มุ่งหน้าพัฒนา แปลงป่าเป็นปูน

28 เมษายน 2536
เป็นตอนที่ 11 จาก 32 ตอนของ

มุ่งหน้าพัฒนา
แปลงป่าเป็นปูน

ยุคพัฒนาของประเทศไทย เริ่มต้นเมื่อใกล้จะถึงปี พ.ศ. ๒๕๐๓ ซึ่งเป็นช่วงที่องค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้เป็น “ทศวรรษแห่งการพัฒนา” (Development Decade) คือปี ค.ศ. ๑๙๖๐-๑๙๗๐ ตอนนั้นประเทศไทยของเราก็เริ่มยุคพัฒนากับเขาด้วย คำว่า “พัฒนา” ก็เริ่มใช้จริงจังอย่างเป็นทางการตอนนั้น

แต่ก่อนนี้เราไม่มีคำว่าพัฒนา ก่อนเข้ายุคพัฒนาในปี ๒๕๐๓ เราไม่ใช้คำว่าพัฒนา เราพูดแต่เพียงว่า สร้างความเจริญ ทำให้เจริญก้าวหน้า หรืออะไรทำนองนั้น ถ้าใช้คำว่าพัฒนา ก็จะใช้ในการอวยพร เช่น ขอให้พัฒนาสถาพร หรือวัฒนาสถาพร ฯลฯ

คำว่า “พัฒนา” ที่ใช้ในความหมายปัจจุบันนี้ เริ่มเมื่อจะก้าวขึ้นปี ๒๕๐๓ และประเทศไทยก็เข้าสู่ยุคของการพัฒนา แล้วก็มีแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเกิดขึ้น

ก่อนหน้านั้นเรามีแผน แต่ไม่เรียกว่าแผนพัฒนา เราเรียกว่า “แผนเศรษฐกิจแห่งชาติ” จนกระทั่งถึงปี ๒๕๐๒ จึงออก พ.ร.บ.ตั้งสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติขึ้น แล้วแผนนั้นจึงเปลี่ยนชื่อเป็น “แผนพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ” เริ่มแต่ พ.ศ. ๒๕๐๔ และต่อมาอีกฉบับหนึ่ง (ฉบับที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๑๐-๒๕๑๔) ก็เติมคำว่า “และสังคม” เข้าไปเป็น “แผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ”

แผนแรกก็ไปรับกับแผนเก่า คือ แผนเก่ามีแต่เศรษฐกิจ ไม่มีคำว่าพัฒนา พอเริ่มแผนนี้ ก็เติมคำว่าพัฒนาเข้าไป

ตกลงว่า จาก “แผนเศรษฐกิจแห่งชาติ” ก็เปลี่ยนเป็น “แผนพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ” แล้วก็มาเป็น “แผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ”

ถึงตอนนี้เมืองไทยก็เข้ายุคพัฒนา มีการตั้งหน่วยงานที่เกี่ยวกับการพัฒนาขึ้น เช่น กระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ (๒๕๐๖) แต่ต่อมาก็เลิกล้มไป แล้วก็มีสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท (๒๕๐๗) มีกรมการพัฒนาชุมชน (๒๕๐๕) มีหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวกับการพัฒนาเกิดขึ้นในยุคนั้นมากมาย เราสร้างถนนหนทางและตึกรามบ้านช่องกันเป็นการใหญ่

จุดที่น่าสังเกตในที่นี้คือ ตอนนั้นได้มีความรู้สึกที่แพร่หลายไปอย่างกว้างขวางว่า “ป่า” เป็นเครื่องหมายแห่งความล้าหลัง ป่าเป็นเครื่องหมายแห่งความเถื่อน ป่า คู่กับคำว่า เถื่อน คือป่าเถื่อน “เถื่อน” ก็คือ ห่างไกลความเจริญ ไม่พัฒนา เพราะฉะนั้น มีต้นไม้ที่ไหน ก็น่าจะตัดเสีย แล้วก็ปลูกสร้างอาคารคอนกรีตขึ้นมาแทน

ความรู้สึกนี้ได้ระบาดเข้าไปแม้กระทั่งในวัด ตอนนั้นวัดทั้งหลายก็พยายามพัฒนากันใหญ่ ก็เลยตัดต้นไม้กันเป็นการใหญ่ สร้างตึกสมัยใหม่กันเป็นการใหญ่ ระยะนั้นเป็นช่วงเวลาที่มีลักษณะพิเศษอย่างนี้ โดยประมาณ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๓ เป็นต้นมา เรียกได้ว่า ยุคพัฒนาของประเทศไทย

ตัวอย่างเช่น วัดหนึ่ง ที่อยู่ทางฝั่งธนบุรี มีโยมที่เคยอยู่วัดดังกล่าว เล่าให้ฟังว่า วัดนั้นแต่ก่อนมีต้นไม้ในพุทธประวัติหลายอย่างปลูกไว้ ท่านเจ้าอาวาสในยุคพัฒนานั้น ท่านเห็นว่า ป่าเป็นเครื่องหมายของการที่ยังไม่พัฒนา ไม่เจริญ ท่านก็เลยให้ตัดต้นไม้เหล่านั้นหมด

นอกจากป่าแล้ว ยังลามไปถึงสิ่งอื่นๆ ที่แสดงถึงความเก่าด้วย ก็คือมีคัมภีร์ใบลานเก่าๆ อยู่ในตู้ ท่านก็เอาคัมภีร์เหล่านั้นออกมาเผาหมด เพื่อชำระวัดให้สะอาดเรียบร้อยเป็นระเบียบ อะไรๆ ก็ใหม่เอี่ยม

นี่คือยุคพัฒนาของประเทศไทย นี่ก็เพราะการศึกษาไม่เพียงพอ การพัฒนาบ้านเมืองไม่ได้สมดุลในทางการศึกษาด้วย ความรู้ความเข้าใจไม่ดีพอ ทำให้การพัฒนาเป็นไปอย่างขาดดุลยภาพ เมื่อขาดความรู้ความเข้าใจ ก็เกิดปัญหาขึ้นในด้านอื่นๆ ตามติดมา แต่ไม่ต้องพูดถึง

นี่เพียงแต่พูดให้เห็นว่า ความเปลี่ยนแปลงของสังคมได้เกิดขึ้น โดยเฉพาะในทางความรู้สึกนึกคิดในยุคนั้น ที่เราถือว่า ป่า เป็นเครื่องหมายของความล้าหลัง การไม่พัฒนา ซึ่งทำให้คนไทยเราตัดไม้ทำลายป่ากันมากมาย เพื่อสร้างความเจริญที่เรียกว่าการพัฒนา โดยที่เบื้องหลังนั้นก็มีความรู้สึกที่เห็นแก่ตัวด้วย

อย่างนี้ต้องพูดว่า ความเห็นผิดเป็นชอบได้เกิดขึ้นแล้ว อันนี้เป็นปรากฏการณ์จริงๆ สังคมเห็นเป็นอย่างนั้น มีต้นไม้ที่ไหนก็บอกว่า โอ้ นี่ไม่เจริญ แล้วก็ตัดต้นไม้ด้วยความเต็มใจอย่างยิ่ง นั่นเป็นยุคที่ผ่านมาแล้ว ซึ่งยังมีอิทธิพลมาถึงปัจจุบันด้วย

ก็เป็นอันว่า เราตัดต้นไม้เพื่อจะปลูกสร้างอาคารสิ่งก่อสร้างโดยเฉพาะที่เป็นคอนกรีตขึ้น เพื่อแปลงป่าให้เป็นบ้านเป็นเมือง ที่เรียกว่า มีความเจริญ

ทีนี้ ต่อไปอีกขั้นหนึ่ง มองลึกลงไปอีก เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ครอบคลุม โดยเฉพาะเมื่อความเจริญทั่วโลกไปถึงกันหมด ปัจจุบันนี้ เราจะต้องมองปัญหาในวงกว้างไปถึงระดับโลกด้วย

อารยธรรมของโลกที่มีการพัฒนาแบบนี้นั้น ถือกันว่าฝรั่งหรือตะวันตกเป็นผู้นำ และการคิดพัฒนาแบบนี้ก็มาจากรากฐานความคิดของตะวันตก

ตะวันตกที่เขาพัฒนาอารยธรรมมา และสร้างสรรค์ให้เกิดความเจริญแบบที่ปรากฏอยู่ในบัดนี้นั้น เขาก็ต้องมีรากฐานทางความคิด คือ ก่อนที่จะออกมาเป็นพฤติกรรมและกิจกรรมภายนอก ก็ต้องมาจากความเชื่อ ความนิยมยึดถือ และความคิดในใจก่อน เรียกสั้นๆ ว่าภูมิธรรม ภูมิปัญญา เป็นรากฐานของการกระทำหรือพฤติกรรมทั้งหมด

การสร้างสรรค์พัฒนาของตะวันตกนี้ ต้องมาจากรากฐานทางความคิด เช่น ศาสนา และปรัชญาของเขา ซึ่งเวลานี้เขาเองได้สืบค้นมาบอกกันเพื่อให้เห็นเหตุปัจจัยชนิดลงลึกถึงสมุฏฐานทางความคิด คือทิฏฐิและความเชื่อ เพื่อจะได้ช่วยกันหาทางแก้ปัญหา และเราก็ควรติดตามให้รู้ทันเขาอย่างเข้าถึงอารยธรรมนั้นด้วย

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ตอน ๒: ไทยปัจจุบันกับป่ามนุษย์กับธรรมชาติ ในแนวคิดเดิมของตะวันตก >>

No Comments

Comments are closed.