หลักการที่ควรตรวจสอบและปฏิบัติการที่ควรทบทวน

28 พฤศจิกายน 2533
เป็นตอนที่ 23 จาก 44 ตอนของ

หลักการที่ควรตรวจสอบและปฏิบัติการที่ควรทบทวน

๑๕. จากข้อมูลและเหตุผลเท่าที่ได้กล่าวมาในข้อก่อนๆ มีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะที่ขอเพิ่มเติมหรือขอทบทวนเป็นพิเศษ คือ

ก) จริยศึกษาในประเทศอเมริกา ในแง่ของความคิดและการดำเนินการ มีความขัดแย้งสับสนมากสืบเนื่องจากภูมิหลังที่มีปัญหาอยู่แล้ว และในแง่ของผล ก็ค่อนข้างจะล้มเหลว หรืออย่างน้อยก็ไม่ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ไม่อาจจะเป็นแบบอย่างได้ สังคมไทยจึงไม่ควรจะรับเอามาทำตาม แต่ควรจะเป็นบทเรียน ที่สำหรับรู้เท่าทันและสังวร

ในทางตรงข้าม เรื่องจริยศึกษานี้ ประเทศไทยมีภูมิหลังที่เรียบร้อยราบรื่น และมีฐานทางหลักการที่เอื้อ มั่นคง และพร้อมดีกว่า สามารถจะเป็นผู้นำได้ อีกทั้งในวงกว้าง ก็เป็นที่ยอมรับกันมากว่า โลกซีกตะวันออกนี้ มีความเจริญทางวัฒนธรรมด้านจิตใจดีกว่าโลกตะวันตก สังคมไทยจึงควรจะตื่นตัวปลุกจิตสำนึกในความเป็นผู้นำและผู้ให้ขึ้นมา อย่างน้อยก็ควรจะรักษาความเป็นผู้นำทางด้านจริยศึกษา และการพัฒนาจิตใจไว้ให้ได้

โดยเฉพาะในปัจจุบันนี้ ที่ชาวตะวันตกหันมาสนใจ พระพุทธศาสนา และวิธีแก้ปัญหาทางจิตใจตามแนวตะวันออกกันมาก และมากขึ้น สังคมไทยน่าจะสำนึกตนที่จะให้ความสนใจอย่างจริงจังต่อสมบัติของตนที่คนอื่นเขาปรารถนา เร่งพื้นฟูส่งเสริม ให้คุณค่าที่มีอยู่แล้วปรากฏเด่นชัดขึ้นมาดำรงตนในฐานะผู้มีอะไรที่จะให้แก่ผู้อื่นบ้าง แล้วแสดงบทบาทของความเป็นผู้นำและผู้ให้อย่างน้อยในสถานะหนึ่งนี้

ในเรื่องนี้ รัฐโดยรัฐบาลจะต้องเอาใจใส่และเอาจริงเอาจัง โดยถือหรือตั้งเป็นนโยบายใหญ่ที่จะส่งเสริมการศึกษาพระพุทธศาสนา ทั้งในแง่ที่เป็นแหล่งแห่งจริยศึกษา เพื่อแก้ปัญหาความเสื่อมโทรมทางจิตใจ และจริยธรรมของสังคม ในแง่ของการวางพื้นฐานและกำหนดทิศทางที่ถูกต้องในการพัฒนาประเทศชาติในยุคต่อไป และในแง่ของการเชิดชูส่งเสริมสิ่งที่เชิดหน้าชูตาประเทศชาติ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีฐานะเป็นผู้นำได้สถานะหนึ่งในประชาคมโลก

ข) มีอุดมคติที่ตั้งกันไว้ว่า ครูทุกคนเป็นครูจริยศึกษา และมีหลักการว่า ให้ครูทุกคนสอนจริยศึกษาด้วยการบูรณาการจริยธรรมเข้าในทุกวิชาที่ตนสอน ถ้าทำได้อย่างนั้นก็เป็นการดี แต่สภาพที่เป็นจริงในปัจจุบัน ปรากฏว่ายังห่างไกลจากการที่จะเป็นจริงขึ้นมาได้ อีกทั้งวิธีการที่จะปฏิบัติให้บรรลุผลเข้าถึงอุดมคตินั้น ก็ยังไม่ได้จัดทำ คงมีแต่วิชาพระพุทธศาสนาและจริยธรรม ที่เป็นวิชาเฉพาะของจริยศึกษาอยู่ต่างหาก ซึ่งหนักไปทางด้านเนื้อหาอย่างเดียว

เนื่องจากมีอุดมคติว่า ครูทุกคนเป็นครูจริยศึกษา และต้องสอนจริยธรรมกลมกลืนเข้าในทุกวิชา ที่ครูแต่ละคนสอน ดังนั้นการมีวิชาทางจริยธรรมเป็นเนื้อหาเฉพาะอยู่ต่างหาก จึงไม่ถูกต้องตามหลักการและอุดมคติ ผู้บริหารการศึกษาบางท่านจึงว่า ควรจะตัดทอนวิชาเฉพาะทางจริยศึกษานั้นเสีย เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการที่เป็นไปตามอุดมคติ

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่อุดมคติก็ยังอยู่ห่างไกล วิธีการที่จะนำไปสู่อุดมคตินั้นก็ยังไม่มี การที่จะตัดทอนสิ่งที่มีอยู่แล้วบ้างนั้นเสีย น่าจะไม่เป็นการถูกต้อง จะกลายเป็นว่า ขณะที่เรือก็ยังไม่ได้ มีดและไม้ที่จะทำเรือก็ยังไม่มี แพเก่าที่ใช้อยู่นี้ก็ยังจะรื้อทิ้งเสียอีก จะสูญหมดไม่มีอะไรเหลือ

ทางที่ดีน่าจะใช้ทุนเดิม หรือของที่มีอยู่บ้างแล้วนี่แหละเป็นจุดเริ่มต้น เอาวิชาศาสนาและจริยธรรมที่เป็นวิชาเฉพาะนี่แหละ เป็นที่ปฏิบัติการหรือดำเนินวิธีการที่จะให้บรรลุอุดมคติ โดยหันมาเน้นการสร้างเสริมเร่งรัดคุณภาพของครูจริยศึกษา ทั้งคัดเลือกสรรหาและให้การศึกษาอย่างพิเศษ ให้เป็นครูระดับสุดยอด มีคุณภาพเหนือกว่าครูอื่นทั่วไปทุกวิชา ทั้งในด้านวิชาการ อุดมการณ์ และคุณธรรมของความเป็นครู แล้วฝึกฝนให้เป็นผู้สามารถในการสอนตามวิธี ๒ ประการ

(๑) เป็นผู้นำในการสอนแบบให้รู้จักคิดหรือคิดเป็น รู้จักสอนพระพุทธศาสนาตามหลักการของการเป็นกัลยาณมิตร ผู้ชักนำนักเรียนให้เกิดโยนิโสมนสิการ ด้วยการสอนจริยธรรมแบบนำเสนอข้อมูล สู่การคิดพิจารณา และการที่จะนำไปใช้ได้ในชีวิตจริง

(๒) สามารถในการสอนแบบบูรณาการ เป็นตัวอย่างแก่ครูที่สอนวิชาอื่นๆ เพื่อให้เป็นผู้นำทางที่บุกเบิกเข้าไปในการสอนจริยศึกษาแบบบูรณาการ

สองอย่างนี้เป็นคุณสมบัติแกนกลาง สำหรับครูผู้สอนจริยธรรมตามหลักพระพุทธศาสนา และพร้อมกันนั้น ก็เป็นหนทางที่จะนำไปสู่อุดมคติแห่งการที่จะให้ครูทุกคน เป็นครูจริยศึกษา

ในทางกลับตรงข้ามจากนี้ ถ้ากระทรวงศึกษาธิการยังไม่สามารถแม้แต่ที่จะผลิตครูเฉพาะที่สอนจริยศึกษา ให้สามารถสอนแบบบูรณาการได้ การที่จะให้ครูผู้สอนวิชาอื่นๆ ทั่วไป เป็นครูจริยศึกษาหรือสามารถบูรณาการจริยศึกษาเข้าในการสอนวิชาของตนๆ ได้นั้น คงจะเป็นความหวังอันเลื่อนลอยอันอย่าพึงหมาย

เมื่อมีครูจริยศึกษา ที่มีคุณสมบัติถูกต้องไว้เป็นพื้นอย่างนี้แล้ว ในระหว่างนั้นกระทรวงศึกษาธิการจะดำเนินการเตรียมฝึกครูทุกคนให้เป็นครูจริยศึกษา เพื่อให้บรรลุอุดมคติที่ว่า จะให้ครูทุกคนสามารถสอนพระพุทธศาสนา และจริยธรรมด้วยการบูรณาการเข้าในทุกวิชา ก็สามารถทำได้ และก็จะไม่มีช่องว่างให้ใครกล่าวหาได้ว่า กระทรวงศึกษาธิการได้แต่เพ้อฝันถึงอุดมคติ เอาแต่รอคอยให้ผลเกิดขึ้นเอง โดยไม่ทำอะไรที่จะให้เป็นไปอย่างฝัน

ถ้ายอมรับกันว่า ปัญหาอยู่ที่การขาดครูผู้สามารถ จึงไม่อาจไปพ้นจากการสอนแบบท่องจำ สู่การสอนให้คิดเป็น และจึงติดตันอยู่กับการสอนจริยศึกษาเป็นวิชาแยกเฉพาะ ไม่สามารถบูรณาการเข้าในทุกวิชาและทุกกิจกรรม ถ้าปัญหาเป็นอย่างนั้น ก็คือสภาพที่ท้าทายให้รัฐต้องวางนโยบายที่จะเน้นการสร้างครูจริยศึกษาที่สามารถ และการทำได้หรือไม่ในเรื่องนี้ ก็คือเครื่องประกาศความสำเร็จหรือความล้มเหลวของกระทรวงศึกษาธิการ ในการที่จะรับผิดชอบงานการศึกษาของประเทศชาติสืบต่อไป

ค) ปรากฏเป็นข่าวออกมาว่า ทางการกระทรวงศึกษาธิการได้ตัดทอนวิชาพระพุทธศาสนาออกจากหลักสูตรประถมและมัธยมศึกษา โดยปรารภเหตุผลว่าเป็นการปรับปรุงเพื่อให้เนื้อหาวิชาเหมาะสม และให้การเรียนการสอนได้ผลดีขึ้น เหตุผลในส่วนรายละเอียดจะเป็นอย่างไรก็ตาม ในที่นี้จะไม่สืบสาว แต่ควรเสนอข้อคิดข้อสังเกตบางอย่างไว้ประกอบการพิจารณา เพื่อประโยชน์ในกาลข้างหน้า

(๑) ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งเกี่ยวกับวิชาศีลธรรม หรือจริยธรรมก็คือ เป็นวิชาที่มักใช้การท่องจำ ไม่ช่วยให้ผู้เรียนรู้จักคิดหรือคิดเป็น และไม่ทำให้เกิดการปฏิบัติในชีวิตจริง ในเมื่อวิชาศีลธรรมหรือจริยธรรมนี้จัดตามเนื้อหาของหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา จึงมีข้อพิจารณาว่าปัญหาในเรื่องนี้อยู่ที่ไหน จะเป็นเพราะว่าหลักธรรมในพระพุทธศาสนา เป็นสิ่งที่ต้องเรียนด้วยการท่องจำ ไม่เอื้อต่อการใช้ความคิดพิจารณา หรือเป็นเพราะครูผู้สอนไม่สามารถสอนด้วยวิธีฝึกให้รู้จักคิดพิจารณา หรือคร้านที่จะทำดังนั้น จึงต้องใช้วิธีให้นักเรียนท่องจำ

จากข้อพิจารณาที่ได้กล่าวมาในข้อก่อนๆ แสดงอยู่แล้วว่า หลักการสำคัญของพระพุทธศาสนามุ่งให้คนใช้ปัญญา รู้จักคิดพิจารณา ไม่บังคับศรัทธา ดังนั้น การที่วิชาพุทธศาสนากลายเป็นวิชาท่องจำ จึงไม่ควรจะเป็นเพราะหลักธรรม แต่ควรจะเป็นเพราะครูเองใช้วิธีท่องจำ หรืออาจเป็นเพราะการเลือกเนื้อหาที่นำไปกำหนดในหลักสูตร

(๒) เนื่องจากเนื้อหาวิชาและการสอนไม่ได้ผลดีตามวัตถุประสงค์ ในการปรับปรุงหลักสูตรจึงได้มีการตัดทอนวิชาพระพุทธศาสนาให้น้อยลง

ถ้าการตัดทอนวิชาพระพุทธศาสนา ทางการได้กระทำด้วยเหตุผลนี้ ก็ไม่ถูกต้อง เพราะไม่ชอบด้วยหลักการ และไม่เป็นการแก้ที่สาเหตุ โดยหลักการก็คือ ถ้าวิชานั้นเป็นสิ่งที่นักเรียนควรจะได้เรียน ก็ต้องจัดไว้ในหลักสูตรให้เด็กได้เรียน มิใช่ว่าวิชานั้นที่จัดอยู่ขณะนี้สอนได้ไม่ดี ก็เลยเอาวิชานั้นออกไปเสียเลย ยกตัวอย่างเปรียบเทียบ เช่น วิชาภาษาไทย โดยหลักการเป็นวิชาที่นักเรียนจะต้องเรียน แต่ผู้มีอำนาจเห็นว่าหลักสูตรที่จัดไว้เนื้อหาวิชาไม่ดี และครูก็สอนไม่ได้ผล ก็เลยตัดวิชาภาษาไทยออกไปเลย ไม่ให้เด็กเรียน อย่างนี้ไม่ถูกต้อง จะต้องคงตามหลักการไว้ แล้วไปแก้ที่สาเหตุ เมื่อสาเหตุเป็นเพราะจัดเนื้อหาหลักสูตรไว้ไม่ดี และครูสอนไม่ได้ผล ก็ต้องเอาวิชาไว้ แต่ปรับปรุงเนื้อหาวิชาเสียใหม่ พร้อมทั้งปรับปรุงวิธีสอนและคุณภาพของครูผู้สอน

(๓) ได้มีแนวโน้มมากขึ้นที่จะจัดสอนจริยศึกษาตามแนวจริยธรรมสากล จึงได้ตัดทอนเนื้อหาวิชาที่เป็นเรื่องของพระพุทธศาสนาโดยตรงออกไป แล้วกำหนดหลักสูตรแบบจริยธรรมสากลแทน โดยจะให้เรียนพระพุทธศาสนาแบบอิงอาศัยหลักจริยธรรมสากลนั้น

เรื่องเกี่ยวกับจริยธรรมสากล ได้เล่า และวิเคราะห์ไว้ข้างต้นแล้วว่ามีปัญหาอย่างไร ทั้งในแง่ของตัวจริยธรรมสากลเอง และในแง่ที่จะนำเอาจริยธรรมสากลนั้นเข้ามาสอนในสังคมไทย (กับทั้งยังพูดไว้ยืดยาวในภาค ๒ ด้วย) จึงจะไม่กล่าวซ้ำอีก แต่จะขอเปรียบเทียบระหว่างการนำเอาหลักธรรมในพระพุทธศาสนา กับการนำเอาจริยธรรมสากลมากำหนดไว้ในหลักสูตรว่า อย่างไหนจะเป็นปัญหาขัดข้องยุ่งยากกว่ากัน

พระพุทธศาสนาเป็นแหล่งคำสอนจริยธรรม ที่มีระบบจริยธรรม พร้อมทั้งเนื้อหาที่วางเป็นหลักไว้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งตั้งอยู่บนฐานแห่งสัจธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ดังนั้นเนื้อหาจริยธรรมจึงมีอยู่พร้อมแล้ว ถ้าจะมีปัญหา ก็คือ ยังไม่รู้ว่าจะเลือกเอาเนื้อหาส่วนไหนมาใช้ และเมื่อได้เนื้อหามาแล้ว แต่มีปัญหาว่าผู้สอนยังสอนไม่เป็น

ส่วนจริยธรรมที่จะจัดขึ้นใหม่ตามหลักจริยธรรมสากล นอกจากมีปัญหาเกี่ยวกับการเลือกเนื้อหามากำหนด และปัญหาเกี่ยวกับการสอนและผู้สอนแล้ว ยังมีปัญหาพื้นฐานเพิ่มซ้อนเข้ามาอีก คือ ไม่มีแหล่งชัดเจนที่จะไปเลือกเอาเนื้อหาจริยธรรมมาใช้ เพราะจริยธรรมสากลยังมิใช่เป็นระบบจริยธรรมที่สมบูรณ์ แต่เป็นหัวข้อคุณธรรมและความประพฤติที่นักปราชญ์ หรือนักวิชาการบางท่านไปเลือกสรรคัดเอามาจากระบบจริยธรรมที่มีอยู่ก่อนแล้ว และกำหนดวางไว้เฉพาะเท่าที่จะเอามาใช้งานของท่านในถิ่นและยุคสมัยนั้นๆ มาถึงปัจจุบันนี้ จริยธรรมสากลก็เป็นเพียงหลักการทั่วไปในความหมายกว้างๆ ว่าเป็นจริยธรรมที่เป็นกลางๆ ไม่ใช่เป็นของศาสนาหนึ่งศาสนาใดโดยเฉพาะ ส่วนจะมีหัวข้ออะไรบ้าง ก็สุดแต่นักวิชาการหรือผู้ทำงานในคราวนั้นๆ จะไปพิจารณาคิดสรรหา ตกลงกันเก็บมาจัดเรียงใหม่เอาเอง ตามวัตถุประสงค์เฉพาะในกรณีนั้นๆ ซึ่งต่อไปอาจจะต้องบอกบ่งกันว่าเป็นจริยธรรมสากลของคนนั้นคนนี้ หรือของคณะนั้นคณะนี้

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< เรื่องสามัญของตนเองที่ควรจะต้องรู้ สิ่งดีที่ตนมีพิเศษ ที่จะให้และจะนำคนอื่นได้วงการพระพุทธศาสนา ก็ต้องสำรวจพิจารณาและปรับปรุงตนเอง >>

No Comments

Comments are closed.