คติธรรมส่งท้าย

28 เมษายน 2536
เป็นตอนที่ 32 จาก 32 ตอนของ

คติธรรมส่งท้าย

สุดท้ายนี้ จะขอฝากคตินิดหน่อย ในพระพุทธศาสนานี่ พระพุทธเจ้าตรัสพุทธภาษิตไว้บทหนึ่งว่า “จงตัดป่า แต่อย่าตัดต้นไม้” ผู้ฟังคงสงสัยว่า เอ! จะตัดป่า แต่ไม่ให้ตัดต้นไม้ จะทำอย่างไร

ใครไขปริศนาธรรมนี้ได้บ้าง เป็นคาถาอยู่ในธรรมบท คติธรรมนี้ก็เป็นแง่คิดอย่างหนึ่งที่จะนำมาช่วยเสริมการแก้ปัญหาในการอนุรักษ์ธรรมชาติได้

ปัญหาการทำลายป่านี้ ก็คือคนไปตัดต้นไม้ แต่พระพุทธเจ้าตรัสว่า อย่าตัดต้นไม้ ให้ตัดป่า

ทีนี้ ป่าคืออะไร ในภาษาไทยก็ดี ภาษาบาลีก็ดี อย่างที่เคยพูดมาแล้ว คำว่า “ป่า” นั้นคู่กับคำว่า “เถื่อน” มักจะพ่วงมากับความรู้สึกที่ไม่ดี เช่น อย่าเอากฎหมายป่านะ หรือว่า อย่าทำกันอย่างป่าเถื่อนนะ ในคำพูดเหล่านี้ คำว่า “ป่า” พ่วงเอาความรู้สึกอย่างไรมาด้วย ลองวิเคราะห์ดู จะเห็นว่า

๑. “ป่า” ให้ความรู้สึกว่า น่ากลัว โหดร้าย ทารุณ ไม่มีกฎเกณฑ์ เช่น กฎหมายป่า ก็หมายความว่าจัดการกันด้วยกำลัง ไม่ต้องเอาหลักเอาเกณฑ์อะไร แล้วแต่ว่าใครจะมีกำลังเหนือกว่ากัน คนที่มีกำลังเหนือกว่า ก็เบียดเบียนข่มเหงคนอื่นเอา เป็นเรื่องการข่มเหงแย่งชิงทำร้ายกันโดยไม่มีกฎเกณฑ์กติกา

๒. “ป่า” ให้ความรู้สึกว่า รกรุงรัง ไม่มีระเบียบ เช่นในคำว่า รกเป็นป่าเลย ป่าชัฏ ไม่เป็นระเบียบ ไม่สะอาด

๓. “ป่า” ให้ความรู้สึกว่า ล้าหลัง ห่างไกล ไม่เจริญ

๔. “ป่า” ให้ความรู้สึกว่า โง่เขลา เบาความ ไม่ค่อยมีปัญญา

ความรู้สึกเหล่านี้พ่วงมากับคำว่า “ป่า” ป่าอย่างนี้ก็อยู่ในใจของคนนี้แหละ คือภาวะจิตใจที่ไม่พัฒนา ป่าที่อยู่ในใจคนนี่แหละ ที่เป็นตัวเหตุให้เกิดการทำร้าย และทำลายป่าข้างนอก โดยการไปตัดต้นไม้

เพราะฉะนั้น ที่ท่านบอกว่าให้ตัดป่าเสียนั้น ก็คือให้ชำระล้างป่าที่อยู่ในใจคน คือตัดความเห็นแก่ตัว ตัดความคิดที่ว่าใครมีกำลังมากกว่าก็เอา ข่มเหงคนอื่น แล้วก็ทารุณโหดร้าย ไม่ทำตามกฎเกณฑ์กติกา ได้แก่ กิเลส ที่สกปรกรกรุงรังอยู่ในใจ เช่น โลภ โกรธ หลง ความโง่เขลา รู้ไม่เท่าทัน ล้าหลัง อะไรต่างๆ เหล่านี้ ที่มันอยู่ในใจมนุษย์ ตัดคือกำจัดมันเสีย ไม่ต้องไปตัดต้นไม้

ถ้าเราแก้ป่า คือสภาพไม่พัฒนาในใจคนนี้ได้แล้ว ก็จะแก้พฤติกรรมของคนในการไปตัดไม้ทำลายป่าได้ ฉะนั้น รวมความก็คือต้องพัฒนามนุษย์นั่นเอง ท่านจึงบอกว่าตัดป่า แต่อย่าตัดต้นไม้

ส่วนการปลูกป่า ที่อาตมาได้ยกพุทธภาษิตมาอ้างตั้งแต่ต้นแล้วว่า ผู้ปลูกสวน ปลูกป่า ทำสาธารณประโยชน์นี้ ได้บุญทั้งคืนทั้งวันตลอดเวลา อันนี้หมายถึงการปลูกป่า ในความหมายที่อยู่ในระบบนิเวศที่แท้จริง ที่จะทำให้รักษาดุลยภาพในธรรมชาติได้ ซึ่งเป็นการปลูกป่าที่เป็นป่าจริงๆ ภายนอก คือช่วยกันปลูกต้นไม้ อันนี้เป็นคำกล่าวในเชิงรูปธรรม ไม่เหมือนอันแรกที่ว่าตัดป่าในใจคน

เพราะฉะนั้นก็สรุปได้ว่า คนสมัยปัจจุบันนี้มีปัญหามากที่ว่า ยังมีป่าอยู่ในใจ ที่จะต้องตัดทิ้งเสียด้วยการพัฒนามนุษย์ ไม่ใช่พัฒนาบ้านเมืองด้วยการตัดต้นไม้

เมื่อกำจัดสภาพป่าในใจให้หมดไป ทำให้มนุษย์มีพฤติกรรมที่อยู่ในกฎเกณฑ์กติกา มีระเบียบ มีคุณธรรม มีเมตตากรุณา มีความรับผิดชอบ มีปัญญารู้จักคุณค่าที่แท้จริงของสิ่งทั้งหลาย และมีความสุขความพอใจในคุณค่าที่ประณีตแล้ว มนุษย์จะได้ช่วยกันรักษาป่าที่แท้ไว้ โดยที่การตัดต้นไม้ ก็จะได้เพลาลงไป ไม่ให้ถึงขั้นที่จะเกิดความเสียหาย ไม่ให้เป็นภัยอันตรายต่อระบบนิเวศ แต่อันนี้ก็เป็นเพียงแง่คิดไว้

ทีนี้ การที่เราจะวินิจฉัยว่า การอนุรักษ์ป่าและการปลูกไม้อย่างไรจะดีที่สุดนี้ เราตกลงไว้ว่า จะคำนึงถึงประโยชน์เป็นชั้นๆ โดยยอมรับผลประโยชน์ส่วนตัวของคนไว้ด้วย ถือว่าเป็นประโยชน์ระดับที่หนึ่ง ในระบบการประสานประโยชน์ เรายอมรับว่า บางทีประโยชน์ส่วนตัวของบุคคล ก็เป็นประโยชน์เกื้อกูลต่อส่วนรวมด้วย

แต่ถ้าเอาแค่ประโยชน์ส่วนตัวของบุคคลอย่างเดียว ก็ไปไม่รอดแน่ๆ จะต้องทำให้ผลประโยชน์ส่วนตัวนั้น มีความหมายขยายออกไป เป็นผลประโยชน์ของชุมชน ของสังคม แล้วก็เป็นประโยชน์ของระบบนิเวศ ตลอดจนระบบชีวิตที่ดีงามที่ครอบคลุมทั้งรูปธรรมและนามธรรมทั้งหมด เป็นชั้นๆ ไปตามลำดับ

ถ้าเมื่อไรเราขยายประโยชน์ให้มีความหมายคลุมหมดได้ นั่นก็คือความสมดุล

เพราะฉะนั้น การแก้ปัญหาเรื่องนี้จะต้องคำนึงถึงประโยชน์ให้พร้อมในระบบความสัมพันธ์อิงอาศัยกันแห่งเหตุปัจจัยทั้งปวง

แม้แต่พฤติกรรมเพื่อหาผลประโยชน์ส่วนตัว ถ้าส่งผลเกื้อกูลต่อส่วนรวม เราก็ยอมรับได้ โดยถือว่าเป็นอุบายอันหนึ่ง เพื่อให้ประโยชน์ส่วนบุคคลโยงไปสู่ประโยชน์ส่วนอื่นที่กว้างออกไป เป็นจุดเริ่มต้นในการแก้ปัญหา อย่างน้อยก็ในเบื้องต้น เป็นการทำให้เขามีส่วนร่วม ซึ่งนอกจากจะให้เขามีส่วนร่วมในการทำ หรือในการสร้างสรรค์แล้ว บางทีเราก็ต้องให้เขามีส่วนร่วมในการได้ผลประโยชน์ด้วย

แต่อย่าหยุดเท่านั้น ข้อสำคัญคือ มนุษย์ต้องมีการพัฒนา ถ้าเราไปติดอยู่ในระดับเดียวก็จบ ไปไม่รอด จะต้องพัฒนาขยายไปตามลำดับ แต่เราจะต้องรู้เท่าทันความจริงแห่งธรรมชาติของมนุษย์ทุกระดับ ตั้งแต่เขายังไม่ได้พัฒนาเลย ซึ่งเขามีความต้องการในระดับนั้นๆ ที่ยังต้องสนองอยู่

เมื่อรู้เข้าใจความจริงอย่างนี้ เราก็ขยายความสัมพันธ์ในระบบประโยชน์นี้ให้กว้างออกไป จนกระทั่งสมบูรณ์เป็นองค์รวมที่มีดุลยภาพที่แท้จริง และอันนี้ก็คือ การแก้ปัญหาแบบที่ทุกอย่างประสานกลมกลืนและเกื้อกูลซึ่งกันและกัน

ถ้าแก้ปัญหาถึงระดับนี้ ก็จะแก้ปัญหาของประเทศได้ และแก้ปัญหาระดับโลกก็ได้ด้วย และในการแก้ปัญหานี้ มนุษย์ก็มีความสุขในการแก้ปัญหาด้วย แล้วคนกับป่าก็จะอยู่กันอย่างเป็นมิตร มีความสนิทสนมอยู่ร่วมกันด้วยดี

ขออนุโมทนาอีกครั้งหนึ่ง ที่ท่านอาจารย์และนิสิตทุกท่านได้มีน้ำใจเกื้อกูลด้วยกุศลจิต ได้มาที่สถานพำนักสงฆ์สายใจธรรมนี้ และได้บำเพ็ญประโยชน์ ช่วยกันปลูกต้นไม้ ด้วยความมุ่งหมายให้เป็นป่า เป็นส่วนเสริมเพิ่มป่าที่มีอยู่นี้ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ขอให้กุศลเจตนานี้อำนวยอานิสงส์ที่ดีงาม ให้ทุกท่านเจริญด้วยจตุรพิธพรชัย มีความร่มเย็นเป็นสุข ประสบความก้าวหน้างอกงามและความสำเร็จในชีวิตการงาน เพื่อบำเพ็ญประโยชน์ตนและประโยชน์ส่วนรวมให้พรั่งพร้อม โดยทั่วกัน

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< การแก้ปัญหาระดับปัญญา: พอคนมีความสุขอย่างอิสระ ป่าก็ได้รับการอนุรักษ์เต็มที่

No Comments

Comments are closed.