ตอน ๓: ไทยอนาคตกับป่า

28 เมษายน 2536
เป็นตอนที่ 21 จาก 32 ตอนของ

ตอน ๓: ไทยอนาคตกับป่า

หลักการทั่วไป ในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม

การแก้ปัญหา สัมพันธ์กับการพัฒนาตัวคน

ต่อไปจะพูดถึง การแก้ปัญหาเกี่ยวกับธรรมชาติแวดล้อม รวมทั้งเรื่องการแก้ปัญหาการอนุรักษ์ป่าและการทำลายป่าด้วย การแก้ปัญหามีหลายระดับ เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ในระบบการแก้ปัญหา ซึ่งต้องดูที่ประโยชน์ที่เราต้องการ

การแก้ปัญหาระดับที่หนึ่ง คือ การแก้ปัญหาโดยเอื้อต่อประโยชน์ส่วนตัวของบุคคล เป็นขั้นที่เรายอมรับผลประโยชน์ส่วนตัวของมนุษย์ จึงเป็นการแก้ปัญหาพร้อมไปด้วยกันกับการอำนวยประโยชน์แก่ตัวเองของมนุษย์แต่ละคน เช่น เมื่อจะแก้ปัญหาเรื่องป่า เราก็ต้องหาทางออกให้ชาวบ้านได้ประโยชน์ด้วย แล้วเขาก็จะได้มาร่วมมือช่วยกันรักษาป่า

เราต้องยอมรับว่า มนุษย์แต่ละคนมีความต้องการพื้นฐาน ซึ่งเราควรจะให้เขาได้รับผลประโยชน์ด้วย แม้ว่าจะเป็นผลประโยชน์ส่วนตัว ดังนั้น ในการที่จะอนุรักษ์ป่า เราจึงต้องหาทางให้ชาวบ้านได้รับผลประโยชน์บ้าง เราจะไปให้เขาเสียสละอย่างเดียว ก็เป็นการขัดขืนฝืนกระแสความต้องการเบื้องต้น

อย่างไรก็ตาม มนุษย์จะหยุดอยู่แค่นั้นไม่ได้ เขาจะต้องมีการพัฒนาต่อไป ถ้าเอาแค่ผลประโยชน์ส่วนตัวสนองความต้องการเบื้องต้นเท่านั้นแล้ว ในที่สุดมันก็จะนำไปสู่การเบียดเบียนกันและความเสื่อมสูญแห่งจริยธรรม แล้วในที่สุดทุกคนก็จะต้องเดือดร้อนไปด้วยกัน เพราะฉะนั้น เราจะหยุดอยู่แค่นั้นไม่ได้

ในการแก้ปัญหาระดับที่หนึ่ง โดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนตัวของมนุษย์แต่ละคนนั้น เรายอมรับความต้องการของปุถุชนว่า “เมื่อเขาทำ ก็ให้เขาได้ด้วย”

ทำอย่างไรจะให้เขามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา โดยมีส่วนร่วมในการได้รับผลประโยชน์ด้วย ให้เขามองเห็นว่า การมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา ก็หมายถึงการได้รับผลประโยชน์ด้วย

ตอนแรก มนุษย์จะมองผลประโยชน์ในความหมายหยาบๆ ก่อน แต่ที่จริงประโยชน์ของมนุษย์นั้นมีหลายระดับ ถ้าเขามีปัญญา ถ้าเขาพัฒนาขึ้นไป เขาจะมองเห็นประโยชน์ที่ต่างออกไปด้วย

ยกตัวอย่างง่ายๆ คนเรานี้ เมื่อจะบริโภคหรือจะกินอะไร ประโยชน์เบื้องแรกที่เขาต้องการคือรสอร่อย เขาจึงมองหาว่าจะกินอะไรจึงอร่อย เขาอยากได้ของอร่อยมาให้แก่ตัวเองให้มากๆ นี้คือประโยชน์ของเขา คนที่ยังไม่มีการศึกษา ยังไม่มีการพัฒนา ก็จะมุ่งให้ได้ประโยชน์อันนี้ คือได้สนองความต้องการของประสาทสัมผัส อยากให้ตาได้ดูรูปดีๆ สวยๆ งามๆ หูได้ฟังเสียงไพเราะ จมูกได้ดมกลิ่นหอมๆ ลิ้นได้ลิ้มรสที่อร่อย ร่างกายได้สัมผัสสิ่งนุ่มนวล ซาบซ่าน อันนี้เป็นประโยชน์เบื้องต้น

ต่อมา เมื่อมนุษย์พัฒนาขึ้น มีสติปัญญามากขึ้น เขาเริ่มเข้าใจว่า สิ่งที่อร่อยไม่จำเป็นต้องเป็นประโยชน์แก่ชีวิต บางทีเป็นโทษด้วย ถ้ากินตามอร่อยแล้วบางทีเป็นโทษแก่ร่างกาย เริ่มตั้งแต่กินมากจนกระทั่งท้องอืดไม่ย่อย หรือว่ากินเข้าไปแล้ว บางอย่างไปมีผลร้ายต่อสุขภาพ ก็กลับไม่ดี ของอร่อยที่ชอบใจไม่จำเป็นต้องเป็นประโยชน์แก่ชีวิต

เขาเริ่มมีสติปัญญามองเห็นว่าเขากินเพื่ออะไร กินเพื่อให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ ให้ร่างกายแข็งแรงมีสุขภาพดี แล้วสามารถดำเนินชีวิตที่ดีงาม ทำหน้าที่การงานได้ผล และเป็นอยู่อย่างผาสุก

ถึงตอนนี้ เขาเริ่มมองต่างไปแล้ว เขามองสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ตัวเขาในความหมายที่ต่างจากเดิม คนที่เห็นแก่ตัว เริ่มเห็นแก่ตัวเป็น

แต่ก่อนนี้ เห็นแก่ตัวไม่เป็น คือเห็นแก่ตัวแล้วเป็นโทษแก่ตนเอง จะเอาสิ่งที่ตัวชอบใจ แต่ที่จริงเป็นโทษแก่ตัวเอง ไม่รู้จักคิด ไม่มีปัญญา แต่ต่อมาเขาเริ่มรู้จักว่าอะไรเป็นประโยชน์แก่ชีวิตของเขาจริง อย่างอาหารที่จะกินนี้ อะไรเป็นคุณค่าต่อชีวิตอย่างแท้จริง เขาเริ่มรู้จัก ทีนี้เขาจะเปลี่ยนพฤติกรรมในการกินใหม่

ตอนนี้จะเลือกกินอาหารที่มีคุณค่าเป็นประโยชน์แก่ชีวิต ถึงแม้จะกินอาหารที่อร่อย ก็รู้จักขอบเขต รู้จักปริมาณ กินในขอบเขตที่พอดี ไม่ให้เป็นโทษแก่ร่างกาย ตอนนี้เขาเปลี่ยนพฤติกรรมแล้ว นี้เรียกว่าเห็นแก่ตัวเป็น รู้จักเห็นแก่ตัวได้ดีขึ้น เพราะเริ่มมีปัญญารู้จักว่าอะไรเป็นประโยชน์แก่ชีวิตตัวเองจริง ตอนนี้ประโยชน์ไม่ใช่อยู่แค่อร่อยแล้ว แต่ประโยชน์ย้ายไปอยู่ที่คุณค่าของอาหารต่อชีวิตร่างกาย

จากที่พูดมานี้ก็จะเห็นว่า มนุษย์ต้องพัฒนา ถ้าไม่มีปัญญา มนุษย์จะไม่สามารถเข้าใจความจริงนี้ได้ เขาก็อยู่ได้แค่ระดับที่หนึ่ง คือ อะไรที่ฉันชอบใจ อะไรอร่อย ก็คือประโยชน์ของฉัน ต้องเอาอันนั้นให้มากที่สุด แต่พอมีพัฒนาการทางปัญญาขึ้น มีการศึกษาขึ้น เขาก็รู้จักว่า อะไรเป็นประโยชน์ที่แท้จริงแก่ชีวิตของตนเอง เขาก็รู้จักที่จะปฏิบัติต่อชีวิตและต่อสิ่งแวดล้อมได้ดีขึ้น อย่างได้ผลมากขึ้น

นี้คือการเปลี่ยนแปลงของมนุษย์ที่ต้องอาศัยการพัฒนา เพราะฉะนั้น การแก้ปัญหาจึงต้องสัมพันธ์กับการพัฒนามนุษย์โดยตลอด

ผลจากการศึกษาหรือการพัฒนาอีกอย่างหนึ่งก็คือ การที่เขาเริ่มมองเห็นว่า ผลประโยชน์ของตัวเขา ต้องสัมพันธ์กับผลประโยชน์ของคนอื่น ถ้าเราเอาแต่ผลประโยชน์ของตัวเอง ก็จะต้องมีการเบียดเบียนแย่งชิงซึ่งกันและกัน

พอเรามองกว้างออกไป เราก็เห็นว่า ผลประโยชน์ของเรานี้เนื่องกันกับผลประโยชน์ของผู้อื่น เช่น การที่จะรักษาป่านี้ มันเป็นประโยชน์แก่เราด้วย และแก่ชุมชนของเราด้วย เมื่อชุมชนของเราดี อยู่กันได้ดี มีความสงบสุข ตัวเราเองก็มีความสุขด้วย ความเข้าใจของเขากว้างขวางขึ้น เขาพัฒนาขึ้น เมื่อเขาคิดเขามองเขาเข้าใจอย่างนี้ การแก้ปัญหาในระบบผลประโยชน์ก็เปลี่ยนไป และเขาก็พร้อมที่จะก้าวต่อไปสู่การแก้ปัญหาในระดับที่สอง

สรุปว่า ตอนแรกที่เราแก้ปัญหาโดยเอื้อต่อผลประโยชน์ส่วนตัวของคนนั้น ความเข้าใจเกี่ยวกับผลประโยชน์มี ๓ ระดับ คือ

๑. ระดับประโยชน์ส่วนตัวของคนที่ไม่มีการศึกษาเลย ซึ่งมองแต่ในแง่ของความชอบใจหรือไม่ชอบใจ

๒. ระดับประโยชน์ส่วนตัวของคนที่มีการศึกษาแล้ว ซึ่งมองเห็นว่าอะไรเป็นประโยชน์ที่แท้จริงแก่ชีวิต

๓. ระดับประโยชน์ส่วนตัวของคนที่มีการศึกษาแล้ว ซึ่งมองเห็นว่า ประโยชน์ของตน เนื่องกันกับประโยชน์ของผู้อื่นหรือของสังคม

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< องค์รวมแห่งองค์ร่วมสามประสาน คือฐานของการพัฒนาที่ยั่งยืนคนยิ่งพัฒนา การแก้ปัญหายิ่งได้ผล >>

No Comments

Comments are closed.