เสียงกู่เตือนภัยว่าป่ากำลังจะหมดไป

28 เมษายน 2536
เป็นตอนที่ 3 จาก 32 ตอนของ

เสียงกู่เตือนภัยว่า
ป่ากำลังจะหมดไป

เรื่องเกี่ยวกับป่านี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องธรรมชาติแวดล้อม แต่นับว่าเป็นส่วนสำคัญทีเดียว เป็นปัญหาอย่างที่กล่าวในตอนต้นว่า ไม่เฉพาะประเทศไทย หรือว่ากันตามเรื่องที่แท้แล้ว ถ้าจะใช้คำว่าไม่เฉพาะแต่ประเทศไทยก็อาจจะไม่ถูกเสียด้วยซ้ำ เพราะว่าเรานี้เป็นไปตามเขา คือ ประเทศที่พัฒนาเจริญมากแล้วเขาประสบปัญหานี้ก่อน เหมือนอย่างที่พูดตั้งแต่ข้างต้นแล้ว

ในระดับโลก มีการเตือนกันในเรื่องนี้มากมาย สถิติระดับโลกก็มีออกมาอยู่เรื่อยๆ เช่น หนังสือ State of the World (สภาวะของโลก) ซึ่งเป็นที่อ้างอิงกันมาก เล่มล่าสุดปี ๑๙๙๓ บอกว่า ป่าในโลกนี้ถูกทำลายลงไปปีละ ๑๐๕ ล้านไร่

สถิตินี้ก็เป็นตัวเลขที่น่ากลัวอยู่พอสมควร และเนื่องจากการสูญเสียป่าไปนี้มันก็โยงไปสู่ปัญหาอื่น เช่น การขาดแคลนน้ำ เป็นต้น ตลอดจนต้องสูญเสียแผ่นดินที่จะทำการเพาะปลูกไป เขาบอกว่าแผ่นดินที่จะใช้ปลูกพืชลดน้อยลงไป ปีละถึง ๕.๘๓ ล้านไร่ ซึ่งก็ไม่ใช่น้อย

เรื่องนี้ยังเกี่ยวโยงไปหาปัญหาอื่นๆ อีก คือ การที่สัตว์และพืชทั้งหลายที่อาศัยอยู่ในป่า ต้องพลอยสูญพันธุ์หรือลดน้อยลงไป แล้วก็เกิดความเสียดุลในธรรมชาติ ดินฟ้าอากาศก็แปรปรวนไป เรื่องอากาศเสียและมลภาวะต่างๆ ก็มีอยู่แล้ว เมื่อป่าหมดไป เขตอุตสาหกรรมก็ขยายออกไปมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้นก็ยังเกิดปัญหาความแห้งแล้ง แผ่นดินกลายเป็นทะเลทรายมากขึ้นๆ

เรื่องอย่างนี้ ความจริงก็มีมานานซ้ำรอยเดิมในประวัติศาสตร์ อารยธรรมในสมัยโบราณที่เคยรุ่งเรืองมาในถิ่นต่างๆ ที่ล่มสลายไป โดยมากก็มาจากเรื่องธรรมชาติแวดล้อมเสียนี่แหละ คือ เมื่อคนไปอยู่กันมากๆ ก็ใช้ทรัพยากรธรรมชาติมาก แล้วก็ระบายของเสียลงไปมาก นานๆ เข้า ผืนแผ่นดินและสภาพแวดล้อมก็เสื่อมโทรมหมด แล้วมนุษย์ก็อยู่ไม่ได้ เมื่อมนุษย์อยู่ไม่ได้อารยธรรมก็สูญสลาย เช่น ต้องอพยพหนีไปอยู่ที่อื่น เป็นต้น

ภัยพิบัติได้เป็นมาอย่างนี้ไม่รู้เท่าไรแล้ว แต่คนเราก็ไม่ค่อยจะได้รู้ตระหนัก ไม่ได้เข้าใจปัญหาเหล่านี้ จนมาถึงยุคปัจจุบันก็กลายเป็นยุคที่มีภัยอันตรายในเรื่องนี้ร้ายแรงที่สุด เพราะว่าอารยธรรมสมัยก่อนมีขอบเขตไม่กว้างขวางทั่วโลกเท่ากับสมัยนี้ แม้ว่ามันจะสูญสลายไป มันก็หมดเป็นหย่อมๆ แต่มาในยุคปัจจุบันนี้อารยธรรมขยายครอบคลุมไปหมดทั่วโลก เพราะฉะนั้น ถ้าสูญสลายไปคราวนี้ ก็เป็นอันว่าหมดโลกหมดแผ่นดินเลย

สำหรับในสายของเรา อันที่จริง ถ้ามองดูแม้แต่ในประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนา ซึ่งเกี่ยวข้องกับประเทศอินเดียหรือชมพูทวีป ก็อาจจะเห็นร่องรอยของความเสื่อมและความเจริญในอดีต

อารยธรรมอินเดียก็เคยรุ่งเรืองมากในยุคก่อนโน้น มีประวัติเกิดขึ้นมาตั้งหลายพันปีแล้ว เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป แต่บัดนี้อารยธรรมอินเดียก็ล่มสลายไปหมด ประเทศอินเดียก็เป็นประเทศที่เสื่อมโทรมลงไป แผ่นดินแห้งแล้งไม่อุดมสมบูรณ์ ประชาชนก็มีความยากจนมาก มีปัญหาเกี่ยวกับการพัฒนามากมาย ถ้าเทียบเคียงดูเรื่องราวในพุทธประวัติ ก็จะเห็นได้ชัดเจน

ตามเรื่องที่บรรยายไว้ในพุทธประวัติ จะเห็นว่า ในสมัยโบราณ อินเดียมีความอุดมสมบูรณ์พอสมควร เต็มไปด้วยป่า ดังมีป่าชื่อต่างๆ มากมายเต็มไปหมด พระพุทธเจ้าเสด็จจาริกไปในป่าแทบทั้งนั้น จากเมืองก็ออกไปป่า และจากป่าก็ทะลุออกไปอีกเมืองหนึ่ง ในระหว่างเมืองระหว่างแคว้นก็เป็นป่า ป่ามีมากมาย และมีแม่น้ำที่อุดมสมบูรณ์

อย่างสถานที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ คือริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เมื่อมาดูในปัจจุบันนี้ก็เปลี่ยนแปลงไป แม่น้ำเนรัญชราที่พระพุทธเจ้าไปประทับใต้ร่มโพธิ์แล้วตรัสรู้ ตอนนั้น ตามประวัติแสดงว่ามีน้ำไหล เป็นที่น่ารื่นรมย์ใจ เป็นภูมิสถานที่ทำให้เกิดความรู้สึกว่ามีความสงบร่มเย็น

แต่ในปัจจุบันนี้ บริเวณแม่น้ำเนรัญชราไม่ได้ร่มเย็น ไม่ได้ร่มรื่นอุดมสมบูรณ์ แต่แห้งแล้งเหลือเกิน ในแม่น้ำนี้ไม่มีน้ำสักหยด แต่ก็ยังเป็นแม่น้ำอยู่ คือเราเห็นชัดว่าเป็นแม่น้ำ เพราะว่ามันมีฝั่ง มีตลิ่ง มีลักษณะเป็นลำน้ำชัดเจน แต่ในลำน้ำนั้น ระหว่างสองฝั่งแทนที่จะเป็นน้ำ กลับเป็นทรายหมด เป็นผืนทรายที่กว้าง อาจจะถึง ๑ กิโลเมตร นั่นคือความกว้างของแม่น้ำ แล้วเดี๋ยวนี้เราสามารถเดินบนแม่น้ำ เราเดินข้ามแม่น้ำได้อย่างสบาย ไม่ต้องมีฤทธิ์อย่างสมัยก่อน

อันนี้เป็นตัวอย่างที่ทำให้เราเห็นสภาพอย่างชัดเจน เราลงจากฝั่งแล้วเดินลงไปเหยียบแม่น้ำเนรัญชรา แล้วก็เดินข้ามไปอย่างสบายๆ แต่ในแม่น้ำนั้นมันร้อนไม่ใช่เย็น ต้องกางร่มด้วย เพราะไม่มีน้ำเลย มีแต่ความแห้งแล้ง ในที่อื่นๆ ก็เหมือนๆ กัน ภูเขาต่างๆ ก็หาต้นไม้ได้ยาก

อันนี้ก็คือความเสื่อม ที่ว่าเจริญในอารยธรรมนั้น ก็เจริญเฉพาะในเรื่องกิจกรรมของมนุษย์ แต่ธรรมชาติแวดล้อมเสื่อมโทรม จนกระทั่งในที่สุดมนุษย์เองก็อยู่ไม่ได้

หันมาดูในประเทศไทยของเรานี้ เราก็มีปัญหาธรรมชาติแวดล้อมมาก โดยเฉพาะเรื่องป่า อาตมาได้อ่านหนังสือที่ท่านอาจารย์ ดร.สุรีย์ นำมาถวาย ตอนหนึ่งบอกว่า เมื่อปี ๒๕๒๘ ป่าในประเทศไทยนี้เหลืออยู่ ๒๙% แล้วก็บอกว่าทางองค์การสห-ประชาชาติเขาไม่เห็นด้วย เขาสำรวจแล้ว เขาบอกว่าเหลืออยู่แค่ ๑๖% ในปีเดียวกันนั้น สถิติของรัฐบาลไทยว่าเหลือ ๒๙% แต่สถิติขององค์การสหประชาชาติว่าเหลือแค่ ๑๖% อันนี้ก็ตั้งแต่ปี ๒๕๒๘ แล้ว

เมื่อมาถึงปัจจุบันนี้ห่างกัน ๘ ปี (๒๕๓๖) ป่าเมืองไทยเหลืออยู่กี่เปอร์เซ็นต์ก็ไม่ทราบ แต่พูดได้ว่าต้องน้อยกว่า ๒๙% และก็น้อยกว่า ๑๖% ไม่ว่าจะเอาตัวเลขของไทย หรือตัวเลขขององค์การสหประชาชาติก็แล้วแต่ จะต้องน้อยกว่าเก่าแน่นอน

ตามสถิตินี้แสดงว่า ประเทศไทยของเราได้สูญเสียป่าไปมากมายเหลือเกิน ย้อนหลังไปเมื่อปี ๒๕๐๔ ยังมีป่ามากถึง ๕๐ เปอร์เซ็นต์ แต่ในช่วงเวลาเพียงไม่กี่ปี แค่ ๒๔ ปี ป่าหมดไปถึงเกือบครึ่งต่อครึ่ง เรียกว่าหมดไปอย่างรวดเร็ว และการทำลายป่าก็ยังมีอยู่ตลอดเวลาโดยกลุ่มคนต่างๆ เรียกว่ามีการทำลายในหลายระดับ จากหลายกลุ่มชน ซึ่งในที่นี้คงจะไม่มาบรรยายว่าใครบ้างเป็นผู้ทำลายป่า แต่ผลก็คือป่าของเราลดน้อยลงไปเรื่อย

รวมความก็คือว่า ตามสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ คนไทยเรากับป่า ไม่ค่อยจะเกื้อกูลต่อกันเท่าที่ควร ถ้าเราเกื้อกูลต่อป่า ป่าคงจะไม่หมดไปอย่างนี้ อันนี้ก็ทำให้เป็นที่น่าสงสัย หรือทำให้มีคำถามว่า คนไทยเรานี้มีความสัมพันธ์กับป่ากันอย่างไร จึงทำให้ป่าต้องหมดไป ท่านอาจารย์ก็เลยตั้งหัวข้อมาว่า ขอให้อาตมาพูดเรื่อง “คนไทยกับป่า”

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ตอน ๑: ไทยอดีตกับป่าคนไทยกับป่า อยู่กันมาด้วยความสัมพันธ์แบบไหน >>

No Comments

Comments are closed.