ขอบเขตอันคับแคบ ที่จำกัดความคิดเกี่ยวกับจริยธรรม

1 ตุลาคม 2534
เป็นตอนที่ 31 จาก 44 ตอนของ

ขอบเขตอันคับแคบ ที่จำกัดความคิดเกี่ยวกับจริยธรรม

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ตะวันตกมองความจริงทางจริยธรรมเพียงแค่นั้น ก็เพราะมองจริยธรรมบนพื้นฐานแห่งภูมิหลังของตน ที่จริยธรรมมาจากบัญญัติทางศาสนาแบบเทวบัญชา และเห็นว่าจริยธรรมเป็นเรื่องของคุณค่าที่หมู่มนุษย์คิดกำหนดกันขึ้นมา อย่างที่กล่าวแล้ว ก็เลยจับความจริงเพียงแค่ในระดับการยอมรับหรือเห็นร่วมกันของสังคมที่เจริญแล้ว หรือของมนุษย์ที่เชื่อว่ามีสติปัญญาสูง แล้วก็หยุดอยู่แค่นั้น ไม่สืบค้นหาความจริงให้ลึกลงไปอีกถึงรากฐานทางสัจธรรม ที่เป็นกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ

คำว่าจริยธรรมที่ใช้กันอยู่ทั่วไปนั้น เป็นคำที่มีความหมายคลุมเครือ มีเนื้อหาสาระปะปนกันอยู่หลายระดับ อย่างน้อยก็แยกได้ว่ามีทั้งจริยธรรมแท้ๆ และสิ่งที่เป็นเพียงบัญญัติธรรม ความสับสนขั้นแรก ก็คือการมองจริยธรรมเป็นบัญญัติธรรมไปหมด

แต่ว่าที่จริง แม้แต่สิ่งที่เป็นเพียงระบบคุณค่าหรือค่านิยม ที่จิตใจมนุษย์กำหนดและสังคมบัญญัติขึ้น ซึ่งเป็นเพียงบัญญัติธรรม ก็มีความสัมพันธ์เชิงเหตุปัจจัย โยงลงไปถึงความจริงที่เป็นไปตามกฎธรรมชาติ คือมีรากฐานอยู่ในกฎธรรมชาติด้วย มนุษย์จะไม่สามารถเข้าถึงความจริงแท้ของธรรมชาติ หรือรู้จักโลกและชีวิตได้โดยสมบูรณ์ ถ้ายังไม่สามารถแยกแยะเจาะแจงหยั่งลงไปให้ถึงความจริงแห่งความสัมพันธ์เชิงเหตุปัจจัยในธรรมชาติระดับนี้

วิทยาศาสตร์แบบที่สืบๆ กันมา หรือวิทยาศาสตร์ตามแบบแผนประเพณีที่เรารู้จักกันอยู่ในปัจจุบันนี้ แม้จะเป็นระบบวิธีหาความรู้ที่แยบคาย และทำให้มนุษย์ก้าวหน้าในการเข้าหาความจริงของธรรมชาติไปได้ไกลมาก แต่ต้องกลายเป็นศาสตร์ที่แสดงความจริงในขอบเขตจำกัด ก็เพราะมองข้ามแดนความรู้ระดับนี้ไปเสีย ไม่เข้าถึงความจริงของกฎธรรมชาติที่โยงความจริงทุกด้านให้ถึงกันทั้งหมด

แม้จะมีศาสตร์เฉพาะบางสาขาที่ถือว่าทำการศึกษาเรื่องราวในขอบเขตของตนด้วยวิธีการที่เป็นวิทยาศาสตร์ เช่น จิตวิทยา และสังคมวิทยาเป็นต้น และศาสตร์เหล่านั้นก็มีหน้าที่ศึกษาเรื่องจริยธรรมด้วย แต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ เพราะศาสตร์เหล่านี้ ก็มองจริยธรรมด้วยท่าทีแห่งความรู้สึกว่าจริยธรรมเป็นเรื่องของคุณค่า และเป็นบัญญัติของสังคมอย่างที่กล่าวมาแล้ว นอกจากนั้น ศาสตร์เหล่านี้ยังเป็นการศึกษาแบบชำนาญพิเศษเฉพาะทางอีกด้วย จึงศึกษาจริยธรรมเฉพาะในแง่ด้านที่เกี่ยวข้องกับตน ในเมื่อจริยธรรมเป็นเรื่องของระบบความสัมพันธ์เชิงเหตุปัจจัยขององค์ประกอบต่างๆ ที่โยงส่งทอดกันหลายระดับหลายด้าน การศึกษาเฉพาะแง่เฉพาะด้านย่อมไม่อาจแสดงความจริงแท้ คือความรู้ที่ทั่วตลอดของเรื่องนั้นได้

ยิ่งกว่านั้น ศาสตร์ทางด้านพฤติกรรมและสังคมเหล่านี้ ยังถูกวิทยาศาสตร์ฝ่ายกายภาพมองว่าเป็นศาสตร์ชั้นรองอีกด้วย เมื่อมีท่าทีเช่นนี้ การที่จะร่วมมือกันในการสืบค้นความรู้หาความจริงก็ไม่เต็มที่ กลายเป็นการสร้างเครื่องกีดขวางตนเองในการเข้าถึงสัจธรรม เพราะความจริงขั้นสุดท้ายที่สมบูรณ์ เป็นระบบความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย ที่ทุกส่วนของธรรมชาติหรือองค์ประกอบทุกด้านของโลกและชีวิตเชื่อมโยงส่งทอดอิทธิพลถึงกัน

วัฒนธรรมตะวันตกนั้น นอกจากมองจริยธรรมด้วยท่าทีว่าเป็นเพียงระบบคุณค่าและเป็นบัญญัติของสังคมแล้ว ก็มักมองความหมายของจริยธรรมหรือศีลธรรมในขอบเขตที่แคบว่าเป็นพฤติกรรมทางด้านสังคม หรือเน้นความหมายในระดับสังคมเท่านั้น ไม่หยั่งลึกลงไปถึงเนื้อหาและคุณภาพในระดับความคิดจิตใจ หรือจิตใจและปัญญา ถ้าสำรวจดูพจนานุกรมและสารานุกรมทั้งหลาย ตลอดจนคำจำกัดความของจริยธรรมที่นักปราชญ์ตะวันตกกล่าวไว้ จะเห็นว่า ต่างก็ให้ความหมายไปในเชิงสังคมแทบทั้งสิ้น เช่นว่า จริยธรรม คือ “การงดเว้นการกระทำที่ก่อผลเสียหายต่อสังคมและประกอบกรรมที่เกื้อกูลต่อสังคม”1 หรือว่าเป็น “การกระทำที่สอดคล้องกับมาตรฐานแห่งพฤติกรรมที่ถูกต้องตามที่สังคมได้กำหนดไว้”2

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< จริยธรรมสากล อยู่ที่ความเป็นกลาง หรืออยู่ที่ความเป็นจริงก้าวสำคัญบนเส้นทางแห่งการแสวงหาจริยธรรมสากลในอเมริกา >>

เชิงอรรถ

  1. Rom Harre and Roger Lamb. The Encyclopedic Dictionary of Psychology. Cambridge: The MIT Press, 1983.
  2. L. Berkowitz. Development of Motives and Values in a Child. New York: Basic Books, 1964.

No Comments

Comments are closed.