ใจมีเมตตา แต่ต้องปฏิบัติจัดการด้วยปัญญา

1 มกราคม 2545
เป็นตอนที่ 6 จาก 26 ตอนของ

ใจมีเมตตา แต่ต้องปฏิบัติจัดการด้วยปัญญา

ในหนังสือของ ดร. เบญจ์ บาระกุล ที่ พ.อ. บรรจง กับพวก เที่ยวเอาไปเผยแพร่นั้น มักจะลงข้อความอ้างกฎหมายไว้ตอนต้นเล่มว่า เขามีสิทธิเผยแพร่หนังสือของเขาตามกฎหมาย ไม่อาจฟ้องหมิ่นประมาทได้

ขอให้เข้าใจกันว่า ที่จริง พระธรรมปิฎกฟ้องศาลเอาโทษพวกเขาได้แน่นอน ดังที่ได้มีนักกฎหมายผู้ใหญ่มาปวารณาจะดำเนินการด้านกฎหมายถวาย ถ้าตกลงจะดำเนินคดี ไม่เฉพาะกับกลุ่มพวก พ.อ. บรรจง เท่านั้น แต่รวมทั้งพระภิกษุที่ถูกกลุ่มพวก พ.อ. บรรจง หลอกให้ส่งความเห็นมาด้วย

การที่พระธรรมปิฎกไม่ฟ้อง ก็เพราะปฏิบัติตามธรรมเนียมพระวินัยของสงฆ์ ว่าพระสงฆ์ไม่ฟ้องร้องคดีความแก่ใคร หมายความว่า พระสงฆ์ที่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยไม่ตั้งคดีฟ้องคฤหัสถ์ชาวบ้าน (ถ้าเป็นเรื่องของวัด ที่เป็นนิติบุคคล ก็มีวิธีปฏิบัติที่จะให้คฤหัสถ์ดำเนินการ)

คนทุจริตเหล่านี้ เมื่อพระสงฆ์ท่านใดปฏิบัติตามพระธรรมวินัย เขาก็ได้ใจ ฉวยโอกาสประทุษร้าย พร้อมกับพูดคุยโวโอ้อวดไปต่างๆ ซึ่งคนที่เป็นชาวพุทธจะไม่ฉวยโอกาสทำการร้ายอย่างนี้

ความจริง เมื่อมีคนทุจริตทำการประทุษร้าย พระสงฆ์ก็มีวิธีปฏิบัติแบบของท่าน ซึ่งต่างจากคฤหัสถ์ชาวบ้าน วิธีปฏิบัติของพระสงฆ์นั้นมี ๒ อย่าง คือ

๑. วิธีปฏิบัติในทางพระวินัย ได้แก่การขออารักขา

๒. วิธีปฏิบัติในทางธรรม ได้แก่วิธีการทางปัญญา ที่จะให้คนรู้ความจริง

ในกรณีนี้ พระธรรมปิฎกยังไม่ใช้วิธีการทางพระวินัยคือการขออารักขา (ดู วินย. ๓/๓๑-๓๔/๒๔-๒๖) แต่วิธีการทางธรรมเป็นข้อปฏิบัติยืนพื้น ต้องใช้เป็นหลักไว้ก่อน เพราะเป็นวิธีที่เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่พระศาสนาและประชาชน ทำให้เกิดความรู้เท่าทัน และเจริญปัญญา อย่างที่ว่าแล้วข้างต้น

วิธีการทางธรรมนั้น พระพุทธเจ้าทรงสอนพระสงฆ์ไว้ให้ปฏิบัติเมื่อมีผู้พูดให้เสียหาย ดังพุทธพจน์ว่า (ดู ที.สี. ๙/๑/๓)

ภิกษุทั้งหลาย ถ้าคนพวกอื่นจะพึงว่าร้ายเรา ว่าร้ายพระธรรม ว่าร้ายพระสงฆ์ ก็ตาม เธอทั้งหลายไม่ควรอาฆาต ไม่ควรขัดเคือง ไม่ควรแค้นใจในคนเหล่านั้น … ในคำที่เขาว่าร้ายนั้น คำที่ไม่จริง เธอทั้งหลายควรแก้ให้ เห็นโดยความไม่เป็นจริงว่า นั่นไม่จริง แม้เพราะเหตุนี้ นั่นไม่แท้ แม้เพราะเหตุนี้ แม้ข้อนั้นก็ไม่มีในเราทั้งหลาย และข้อที่ว่านั้นหาไม่ได้ในเราทั้งหลาย

สรุปให้จำง่าย พระองค์ตรัสว่า ถ้ามีใครว่าร้าย

ขั้นที่ ๑ ไม่ควรเคียดแค้นขัดเคือง = ให้มีขันติและเมตตา แต่

ขั้นที่ ๒ ควรบอกแจ้ง อธิบายให้เกิดความรู้เข้าใจที่ถูกต้อง เปิดเผยความจริงให้ปรากฏ = ให้สร้างปัญญาที่จะรู้เข้าใจถูกต้อง เพราะถ้าปล่อยไว้ อาจจะกลายเป็นความประมาท ถ้าคนเข้าใจผิด ก็จะเป็นอันตรายต่อพระพุทธศาสนา

วิธีปฏิบัติตามพุทธพจน์นี้ ชาวพุทธควรศึกษาและจดจำกันไว้ให้แม่นยำ โดยเฉพาะจะต้องกำหนดให้ชัดว่า พระพุทธองค์ตรัสไว้ ๒ ขั้นตอน ซึ่งโดยสาระสำคัญคือ ให้มีเมตตา และให้สร้างปัญญา

การอยู่ร่วมกันในหมู่มนุษย์ ซึ่งมีคนต่างๆ มีกลุ่มมีพวกต่างๆ ที่จะให้มีสันติสุขได้นั้น จะต้องมีธรรมสำคัญ คือ ขันติ เมตตา ปัญญา และสามัคคี

เขากระทบมา ก็รับได้ด้วยขันติ และแสดงต่อเขาโดยมีเมตตาเป็นพื้นใจ แต่พร้อมนั้นก็ต้องใช้ปัญญาแก้ปัญหา เพื่อชี้นำบอกทางปฏิบัติที่จะให้อยู่ร่วมกันได้โดยสามัคคี

ถ้ามัวแต่เมตตาโดยไม่มีปัญญาเท่าถึงการณ์ หรือเอาแต่วางเฉยไม่รู้ไม่ชี้ที่ท่านเรียกว่าอัญญาณุเบกขา (เฉยโง่) จะดำรงพระพุทธศาสนา และรักษาประโยชน์สุขของประชาชนไว้ไม่ได้

เพราะอยู่แค่เมตตา และทำเป็นอุเบกขาไม่รู้เรื่อง แล้วปล่อยปละละเลย ประมาทในการใช้ปัญญา มองไม่เห็นและไม่หาจุดร่วม ที่จะรวมใจชาวพุทธให้เกิดความสามัคคี พระพุทธศาสนาจึงต้องสูญสิ้นไป จากดินแดนอดีตมากมาย ถิ่นแล้วถิ่นเล่า

ชาวพุทธทั้งหลายควรจะได้บทเรียน และปฏิบัติตามหลักแห่งพุทธพจน์ข้างต้นนั้น ให้ถูกต้อง และให้ครบถ้วนกันเสียที

การเผยแพร่หนังสืออนุสติกถาเล่มนี้ ดำเนินตามวิธีปฏิบัติแห่งพระพุทธพจน์ ที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้นั้น คือทั้งมีขันติและเมตตาต่อคนร้าย กับทั้งสร้างปัญญา เพื่อรักษาและส่งเสริมความสามัคคีของพุทธบริษัท ที่จะปฏิบัติในสิ่งที่ถูกต้อง

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ชาวพุทธควรใส่ใจเรียนรู้พระพุทธศาสนากันไว้ มิฉะนั้นคนทุจริตจะทำร้ายพระพุทธศาสนากันไปเรื่อยๆพระไม่ฟ้องร้อง ไม่เป็นคดีความกับใครๆ ที่จะแก้ไขจัดการ ก็เพื่อเห็นแก่พระศาสนาและประชาชาวบ้าน >>

No Comments

Comments are closed.