ภูมิหลังของคนไทยในบรรยายกาศแห่งป่าเขาลำเนาไพร

28 เมษายน 2536
เป็นตอนที่ 8 จาก 32 ตอนของ

ภูมิหลังของคนไทย
ในบรรยายกาศแห่งป่าเขาลำเนาไพร

ในหมู่คนไทยเรานี้ ในฐานะที่เป็นพุทธศาสนิกชน และวัฒนธรรมไทยก็มีรากฐานมาจากพระพุทธศาสนามาก เราจึงคุ้นดีกับพุทธประวัติ

ในพุทธประวัตินั้น ก็เต็มไปด้วยเรื่องของต้นไม้ พระพุทธเจ้าเองประสูติก็ใต้ต้นไม้ คือ ใต้ต้นสาละ ซึ่งวันนี้คณะอาจารย์และนิสิตก็มาปลูกต้นสาละกันถึง ๙ ต้น ต้นสาละเป็นต้นไม้ที่สำคัญในพุทธประวัติ พระพุทธเจ้าประสูติใต้ต้นสาละ แล้วก็ปรินิพพานใต้ต้นสาละ ทั้งประสูติและปรินิพพานใต้ต้นสาละ วันนี้จึงนับว่าเราได้ปลูกต้นไม้ที่สำคัญมากในพุทธประวัติ คือ ต้นไม้ซึ่งเป็นที่เริ่มต้นและสิ้นสุดแห่งพระชนมชีพของพระพุทธเจ้า

นอกจากนั้น พระพุทธเจ้าก็ตรัสรู้ใต้ต้นโพธิ์ ซึ่งก็เป็นต้นไม้อีกนั่นแหละ และการแสดงปฐมเทศนา ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งในพุทธประวัติ ก็เกิดขึ้นที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ซึ่งร่มรื่นด้วยต้นไม้

แม้แต่ยามปกติ ในพระชนมชีพของพระองค์ พระพุทธเจ้าก็เสด็จจาริกไปในท้องถิ่น ตามหัวเมืองต่างๆ อยู่ตลอดเวลา และในการจาริกนั้น พระองค์ก็ต้องทรงเดินทางผ่านป่าเป็นประจำ แล้วก็ชอบปลีกพระองค์ไปประทับอยู่ป่าเป็นระยะๆ ชีวิตของพระองค์จึงอยู่ในป่ามากทีเดียว

เพราะฉะนั้น ชื่อป่าต่างๆ จึงมีมากในพุทธประวัติ เช่น ป่ามหาวัน ป่าอัญชนวัน ป่าอัมพาฏกวัน ป่ารักขิตวัน เป็นต้น และวัดต่างๆ ก็มีชื่อลงท้ายด้วย “วัน” ซึ่งแปลว่า ป่า เช่น วัดเชตวัน (วัดป่าเจ้าเชต หรือวัดสวนเจ้าเชต) วัดเวฬุวัน (วัดป่าไผ่) วัดปาวาริกัมพวัน วัดอัมพวัน ฯลฯ แสดงว่าวัดเหล่านั้นเป็น “ป่า” ทั้งนั้น

เราจึงถือว่า ป่ามีส่วนสำคัญในพระชนมชีพของพระพุทธเจ้าเอง และในประวัติความเป็นมาของพระพุทธศาสนา

เมื่อเป็นอย่างนี้ คนไทยของเราก็น่าจะได้มีความรู้สึกที่ดีงามต่อป่า เพราะว่าป่านั้นคู่กันมาและพ่วงอยู่กับพระพุทธเจ้า และพระพุทธศาสนาที่เราเคารพนับถือ เมื่อเราเคารพพระพุทธเจ้าและนับถือพระพุทธศาสนา เราก็ต้องมีความรู้สึกที่ดีต่อป่าด้วย

แล้วจากการนับถือพระพุทธศาสนานี้ เรื่องของป่าก็เข้ามาในวัฒนธรรมไทยด้วย อย่างเรื่องเวสสันดรชาดก ที่เราเอามาจัดทำเป็นเรื่องมหาชาติ ก็แสดงให้เห็นถึงการที่เรานำเอาชาดกสำคัญมาสร้างประเพณีเทศน์มหาชาติขึ้น

สมัยก่อนมีการเทศน์มหาชาติกันทุกปี คือเป็นเรื่องใหญ่ในประเพณีของไทย ซึ่งก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับป่าอีกนั่นแหละ โดยเฉพาะจะมีกัณฑ์หรือตอนที่ว่าด้วยเรื่องป่าโดยตรงแท้ๆ อยู่ ๒ ตอน คือในเวสสันดรชาดก ซึ่งมีทั้งหมด ๑๓ ตอนนั้น มีสองตอนว่าด้วยการพรรณนาความงามของป่า คือจุลพน (ป่าเล็ก) กับมหาพน (ป่าใหญ่) ทั้งสองกัณฑ์หรือสองตอนนี้ เป็นคำพรรณนาป่าทั้งหมด มีเนื้อหาซึ่งจะทำให้คนมีความรู้สึกที่ดีงามต่อป่า ให้ชื่นชมความงามของธรรมชาติ และมีความสุขกับสิ่งต่างๆ ที่ดีงามในป่านั้น

เมื่อเอาเรื่องมหาชาติมาพูดมาแหล่และได้ฟังกันอยู่เสมอ ความรู้สึกที่ดีงามอันนี้ก็ย่อมต้องฝังลึกลงไปในจิตใจ ก็น่าจะทำให้คนไทยมีความรู้สึกที่กลมกลืนประสานกับธรรมชาติ มีความเป็นมิตร และมีความรู้สึกรื่นรมย์ยินดีในธรรมชาติและในป่า

ในเรื่องเวสสันดรชาดกนี้ ขอถือโอกาสนำคำที่กล่าวบรรยายธรรมชาติมากล่าวไว้สักนิดหนึ่ง

คำพรรณนาป่านั้น ท่านบันทึกไว้มากมายในตอนที่ชูชกเข้าป่า คือ พอชูชกเข้าป่า แกไปเจอนายพราน ก็ขอให้เขาช่วยบอกทางไปหาพระเวสสันดร พรานแกก็ชี้ทางให้ ในการชี้ทางนั้นก็มีการบรรยายธรรมชาติ พรรณนาป่า โดยมีความรู้สึกในทางสุนทรีย์ หรือมีความสุขความชื่นชมในความงามตลอดเวลาในการพูดถึงป่า อย่างตอนหนึ่งพรานได้พรรณนาว่า

ในบริเวณอาศรมนั้น มีหมู่ไม้ต่างๆ พันธุ์ ทั้งไม้มูกมัน โกฐ สะค้าน แคฝอย บุนนาค บุนนาคเขา และไม้ซึก มีดอกบานสะพรั่งหลายหลากสี ราวกะหมู่ดาวพราวพรายอยู่กลางนภา

อนึ่ง ในบริเวณอาศรมนั้น มีไม้ราชพฤกษ์ ไม้มะเกลือ กฤษณา รักดำ ต้นไทรใหญ่ ไม้รังไก่ ไม้ประดู่ มีดอกบานสะพรั่ง มีไม้มูกหลวง ไม้สน ไม้กะทุ่ม ไม้ช่อ ไม้ตะแบก นางรัง ล้วนมีดอกบานเป็นพุ่มพวงดังลอมฟาง

ในที่ไม่ไกลจากอาศรมนั้น มีสระโบกขรณีตั้งอยู่ ณ ภูมิภาคอันน่ารื่นรมย์ใจ ดาดาษไปด้วยดอกปทุมชาติและอุบล ดุจดังสระโบกขรณีในสวนนันทนวันของทวยเทพก็ปานฉะนั้น

อนึ่ง ณ ที่ใกล้สระโบกขรณีนั้น มีฝูงนกดุเหว่าเมารสดอกไม้ ส่งเสียงไพเราะจับใจ ทำป่านั้นให้ดังอึกทึกกึกก้อง เมื่อคราวหมู่ไม้ผลิดอกแย้มบานตามฤดูกาล รสหวานดังน้ำผึ้งเยิ้มหยดจากเกสรดอกไม้ลงมาค้างอยู่ที่บนใบบัว

อนึ่ง ลมจากทิศทักษิณและทิศประจิมรำพายพัดมาที่อาศรมนั้น ทำให้อาศรมสถานดารดาษไปด้วยละอองเกสรปทุมชาติ…

แลในสระโบกขรณีนั้น น้ำใสสะอาดมองเห็นฝูงปลา เต่าและปูเป็นอันมาก สัญจรไปมาเป็นหมู่ๆ รสหวานปานน้ำผึ้งไหลย้อยออกจากเหง้าบัว รสมันปานนมสดและเนยใสไหลออกมาจากสายบัว

ป่านั้นมีนานากลิ่นสุคนธ์ ที่ลมรำเพยพัดมา หอมฟุ้งตระหลบอบอวล เหมือนดังจะเชิญชวนคนที่มาถึงให้เบิกบาน ด้วยดอกไม้และกิ่งไม้อันมีกลิ่นหอม หมู่แมลงภู่ชื่นชมกลิ่นดอกไม้ พากันบินว่อนวู่บันลือเสียงอยู่โดยรอบ

อนึ่ง ที่ใกล้อาศรมนั้น ฝูงวิหคมากมาย ต่างสีต่างพรรณ บันเทิงอยู่กับคู่ของตนๆ ร่ำร้องขานขันแก่กันและกัน

ตามคำพรรณนานี้จะเห็นว่า ท่านผู้เล่าเรื่องเต็มไปด้วยความรู้สึกสุนทรีย์ มีจินตนาการต่างๆ ที่เกี่ยวกับความงดงามอยู่โดยตลอด

ดังนั้น คนไทยเราจึงน่าจะได้รับการปลูกฝังความรู้สึกที่ดีอย่างนี้ไว้มากมาย แต่ทำไมจึงกลายเป็นว่า เดี๋ยวนี้คนไทยมีความรู้สึกที่จะเล่นงานป่า จะทำลายป่ากันอยู่เรื่อยๆ ความรู้สึกที่ดีงามเหล่านี้ได้เลือนลางหายไปพร้อมกับความตื่นเต้นในความเจริญใหม่ๆ จนกระทั่งลืมไปเลยหรืออย่างไร

ภาพป่าอย่างที่ท่านพรรณนาไว้ข้างต้น จะหาพบในเมืองไทยเราเวลานี้ที่ไหนบ้างหรือไม่

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< มองธรรมชาติด้วยความรู้สึกอย่างพุทธะจิตใจคนไทยสมัยนี้ที่น่าเคลือบแคลง >>

No Comments

Comments are closed.