ตอน ๑: ไทยอดีตกับป่า

28 เมษายน 2536
เป็นตอนที่ 2 จาก 32 ตอนของ

ตอน ๑: ไทยอดีตกับป่า

ผู้นำชาวพุทธที่ยิ่งใหญ่
ปลูกป่าปลูกต้นไม้เพื่อให้ประชาชนอยู่ดี

เรื่องการปลูกต้นไม้ปลูกป่านี้ คิดว่าเป็นคติอย่างหนึ่งที่พระเจ้าอโศกมหาราช คงจะได้ทรงถือปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าดังที่ได้ยกมาอ้างข้างต้น กล่าวคือ เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชได้ทรงเปลี่ยนนโยบายจากสังคามวิชัย (การเอาชนะด้วยสงคราม) มาเป็น ธรรมวิชัย (การเอาชนะด้วยการทำความดีหรือปฏิบัติธรรม) แล้ว พระองค์ก็ทรงบำเพ็ญสาธารณประโยชน์เป็นการใหญ่ เช่น ปลูกสวนปลูกป่า รวมทั้งปลูกป่าสมุนไพร โดยเฉพาะก็กล่าวระบุไว้ด้วยถึงเรื่องการปลูกต้นไม้ที่เป็นยา แล้วก็สร้างโรงพยาบาลคน โรงพยาบาลสัตว์ ทำถนนหนทางต่างๆ ตลอดจนจารึกศิลาเพื่อให้การศึกษาและสั่งสอนธรรมแก่ประชาชนเป็นการใหญ่ จนปรากฏว่าในยุคนั้น สังคมอินเดียเจริญด้วยการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์แก่ประชาชน เรื่องนี้ก็คงจะได้คติจากคำสอนของพระพุทธเจ้าอันนี้

กษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ในยุคสมัยหลังที่ใฝ่พระทัยในทางธรรม ก็ยึดถือพระเจ้าอโศกมหาราชเป็นแบบอย่าง แม้กระทั่งพระมหากษัตริย์ไทย อย่างเช่น พระมหาธรรมราชาลิไท ดูพระจริยาวัตร ก็เห็นว่า คงจะได้แบบอย่างจากพระเจ้าอโศกมหาราช คือพยายามที่จะทำความดีต่างๆ ให้ได้อย่างพระเจ้าอโศกมหาราช

กษัตริย์รุ่นหลังๆ ได้พยายามทำกันอย่างนั้น แล้วก็มักจะมีพระนามที่มีคำว่า “ธรรม” นำหน้า เช่น พระเจ้าลิไท ก็ทรงมีพระนามว่าพระมหาธรรมราชาลิไท ทำนองเดียวกับที่พระเจ้าอโศกมหาราช เมื่อได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ทรงธรรม หันมาทางธรรม หันมาทำความดี ทรงบำเพ็ญประโยชน์สุขแก่ประชาชนแล้ว ก็ได้พระนามว่าธรรมาโศกราช โดยเปลี่ยนจากจัณฑาโศก คือแต่ก่อนนี้เป็นอโศกผู้ดุร้าย เรียกว่า จัณฑาโศก (จัณฑ + อโศก) อโศกผู้ดุร้าย หรืออโศกผู้ดุเดือด เปลี่ยนมาเป็น “ธรรมาโศก” แปลว่า อโศกผู้ทรงธรรม

อันนี้ก็เป็นคติในทางพระพุทธศาสนาที่ถือว่า การทำประโยชน์สุขให้แก่ประชาชนเป็นบุญเป็นกุศลที่สำคัญ โดยเฉพาะในสมัยปัจจุบันนี้ อันตรายจากปัญหาสภาพแวดล้อมเสื่อมเสีย ก็เป็นที่รู้ตระหนักกันอย่างกว้างขวาง เรียกว่าเป็นปัญหาระดับโลก ประเทศไทยเราก็ประสบภัยอันตรายในเรื่องนี้ไม่น้อย

แต่การที่รู้ตระหนักกันมากถึงกับมีความตื่นตกใจนั้น ก็เป็นอาการของปัญหาที่ใหญ่โตกระเทือนไปทั่วโลก คือในระดับโลก ประเทศที่พัฒนาแล้วเขาตื่นตัวกลัวภัยเหล่านี้ ก็เลยทำให้คนในประเทศไทยเราพลอยหันมาตระหนักถึงภัยเหล่านี้ด้วย

ถ้ามองในแง่ดี ประเทศไทยเราซึ่งเป็นผู้พัฒนาตามอย่างเขาทีหลัง เมื่อเรารู้ตัวก่อน เราก็มีเวลาที่จะใช้บทเรียนของเขาให้เป็นประโยชน์ แต่ก็ไม่แน่ใจว่าคนไทยเราจะได้รับเอาบทเรียนนี้มาใช้ทันการณ์หรือเปล่า คือ ทั้งๆ ที่ว่าประเทศที่เขาพัฒนาไปแล้วซึ่งเดินหน้าไปก่อนเขาประสบปัญหามาก เราได้รู้ได้เห็น ก็น่าจะรู้ตัวแล้วรีบป้องกันยับยั้ง แต่บางทีก็ไม่เป็นอย่างนั้น บางทีเราก็เดินไปตามกระแสเก่า เดินหน้าไปหาอันตรายอย่างนั้นอีก ถ้าหากว่าเราไม่สามารถใช้ประโยชน์จากบทเรียนนั้นได้ ก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย

สำหรับประเทศไทยของเราเวลานี้ ก็เป็นที่น่ายินดีว่า มีหลายกลุ่มที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้แล้ว ก็ได้พยายามที่จะสกัดกั้นปัญหา ยับยั้งภัยอันตรายเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยเฉพาะการปลูกป่า การรักษาป่า การอนุรักษ์ป่านี้ เป็นเรื่องใหญ่ที่จะต้องช่วยกัน

แต่ถ้าเทียบกับประชาชนส่วนใหญ่แล้ว ความรู้ตระหนักและเอาใจใส่ในเรื่องนี้ ยังนับว่าอยู่ในวงค่อนข้างแคบ ยังมีคนไม่มากนักที่เอาจริงเอาจังในเรื่องนี้ แต่จำนวนที่ไม่มากนี้ ก็หวังว่าคงจะขยายออกไปให้มีคนเอาแบบอย่างกันมากขึ้น

ถ้าเมื่อไรประชาชนเอาด้วย คือมีจิตใจที่จะเอาใจใส่ในเรื่องนี้ เข้ามาช่วยกันอนุรักษ์ป่าเอง และไม่ใช่เฉพาะมีจิตใจที่เอาใจใส่เท่านั้น แต่มีความรู้ความเข้าใจด้วย คือ มีปัญญาและมีกำลังพร้อมที่จะทำด้วย ถ้าประชาชนเอาด้วยอย่างนี้แล้วละก็ปลอดภัย ไม่ต้องมามัวผลักให้เป็นภาระของรัฐบาลและผู้สนใจบางกลุ่มอย่างนักวิชาการเท่านั้น ซึ่งจะหนักมากและคงจะไม่ไหว

ตอนนี้เราจึงต้องพยายามที่จะให้ความรู้สึกนึกคิดจิตสำนึกนี้ขยายไปถึงประชาชน ซึ่งคิดว่าอันนี้จะเป็นเป้าหมายสำคัญ

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< (กล่าวนำ)เสียงกู่เตือนภัยว่าป่ากำลังจะหมดไป >>

No Comments

Comments are closed.