บันทึกของผู้เขียน

28 พฤศจิกายน 2533
เป็นตอนที่ 26 จาก 44 ตอนของ

บันทึกของผู้เขียน

หนังสือเรื่อง “ทำไมคนไทยจึงเรียนพระพุทธศาสนา?” นี้ ได้เขียนขึ้นด้วยความตั้งใจจะให้เป็นบทความ สำหรับลงในหนังสือพิมพ์ กะว่าจะให้มีความยาวสัก ๒-๓ หน้า แต่เมื่อเขียนไปๆ เรื่องก็ยืดขยายออกไปทุกที และหัวข้อก็เพิ่มมากขึ้นด้วย จนในที่สุดก็กลายเป็นหนังสือเล่มเล็กๆ ดังที่ปรากฏอยู่นี้

เนื่องจากความตั้งใจเบื้องแรก จะให้เป็นเพียงบทความสั้นๆ เมื่อกลายเป็นเรื่องที่ยาวออกไป ก็จึงมีความไม่สมบูรณ์อย่างน้อย ๓ ประการ คือ ประการที่หนึ่ง หัวข้อต้นๆ เขียนไว้รวบรัด จึงสั้นกว่าหัวข้อหลังๆ ไม่ค่อยจะสมส่วนกัน ประการที่สอง เนื้อความบางตอนในหัวข้อหลังๆ ซ้ำกับในหัวข้อต้นๆ บ้าง เพราะสาระบางอย่างที่เขียนไว้รวบรัดในหัวข้อต้นๆ เมื่อนึกขึ้นมาขณะเขียนหัวข้อหลังๆ ที่มีเรื่องโยงกัน เห็นว่ามีอะไรบางอย่างพูดไว้สั้นไปก็เขียนเพิ่มไว้อีกในที่นั้นๆ ประการที่สาม ไม่ได้บอกแหล่งที่มาหรือเอกสารอ้างอิงไว้ให้สมบูรณ์ตามแบบแผน

ระหว่างเขียนยังไม่จบ ต้องละวางไปทำเรื่องอื่นที่เร่งด่วน ประจวบพอดีใกล้วันเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธ.ค. ๒๕๓๓ ท่านพระเถรานุเถระที่เคยร่วมงานที่มหาจุฬาฯ คิดกันว่าจะพิมพ์หนังสือเล่มหนึ่ง ถวายเป็นมุทิตาสักการะ แด่พระเดชพระคุณพระพรหมคุณาภรณ์ ในโอกาสที่ท่านได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์ เป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ และตกลงว่าจะพิมพ์เรื่อง “ทำไมคนไทยจึงเรียนพระพุทธศาสนา?” นี้ ทั้งที่เขียนยังไม่จบบริบูรณ์ และเวลาก็กระชั้นมาก ก็จำเป็นต้องพิมพ์ออกมา แม้จะได้เขียนเพิ่มขึ้นอีกบ้าง แต่ก็ยังมีบางอย่างที่ไม่อาจเขียนได้ทันเพราะหมดเวลา จึงต้องส่งเรื่องเข้าโรงพิมพ์เท่าที่เสร็จ เท่าไรก็เท่านั้น ดังที่ปรากฏอยู่นี้

ขออนุโมทนา พระมหาอินศร จินตาปฺโ ที่ได้ช่วยพิมพ์ต้นแบบหนังสือนี้ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ให้สำเร็จเรียบร้อย ทันส่งโรงพิมพ์ได้ในเวลาที่จำกัดยิ่ง ทำให้สามารถน้อมถวายหนังสือเป็นมุทิตาสักการะ ในมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษาได้สมตามความประสงค์ของคณะผู้จัดพิมพ์

พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
๒๔ พ.ย. ๒๕๓๓

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< บทสรุปและข้อเสนอแนะภาค ๒ – จริยธรรมสากล จากความเป็นกลาง สู่ความเป็นจริง >>

No Comments

Comments are closed.