- วันครู
- งานของครู-งานของพระพุทธเจ้า
- หลักการศึกษา
- หลักการสอน
- ไตรสิกขา เดินหน้าไปกับชีวิตทั้งสามด้าน
- สอนเด็กให้ได้ครบไตรสิกขา
- สิกขาข้อศีลมี ๒ ด้าน
- กินอย่างไรให้เป็นไตรสิกขา
- เอาปัญญากับจิตใจมาช่วยในการฝึกศีล
- พอกินอยู่เป็น…ก็คิดเป็นเอง
- วินัย คือ จัดตั้งวิถีชีวิตแห่งไตรสิกขา
- ถ้ามองเห็นความสำคัญของความเคยชิน ก็รู้ความสำคัญของวินัย
- วินัยเป็นรูปแบบ ต้องรักษาสาระไว้ และสื่อสาระได้
- รู้จักศีลครบ ๔ หมวด จึงจะเข้าใจคำว่า “ศีล”
- ทำไม ในการศึกษาขั้นพื้นฐาน ท่านเริ่มต้นโดยเอาศีล เป็นที่บูรณาการไตรสิกขา
- ได้แค่ศีล เพียงขั้นกินอยู่ดูฟังเป็นเท่านั้น เด็กไทย สังคมไทย มีหรือจะไม่พัฒนา
- อาชีวะเป็นแดนใหญ่ ทั้งโดยกิจกรรม และโดยกาลเวลา ในการที่จะเอาไตรสิกขามาพัฒนาชีวิตคน
- ถ้ามีวินัยชาวพุทธ ก็มีวิถีชีวิตที่เอื้อต่อการศึกษา
- การศึกษา ออกผลมาเป็นชีวิตที่เป็นอยู่อย่างดี มีวิถีชีวิตดีงามที่พัฒนาไปในมรรค จนเป็นภาวิต ๔
- มอง Child-Centered Education อย่างไร จึงจะเอามาใช้หรือไม่ใช้ อย่างเท่าทัน
- ของที่นำเข้า ต้องรู้ให้เต็มเท่าที่เขาเข้าใจ ของเขาพร่องตรงไหน ก็ต้องรู้และเติมให้เต็มจริงๆ ได้
ไตรสิกขา เดินหน้าไปกับชีวิตทั้งสามด้าน
ในเมื่อการศึกษาเป็นเรื่องของชีวิต คือการที่ชีวิตต้องพยายามเป็นอยู่ให้ดี และชีวิตก็ต้องเป็นอยู่ตลอดเวลาอย่างที่ว่ามานั้น มันก็เลยเป็นเรื่องของชีวิตทั้งกระบวนที่เป็นอยู่ ซึ่งเราจะแยกกระจัดกระจายออกไปไม่ได้
เพราะฉะนั้นเวลานี้จึงต้องย้ำบ่อยว่า ไตรสิกขาก็อยู่ที่ชีวิตของเราทั้งหมดนี่แหละ การที่ไตรสิกขามี ๓ อย่าง ก็เพราะตรัสไปตาม ๓ ด้านของชีวิต ที่เรียกง่ายๆ โดยใช้ศัพท์สมัยปัจจุบันมาเทียบ ว่าเป็นเรื่องของ พฤติกรรม จิตใจ ปัญญา
แต่ในเรื่องพฤติกรรม ขอย้ำว่า ความจริงมันเป็นศัพท์ที่อาจจะเข้าใจไม่ถึงกับตรงกันทีเดียว เพราะเป็นการเอาคำสมัยใหม่มาเทียบเท่านั้น
ที่ว่าพฤติกรรมนั้น ของพระหมายถึงการที่เราสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม หรือสิ่งรอบตัวทั้งหมด ซึ่งบางอย่างเราอาจจะใช้ศัพท์ปัจจุบันว่าพฤติกรรมไม่ถนัด เช่นการใช้ ตา หู จมูก ลิ้น คือใช้ตาดู – หูฟัง เป็นต้นนี้ เราจะเรียกว่าพฤติกรรมก็คงไม่ถนัด แต่ทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องของการสัมพันธ์กับโลก ถ้าใช้ภาษาแบบพระก็ว่าสัมพันธ์กับโลก แต่เดี๋ยวนี้เขาใช้คำว่า “สิ่งแวดล้อม”
โลกก็คือทุกอย่างรอบชีวิต เดี๋ยวนี้โลกนั้นเรามาเรียกเป็นสิ่งแวดล้อม แยกเป็นสิ่งแวดล้อมทางวัตถุอย่างหนึ่ง และสิ่งแวดล้อมทางสังคมอย่างหนึ่ง แต่ภาษาพระเรียกว่าโลกหมดเลย
ชีวิตของเราสัมพันธ์กับโลก เราใช้ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ และใช้กายกับวาจาสัมพันธ์กับโลกนั้น ด้านนี้เราเรียกไปพลางก่อนว่า พฤติกรรม
เรื่องของสิ่งแวดล้อมหรือโลกทั้งหมดนี่ เราจะต้องสัมพันธ์ให้ดีให้ได้ผล เป็นด้านที่ ๑ ของชีวิต แน่นอนว่าชีวิตของเราด้านที่ ๑ คือการสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม หรือโลก หรือสิ่งภายนอก ทั้งมนุษย์ ทั้งวัตถุสิ่งของเครื่องใช้และธรรมชาติต่างๆ เราต้องสัมพันธ์แน่นอน จึงต้องสัมพันธ์อย่างดี อย่างได้ผล
ลึกลงไป การที่เราจะมีความสัมพันธ์กับสิ่งเหล่านี้และจะสัมพันธ์อย่างไรก็ขึ้นต่อเจตนา คือเจตจำนงของเรา ซึ่งประกอบด้วยแรงจูงใจ คุณภาพของจิตใจ และสภาพจิตใจที่มีความสุข-ความทุกข์เป็นต้น โดยเฉพาะความสุข และความทุกข์จะเป็นจุดหมายหลักในความสัมพันธ์ของเรา
การที่เรามีพฤติกรรม ทางกาย หรือทางวาจาก็ตาม การที่เราใช้ตาดู – หูฟังก็ตาม ลึกลงไปเรามักจะมุ่งเพื่อสนองความต้องการในแง่ของการหนีทุกข์และหาสุข ภาวะด้านจิตใจจึงมีอิทธิพลต่อการสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมตลอดเวลา คือเรามีเจตนาอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยมีแรงจูงใจอย่างใดอย่างหนึ่ง รวมความว่า จิตใจมีบทบาทตลอดเวลาที่เรามีความสัมพันธ์กับโลกภายนอกด้วยพฤติกรรมและอินทรีย์
ต่อไปอีกด้านหนึ่ง คือ พร้อมกันนั้นเอง เราจะมีความสัมพันธ์ได้แค่ไหน ก็อยู่ในขอบเขตที่เรามีความรู้ คือ ปัญญาของเรารู้เข้าใจเท่าไรอย่างไร และเรามีความเห็นอย่างไร เราก็สัมพันธ์ไปตามนั้นแค่นั้น เราเข้าใจว่าถ้าเราทำอย่างนี้จะเกิดผลดีแก่ชีวิตของเรา จะช่วยให้เราหนีทุกข์ หรือได้รับความสุข แล้วเราก็มีพฤติกรรมไปอย่างนั้นหรือสัมพันธ์อย่างนั้น เช่น เราคิดเห็นเข้าใจว่า ดูสิ่งนี้แล้วเราจะมีความสุข เราก็มีพฤติกรรมและใช้อินทรีย์ที่จะดูสิ่งนั้น อย่างนี้เป็นต้น
No Comments
Comments are closed.