ขยายเขตแดนแห่งความคิด จากสากลที่เป็นกลาง สู่สากลที่เป็นจริง

1 ตุลาคม 2534
เป็นตอนที่ 34 จาก 44 ตอนของ

ขยายเขตแดนแห่งความคิด
จากสากลที่เป็นกลาง สู่สากลที่เป็นจริง

ความก้าวหน้าที่ถูกต้องในการที่จะเป็นจริยธรรมสากล คือ การก้าวย้ายจากบัญญัติของสังคมไปสู่ตัวความถูกต้องดีงามแท้จริงที่พิจารณาเห็นด้วยวิจารณญาณ หมายความว่า เป็นการเดินหน้าต่อจากการถือเคร่งตามบัญญัติของสังคม แล้วก้าวเลยเข้าไปให้ถึงตัวจริยธรรมแห่งความถูกต้องดีงามที่แท้จริง ซึ่งเป็นเป้าหมายแห่งบัญญัติของสังคมนั้น และซึ่งบัญญัติของสังคมนั้นช่วยให้เข้าถึงได้บ้าง ไม่ได้บ้าง จึงจะต้องเข้าถึงด้วยวิจารณญาณ (ในที่นี้ หมายถึงปัญญาที่ถ่องแท้บริสุทธิ์ใจและเป็นอิสระ) ซึ่งเป็นที่รองรับยืนยันและวินิจฉัยความถูกต้องของบัญญัติของสังคมนั้นอีกทีหนึ่ง โดยที่วิจารณญาณนั้นเป็นตัวการที่ให้กำเนิดแก่บัญญัติที่ดีที่สุดของสังคม และคอยตรวจตราดูแลแก้ไขปรับปรุงบัญญัติของสังคมที่ยังบกพร่องให้ถูกต้องสมบูรณ์ ตลอดจนสอดส่องควบคุมให้มีการใช้บัญญัติของสังคมนั้นอย่างสัมฤทธิ์ผลตามวัตถุประสงค์แห่งจริยธรรมที่แท้จริง

บุคคลผู้ให้คำตอบที่โกลเบอร์กจัดเป็นพัฒนาการขั้นที่ ๖ นี้ ไม่มีวิจารณญาณเพียงพอที่จะแยกแยะองค์ประกอบและปัจจัยต่างๆ ในระบบความสัมพันธ์เชิงเหตุผลตามกฎธรรมชาติที่เกี่ยวกับกรณีนี้แล้ววินิจฉัยให้ถูกต้องสอดคล้องกับความจริงนั้นได้ เช่นว่า

ในสถานการณ์ที่เป็นปัญหาทางจริยธรรมนั้น มีองค์ประกอบและปัจจัยมากหลายสัมพันธ์ปะปนกันอยู่ เขาแยกไม่ออกว่า ส่วนใดเป็นสภาวะ คือความจริงตามสภาพ ส่วนใดเป็นคุณค่า อะไรเป็นความจริงที่อยู่เบื้องหลังคุณค่า และสภาพความจริงกับคุณค่านั้นสัมพันธ์กันอย่างไร และในจำพวกที่เป็นคุณค่านั้น คุณค่าใดเป็นคุณภาพของสภาวะนั้นๆ คุณค่าใดเป็นคุณค่าที่ขึ้นต่อตัวของเขาเอง ซึ่งแล้วแต่จิตใจของเขาจะกำหนดเลือก และคุณค่าใดที่จะเกิดจากการตัดสินใจเลือกและกระทำการของเขา อันจะเป็นปัจจัยส่งผลโยงต่อๆ ออกไปยังองค์ประกอบต่างส่วนต่างประเภทที่เกี่ยวข้องในระบบความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัยทั้งหมด

เขาแยกไม่ออกว่า ในบรรดาองค์ประกอบและปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในสถานการณ์นั้น ส่วนใดเป็นองค์ประกอบในระดับจิตใจ ส่วนใดเป็นองค์ประกอบในระดับพฤติกรรม ส่วนใดเป็นองค์ประกอบในระดับสังคม และไม่รู้ว่าองค์ประกอบเหล่านั้น สัมพันธ์เป็นเหตุปัจจัยต่อกันอย่างไร มีผลเชื่อมโยงต่อทอดกันออกไปอย่างไร

เขาแยกไม่ออกว่า ส่วนใดแค่ไหนเป็นสภาพความจริงตามกฎธรรมชาติที่เขาไม่ควรเข้าไปแทรกแซงบิดเบือน ส่วนใดแค่ไหนเป็นหลักการกลางทางสังคมที่เหตุผลส่วนตัวของบุคคลไม่อาจหักล้าง ส่วนใดแค่ไหนเป็นสิทธิส่วนบุคคลของเขาที่จะเลือกตัดสินใจ และไม่รู้แม้กระทั่งว่า จริยธรรมในความหมายแบบตะวันตกนั้น จะทำหน้าที่ ณ ตำแหน่งไหนหรือจุดใด

พูดสั้นๆ ว่า เขาไม่เข้าใจถึงสัจธรรมในจริยธรรม และจริยธรรมที่วางอยู่บนฐานของสัจธรรม เขายังไม่สามารถโยงจริยธรรมไปถึงสัจธรรมให้เห็นว่าพฤติกรรมทางจริยธรรมมีความสอดคล้องเชิงเหตุปัจจัยอย่างไร

คำตอบข้างต้นที่ว่า “การขโมยในกรณีนี้ เป็นการกระทำที่ถูกต้อง เพราะเป็นการรักษาชีวิตของมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีค่ามากกว่าทรัพย์สินเงินทอง” ดังนี้ แสดงถึงการมีความสับสนในทางความคิด ซึ่งแทนที่จะเป็นตัวอย่างที่ดี กลับจะทำให้เกิดความพร่ามัวในการปฏิบัติต่อปัญหาจริยธรรมมากขึ้น จึงไม่น่าจะจัดเป็นพัฒนาการทางจริยธรรมขั้นที่ ๖ ซึ่งเป็นขั้นที่สูงสุดได้เลย

คำตอบที่ใกล้เคียงกับคำตอบข้างต้นนั้นมากที่สุด แต่เป็นคำตอบที่แสดงถึงภูมิธรรมภูมิปัญญาที่สูงกว่า จะเป็นไปในทำนองนี้ว่า “การขโมยในกรณีนี้ เป็นการกระทำที่ตัวเขาควรกระทำ เพราะเป็นการรักษาชีวิตของมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีค่ามากกว่าการที่เขาจะยอมสละตัวลงยอมรับโทษ”

เหตุผลในการให้คำตอบนี้ แม้จะมองอย่างพื้นๆ ที่สุด ก็มีหลายอย่าง เช่น เป็นการให้ความยุติธรรมแก่คนอื่นๆ ที่ต่างก็ย่อมหาเหตุผลเข้าข้างตัวมาอ้างให้เห็นว่าการกระทำของตนเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และเป็นการใช้สิทธิแห่งการตัดสินใจทางจริยธรรมในขอบเขตความรับผิดชอบของตน พร้อมทั้งเป็นการแสดงความกล้าหาญทางจริยธรรมด้วย

ที่สำคัญยิ่งก็คือ เป็นการยอมรับขีดจำกัดความสามารถของบุคคลนั้นในการที่ไม่สามารถทำการให้ได้ผลดีโดยสมบูรณ์ครบทุกด้านหรือมากด้านที่สุดยิ่งไปกว่านั้น เป็นการแสดงความซื่อตรงเปิดเผยและไม่ปิดกั้นโอกาสในการพัฒนาตน แต่กลับเป็นการกระตุ้นเตือนตัวบุคคลนั้นเองก็ตาม บุคคลอื่นๆ ก็ตาม ให้เพียรพยายามพัฒนาศักยภาพของตนให้สามารถทำความดีอย่างได้ผลดีทั่วทุกด้าน โดยสมบูรณ์ยิ่งกว่านั้นในโอกาสอื่นต่อๆ ไป เช่น พัฒนาความสามารถในการพูดจาใช้เหตุผลชักจูงให้คนขายยาเห็นชอบด้วยที่จะลดราคายา พร้อมทั้งช่วยให้คนขายยานั้นมีคุณธรรม คือเมตตากรุณามากขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม ที่ว่ามานั้นยังเป็นเหตุผลเพียงในระดับของจริยธรรมเชิงคุณค่าเท่านั้น เหตุผลที่สำคัญจะต้องลงไปถึงระดับของสภาพความเป็นจริงหรือสัจธรรมด้วย ในที่นี้ มิใช่โอกาสที่จะวิเคราะห์ลงลึกละเอียดในเรื่องนี้ จึงจะกล่าวถึงข้อพิจารณาทั่วๆ ไปไว้เท่านั้น

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< ก้าวใหม่ที่ไปไม่พ้นร่องเก่าบัญญัติธรรมเพื่อจริยธรรม จริยธรรมบนฐานแห่งสัจธรรม >>

No Comments

Comments are closed.