การแก้ปัญหาระดับปัญญา: จากจริยธรรมแห่งความกลัว สู่จริยธรรมแห่งความสุข

28 เมษายน 2536
เป็นตอนที่ 28 จาก 32 ตอนของ

การแก้ปัญหาระดับปัญญา:
จากจริยธรรมแห่งความกลัว สู่จริยธรรมแห่งความสุข

แต่ก่อนนี้เรามีความสุขแบบเดียว คือ ความสุขด้วยการเอาจากธรรมชาติ หรือได้จากธรรมชาติ เมื่อจัดการเอาธรรมชาติมาสนองความต้องการของเราได้ เราก็มีความสุข ซึ่งเป็นความสุขแบบคับแคบ

แต่ตอนนี้จะมีความสุขอย่างใหม่ คือ เมื่อเรามีความรู้สึกที่ดีต่อธรรมชาติแล้ว มีความรู้สึกเห็นคุณของธรรมชาติ รักธรรมชาติ อยากจะทำอะไรให้แก่ธรรมชาติบ้างแล้ว เราก็จะมีความสุขในการที่จะให้ หรือทำให้แก่ธรรมชาติ

ที่เป็นอย่างนั้นเพราะอะไร ก็เพราะว่า ความรู้สึกที่รักธรรมชาติ อยากจะเกื้อกูลต่อธรรมชาติ อยากจะให้แก่ธรรมชาตินั้น ก็คือความอยากจะให้ธรรมชาติมีความสุข หรือให้ธรรมชาติอยู่ในภาวะที่ดีที่งามที่มีความสมบูรณ์ ทีนี้ พอเราทำได้อย่างนั้น ก็สมใจเรา เราก็มีความสุข

เหมือนกับในการปฏิบัติต่อคนด้วยกัน ตอนแรกเราอยากจะได้จากเขาอย่างเดียว ต้องเอาจากเขา เมื่อได้จากเขามาแล้ว เราก็จะมีความสุข แต่ถ้าจะต้องให้แก่เขา เราก็เสีย พอรู้สึกว่าเราเสีย เราก็เสียดาย ฝืนใจ เราก็เป็นทุกข์

มนุษย์เรานี้ ตอนแรกเมื่อยังไม่พัฒนา ก็จะต้องมีความสุขจากการได้การเอา เมื่อได้มาฉันก็มีความสุข แต่ถ้าจะต้องให้เขาบ้างก็ฝืนใจ ต้องเสีย การให้ก็กลายเป็นความทุกข์

แต่ถ้าเราเกิดมีความรักขึ้นเมื่อไร ท่าทีนี้ก็เปลี่ยนไป พอรักเขา เราก็อยากให้เขามีความสุข อยากทำให้เขามีความสุข และอยากเห็นเขามีความสุข ถ้าเราทำอะไรให้เขามีความสุขได้ เราก็จะมีความสุข การให้แก่เขา เป็นพฤติกรรมสำคัญที่จะทำให้เขามีความสุข เพราะฉะนั้น เราจึงให้แก่เขา แล้วเราก็มีความสุข

เหมือนอย่างพ่อแม่รักลูก พอพ่อแม่ให้แก่ลูก พ่อแม่ก็มีความสุข แต่ถ้าไม่รักกัน การให้ก็เป็นการฝืนใจ กลายเป็นความสูญเสีย และทำให้เกิดความทุกข์

เป็นอันว่า ถ้าไม่รัก การให้ก็เป็นความเสีย และเป็นความทุกข์ แต่ถ้ารัก การให้ก็กลายเป็นความสมใจปรารถนา และเป็นความสุข

พูดง่ายๆ ว่า “ความรักทำให้การให้ เปลี่ยนจากความเสียมาเป็นความสุข” และเมื่อการเอาหรือการได้ เปลี่ยนมาเป็นการให้ ความสุขของฝ่ายหนึ่งที่ก่อความทุกข์แก่อีกฝ่ายหนึ่ง ก็กลายเป็นการสร้างความสุขแก่ทั้งสองฝ่าย อันนี้เป็นหลักธรรมดาตามธรรมชาตินี่เอง

เพราะฉะนั้น ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างถูกต้อง จะต้องให้มนุษย์กระทำด้วยความสุข ให้มีพฤติกรรมที่เกื้อกูลต่อกัน ด้วยลักษณะจิตใจที่ดี มีความรู้สึกที่ดี คือมีความสุข

เมื่อพัฒนาคนได้ถูกต้องอย่างนี้แล้ว มนุษย์ให้แก่กัน ก็มีความสุขได้ เพราะรักกัน มีเมตตาต่อกัน มีไมตรีต่อกัน

ในทำนองเดียวกัน เมื่อเรามีความรู้สึกมองเห็นคุณของธรรมชาติ มองเห็นคุณของสิ่งทั้งหลาย เราก็อยากจะเห็นสิ่งเหล่านั้นอยู่ในสภาพที่ดี แล้วเราก็มีความรู้สึกที่ดี อยากจะเกื้อกูล อยากจะช่วยเหลือเกื้อหนุน อยากจะให้แก่มัน และเราก็มีความสุขในการที่จะทำอย่างนั้น

อันนี้เป็นสิ่งที่ช่วยมากในระดับที่ว่า ปัญญาย้อนกลับมาช่วยพฤติกรรม โดยเกิดจากปัญญาเห็นคุณก่อน ปัญญาเห็นคุณแล้วก็ช่วยให้จิตใจมีความสุขความพอใจ ในการที่จะทำพฤติกรรมที่เกื้อกูลต่อธรรมชาติ และทำให้พฤติกรรมนั้นยั่งยืนมั่นคงยิ่งขึ้น โดยมีฐานทั้งทางจิตและปัญญา เกิดความประสานสอดคล้องไปด้วยกันหมดทั้ง ๓ ระดับ ครบทั้งระบบ

ตกลงว่า เรามีการพัฒนาจากการมองหาผลประโยชน์ให้แก่ตัวเอง มาสู่การมองเห็นคุณค่าของผู้อื่น แล้วความหมายของคุณค่าก็พัฒนามาเป็นคุณ ในแง่ที่ว่ามีความเกื้อกูลต่อกัน มีอุปการะต่อกัน เกื้อหนุนต่อกัน แล้วก็นำไปสู่คุณธรรมที่เป็นไปเองโดยธรรมชาติ คือ เกิดความรัก แล้วก็อยากจะให้ อยากจะเกื้อกูลกัน แล้วก็มีความสุขที่เกิดจากการให้ หรือการเกื้อกูลกันนั้น

ตามหลักการแห่งการพัฒนามนุษย์นี้ ก็จะได้สิ่งที่เป็นจริยธรรมแห่งความสุข ไม่ใช่เป็นจริยธรรมแห่งความกลัว ซึ่งเป็นจริยธรรมแห่งโมหะ ที่มนุษย์กลัวภัยอันตราย แล้วจึงยอมประพฤติดีไปทีหนึ่ง ถ้าไม่มีภัยอันตรายมาถึงตัว ก็ไม่ยอมทำความดี

ที่ต้องทำดี ก็เพราะกลัวจะถูกลงโทษบ้าง กลัวอันตรายต่างๆ จะเกิดขึ้นแก่ตนบ้าง กลัวจะไม่ได้ผลประโยชน์ที่ปรารถนาบ้าง เป็นอย่างนี้มาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว แล้วก็ไม่รู้ตัวกันด้วยว่า อันนี้เป็น จริยธรรมที่มีปัญหา

เมื่อเราเห็นคุณค่าของสิ่งใดแล้ว เราก็เห็นโทษของการทำลายสิ่งนั้นไปพร้อมกันด้วย แต่เราก็ต้องชี้แจงเพื่อให้เกิดความชัดเจน อันนี้ก็เป็นการปฏิบัติในระดับปัญญาเหมือนกัน คือ การมองเห็นโทษของการทำลายธรรมชาติ โดยเฉพาะการทำลายป่า

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< การแก้ปัญหาระดับปัญญา: เมื่อมองเห็นคุณค่า ก็แก้ปัญหาด้วยความพอใจการแก้ปัญหาระดับปัญญา: มองเห็นระบบปัจจัยสัมพันธ์แห่งสรรพสิ่ง >>

No Comments

Comments are closed.