การศึกษาเพื่อสร้างชนชั้นนำ สำหรับมาพัฒนาสังคมไทย

28 พฤศจิกายน 2533
เป็นตอนที่ 10 จาก 44 ตอนของ

การศึกษาเพื่อสร้างชนชั้นนำ สำหรับมาพัฒนาสังคมไทย

๗. ความล้มเหลวด้านหนึ่งของการศึกษาในสังคมไทย ก็คือ การที่ไม่สามารถสร้างผู้นำและคนชั้นนำ ผู้มีความพร้อมและความสามารถ ที่ประชาชนมีศรัทธาเชื่อถือและสามารถมานำประชาชนไปได้อย่างแท้จริง

ในด้านวิชาการและระบบแบบแผนสมัยใหม่ ที่เป็นความเจริญอย่างตะวันตกนั้น เป็นที่แน่นอนชัดเจนว่า การศึกษาของชาติได้ผลิตคนที่มีความรู้ความสามารถ เก่งกว่าชาวบ้านหรือประชาชนทั่วไปอย่างมากมาย ทำให้เรามีความพร้อมในด้านหนึ่งที่จะพัฒนาสังคม

แต่นั่นเป็นเพียงด้านหนึ่ง ซึ่งแค่นั้นหาพอไม่ เพราะในขณะเดียวกันนั้นเอง ก็เป็นที่แน่นอนชัดเจนเช่นเดียวกันว่า การศึกษาของเราได้ผลิตคนที่ห่างเหินแปลกแยกจากสังคมไทย ไม่รู้จักสังคมไทย ไม่รู้เรื่องราวของไทย ไม่รู้เข้าใจความคิดจิตใจของชาวบ้านที่เป็นประชาชนส่วนใหญ่ของไทย

คนที่เป็นผลผลิตของการศึกษาอย่างนั้น เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว มาดำเนินชีวิตอยู่ร่วมในชุมชนไทย และทำงานให้แก่สังคมไทยในท่ามกลางคนไทย เขาต้องมาเรียนรู้เรื่องของไทย เช่น วัฒนธรรมไทย และพระพุทธศาสนาตามคติไทยต่อจากชาวบ้าน เขาพูดจาสื่อสารกับชาวบ้านไม่ค่อยจะรู้เรื่อง ทำให้ต้องสงวนท่าทีและแยกตัวอยู่ต่างหากดำเนินชีวิตและสื่อสารด้วยภาษาที่พิเศษออกไปอย่างเป็นคนต่างชั้นต่างระดับ

ในขณะที่ความเชื่อถือและความรู้ความเข้าใจต่างๆ ของชาวบ้านทั่วไป ผู้ขาดการศึกษาและถือสืบๆ กันมา ได้เลอะเลือนเคลื่อนคลาดไป และขาดทิศทางในการที่จะนำมาประสานใช้ให้เกิดประโยชน์ บางทีบางส่วนก็ถึงกับกลายเป็นอุปสรรคกีดขวางขัดถ่วงการพัฒนา จำเป็นจะต้องได้รับการชำระสะสางแก้ไขปรับปรุง หรือพื้นฟูขึ้นใหม่ แต่ผู้สำเร็จการศึกษาอย่างสมัยใหม่เหล่านี้ ก็ไม่มีความรู้ความเข้าใจที่จะมานำประชาชนในการแก้ไขปรับปรุง หรือฟื้นฟูอะไรได้ เพราะตนมีความรู้ด้อยกว่าคนที่ถูกเรียกว่า ไม่มีการศึกษา ต้องเรียนรู้เรื่องราวเหล่านั้นต่อจากชาวบ้านด้วยซ้ำไป แม้แต่จะพูดจาสื่อสารกัน ก็ยังไม่ค่อยจะราบรื่นสะดวกดาย เหมือนมีฉากหรือกำแพงกั้น เข้าไม่ถึงกัน จะไปนำให้เขาตามได้อย่างไร

ด้วยเหตุนี้สังคมไทยจึงขาดประโยชน์ที่จะพึงได้จากการศึกษาสมัยใหม่ เหมือนกับว่าการศึกษาของชาติไทย มิใช่เป็นการศึกษาสำหรับสังคมไทย คือมิใช่เป็นการศึกษาสำหรับสนองความต้องการ และสำหรับนำทางสังคมไทย เป็นการศึกษาที่เตรียมคนไว้สำหรับด้านเดียว คือสำหรับให้เป็นผู้พร้อมที่จะตาม และคอยรับเอาความเจริญจากประเทศพัฒนาแล้วในภายนอก ไม่ใช่เป็นการศึกษาสำหรับเตรียมคนไว้ร่วมแก้ไขปัญหาและร่วมสร้างสรรค์พัฒนาสังคมไทย ในขณะที่คนไทยสนใจอยากจะตามรับบริโภคความเจริญจากภายนอก การศึกษาแบบนี้ก็ได้สนองความต้องการแบบตามใจที่จะให้เป็นอย่างนั้น โดยให้หันไปหาคนข้างนอก แต่การศึกษานั้นไม่ได้เตรียมคนข้างใน ที่จะให้รู้เท่าทันคนข้างนอก และปรับปรุงตัวเองตั้งแต่ข้างในออกไป พูดสั้นๆ ว่า เป็นการศึกษาสำหรับตามคนข้างนอก ไม่ใช่การศึกษาสำหรับนำคนข้างใน

ถ้าการศึกษาจะทำหน้าที่ในการพัฒนาคนไทย ให้พร้อมที่จะร่วมแก้ไขปัญหา และร่วมสร้างสรรค์พัฒนาสังคมไทย และให้สังคมไทยสามารถพัฒนาตนขึ้นไปจนเป็นผู้นำในประชาคมโลกได้ การศึกษาจะต้องจับหลักของตนเองให้ได้ พร้อมกับที่ศึกษาผู้อื่นอย่างรู้เท่าทัน จะต้องรู้เข้าใจสภาพทั้งของตนและของผู้อื่นในปัจจุบัน โดยหยั่งรู้ลึกลงไปตลอดถึงเหตุปัจจัยทั้งหลายในอดีตที่ทำให้มาเป็นอย่างนั้น เพื่อให้สามารถโยงขึ้นมาสู่การคิดวางแผนสำหรับอนาคตอย่างได้ผลดี

การศึกษาจะต้องกล้าเผชิญหน้าความจริง ถ้าพระพุทธศาสนาเป็นองค์ประกอบสำคัญ อยู่ในกระบวนการสืบทอดต่อเนื่องของสังคมไทย ไม่ว่าโดยฐานะที่เป็นสถาบันสังคมอันกว้างใหญ่ก็ดี โดยเป็นรากฐานของวัฒนธรรมไทยก็ดี โดยเป็นสภาพแวดล้อมที่ครอบคลุมสังคมไทยก็ดี โดยเป็นมรดกและเป็นเอกลักษณ์ของชาติไทยก็ดี โดยเป็นระบบจริยธรรมที่สังคมไทยได้ยอมรับถือปฏิบัติเป็นมาตรฐานกันมาก็ดี การศึกษาจะต้องจัดดำเนินการให้คนไทยได้ศึกษาพระพุทธศาสนา ทั้งในแง่ที่เป็นองค์ความรู้ และในแง่ที่เป็นเครื่องมือพัฒนาชีวิตและสังคม

คนที่ต้องการทำลายสังคมไทยอย่างลึกซึ้งถึงรากฐาน คนที่ต้องการครอบงำสังคมไทย ตลอดจนคนที่ต้องการติดต่อกับสังคมไทยอย่างได้ผล พากันศึกษาคติไทยที่โยงกันกับพระพุทธศาสนามากเท่าใด การศึกษาของไทยก็ควรจัดให้คนไทยได้เล่าเรียนรู้จักพระพุทธศาสนามากเท่านั้น หรือมากกว่านั้น

ทรัพยากรทางวัตถุของประเทศชาติ เมื่อนำออกมาใช้ ก็นับวันแต่จะสูญสิ้นหมดไป และมักจะกลายเป็นเพียงสิ่งแลกเปลี่ยน เพื่อสนองรับใช้ความต้องการของประเทศชาติอื่นที่เขาได้เปรียบอยู่แล้วหรือฉลาดกว่า แต่ทรัพยากรทางนามธรรม คือภูมิธรรมภูมิปัญญาของตนที่มีอยู่ ถ้ารู้จักนำมาใช้นำมาพัฒนา ก็จะทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้า ชนิดที่สามารถยกระดับ หรือยกสถานะของตนขึ้นสู่ความเป็นชนชาติชั้นนำได้ ถ้าการศึกษาของไทยทำได้เพียงแค่พัฒนาคนให้สามารถขุดค้นทรัพยากรทางวัตถุออกมาใช้ได้อย่างเดียว ไม่ทำให้เขารู้จักคุณค่าของทรัพยากรทางนามธรรมที่ตนมีอยู่ และไม่สามารถนำมาใช้นำมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์ การศึกษานั้น อาจกลายเป็นการศึกษาสำหรับสร้างความหายนะแก่สังคมไทย

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< เรียนพระพุทธศาสนา เพื่อมาร่วมอยู่และร่วมพัฒนาสังคมไทยการศึกษาพระพุทธศาสนาเพื่อรักษาผลประโยชน์ของสังคมไทย >>

No Comments

Comments are closed.