จะหลบการยัดเยียด แต่กลายเป็นปิดกั้นปัญญา/ประชาธิปไตย จะห้ามนักปราชญ์ เพื่อให้โอกาสแก่โจร

28 พฤศจิกายน 2533
เป็นตอนที่ 20 จาก 44 ตอนของ

จะหลบการยัดเยียด แต่กลายเป็นปิดกั้นปัญญา/ประชาธิปไตย
จะห้ามนักปราชญ์ เพื่อให้โอกาสแก่โจร

ส่วนในด้านการยัดเยียดความคิด นักการศึกษาบางท่านระแวงการยัดเยียดลัทธิหรือยัดใส่ความเชื่อ (indoctrination) มาก จนกระทั่งจะไม่ยอมให้สอนลัทธิศาสนา ความเชื่อถือ ตลอดจนคุณธรรมตามแนวความคิดทุกอย่างเท่าที่มีตกทอดมาจากอดีต เพราะกลัวจะเป็นการสร้างอุปาทาน (value) จึงจะให้ตั้งต้นกันใหม่ทั้งหมด โดยจะให้นักเรียนสร้างระบบอุปาทาน (value system) ของตนขึ้นเอง หรือไม่มีอุปาทานเลย ด้วยการคิดอย่างอิสระเสรีและตัดสินใจเลือกด้วยตนเอง ในการเรียนการสอนให้มีแต่การมีส่วนร่วมแสดงออกต่อกันระหว่างผู้สอนกับผู้เรียนเท่านั้น โดยครูนำเสนอปัญหาขึ้นมา เช่นถามว่า

การทำแท้ง การสังหารยิวของพวกนาซี การลองเสพเฮโรอีน การหลอกลวง ดีหรือไม่ การที่คนตายเพราะระเบิดปรมาณูที่เมืองนางาซากิ มีค่าเท่ากับการตายเพราะอุบัติเหตุรถชนกันหรือไม่ ในคราวแห้งแล้งอดอยากไม่มีอะไรจะกินแล้ว เอาเด็กมาฆ่ากินดีไหม หรือคำถามในทำนองว่า ถ้าระเบิดนิวเคลียร์ลง คนทั้งประเทศจะตายหมด มีที่หลบภัยจุได้ ๖ คน มีคนสมัคร ๑๐ คน มาจากเพศ ผิว ฐานะ อาชีพต่างๆ ถ้าท่านเป็นรัฐบาล จะเลือกคนไว้สืบต่อเผ่าพันธุ์มนุษย์ จะเอาใครไว้บ้าง ฯลฯ แล้วให้เด็กแสดงความคิดเห็นว่าถูกต้องหรือไม่ อย่างไหนถูกต้อง หรือจะเอาอย่างไร

ครูเพียงแต่ดำเนินรายการ และช่วยให้เด็กเข้าถึงข้อสรุปของตนเอง ครูไม่สอนหลักจริยธรรมใดๆ ให้ (แต่ในทางปฏิบัติที่ครูต้องร่วมถกเถียง มักหนีไม่พ้นที่ครูจะแสดงความเห็นไปตามหลักจริยธรรมที่ตนยึดถือ เช่น เมื่อเด็กตอบว่า การลองเสพเฮโรอีน เป็นสิ่งที่ควรทำ การโกงไม่เสียหาย ครูทั่วไปจะจนปัญญาที่จะหลีกเลี่ยงการอ้างจริยธรรมที่ยึดถืออยู่แล้ว) ในที่นี้จะไม่วิจารณ์ว่าการสอนแบบนี้ได้ผลหรือไม่ แต่น่าจะพิจารณาในหลักการ

แท้จริงนั้น การสอนหลักจริยธรรมตามคำสอนของศาสนาหรือวัฒนธรรมที่สืบกันมา ตลอดจนความคิดของปราชญ์ในอดีต ไม่จำเป็นจะต้องเป็นการยัดเยียดใส่ลัทธิความเชื่อ ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เป็นอย่างนั้นหรือไม่อยู่ที่การสอน คือรู้จักสอนหรือสอนเป็นหรือไม่ และใช้วิธีสอนอย่างไร ถ้าสอนเป็น นอกจากจะได้ผลทางจริยธรรมโดยตรงแล้ว จะเกิดประโยชน์มากมาย ทั้งในด้านการได้ข้อมูลความคิด การฝึกความรู้จักคิด ได้พัฒนาการทั้งทางจิตและปัญญา แต่ในทางตรงข้าม การไม่สอนจะเสียผลทางการศึกษาเป็นอย่างมาก

ในแง่ผลเสียหาย เมื่อไม่สอนคุณธรรมและจริยธรรมของระบบที่มีอยู่ก่อนแล้ว

๑) เป็นการปิดกั้นสติปัญญาของเด็ก หรือปิดกั้นโอกาสในการพัฒนาปัญญาของผู้เรียน ในการศึกษา ผู้เรียนควรได้รับข้อมูล ทั้งในด้านความรู้และความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องที่เรียนอย่างกว้างขวาง คำสอนทางศาสนาและจริยธรรม ก็คือข้อมูลทั้งด้านความรู้และความคิดจากคนอื่นนอกห้องเรียน นักเรียนที่รู้จักคิด ย่อมไม่ต้องการจำกัดตัวอยู่แค่การฟังความคิดเห็นภายในห้องเรียน จากครูและเพื่อนนักเรียนเท่านั้น ทั้งนี้มิใช่ว่าจะไม่เชื่อถือครู ที่จริงก็เคารพเชื่อถือครูอยู่ แต่เชื่อว่า คนอื่นๆ ที่ตายไปแล้วมากมาย ที่เป็นปราชญ์ก็มาก เป็นศาสดาก็มี ท่านเหล่านี้ย่อมมีความรู้และความคิดเห็นที่ดีๆ ควรจะรับฟัง เมื่อมีเวลาจำกัด ก็เลือกเอาข้อมูลจากคนที่ยอมรับกันว่ายอดเยี่ยมที่สุด เป็นจุดเริ่มต้น ควรจะได้รับฟังข้อมูลจากท่านเหล่านี้เป็นบุคคลที่ ๓ หรือฝ่ายที่ ๓ เพิ่มจากครูและนักเรียนในห้องเรียนที่แคบนิดเดียว เป็นการเปิดหูเปิดตาออกไปสู่โลกกว้าง และยืดขยายออกไปในกาลเวลานานไกล เพื่อเก็บเอาประโยชน์มาบำรุงสติปัญญาให้มากและให้ดีที่สุด

๒) เป็นการปฏิบัติผิดหลักการและแบบแผนของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งต้องการให้มีการรับฟังความคิดเห็นของกันและกัน โดยที่สมาชิกของสังคมทุกคนควรมีสิทธิและโอกาสที่จะแสดงความคิดเห็น แต่ในการสอนแบบไม่ได้สอนคำสอนในศาสนาและวัฒนธรรมนั้น คนที่ตายไปแล้วซึ่งคำพูดคำสอนของท่านมีบทบาทอยู่ในสังคม ถูกปิดโอกาสไม่ให้พูดจาชี้แจงอะไรเลย ครูควรทำหน้าที่เป็นสื่อกลางช่วยนำเอาข้อมูลคำสอน และความคิดของท่านมาบอกกล่าวแก่ผู้เรียน ในการปฏิบัติเช่นนี้ครูมิใช่เอาคำสอนของท่านมากำหนดบังคับให้เชื่อตาม แต่นำมาบอกให้เป็นฐานสำหรับการคิดพิจารณา จึงไม่เป็นการยัดเยียดใส่ให้

๓) ไม่ว่าในหลักสูตรจะมีวิชาศีลธรรมหรือไม่ ไม่ว่าครูจะสอนจริยธรรมตามหลักศาสนาหรือไม่ โรงเรียนก็กำลังสอนจริยธรรมอย่างเงียบๆ หรือโดยไม่รู้ตัวตลอดเวลาอยู่แล้ว แต่จริยธรรมที่โรงเรียนสอนเงียบนี้ มักเป็นจริยธรรมทางฝ่ายลบ เช่นเป็นที่ถ่ายทอดค่านิยมที่ไม่ดีต่างๆ ซึ่งแพร่หลายอยู่ในสังคม เช่น ค่านิยมบริโภค ค่านิยมฟุ้งเฟ้ออวดโก้ การเรียนเพื่อมุ่งหารายได้ ความเห็นแก่ตัว การแก่งแย่งแข่งขัน เอาดีคนเดียวเป็นต้น ตลอดจนความเชื่อและคำสอนทั้งทางศาสนา ทางไสยศาสตร์ และทางจริยธรรม ที่รับฟังรับถ่ายทอดมาอย่างคลาดเคลื่อนเว้าแหว่ง

นักเรียนย่อมถูกชักจูงหรือถูกซึมแทรกโดยค่านิยมเป็นต้นเหล่านี้อยู่แล้ว จากเพื่อนบ้าง จากบรรยากาศในโรงเรียน และสภาพแวดล้อมในสังคม ตลอดจนสื่อมวลชนบ้าง การที่จะให้ห้องเรียนจริยธรรมมีแต่นักเรียนกับครูเท่านั้น จะให้เป็นกลางทางอุปาทาน (values-neutral) หรือปลอดอุปาทาน (value free) จึงไม่อาจเป็นจริง เพราะมีฝ่ายที่ ๓ เข้ามาร่วมแสดงบทบาทอยู่ด้วยแล้วเงียบๆ และฝ่ายที่ ๓ นั้นถูกปล่อยให้มีโอกาสเต็มที่ที่จะครอบงำความคิดและการตัดสินใจของนักเรียนเสียด้วย จึงควรเปิดโอกาสให้นักปราชญ์และพระศาสดาเข้ามาพูดบ้าง

ในทางตรงข้าม การสอนจริยธรรมตามหลักศาสนา ถ้าสอนให้ถูกต้องตามหลักปรโตโฆสะและโยนิโสมนสิการ จะบังเกิดคุณประโยชน์ในทางการศึกษา นอกเหนือจากคุณค่าทางจริยธรรมโดยตรง อีกหลายประการ ดังนี้

๑) ในการสอนที่ถูกต้อง คำสอนทางจริยธรรมหรือหลักธรรมของพระพุทธศาสนาจะถูกนำเสนอ ในฐานะที่เป็นข้อมูลของความคิดทางจริยธรรม ซึ่งช่วยให้เกิดความอุดมสมบูรณ์แก่ความคิด เป็นฐานสำหรับการคิดพิจารณาต่อไป

๒) สามารถเก็บเกี่ยวเอาผลิตผล แห่งภูมิธรรมภูมิปัญญาของคนในอดีตมากมาย ที่สะสมกันมาตลอดเวลายาวนาน นำมาปูเป็นพื้นฐานให้แก่ตนภายในเวลาชั่วนิดเดียว เหมือนขึ้นยืนบนกองอิฐแห่งปัญญาของอารยธรรมมนุษย์ เข้าถึงจุดสุดยอดหรือส่วนที่ดีที่สุดแห่งภูมิธรรมภูมิปัญญาของมนุษย์เท่าที่มีมาแล้วทั้งหมดได้ในเวลาอันรวดเร็ว ไม่ต้องมาเริ่มตั้งต้นกันใหม่

๓) การศึกษาหลักธรรมอย่างถูกต้องตามหลักการของพระพุทธศาสนา คือการรู้จักคิดพิจารณาให้เห็นเหตุผล และรู้จักตรวจสอบชั่งตรอง เลือกตัดสินใจ ทำให้มีการฝึกความรู้จักคิด พร้อมกันไปกับการฝึกฝนทางจริยธรรมทั่วๆ ไป ให้เกิดการพัฒนาชีวิตอย่างรอบด้าน ผู้เรียนอย่างถูกต้อง จะไม่จมลงใต้กองคำสอน แต่จะพ้นเลยขึ้นไป โดยเข้าถึงอิสรภาพในระดับต่างๆ ตามลำดับทุกขั้นตอน

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< รู้จักคิด รู้จักจำ ไม่ทำให้ยัดเยียดถ้าเรียน และสอนไม่ถูกต้อง วิทยาศาสตร์ก็กลายเป็นวิชาที่ยัดเยียด >>

No Comments

Comments are closed.