การแก้ปัญหาระดับปัญญา: เมื่อมองเห็นคุณค่า ก็แก้ปัญหาด้วยความพอใจ

28 เมษายน 2536
เป็นตอนที่ 27 จาก 32 ตอนของ

การแก้ปัญหาระดับปัญญา:
เมื่อมองเห็นคุณค่า ก็แก้ปัญหาด้วยความพอใจ

๓. ระดับปัญญา การแก้ปัญหาในระดับปัญญาเริ่มตั้งแต่การมองเห็นเหตุผล หรือมองเห็นประโยชน์ในการที่จะมีพฤติกรรมอย่างนั้น

เราอาจจะอธิบายให้เขาเห็นว่า การกระทำอย่างนั้นดีอย่างไร เป็นประโยชน์ต่อตัวเขาเองอย่างไร เป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างไร เป็นประโยชน์ต่อการอยู่ร่วมกันอย่างไร การมีพฤติกรรมนั้นๆ มีเหตุผลอย่างนี้ๆ

เมื่อเด็กเข้าใจเหตุผล มองเห็นคุณค่าของพฤติกรรมนั้นๆ แล้ว ก็จะยิ่งสำทับให้เขามีความพอใจและมีความสุขในการมีพฤติกรรมอย่างนั้นมากขึ้น เพราะการเห็นคุณค่านั้น เป็นปัจจัยที่เสริมความพอใจและความสุข

เมื่อเด็กเห็นคุณค่าของสิ่งที่เขาทำ เขาก็จะมีความพอใจที่จะทำยิ่งขึ้น และความพอใจก็ทำให้เขามีความสุข

เพราะฉะนั้น ในภาคจิตใจ ความพอใจและความสุข ในการที่จะทำอย่างนั้น ก็อาศัยภาคปัญญา คือการสร้างความเข้าใจเข้ามาช่วยเสริมอีก แล้วก็ส่งผลไปยังภาคพฤติกรรมให้ได้ผลจริงจังยั่งยืนยิ่งขึ้น การแก้ปัญหาทั้ง ๓ ระดับ หรือ ๓ ภาค จึงสัมพันธ์อิงอาศัยกัน

เพราะฉะนั้น ในการที่จะให้เด็กมีพฤติกรรมที่พึงประสงค์ เมื่อเด็กพร้อม เราจะต้องให้ความรู้ความเข้าใจเสริมเข้าไปเรื่อยๆ ให้เขาเห็นเหตุผลในการกระทำของเขา เห็นคุณค่า เห็นประโยชน์ในการกระทำ แล้วการเห็นคุณค่าของพฤติกรรม หรือประโยชน์ของพฤติกรรม และเหตุผลที่ว่าทำไมเราจึงต้องทำอย่างนี้ ก็จะย้ำพฤติกรรมที่เขาพอใจให้ประทับแน่น

การมองเห็นเหตุผลที่ชัดเจน จะเป็นหลักประกันให้เขาถูกชักจูงไปอย่างอื่นไม่ได้ เป็นการพัฒนาขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง

ถ้าเป็นพฤติกรรมเคยชินอย่างเดียว แม้จะมีความสุขทางจิตใจมาช่วย แต่ถ้าไม่มีปัญญากำกับ ก็ยังไม่แน่น ไม่มั่นคงโดยสมบูรณ์ เขาอาจจะถูกชักจูงให้เขวได้ แต่พอมีปัญญามองเห็นเหตุผลเห็นคุณค่าแล้ว เห็นด้วย มีความชัดเจนด้วยปัญญาของตนเอง พฤติกรรมก็แน่นถึงที่สุด ใครจะชักจูงออกไปไม่ได้

เพราะฉะนั้น จึงต้องพัฒนาคนให้ครบทั้ง ๓ ระดับ

อย่างไรก็ตาม เรื่องยังไม่จบแค่นี้ ในระดับปัญญา การพัฒนายังมีความเจริญแยกซอยออกไปอีกมาก เมื่อกี้นี้เห็นเหตุผลของพฤติกรรม โดยมองเห็นคุณค่าของสิ่งที่เราเข้าไปเกี่ยวข้อง เช่น มองเห็นคุณค่าของธรรมชาติแวดล้อม เห็นคุณค่าของต้นไม้ เห็นคุณค่าของป่า ซึ่งเกิดจากปัญญา ด้วยการสอนให้เกิดความเข้าใจ

แต่คุณค่าที่ว่านี้เรามักจะมองในความหมายของคน ซึ่งหมายถึงคนที่เห็นแก่ตัว หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า มองในความหมายที่สนองความเห็นแก่ตัวของคนก่อน คือในตอนแรกนั้น เรามุ่งที่จะเอาประโยชน์จากสิ่งทั้งหลาย โดยเราไม่ได้นึกถึงคุณค่าของสิ่งเหล่านั้น

ทีนี้ พอเราจะมองหาคุณค่า คุณค่าแง่ที่หนึ่งที่เรามองเห็น ก็จึงเป็นคุณค่าในแง่ที่เราจะเอาประโยชน์จากมัน โดยมากคนจะมองคุณค่าในแง่นี้ว่า เออ! เราจะเอาอะไรจากมันได้บ้าง เราจะเอามันมาทำอะไรได้บ้าง นี่คือคุณค่าในความหมายของคนหมู่มาก

คุณค่าอย่างนี้ยังอยู่ในระบบความคิดแบบเห็นแก่ตัวที่จะไปเอาผลประโยชน์ คือมนุษย์มองแต่เพียงว่าจะได้ จะเอา จากสิ่งทั้งหลาย พอมองคุณค่าปั๊บ ก็นึกถึงแต่คุณค่าที่สนองความต้องการของตัวเอง ว่าเราจะเอาประโยชน์อะไรจากมันได้บ้าง

นี้เป็นการมองความหมายของคุณค่าในระบบความคิดที่แพร่หลายมาก แต่การมองอย่างนี้ไม่ถูก คุณค่าในความหมายอย่างนี้ยังไม่ปลอดภัย คุณค่าที่แท้ไม่ใช่อย่างนี้ ไม่ใช่แค่นี้

คุณค่าที่ถูกต้องแท้จริง เป็นคุณค่าที่ออกมาจากตัวของสิ่งนั้นเอง แต่คุณค่าที่แท้จริงนี้ก็เกิดจากการมองย้อนพลิกกลับนั่นเอง คือคุณค่าที่ว่าเราจะเอาประโยชน์จากมันนี่แหละ ถ้ามองอีกทีแบบพลิกกลับด้านกัน ก็จะเห็นเป็นคุณค่าอีกแบบหนึ่ง

ตรงนี้หมายความว่า ทีแรกเรามองว่า เราจะได้อะไรจากมัน เราจะเอามันมาทำอะไร แต่ทีนี้ถ้ามองกลับอีกทีหนึ่ง ความหมายจะกลายเป็นว่า สิ่งนั้นให้อะไรแก่เรา เมื่อกี้นี้เรามองจะเอา คราวนี้เรามองว่า มันให้อะไรแก่เรา

พอเรามองว่า มันให้อะไรแก่เรา ก็เริ่มจะเป็นคุณค่าที่แท้จริงของมันแล้ว คราวนี้เราจะมองเห็นว่ามันมีคุณค่าต่อชีวิตของเรา มันเป็นประโยชน์ มันเอื้ออำนวยต่อชีวิตของเรา เป็นความดีของมัน ตรงนี้แหละคือคำว่า “คุณ” ที่โบราณเรียกว่า “มันมีคุณ” ที่เราควรจะ “กตัญญู”

ตามความหมายนี้ พืชพรรณ ต้นไม้ ป่า มีคุณแก่มนุษย์ มันมีคุณ มันมีความดี มันเอื้อ มันให้อะไรแก่เรา เราจึงมีความสำนึกคุณ คือรู้เข้าใจคุณค่าของมัน

คุณค่าในแง่นี้ ไม่ใช่เป็นเพียงว่า คุณค่าที่ว่าเราจะเอามันมาทำอะไร หรือจะเอาอะไรจากมันได้บ้าง ไม่ใช่มองในแง่ของตัวเรา หรือการสนองความต้องการของเรา โดยเอาตัวเราเป็นศูนย์กลาง แต่เป็นการมองออกไปที่สิ่งนั้นๆ ว่า มันให้อะไรแก่เรา มันมีอุปการะต่อชีวิตของเราอย่างไร มันเป็นเครื่องค้ำจุนชีวิตของเราอย่างไร

คุณค่าในความหมายนี้นี่แหละสำคัญ พอเรามองเห็นคุณค่าในความหมายนี้ว่า มันมีคุณต่อชีวิตของเรา เราจะเริ่มมีความรู้สึกรักมัน และจะมีความรู้สึกที่ดีตอบแทน คือความรู้สึกที่เริ่มคิดว่าจะให้แก่มันบ้าง

ตรงนี้แหละจะเป็นจุดเริ่มที่นำไปสู่พฤติกรรมอนุรักษ์ที่มั่นคง เป็นท่าทีที่เป็นประโยชน์มาก คือมีความระลึกว่า มันให้อะไรแก่เรา แล้วเราก็เริ่มรู้สึกที่อยากจะให้แก่มันบ้าง หรือจะทำอะไรเพื่อมันบ้าง มันเกื้อกูลต่อเรา เราก็คิดเกื้อกูลต่อมัน

แล้วก็จะนำไปสู่ความรู้สึกตามมาอีกอย่างหนึ่งที่ดีมาก คือ พอเรารู้สึกรักมัน อยากจะเกื้อกูลให้แก่มันบ้าง เราจะมีความรู้สึก “เป็นสุข” ในการที่จะทำอย่างนั้นด้วย ความสุขก็เกิดขึ้นในลักษณะใหม่ หรือมีความสุขอย่างใหม่เกิดขึ้น

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< การแก้ปัญหาระดับจิตใจ: สร้างคุณธรรมและความสุขการแก้ปัญหาระดับปัญญา: จากจริยธรรมแห่งความกลัว สู่จริยธรรมแห่งความสุข >>

No Comments

Comments are closed.