ที่จริงมนุษยศาสตร์นี้แหละมีอิทธิพลอยู่เบื้องหลังวิทยาศาสตร์ เป็นตัวที่หันเหนำทางวิทยาศาสตร์ด้วยซ้ำ

ตกลงว่า แนวความคิดที่มองธรรมชาติแยกต่างหากจากมนุษย์ โดยมนุษย์จะต้องพิชิตธรรมชาตินี่แหละ ที่ทำให้วิทยาศาสตร์พัฒนามา แล้วเราก็เอาวิทยาศาสตร์มาเป็นฐานของการสร้างสรรค์พัฒนาเทคโนโลยี

เทคโนโลยีเป็นอุปกรณ์สำคัญที่มีบทบาทใหญ่ในกระบวนการพัฒนาอารยธรรมปัจจุบัน อันเป็นอารยธรรมที่อาศัยอุตสาหกรรม ซึ่งดำเนินไปด้วยเทคโนโลยี เสร็จแล้วทั้งหมดก็มาจากฐานความคิดอันนี้ทั้งสิ้น

นี่คือการมองความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในขั้นรากฐานของการพัฒนาอารยธรรม

ในที่สุด การที่จะแก้ปัญหาทั้งหมดในเรื่องที่เกี่ยวกับธรรมชาติหรือสภาพแวดล้อม รวมทั้งเรื่องป่านั้น จะต้องหาจุดลงตัวเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติให้เด่นชัดว่าเราจะเอาอย่างไร มนุษย์จะสัมพันธ์กับธรรมชาติในลักษณะไหน มีท่าทีแห่งความรู้สึกต่อกันอย่างไร ต้องลงไปถึงขั้นนี้ จึงจะแก้ปัญหาได้

ทางฝ่ายตะวันตกเอง ตอนนี้ก็กำลังรู้ตัวว่าต้องแก้ปัญหาให้ถึงจุดสำคัญนี้ คือจะต้องมาแก้ปัญหาที่รากฐานของความคิด และเขาก็มาถึงจุดที่ยอมรับว่าจะต้องเปลี่ยนความคิดความเชื่อของเขาที่มีมาแต่ดั้งเดิมเสียใหม่ เขาจึงย้ำอยู่เสมอในหนังสือเกี่ยวกับธรรมชาติแวดล้อม

ถึงแม้ว่าตอนนี้เราจะไม่มีเวลาพูดถึงเรื่องรากฐานความคิดของฝรั่ง แต่เพียงสังเกตนิดหน่อยก็จะเห็นว่า เขาชอบย้ำกันอยู่เสมอว่า จะต้องมองมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ

ขอให้สังเกตดู หนังสือของฝรั่งตอนนี้จะพูดเรื่องนี้และย้ำบ่อยๆ ซึ่งมันไม่ใช่ความคิดเดิมของเขาเลย เพราะฝรั่งมองมนุษย์แยกต่างหากจากธรรมชาติมาตลอดเวลา แต่ตอนนี้เขามาเน้นอย่างนี้ ก็เพราะเขาสำนึกผิดนั่นเอง

นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของการที่จะแก้ปัญหาธรรมชาติแวดล้อมของยุคปัจจุบัน และมิใช่ส่วนหนึ่งที่เล็กน้อย แต่เป็นส่วนรากฐานที่สำคัญที่สุด

อันนี้เป็นเรื่องที่เพียงตั้งเป็นหัวข้อไว้ก่อน เพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญ แต่เป็นจุดที่จะต้องพิจารณาศึกษานาน เมื่อไม่มีเวลาพอ จึงต้องผ่านไปก่อน

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< มนุษย์กับธรรมชาติ ในแนวคิดเดิมของตะวันตกความสำคัญของป่า ในความหมายของคน >>

เชิงอรรถ

  1. “… through science and technology, man could bend nature to his wishes. This is essentially the modern view of science, and it should be emphasized that it occurs only in Western civilization. It is probably this attitude that permitted the West to surpass the East, after centuries of inferiority, in the exploitation of the physical world.”
    “science, history of,” Encyclopaedia Britannica. Chicago: Encyclopaedia Britannica, 1998.

No Comments

Comments are closed.