ถ้าพระถือธรรมะเป็นใหญ่ เคารพพระวินัย จะพบใครก็มีแต่ดี

1 มกราคม 2545
เป็นตอนที่ 21 จาก 26 ตอนของ

ถ้าพระถือธรรมะเป็นใหญ่ เคารพพระวินัย จะพบใครก็มีแต่ดี

ความสัมพันธ์ของพระสงฆ์กับคฤหัสถ์ตามพระธรรมวินัยนั้น มีหลักสำคัญที่ชาวพุทธจะต้องทราบ ๓ อย่าง คือ

๑. พระสงฆ์ถือธรรมเป็นใหญ่ เคารพธรรมสูงสุด เมื่อพระสงฆ์ตั้งตนอยู่ในหลักการนี้ ก็ทำให้ท่านไปพบปะเกี่ยวข้องกับใครก็ได้ ไม่ต้องพูดถึงคนดีๆ แม้แต่คนที่ร้ายที่สุด พระสงฆ์ก็พบปะไปหาได้ ไม่ว่าคนสูงคนต่ำ ไม่ว่าพาลหรือบัณฑิต ใครจะเป็นอยู่หรือประพฤติตัวอย่างไร ข้อสำคัญอยู่ที่ว่าเขาจะชักพาพระสงฆ์ให้เขวออกไปไม่ได้ เพราะท่านตั้งตนมั่นยืนหยัดอยู่ในธรรม และท่านมุ่งจะไปนำคนเหล่านั้นเข้าสู่ธรรม

เรื่องนี้พระสงฆ์ดำเนินตามพระพุทธจริยาวัตร จะเห็นว่าพระพุทธเจ้าเสด็จไปหาโจรใหญ่อย่างองคุลิมาลก็ได้ พระสงฆ์ครั้งพุทธกาลออกไปบิณฑบาต บางทีก็แวะสนทนากับพวกเดียรถีย์ในสำนักของเขา ตราบใดที่พระสงฆ์ยังตั้งตนมันอยู่ในหลักที่ว่าตัวท่านยึดอยู่ในธรรม และมุ่งจะนำธรรมไปให้เขา ท่านก็ไปได้ทั่ว

๒. พระสงฆ์ไม่คลุกคลีกับคฤหัสถ์ พระสงฆ์ถือหลักเว้นจาก “คิหิสังสัคคะ” คือการคลุกคลีกับคฤหัสถ์ ถึงแม้ว่าท่านจะพบปะใกล้ชิดแสดงธรรมมีน้ำใจสงเคราะห์อนุเคราะห์แก่ทุกคนอย่างไม่มีการแบ่งแยกใดๆ แต่ท่านก็จะไม่คลุกคลีมั่วสุมกับใครๆ เช่น ไม่ไปร่วมสนุกสนานบันเทิงกับเขา ไม่เข้าไปยุ่มย่ามยุ่งเกี่ยวกับธุรกิจการงานของเขา ไม่ไปวุ่นวายในการบ้านการเมืองหรือเป็นเจ้ากี้เจ้าการในเรื่องราวของคฤหัสถ์

๓. พระสงฆ์อนุวัตรตามกฎหมายบ้านเมือง กฎหมายต่างๆ ที่ทางการบ้านเมืองบัญญัติจัดตั้งไว้เพื่อความดีงามสงบเรียบร้อยของสังคมประเทศชาติ พระสงฆ์ไปอยู่ในดินแดนแว่นแคว้นใด ก็อนุวัตรตามหรือช่วยรักษากฎกติกาและกฎหมายของดินแดนถิ่นแคว้นประเทศนั้นด้วย โดยมิให้ขัดต่อพระธรรมวินัย

ข้อ ๑. เป็นหลักใหญ่ เป็นอุดมคติของพระสงฆ์ เมื่อพระสงฆ์มุ่งมั่นปฏิบัติตามหลักข้อ ๑. นี้ โดยมีความประพฤติตามหลักข้อ ๒. และ ๓. เป็นเครื่องสนับสนุน ก็จะทำให้ท่านทั้งตั้งตนอยู่ในธรรมด้วยตนเอง และนำธรรมไปให้แก่ประชาชน หรือยังพหูชนให้ตั้งอยู่ในกุศลธรรมได้สำเร็จ

คุณค่าสำคัญของพระพุทธศาสนา และงานของพระสงฆ์ อยู่ตรงนี้ คือ การประดิษฐานประชาชนไว้ในกัลยาณธรรม การยังประชาชนให้ตั้งอยู่ในกุศลธรรม

สมตามพระดำรัสของพระเจ้าปเสนทิโกศล ที่กราบทูลพระพุทธเจ้า ซึ่งแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างพระสงฆ์กับประชาชนอย่างชัดเจน ดังนี้ (อง.ทสก. ๒๔/๓๐/๗๐)

ครั้งนั้นแล พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จเข้าสู่พระวิหาร ซบพระเศียรลงที่พระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาค ทรงจุมพิตพระบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยพระโอฐ ทรงนวดด้วยพระหัตถ์ทั้งสอง และทรงประกาศพระนามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันคือพระเจ้าปเสนทิโกศล หม่อมฉันคือพระเจ้าปเสนทิโกศล

พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า มหาบพิตรทรงเห็นอำนาจประโยชน์อะไร จึงทรงทำความนบนอบอย่างยิ่ง ถวายความนับถืออันประกอบด้วยความรักถึงเพียงนี้ ในสรีระนี้

พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันสำนึกถึงความกตัญญูกตเวที จึงทำความนบนอบอย่างยิ่ง ถวายความนับถืออันประกอบด้วยความรักถึงเพียงนี้ ในพระผู้มีพระภาค

เพราะพระผู้มีพระภาคทรงปฏิบัติเพื่อประโยชน์แก่พหูชน เพื่อความสุขของพหูชน เพื่อเกื้อกูลแก่พหูชน ทรงยังพหูชนให้ตั้งอยู่ในอริยญายธรรม คือ ความเป็นผู้มีกัลยาณธรรม ความเป็นผู้มีกุศลธรรม…

ความในโกศลสูตรนี้ ชาวพุทธจะต้องยึดถือไว้เป็นหลักการใหญ่ในการปฏิบัติหน้าที่ของพระสงฆ์ตามพระพุทธจริยา และในความสัมพันธ์ระหว่างพระสงฆ์กับประชาชน

สรุปว่า พระสงฆ์ถือธรรมเป็นใหญ่ อยู่ในแบบแผนแห่งพระวินัย และเอื้อเฟื้อต่อกฎหมายบ้านเมือง

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< จับโน่นชนนี่โยงมาโยงไป จะทำลายธรรมที่เป็นหลักแกนใน เลยกลายเป็นประจานตัวว่าเป็นคนนอกศาสนาจะรักษาพระศาสนา ต้องชูธรรมสู้หน้าเขา ไม่ใช่เอาแต่หลบหน้ารักษาตัว >>

No Comments

Comments are closed.