วัฒนธรรมของคนไทยเกี่ยวข้องกับป่ามาอย่างไร

28 เมษายน 2536
เป็นตอนที่ 5 จาก 32 ตอนของ

วัฒนธรรมของคนไทย
เกี่ยวข้องกับป่ามาอย่างไร

อยากจะหันมาพูดถึงพื้นเพของคนไทยว่า การที่คนไทยของเรามีลักษณะพฤติกรรมในระยะที่ผ่านมานี้ในทางที่ไม่ค่อยเป็นมิตรกับธรรมชาติ ทำให้ธรรมชาติถูกทำลายสูญเสียไปนั้น ได้เป็นอย่างนี้กันมาแต่ดั้งเดิมหรืออย่างไร คนไทยเรามีพื้นเพในเรื่องนี้อย่างไร มีวัฒนธรรม มีลักษณะจิตใจเป็นอย่างไร ต้องย้อนไปดูกันนิดหน่อย

ว่าที่จริง คนไทยแต่เดิมนี้มีคติอะไรบางอย่างที่ทำให้เห็นว่า คงจะมีความรู้สึกเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติในทางที่ดีงามอยู่เหมือนกัน ความรู้สึกนี้จะเป็นไปในลักษณะของการพึ่งพาอาศัยกัน หรือการที่ต่างคนต่างต้องพึ่งพากัน

อย่างคำโบราณที่ว่า “น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า” อันนี้ก็แสดงถึงความความรู้สึกที่ว่าต้องอาศัยกัน หรืออย่างสุภาษิตเก่าว่า “เสือพีเพราะป่าปก ป่ารกเพราะเสือยัง ดินเย็นเพราะหญ้าบัง และหญ้ายังเพราะดินดี” อันนี้ก็เป็นคติที่แสดงถึงความรู้ตระหนักต่อระบบความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยกันในธรรมชาติ ซึ่งก็คือระบบแห่งดุลยภาพนั่นแหละ

คำโบราณอย่างที่ว่านี้ นับว่าเป็นคติอย่างหนึ่ง ที่แสดงถึงวัฒนธรรมประเพณีและจิตใจของคนไทยแต่โบราณ ว่ามีความรู้เข้าใจในระบบความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยกันในธรรมชาติ

นอกจากนี้เรายังได้เห็นพฤติกรรมที่แฝงมากับความเชื่อถือทางศาสนาแบบโบราณ คือ คนไทยเรานี้มีความนับถือเกี่ยวกับเรื่องภูตผีเทวดา และเทวดานั้นก็เกี่ยวกับป่าอย่างสำคัญเหมือนกัน ต้นไม้ในป่าเราถือว่ามีรุกขเทวดาอยู่ประจำ ต้นไม้ใหญ่ๆ เราเรียกว่าต้นไม้เจ้าป่า

คตินี้จะเป็นมาตั้งแต่ไหนเมื่อไรก็ไม่ทราบชัด แต่ในทางพระพุทธศาสนา ท่านกล่าวถึงความเชื่อเหล่านี้ที่มีมาตั้งแต่ก่อนพุทธกาล เป็นไปได้ว่าเมื่อคำสอนในพระศาสนาเข้ามา ความเชื่อเหล่านี้ก็ติดมาด้วย แต่เป็นความเชื่อที่มีมาตั้งแต่ก่อนพุทธกาล ซึ่งเราจะเห็นได้มากในชาดก มีหลายเรื่องหลายแห่งพูดถึงเรื่องรุกขเทวดา

คนไทยเราก็นับถือรุกขเทวดา เรากลัวเจ้าป่า กลัวรุกขเทวดา ไม่กล้าไปตัดไปทำลายไม้ใหญ่ๆ เพราะกลัวท่านจะลงโทษ

แม้แต่ตอนที่มีการสร้างทางในดงพญาเย็นสมัยก่อน ก็ยังมีเรื่องเล่าต่อๆ กันมาว่า ต้นไม้ใหญ่บางต้นแรงมาก มีเจ้าป่าอยู่ ใครไปตัดไปทำลาย ก็เกิดภัยพิบัติมากมาย ต้องมีการเซ่นสรวงบอกกล่าว ความเชื่อเหล่านี้ก็มีกันตลอดมายาวนาน

อย่างปัจจุบันนี้ เวลาจะให้ชาวบ้านยอมรับไม่ตัดต้นไม้ บางท่านก็ใช้วิธีเอาจีวรไปผูกไว้ที่ต้นไม้ต้นนั้น ซึ่งก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับจิตใจ

ความเชื่อทางจิตใจนี้มีอิทธิพลมาก คติเหล่านี้เป็นเรื่องทางด้านจิตใจที่ลึกซึ้ง แต่เราไม่ได้เอาคติเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ พอเข้ายุคปัจจุบัน เราก็ทิ้งเสียเลย เราโดดเข้ามาสู่อารยธรรมหรือวัฒนธรรมสมัยใหม่แบบตะวันตก คล้ายกับว่าตัดขาดกันเลย สิ่งเหล่านี้ก็ถูกทอดทิ้งไป

เลยกลายเป็นว่า ความรู้ข้อมูลและเหตุผลแบบวิทยาศาสตร์ เกี่ยวกับเรื่องคุณค่าของป่า ในแง่ของคุณค่าทางสภาพแวดล้อม ก็ยังไม่มี ขณะที่ความเชื่อเก่าๆ ก็ถูกทิ้งหายไปแล้ว เราก็เลยสูญเสียประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ความสัมพันธ์ที่ดีก็เลิกร้างห่างหาย เหลือแต่ความเป็นปฏิปักษ์ที่คิดมุ่งจะทำลายกัน

แต่ในสมัยโบราณนั้น ความเชื่อเรื่องดังกล่าวนี้มีอยู่ทั่วไปโดยเฉพาะความเชื่อเรื่องรุกขเทวดา และในพุทธศาสนาเองก็กล่าวถึงความเชื่อเรื่องราวเก่าๆ เหล่านี้ไว้ ในแง่ที่จะเอามาใช้เป็นประโยชน์ในทางคติธรรมหรือจริยธรรม ให้เห็นคติเกี่ยวกับการพึ่งพาอาศัยกัน

ท่านสอนหลักความสัมพันธ์ในธรรมชาติว่า แม้แต่รุกขเทวดาก็ยังต้องพึ่งพาอาศัยสัตว์ป่า รุกขเทวดาที่ว่ามีอิทธิฤทธิ์คนต้องกลัวนั้น ก็ต้องพึ่งพาอาศัยสัตว์ดิรัจฉาน ต้องให้ความสำคัญแก่สัตว์ในป่าด้วย

จะขอเล่าชาดกให้ฟังเรื่องหนึ่ง เป็นคำสอนในทางพุทธศาสนาที่แสดงถึงคติของการพึ่งพาอาศัยกัน ชาดกเรื่องนี้ว่าด้วย เสือสิงห์กับรุกขเทวดา ว่า

ที่ป่าแห่งหนึ่งมีเสือกับสิงห์อาศัยอยู่ เสือก็คือเสือทั้งหลาย สิงห์ก็คือราชสีห์หรือสิงโต พวกสิงโตและเสือก็จับสัตว์ทั้งหลายกินเป็นอาหาร เมื่อมันจับสัตว์กินเป็นอาหารแล้ว ก็ทิ้งซากไว้ ทำให้เหม็นเน่าคลุ้งไป

กล่าวฝ่ายรุกขเทวดา ๒ ท่านอยู่ในวิมานใกล้กัน วิมานก็คือต้นไม้ใหญ่ๆ รุกขเทวดาท่านหนึ่งก็ปรารภว่า อ้ายเจ้าเสือและสิงห์พวกนี้มันยุ่ง มันทำให้กลิ่นเหม็นไปทั่วป่า เราจะต้องไล่มันออกไปเสีย เราจะไล่โดยวิธีแสดงฤทธิ์บันดาลให้มันเห็นรูปร่างที่น่าสะพรึงกลัว แล้วก็ทำให้มันตกใจหนีไป

ฝ่ายรุกขเทวดาอีกท่านได้ฟังก็บอกว่า ท่านอย่าคิดอย่างนั้น ไม่ถูกต้อง การที่เราอยู่ได้อย่างนี้ วิมานของเราอยู่มาได้ด้วยดีนั้น ก็ได้อาศัยพวกสัตว์เหล่านี้แหละ เพราะว่า เมื่อพวกเสือสิงห์เหล่านี้อยู่ มนุษย์ทั้งหลายก็กลัว ไม่กล้าเข้ามาตัดไม้ในป่าลึก ก็ทำให้ป่าอยู่ได้ เพราะฉะนั้นอย่าไปทำมันเลย

แต่รุกขเทวดาท่านแรกไม่เชื่อ ไม่ยอมฟัง ดึงดันจะต้องขับไล่เสือสิงห์ออกไปให้ได้ วันหนึ่งก็เลยไปสำแดงรูปที่น่ากลัว ทำให้พวกเสือสิงห์ตกใจพากันหนีเตลิดออกจากป่านั้นไป

ฝ่ายมนุษย์ทั้งหลายที่เคยเข้ามาหาของในป่า ก็อยู่แค่ชายป่า เข้ามาเก็บหาพืชพรรณต่างๆ เก็บเผือกมัน เก็บหน่อไม้อยู่ชายป่า ไม่กล้าเข้ามาในป่าลึกเพราะกลัวสัตว์ร้าย ครั้นต่อมาถึงตอนนี้ เข้ามาชายป่าอยู่เรื่อยๆ นานๆ เข้า เมื่อไม่มีข่าวเกี่ยวกับเสือสิงห์ ไม่มีวี่แววของพวกสัตว์ร้าย ก็ค่อยๆ เข้าป่าลึกเข้ามาทุกทีๆ ย่ามใจเข้ามาเรื่อยๆ

ในไม่ช้า ชาวบ้านก็เลยเข้ามาในป่าลึก แล้วก็ตัดต้นไม้ไปๆ จนกระทั่งในที่สุดก็มาตัดวิมานที่รุกขเทวดา ๒ ท่านนี้อยู่ด้วย เป็นเหตุให้รุกขเทวดานั้น ไม่มีวิมานอยู่ รุกขเทวดาก็เลยได้คิดว่า เออนี่เราผิดพลาดไปเสียแล้ว

ท่านเล่าชาดกเรื่องนี้ไว้ เพื่อให้มนุษย์ได้คติว่า ในระบบความเป็นอยู่ร่วมกันของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายนี้ ชีวิตทั้งหลายต้องอาศัยพึ่งพาซึ่งกันและกัน อย่าว่าแต่สัตว์ดิรัจฉานกับมนุษย์เลย แม้แต่เทวดาก็ยังต้องพึ่งพาอาศัยสัตว์ป่าด้วยเหมือนกัน

อันนี้เป็นคติอย่างหนึ่งที่มีมาแต่โบราณ คนไทยได้รับคำสอนเหล่านี้อยู่เสมอๆ จึงคิดว่าคนไทยเรานี้ ในสมัยโบราณ น่าจะมีความรู้สึกในเรื่องเหล่านี้อยู่ แต่ในสมัยปัจจุบัน คติความเชื่อถือเหล่านี้ค่อยๆ สูญหายไป ก็เลยทำให้คนไทยไม่ได้รับประโยชน์จากคติเหล่านี้ในปัจจุบัน

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< คนไทยกับป่า อยู่กันมาด้วยความสัมพันธ์แบบไหนพุทธศาสนามองธรรมชาติอย่างไร >>

No Comments

Comments are closed.