จะยัดเยียด หรือจะปล่อยตามใจ ก็ไม่ใช่ทางสายกลาง

28 พฤศจิกายน 2533
เป็นตอนที่ 18 จาก 44 ตอนของ

จะยัดเยียด หรือจะปล่อยตามใจ ก็ไม่ใช่ทางสายกลาง

๑๓. ในทางการศึกษา มีการย้ำกันมากว่า ไม่ให้สอนแบบยัดเยียด แต่มักจะไม่พูดกันให้ชัดแจ้งถึงแง่มุมต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ เลยบางทีจะกลายเป็นเพียงการพูดตามๆ กันไป และทำให้มีการปฏิบัติผิดพลาด กลายเป็นเกิดผลเสียหายไปก็ได้

การยัดเยียดนั้น ตรงข้ามกับการตามใจ ซึ่งไม่ถูกต้องด้วยกันทั้งสองอย่าง การยัดเยียดก็เป็นสุดโต่งไปข้างหนึ่ง การตามใจ คือ ทำตามใจผู้เรียน หรือปล่อยให้ผู้เรียนทำตามใจตนเอง ก็เป็นสุดโต่งไปอีกข้างหนึ่ง การยัดเยียดเป็นการกระทำความรุนแรงโดยฝ่ายผู้สอน แต่การปล่อยตามใจชอบ ก็เป็นการหนุนหรือส่งเสริมให้ผู้เรียนเป็นผู้มีพฤติกรรมรุนแรง การยัดเยียดมักมีลักษณะเป็นการทำตามใจตนเองอย่างหนึ่ง ในขณะที่การทำตามใจชอบก็มักมีลักษณะเป็นการกระทำต่อผู้อื่นโดยอาการยัดเยียด นอกจากนั้น การยัดเยียดก็ดี การปล่อยตามใจก็ดี เป็นการทำข้างเดียว ไม่เป็นการร่วมมือหรือมีส่วนร่วมในการปฏิบัติต่อกัน

ทางสายกลาง หรือการกระทำที่พอดีๆ ก็คือ การให้ได้รู้ในสิ่งที่ควรรู้ ให้ได้คิดในสิ่งที่ควรคิด แต่ให้รู้จักนำเสนอในลักษณะที่น่าสนใจท้าทาย และรู้จักกระตุ้นเร้าให้เกิดความสนใจ ชักนำให้รู้จักเรียนรู้ รู้จักคิดพิจารณา เพื่อจะตัดสินใจเลือกได้ด้วยปัญญาที่มีสติสุขุมรอบคอบ มองเห็นเหตุผล และคุณโทษ ชั่งตรองถึงประโยชน์ตนประโยชน์ผู้อื่น อย่างน้อยไม่ให้เป็นการเบียดเบียนทั้งสองฝ่าย ได้เรียนรู้ทั้งเนื้อหาข้อมูล และฝึกฝนความรู้จักคิด พร้อมทั้งพัฒนาชีวิตเคียงกันไปทุกด้าน ให้การเรียนเป็นกิจกรรมร่วมกันที่ทั้งผู้สอนและผู้เรียนทั้งสองฝ่ายร่วมมือประสานงานมีบทบาทแสดงต่อกัน

ถ้าร่างกายของเด็กไม่ต้องการ หรืออาหารที่เด็กรับประทานพออิ่มอยู่แล้ว ก็ยังขืนเอามาให้กินหรือให้กินเพิ่มเข้าไปอีก ก็เป็นสุดโต่งในทางยัดเยียด เมื่อเด็กจะลองเสพเฮโรอีน หรือเด็กท้องเดินแต่ไม่ยอมกินยา ถ้าปล่อยแล้วแต่เด็ก ก็เป็นสุดโต่งในทางตามใจ

แต่ถ้าอาหารนั้นเด็กควรจะรับประทาน เพราะร่างกายต้องการ หรือยานั้นเด็กควรจะกิน เพราะบำบัดโรคที่กำลังเป็น การให้เด็กรับประทานอาหารหรือกินยานั้น ไม่เป็นการยัดเยียด ถึงแม้เด็กจะไม่อยากกิน ก็ไม่ควรตามใจ แต่จะทำอย่างไรให้เด็กกินโดยไม่ฝืนและไม่ขืนใจ เช่นด้วยการปรุงแต่งให้น่ากินชวนรับประทาน หรือพูดจูงใจให้เด็กเกิดความยินดี หรือชี้แจงคุณประโยชน์ให้เด็กเห็นชอบด้วยเหตุผล แล้วยอมทำด้วยความเต็มใจ หรือจะทำด้วยวิธีอื่นใด ให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ได้ด้วยดี ทั้งหมดนี้ก็เรียกว่าเป็นทางสายกลาง ซึ่งแล้วแต่ใครจะหาจุดพอดีได้อย่างไร

ตอนก่อนหน้า/ตอนต่อไป<< บทเรียนจากอเมริกา วิชาศาสนาและจริยศึกษาที่เรรวนรู้จักคิด รู้จักจำ ไม่ทำให้ยัดเยียด >>

No Comments

Comments are closed.